Skip to main content
sharethis

‘เดชรัต’ ชี้รัฐจ่ายให้คนที่ช่วยเหลือตัวเองได้อยู่แล้วมากสุด ขณะที่คนจนกลับเป็นกลุ่มที่จ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มในสัดส่วนที่มากกว่าคนรวย ‘จอน’ ระบุความเหลื่อมล้ำเป็นอาชญากรรมของรัฐ ย้ำรัฐสวัสดิการไม่ได้ช่วยเพียงแค่คนจน

11 ก.พ. 2562 เครือข่ายวีแฟร์ (We Fair) จัดเวทีเสวนาเชิงปฏิบัติการ รัฐสวัสดิการสู่สังคมไทยเสมอหน้า เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2562 ณ ห้องประกอบ หุตะสิงห์ ชั้น 3 อาคารอเนกประสงค์ 1 ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยผู้ร่วมเสวนาคือ เดชรัต สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw), ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

รัฐสวัสดิการสู่สังคมไทยเสมอหน้า(2): รัฐสวัสดิการคือเครื่องมือลดความขัดแย้ง

รัฐสวัสดิการสู่สังคมไทยเสมอหน้า(3): รัฐสวัสดิการในฐานะโครงสร้างพื้นฐานของประชาชน

 

เดชรัต สุขกำเนิด: รัฐจ่ายให้คนที่ช่วยเหลือตัวเองได้อยู่แล้วมากสุด คนจนจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มมากกว่าคนรวย

เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่าจะพูดเรื่องการปฏิรูประบบงบประมาณและระบบภาษีโดยขอเล่าถึงประสบการณ์ในสองประเทศ สหรัฐอเมริกา และเดนมาร์ก เปรียบเทียบกับไทย

สหรัฐอเมริกาไม่ได้เป็นรัฐสวัสดิการเข้มแข็งนัก แต่ก็มีความเชื่อมั่นว่าประเทศตัวเองเป็นประเทศของชนชั้นกลาง มีความสามารถในการทำมาหากินและสามารถสร้าง American dream ได้ แต่สถานการณ์ล่าสุด นิตยสารฟอร์จูนฉบับปลายปีที่แล้ว มีบทความชื่อว่า การจมลงของชนชั้นกลางในสหรัฐฯ เพราะปัจจุบันประสบปัญหาหนักมาก คือ 1.การศึกษามีค่าใช้จ่ายแพงขึ้นมาก 2.การสาธารณสุขแพงขึ้นมาก 3.ที่อยู่อาศัยแพงขึ้นมาก ทำให้ชนชั้นกลางมีเงินออมน้อยลงในทางกลับกันก็เป็นหนี้เพิ่มขึ้น และยังมีความกังวลเรื่องงาน เพราะพบว่างานที่มีลักษณะเป็นงานประจำมันน้อยลงเรื่อยๆ ไม่จ้างงานประจำกันแล้ว

ย้อนกลับมาดูบ้านเราเป็นอย่างไร การศึกษาเคยฟรี 12 ปี จนมีรัฐธรรมนูญฉบับคสช.ที่ลดลงเหลือมัธยมปีที่ 3 แม้จะมีรายจ่ายอย่างอื่น แต่โดยภาพรวมเราก็เข้าถึงการศึกษาได้ดีขึ้น ยกเว้นคนที่จนที่สุด 20% ของประเทศพวกเขาเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยได้เพียง  5% เท่านั้นเอง ขณะที่รัฐบาลอุดหนุนให้นักศึกษาเฉลี่ยปีละ 10,000 บาทต่อคน แปลว่า คนจนที่ไปไม่ถึงมหาวิทยาลัยไม่ได้รับประโยชน์ตรงนั้น

นี่คือประเด็นการกระจายงบประมาณที่ต้องพูดถึง เหมือนรัฐบาลมีกำแพงโดยทางอ้อม ช่วยบางส่วนแต่คุณต้องจ่ายเพิ่ม คนจน 95% ที่ไม่สามารถจ่ายเพิ่มได้ เงินที่รัฐบาลใช้จ่ายกับการศึกษาจึงไปตกกับคนรวย 20% แรกมากที่สุด เรื่องสุขภาพก็เช่นกัน แม้มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่สิ่งที่เป็นปัญหามี 2 เรื่อง 1.คนต่างจังหวัดไม่มีเงินไปรพ.ศูนย์ หรือรพ.ชั้นนำในกทม.ปรากฏว่าถ้าเราแบ่งคนเป็น 5 กลุ่ม ตั้งแต่รวย 20% แรกไปถึงจนสุด 20% สุดท้ายพบว่า ค่าใช้จ่ายที่รัฐบาลจ่ายส่วนมากกลับไปอยู่กับกลุ่มคนที่รวยสุด 20% และส่วนของราชการก็ได้เยอะกว่าคนทั่วไป โดยสรุปเราก็ไปใช้จ่ายเพื่อช่วยคนที่พร้อมช่วยตัวเองอยู่แล้วมากที่สุด

เดชรัต กล่าวต่อว่า ไม่เฉพาะคนจนที่เดือดร้อน ตอนนี้มีอีกกลุ่มที่กำลังร่วมเดือดร้อนด้วย คือ คนชั้นกลาง แต่เดิมนั้นสบายๆ แต่ด้วยสถานการณ์เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ลูกส่งเรียนเอกชน รักษาพยาบาลเอกชน ที่อยู่อาศัยรัฐก็ไม่ควบคุมราคาบ้านราคาคอนโด ก็เลยต้องถามชนชั้นกลางประเทศไทยว่าจะสู้แบบนี้ไปเองเรื่อยๆ หรือจะมาร่วมลงทุนกันสร้างรัฐสวัสดิการ วิธีการจัดให้เป็นรัฐสวัสดิการอาจทำให้คนชั้นกลางเสียประโยชน์บางอย่าง เช่น เลิกการลดหย่อนภาษี LTF แต่มันจะทำให้สามารถจัดสวัสดิการรองรับได้ทั้งหมด

เดชรัตกล่าวว่า ในส่วนเรื่องของภาษีหรือเงินขาเข้าของรัฐนั้น คนชั้นกลางจำนวนมากเข้าใจผิดว่า คนจนไม่ต้องเสียภาษี ตนเองลองคำนวณดูพบว่า คนชั้นกลางเสียภาษีประมาณ 60,000 บาทต่อครอบครัวต่อปี แต่ในจำนวนนี้เป็นภาษีรายได้นิดเดียวประมาณหมื่นกว่าบาท ที่เสียเยอะคือภาษีทางอ้อมอย่างภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีสรรพสามิตน้ำมัน คำถามคือ คนจนไม่ต้องเสียภาษีทางอ้อมหรือ

หากดูตัวเลขรูปธรรม คนรวย 20% ของประเทศ (ไม่รวมพวก super rich ที่รวยสุดๆ หยิบมือเดียว) พวกเขามีรายได้เฉลี่ย 60,000 บาท ใช้บริโภค 40,000 บาท ในจำนวนนั้นเสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยประมาณ 2,000 บาทเท่านั้นหรือแปลว่าประมาณ 3% ของรายได้ ขณะที่คนจนมีรายได้ประมาณ 10,000 บาท มีรายจ่ายประมาณ 12,000 บาท (มักเป็นหนี้) ในจำนวนนั้นเสียภาษีมูลค่าเพิ่มประมาณ 500-600 บาท เทียบเป็นเปอร์เซ็นต์เท่ากับ 6% ของรายได้ เท่ากับว่าคนจนเสียมูลค่าเพิ่มหนักยิ่งกว่าคนชั้นกลาง เราจึงต้องปฏิรูประบบภาษี

เดชรัตอธิบายต่อว่า พอกล่าวถึงการปฏิรูประบบภาษี จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงวิธีคิด เพราะคนก็มักจะคิดว่ารัฐจะเก็บภาษีเพิ่มเป็นการเสียประโยชน์ แต่ขอยกตัวอย่างตอนอยู่เดนมาร์ก ตอนนั้นตนเองเสียภาษีประมาณ 40% อยู่เมืองไทยเสีย 10%  แต่ตนเองยินดีเสียเต็มที่แบบในเดนมาร์ก เพราะทันทีที่กลับจากเดนมาร์กแล้วไปสอนที่ม.เกษตรศาสตร์ สิ่งแรกที่ต้องซื้อคือ รถ ราคา 600,000 บาท อยู่เดนมาร์กไม่ต้องซื้อรถ ใช้ระบบขนส่งสาธารณะได้สะดวกทั่วประเทศ มาตรฐานโรงเรียนก็เท่ากัน ไม่ต้องส่งลูกไปเรียนแพงๆ เหมือนเมืองไทย ฯลฯ นอกจากนี้สิ่งที่ต้องเปลี่ยนอย่างมากคือ ภาษีที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่เก็บน้อยมาก ปัจจุบันตนมีที่ดินบางบัวทอง ราคาประเมินประมาณ 10 ล้านบาทต่อไร่ เสียภาษี 40 บาทเท่านั้น  

“ประเทศที่เชื่อเรื่องรัฐสวัสดิการมองต่างจากเราคือ เราคิดว่าการเก็บภาษีคือการเก็บจากคนกลุ่มหนึ่งไปให้คนอีกกลุ่มหนึ่ง แต่ประเทศรัฐสวัสดิการไม่ได้มองแบบนี้ เขามองว่า ทั้งหมดนี้คือการลงทุนให้ทั้งประเทศเข้มแข็งไปพร้อมกัน ประเทศสวีเดน เดนมาร์ก เป็นประเทศแพ้สงคราม ยากจน ตั้งแต่ร้อยกว่าปีที่แล้ว เขามองว่าจะพ้นจากความยากจนได้อย่างไร จะมีที่ยืนในสังคมโลกได้ยังไง เขาพบว่าต้องให้ทุกคนเข้มแข็งไปพร้อมกัน มีโอกาสเสมอกัน มีความเสี่ยงน้อยที่สุดเท่าที่จะสามารถดูแลกันและกันได้” เดชรัตกล่าว

 

จอน อึ๊งภากรณ์: ความเหลื่อมล้ำเป็นอาชญากรรมของรัฐ รัฐสวัสดิการไม่ได้ช่วยเฉพาะคนจน

จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าวว่า เราเคยอยู่ในสังคมที่เคยชิน กับเรื่องความเหลื่อมล้ำ มองว่าความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าเราเกิดในสังคมที่มีความเท่าเทียมกันเราก็จะมองความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องผิดปกติ รัฐสวัสดิการไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ หลายๆ ประเทศในโลกมีระบบนี้มานานแล้ว

“สำหรับผม ผมมองว่าความเหลื่อมล้ำเป็นอาชญากรรมของรัฐ เป็นอาชญากรรมของรัฐบาลไทยตั้งแต่สมัยเผด็จการทั้งหลายมาถึงปัจจุบันที่ปล่อยความเหลื่อมล้ำให้เกิดขึ้น” จอนกล่าว

จอนกล่าวด้วยว่า ประเทศไทยเรามีเงื่อนไขข้อผูกพันทางกฎหมายด้วยที่ต้องเป็นรัฐสวัสดิการ เพราะเป็นภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม พ.ศ.2519 ที่กำหนดให้รัฐภาคีของกติการับรองสิทธิของทุกคนในมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอสำหรับตนเองและครอบครัว ทุกคนต้องมีสุขภาพกายและจิตตามมาตรฐานสูงสุดเท่าที่เป็นไปได้ และต้องรับรองสิทธิของทุกคนที่จะมีการศึกษา

“ระบบรัฐสวัสดิการทุกคนต้องมีส่วนร่วม ร่วมจ่ายและร่วมรับ ร่วมจ่ายหมายถึงทุกคนที่มีรายได้เพียงพอต้องเสียภาษี และภาษีนั้นจะเอามาใช้เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ร่วมรับก็คือ กติกานั้นจะไม่เลือกปฏิบัติ จะต้องให้ทุกๆ คน เพราะมันเป็นเรื่องของสิทธิ เป็นเรื่องการยอมรับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รัฐสวัสดิการเป็นส่วนสำคัญของอารยธรรมด้วย” จอนกล่าว

เขายังอธิบายต่อว่า รัฐสวัสดิการไม่ใช่ระบบที่ช่วยแต่คนจน โดยสามัญสำนึกเราอาจจะคิดว่า ถ้าเอาทรัพยากรไปช่วยเฉพาะคนจนน่าจะได้ประสิทธิภาพมากกว่า แต่เรามีบทเรียนมากมายทั้งในโลกและในประเทศไทยที่ทำเช่นนั้นแล้วไม่ได้ผล ยกตัวอย่าง ยุคหนึ่งไทยมีบัตรคนจนในเรื่องสุขภาพ ต้องมีการวัดความจน พิสูจน์ว่าจน แต่ปรากฏว่าในทางปฏิบัติคนที่มีบัตรคนจนคือคนไม่จนจริง และคนจนจริงไม่มีบัตร นอกจากนี้มันยังทำให้คนเสียศักดิ์ศรี รู้สึกแปลกแยกในสังคม บริการที่ได้รับก็ต่างกันมาก การมีระบบถ้วนหน้าที่ทุกคนจ่าย ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน มันเป็นการประกันคุณภาพไปด้วยในตัว และเราเสนอให้ยุบรวมทุกกองทุนเป็นกองทุนเดียวสำหรับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพราะจะทำให้เมื่อถัวเฉลี่ยจะได้เงินต่อหัวมากขึ้น เพิ่มคุณภาพบริการ และหากข้าราชการอยู่ในระบบเดียวกันพวกเขาก็จะเป็นปากเสียงเมื่อระบบมีปัญหา อีกทั้ง สปสช.จะสามารถมีอำนาจต่อรองราคายาที่มีสิทธิบัตรเพิ่มขึ้นด้วย สุดท้ายคือ ไม่เป็นการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net