Skip to main content
sharethis

สตช. เตือนระวังผู้ไม่หวังดีอ้างกรมบัญชีกลางขอข้อมูลส่วนตัว/ครม.อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ เปิดช่องให้นายจ้างปิดงาน-ลูกจ้างนัดหยุดงานได้ แต่อยู่ภายใต้ กม.กำหนด/ร้อง กยศ.เกือบจบเทอมยังไม่จ่ายเงิน นศ.บางส่วนต้องลาออก/พยาบาลปฐมภูมิบอกเล่าความทุกข์ ‘รับเหมางานไม้จิ้มฟันยันเรือรบ-โดนกีดกันขึ้น ผอ.รพ.สต.’/กระทรวงแรงงานเผย 'ไต้หวัน' อนุญาตให้แรงงานต่างชาติผิดกฎหมาย รายงานตัวกลับประเทศได้/ตั้งเป้าปี 2562 ส่งคนไทยไปทำงานต่างประเทศ 45,000 คน นำรายได้กลับเข้าประเทศกว่า 140,000 ล้านบาท

ตั้งเป้าปี 2562 ส่งคนไทยไปทำงานต่างประเทศ 45,000 คน นำรายได้กลับเข้าประเทศกว่า 140,000 ล้านบาท

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กรมการจัดหางานได้จัดส่งแรงงานไทยไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลีตามระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ (EPS) ปี 2561 จำนวน 6,203 คน โดยไปทำงานในภาคอุตสาหกรรม 3,618 คน ภาคการเกษตรและปศุสัตว์ 665 คน ภาคการก่อสร้าง 734 คน และเป็นคนงานที่ได้รับการจ้างซ้ำ 1,186 คน สำหรับ ปี 2562 ตั้งเป้าหมายจัดส่งแรงงานไทย ประมาณ 6,000 คน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม-11 กุมภาพันธ์ 2562 แรงงานไทยเดินทางไปทำงานแล้ว 435 คน โดยในวันนี้เดินทางทั้งหมด 200 คน ไปทำงานภาคอุตสาหกรรม 190 คน และภาคการเกษตรและปศุสัตว์ 10 คนแยกเป็นเพศชาย 183 คนเพศหญิง 17 คน

ขณะที่ ในปี 2561 กระทรวงแรงงานได้จัดส่งแรงงานไทย 40,000 คน ไปในประเทศที่เป็นตลาดแรงงานที่สำคัญ อาทิ ไต้หวัน, สาธารณรัฐเกาหลี ญี่ปุ่น อิสราเอล สิงคโปร์ ซึ่งสามารถส่งรายได้กลับประเทศเป็นเงินปีละกว่า 126,428 ล้านบาท พร้อมตั้งเป้าปี 2562 จัดส่งคนไปทำงาน 45,000 คน ซึ่งคาดว่าจะส่งรายได้กลับประเทศเป็นเงินกว่า 140,000 ล้านบาท

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 11/2/2562

กระทรวงแรงงานเผย 'ไต้หวัน' อนุญาตให้แรงงานต่างชาติผิดกฎหมาย รายงานตัวกลับประเทศได้

พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่ทางการไต้หวัน ได้ประกาศโครงการพิเศษ ลดหย่อนโทษสำหรับชาวต่างชาติที่อยู่เลยกำหนดวีซ่า ซึ่งรวมถึงแรงงานต่างชาติที่หลบหนีจากนายจ้างกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย และชาวต่างชาติที่อยู่เลยกำหนดวีซ่า ให้สามารถเข้ามอบตัว และสามารถเดินทางกลับประเทศได้ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2562 นั้น มีสาระสำคัญ คือ

1) ไม่ว่าจะหลบหนีหรืออยู่เลยกำหนดวีซ่านานเท่าไหร่ จะได้รับการลดหย่อนค่าปรับเหลือ 2,000 เหรียญไต้หวัน

2) หากหลบหนีหรืออยู่เลยกำหนดวีซ่าไม่เกิน 3 ปี จะไม่ถูกจำกัดการเข้าไต้หวัน และกลับไปแล้วสามารถเข้าสู่ไต้หวันได้อย่างถูกกฎหมาย ส่วนกรณีที่อยู่เลย 3 ปี จะได้รับการลดหย่อนการจำกัดเข้าไต้หวันกึ่งหนึ่ง

3) ผู้ประสงค์เข้ามอบตัว ขอให้เตรียมเอกสารการเดินทาง (พาสปอร์ต) และตั๋วเครื่องบิน ให้ไปรายงานตัวต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองท้องที่ โดยจะไม่ถูกกักตัวอยู่ในสถานกักกัน หากเอกสารการเดินทางและตั๋วเครื่องบินพร้อม เมื่อมอบตัวเสร็จแล้ว สามารถเดินทางกลับประเทศได้ทันที

4) ช่วงระหว่างการมอบตัวในโครงการพิเศษนี้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 30 มิ.ย. 2562 และ 5) หากถูกตรวจพบในระหว่างหรือเมื่อสิ้นสุดโครงการ จะต้องเสียค่าปรับและถูกจำกัดการเข้าไต้หวันตามบทลงโทษเดิม ทั้งนี้ ตามบทลงโทษในปัจจุบัน จะถูกปรับตามระยะเวลาที่อยู่เกินกำหนด สูงสุด 10,000 เหรียญไต้หวัน และจะถูกจำกัดการเดินทางเข้าไต้หวันเป็นเวลา 3 ปีขึ้นไป

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงาน ขอแจ้งเตือนไปยังแรงงานไทยในไต้หวันที่ทำงานโดยผิดกฎหมาย หรืออยู่เลยกำหนดวีซ่า ให้เข้ามอบตัว โดยรายงานตัวต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองท้องที่เพื่อเดินทางกลับประเทศ และสำหรับผู้ที่มีความประสงค์จะเดินทางไปทำงานในไต้หวันสามารถติดต่อกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน 02-245 1034 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

“ขอเตือนคนไทยที่จะเดินทางไปทำงานต่างประเทศ จะต้องไปด้วยวิธีการที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะการเดินทางไปทำงานอย่างถูกกฎหมายจะได้รับ อัตราค่าจ้างตามกฎมาย และได้รับการคุ้มครองด้านสิทธิประโยชน์จากทางการ ขณะที่การลักลอบเข้าไปทำงานอย่างผิดกฎหมาย จะทำให้การได้รับความช่วยเหลือเป็นไปด้วยความยากลำบาก และไม่สามารถเรียกร้องสิทธิใดๆ จากนายจ้างได้ จึงขอให้แรงงานไทยตระหนักถึงการเดินทางไปทำงานที่ถูกต้องตามกฎหมายและขอให้ศึกษาข้อมูลรายละเอียดที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจน ก่อนตัดสินใจไปทำงานต่างประเทศ”

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 10/2/2562

พยาบาลปฐมภูมิบอกเล่าความทุกข์ ‘รับเหมางานไม้จิ้มฟันยันเรือรบ-โดนกีดกันขึ้น ผอ.รพ.สต.’

เมื่อเร็วๆ นี้ สภาการพยาบาล ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดการรับฟังความคิดเห็นผู้ให้บริการตามมาตรา 18 (13) เพื่อรับฟังสภาพปัญหาเฉพาะกลุ่มพยาบาล ที่ จ.บุรีรัมย์ โดยมีพยาบาลวิชาชีพจากโรงพยาบาลระดับต่างๆในจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นเกือบ 300 คน แบ่งเป็น 11 กลุ่มย่อย หารือปัญหาและแนวทางแก้ไขใน 3 ประเด็นหลัก คือ พยาบาลวิชาชีพห้องอุบัติเหตุฉุกเฉิน (ER), พยาบาลวิชาชีพในระบบบริการปฐมภูมิ และพยาบาลแผนกสูติกรรม

ในส่วนของปัญหาและข้อคิดเห็นของพยาบาลวิชาชีพในระบบบริการปฐมภูมินั้น มีกลุ่มย่อยที่แสดงความคิดเห็นทั้งหมด 4 กลุ่ม โดยมีรายละเอียดดังนี้

นายประยัติ ศิริรักษ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รพ.สต.ท่าเพลิง จ.กาฬสินธุ์ เป็นตัวแทนกลุ่มที่ 1 นำเสนอว่า บทบาทของพยาบาลในระบบปฐมภูมินั้นได้รับมอบหมายให้แค่ให้ดูแลครอบครัว ประสานงาน เป็นที่ปรึกษา รักษาพยาบาลเบื้องต้น งาน ANC พัฒนาการเด็ก โภชนาการเด็ก แต่ในทางปฏิบัติยังมีงานส่วนเกิน เช่น จ่ายยาผู้ป่วยเรื้อรัง ฉีดยา ทำแผลเล็กในชุมชน บริหารงานเวชภัณฑ์ งานยาเสพติด ควบคุมโรค เป็นแม้กระทั่งแพทย์สนามมวย งานทุกอย่างมาอยู่กับพยาบาลทั้งนั้น หรือการส่งต่อผู้ป่วยจาก รพ.สต. มีพยาบาลอยู่เวร 1 คน ถ้าส่งต่อคนไข้พยาบาลก็ต้องไปด้วย ดังนั้นอยากให้มีเพิ่มจำนวนพยาบาลอยู่เวรเป็น 2 คน

"ในส่วนของงาน Long Term Care งานผู้สูงอายุเป็นงานที่หนักมาก CG ที่อบรมไปทำงานได้ไม่ถึง 30% ส่วนมากเวลาออกเยี่ยมบ้านพยาบาลต้องออกไปประกบ ดูแลติดตาม ประเมินคนไข้ เขียน Care Plan แต่ CM ไม่ได้ค่าตอบแทน และเงินกองทุนเกือบ 1,000 ล้านบาท อยากขอให้เพิ่มค่าตอบแทนให้พยาบาลที่ทำงานในส่วนนี้ อย่างน้อยเดือนละ 500-1,000 บาท รวมๆก็ใช้เงินประมาณ 60 ล้าน เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ" นายประยัติ กล่าว

ด้าน นางปิยะนุช ไชยสาส์น พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ คลินิกหมอครอบครัวกุมภวาปี จ.อุดรธานี เป็นตัวแทนกลุ่มที่ 2 นำเสนอว่า ข้อคิดเห็นของกลุ่มคล้ายกับกลุ่มก่อนหน้านี้ กล่าวคือพยาบาลทำทุกอย่างตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ ยิ่งตอนนี้มี PCC มีการส่งต่อคนไข้จากโรงพยาบาลแม่ข่ายมาที่ รพ.สต.มากขึ้น ทำให้บทบาทการรักษาของพยาบาลเวชปฏิบัติบางครั้งเกินขอบเขต เช่น มียาบางตัวที่อยู่ในกรอบยาของแพทย์ แต่แพทย์ไม่ได้อยู่กับ PCC ตลอดเวลา บางครั้งคนไข้มารักษาต่อเนื่องจำเป็นต้องใช้ ทำให้เกิดการใช้ยาที่เกินขอบเขตพยาบาล นอกจากนี้ยังมีงานอื่นๆ ที่เกินขอบเขตพยาบาล ทั้งซ่อมบำรุง การเงิน พัสดุ บัญชี ซึ่งพยาบาลไม่เคยถูกสอนมา แต่เนื่องจากบริบทของ รพ.สต. มีคนน้อย บางอย่างก็ต้องทำ ทำให้ไม่สามารถ Take Action ในบทบาทของพยาบาลได้เต็มที่

"หรือในเรื่องการทำงานแทนเภสัชกรและเทคนิคการแพทย์ เราทำมานาน แต่ ณ วันหนึ่งก็ถูกเรียกร้องว่าเราไม่มีสิทธิ ตรงนี้อยากฝากหลายๆ ฝ่ายช่วยดูแล" นางปิยะนุช กล่าว

นอกจากนี้ พยาบาลใน รพ.สต.ยังมีความเสี่ยงสูงจากงานอนามัยแม่และเด็ก ANC และหลังคลอด พยาบาลบางจังหวัดยังไม่ถูกพัฒนาศักยภาพในด้านการดูแลหญิงตั้งครรภ์และการทำคลอดฉุกเฉิน แม้มีเคสแบบนี้ไม่มากแต่ก็ถือเป็นความเสี่ยง ดังนั้นอยากให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สนับสนุนแนวทางหรืองบประมาณที่เอื้อต่อการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นใน รพ.สต.นั้นๆ เพราะบางครุภัณฑ์ไม่จำเป็นต้องใช้ น่าจะให้ รพ.สต.เป็นคนรีเควสเองว่าต้องการเครื่องมืออะไร เอาไปใช้ประโยชน์อะไร เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่จริงๆ

ในส่วนของการคุ้มครองสิทธิของผู้ให้บริการ ก็พบว่าพยาบาลวิชาชีพยังไม่ทราบว่ามีสิทธิในการคุ้มครองผู้ให้บริการมีอะไรบ้าง หรืออาจยังไม่ทราบช่องทางการคุ้มครองสิทธิ ดังนั้น เสนอให้มีการประชาสัมพันธ์หรือเพิ่มช่องทางการเข้าถึงการคุ้มครองสิทธินี้มากขึ้น

นางปิยะนุช กล่าวอีกว่า ในส่วนของบทบาทพยาบาลชุมชนตามโครงสร้าง รพ.สต. และ PCC ปัจจุบันพยาบาลในหลายพื้นที่รับบทบาทบริหารในฐานะเป็นรักษาการผู้อำนวยการ รพ.สต. แต่ไม่มีกรอบหรือตำแหน่งให้ ตำแหน่ง ผอ.รพ.สต.ยังเอื้อให้บางสายงานเท่านั้น ดังนั้นอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ไม่ใช่จังหวัดนี้ได้จังหวัดนี้ไม่ได้

ขณะที่นายจักรินทร์ เคนรัง พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รพ.สต.ท่ามะไฟหวาน จ.ชัยภูมิ เป็นตัวแทนกลุ่มที่ 3 นำเสนอว่า มีหลายงานที่ไม่ใช่บทบาทพยาบาล เช่น การเงิน ไอที กายภาพบำบัด แพทย์แผนไทย ประสานท้องถิ่น ประสานโรงเรียน ดูแลเรื่องอาชีวะอนามัย ฯลฯ ส่วนงานงานแม่และเด็ก ยังมีการฝากครรภ์ไม่ครบตามเกณฑ์คุณภาพ มาฝากครรภ์ครั้งแรกเกินกว่า 12 สัปดาห์ ฝากครรภ์แล้วไม่มาตามนัด และพบว่ายังมีการคลอดที่บ้าน ซึ่งแนวทางแก้ไขคงต้องทำงานร่วมกับ พชอ. รวมทั้งฟื้นฟูทักษะของพยาบาลใน รพ.สต.ให้มากขึ้น

ในส่วนของ Long Term Care ถ้าเป็นไปได้อยากให้แก้ไขกฎหมายเพิ่มสัดส่วนฝ่ายสาธารณสุขในคณะงานทำงานให้มากขึ้น เพราะส่วนใหญ่เป็นทีมทำงานจากท้องถิ่น ซึ่งมีภารกิจมาก บางครั้งก็มีการโยกย้ายผู้บริหารท้องถิ่น ทำให้การประชุมคณะทำงานขาดความต่อเนื่อง ส่วนการปฏิบัติงานก็พบว่ามีแต่เจ้าหน้าที่ รพ.สต.กับเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลที่ดูแลเรื่อง Long Term Care ลงพื้นที่ นานๆ ครั้งทีมสหวิชาชีพจะไปเยี่ยมแบบเต็มทีม ซึ่งก็เข้าใจได้ในการความขาดแคลนบุคลากรของโรงพยาบาล ดังนั้นแนวทางแก้ไขคงต้องปรับแผนงานที่สอดคล้องกับความเป็นจริง เช่น พื้นที่ที่อยู่ห่างไกลอาจต้องมีทีมสหวิชาชีพลงพื้นที่จริงๆ

นางอุไรวรรณ ฐิติวัฒนากูล พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รพ.สต.บุ่งคำ จ.อุบลราชธานี เป็นตัวแทนกลุ่มที่ 4 นำเสนอว่า อยากเสนอให้พยาบาลวิชาชีพมีความก้าวหน้าตามภาระงานที่ได้รับ เพราะปัจจุบันความก้าวหน้ายังต่ำและเป็นผู้อำนวยการ รพ.สต. ไม่ได้จริงๆ แม้กรอบใหม่จะให้พยาบาลเป็นได้ แต่หลายจังหวัดไม่สามารถดำเนินการแบบนั้น มีหลายอำเภอที่ยังกีดกันไม่ให้พยาบาลขึ้นตำแหน่ง เช่น บางอำเภอพอมีหนังสือแจ้งว่าตำแหน่งว่าง รับสมัครนักวิชาการแต่ก็ไม่ให้พยาบาลสมัคร เป็นต้น รวมทั้งเรื่องค่าตอบแทนก็ยังไม่เหมาะสมเช่น ค่าเวร ปฏิบัติหน้าที่มา 20 ปีก็ยัง 600 บาทเหมือนเดิม ดังนั้นน่าจะมีการปรับปรุงในจุดนี้

ส่วนเรื่อง Long Term Care เสนอว่ามีหลายพื้นที่ที่ทำได้ดี ตรงนี้ขึ้นกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ว่าเข้าใจบทบาทมากน้อยแค่ไหน ดังนั้นเสนอว่าพื้นที่ไหนที่มีปัญหาการเบิกเงินอาจต้องไปดูงานในพื้นที่ที่ประสำความสำเร็จ เพื่อศึกษาแนวทางการทำงานและนำไปปรับใช้ต่อไป รวมทั้งเสนอว่าควรมีผู้รับผิดชอบงาน Long Term Care เดี่ยวๆ ไปเลยไม่ต้องรับผิดชอบงานอื่นด้วย บางพื้นที่ 10 หมู่บ้านมีพยาบาลคนเดียว ทำทั้งงานการเงิน พัสดุ การตรวจรักษาโรคเบื้องต้น ทำทุกอย่างจนทำไม่ไหว

อีกปัญหาของผู้ปฏิบัติงานใน รพ.สต. คือ ต้องคีย์ข้อมูลเพื่อให้ได้เงิน ทำให้ไม่สามารถลงพื้นที่ได้อย่างเต็มที่ เกิดความเสี่ยงด้านสุขภาพของประชาชน อีกทั้งโปรแกรมคีย์ข้อมูลก็มีหลายโปรแกรม ถ้าเป็นไปได้อยากให้ปรับปรุงโปรแกรมต่างๆ ให้เชื่อมโยงข้อมูลกันได้ หรือสามารถนำเข้าข้อมูลจากโปรแกรมอื่นได้เพื่อให้ง่ายต่อผู้ปฏิบัติ รวมทั้งเกณฑ์การเบิกเงินที่ไม่สอดคล้องกับความจริง เช่น QOF ต้องได้ 80% บางพื้นที่มีประชากร 1,000 คนก็ทำได้ แต่บางพื้นที่ประชากร 10,000 คน คงทำไม่ได้ 80% แน่นอนเพราะภาระงานอื่นๆ ก็เยอะอยู่แล้ว จึงควรทบทวนเกณฑ์ใหม่

ที่มา: Hfocus, 9/2/2562

ร้อง กยศ.เกือบจบเทอมยังไม่จ่ายเงิน นศ.บางส่วนต้องลาออก

เมื่อวันที่ 6 ม.ค.2562 นักศึกษามหาวิทยาลัยเฉลิมกาญจนา จ.นครศรีธรรมราช กว่า 300 คน เข้าร้องต่อ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งอนุมัติเงินในกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ.ให้แก่นักศึกษาที่ยากจน หลังจากนักศึกษาหลายคนใกล้จบการศึกษาในภาคเรียนที่ 2 แล้ว แต่ยังไม่ได้รับเงิน กยศ.โดยเฉพาะนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ปีการศึกษา 2561 รวมกว่า 300 คน

น.ส.ณัฐมนต์ สุยบางดำ ตัวแทนนักศึกษา ระบุว่าไม่ทราบเหตุผลที่นักศึกษาไม่ได้รับเงิน กยศ. และที่ผ่านมา เคยประสานมหาวิทยาลัย และสำนักงาน กยศ.แล้ว แต่ไม่ได้รับคำตอบ ทำให้นักศึกษาบางคนที่มีฐานะยากจนจำนวนหนึ่ง ต้องลาออกจากมหาวิทยาลัย

ที่มา: ThaiPBS, 6/2/2562

ครม.อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ เปิดช่องให้นายจ้างปิดงาน-ลูกจ้างนัดหยุดงานได้ แต่อยู่ภายใต้ กม.กำหนด

พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ประกอบด้วย

1. ยกเลิกพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

2. กำหนดบทนิยามคำว่า นายจ้าง, ลูกจ้าง, สภาพการจ้าง, ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง, ปิดงาน, นัดหยุดงาน, สมาคมนายจ้าง, สหภาพแรงงาน, สหพันธ์นายจ้าง, สหพันธ์แรงงาน เป็นต้น

3. หมวด 1 ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง กำหนดให้สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 20 คนขึ้นไป ต้องจัดให้มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง โดยให้ทำเป็นหนังสือกำหนดให้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ประกอบด้วย เงื่อนไขการจ้างหรือการทำงาน ค่าจ้าง การเกษียณอายุหรือครบสัญญาจ้าง เป็นต้น ให้นายจ้างนำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมาจดทะเบียนต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้ตกลงกัน

4. หมวด 2 วิธีระงับข้อพิพาทแรงงาน กำหนดให้เมื่อมีข้อพิพาทแรงงานเกิดขึ้น ฝ่ายแจ้งข้อเรียกร้องต้องแจ้งเป็นหนังสือให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานทราบภายใน 48 ชั่วโมง นับแต่พ้นกำหนดเวลาหรือนับแต่เวลาที่ตกลงกันไม่ได้ กรณีข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ ทั้งสองฝ่ายอาจตกลงกันให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานดำเนินการไกล่เกลี่ยต่อไป หรือนำข้อพิพาทนั้นไปเจรจาตกลงกันเอง หรือตั้งผู้ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน หรือปิดงานหรือนัดหยุดงานโดยไม่ขัดต่อกฎหมายก็ได้

นอกจากนี้ ได้กำหนดให้กิจการบางประเภท เมื่อมีข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ ต้องส่งข้อพิพาทแรงงานให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ชี้ขาด อาทิ กิจการไฟฟ้า กิจการประปา กิจการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง รวมทั้งกิจการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเห็นว่าข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้นั้น อาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศ หรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน

5. หมวด 3 การปิดงานและการนัดหยุดงาน กำหนดให้นายจ้างอาจปิดงาน หรือลูกจ้างอาจนัดหยุดงานได้ แต่จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้

6. หมวด 4 คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ กำหนดองค์ประกอบ วิธีการได้มา วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ โดยให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการวินิจฉัยข้อพิพาทแรงงาน การชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน เสนอความเห็นเกี่ยวกับการเรียกร้อง การเจรจา การระงับข้อพิพาทแรงงาน การนัดหยุดงานและการปิดงานตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย

7. หมวด 5 คณะกรรมการส่งเสริมการแรงงานสัมพันธ์ กำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมการแรงงานสัมพันธ์เพิ่มเติมขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่เสนอนโยบายและยุทธศาสตร์ในการส่งเสริม ป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านแรงงานสัมพันธ์ต่อรัฐมนตรี และเสนอความเห็นในการปรับปรุงกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ต่อคณะรัฐมนตรี รวมทั้งออกกฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศ ต่อรัฐมนตรี

8. หมวด 6 คณะกรรมการลูกจ้าง กำหนดให้มีคณะกรรมการลูกจ้าง เพื่อทำหน้าที่ประชุมหารือกับนายจ้างเพื่อจัดสวัสดิการแก่ลูกจ้าง กำหนดข้อบังคับในการทำงานพิจารณาคำร้องทุกข์ของลูกจ้าง ตลอดจนหาทางปรองดองและระงับข้อขัดแย้งในสถานประกอบกิจการ

9. หมวด 7 สมาคมนายจ้าง หมวด 8 สหภาพแรงงาน และหมวด 9 สหพันธ์นายจ้างและสหพันธ์แรงงาน กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการในการจัดตั้ง การเข้าเป็นสมาชิก และการดำเนินกิจการของสมาคมนายจ้าง สหภาพแรงงาน สหพันธ์นายจ้าง สหพันธ์แรงงาน สภาองค์การนายจ้างและสภาองค์การลูกจ้าง โดยสมาคมนายจ้าง สหภาพแรงงาน สหพันธ์นายจ้าง สหพันธ์แรงงานมีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งเพื่อแสวงหาและคุ้มครองผลประโยชน์เกี่ยวกับสภาพการจ้างให้แก่สมาชิก และส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง

10. หมวด 10 การกระทำอันไม่เป็นธรรม กรณีที่ถือว่าเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ห้ามนายจ้างกระทำต่อลูกจ้าง เช่น การเลิกจ้างหรือกระทำการใด ๆ อันอาจเป็นผลให้ลูกจ้างไม่สามารถทนทำงานอยู่ต่อไปได้ เพราะเหตุที่ลูกจ้างกำลังร่วมกันจัดตั้งสหภาพแรงงาน กำลังจะเข้าเป็นสมาชิกหรือเป็นกรรมการของสหภาพแรงงาน เป็นต้น

11. หมวด 11 บทกำหนดโทษ กำหนดโทษทางอาญาต่อผู้ที่กระทำฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ ไม่ว่าจะเป็นนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้แทนนายจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง ที่ปรึกษานายจ้าง ที่ปรึกษาลูกจ้าง ผู้ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน สมาคมนายจ้างสหภาพแรงงาน หรือผู้ชำระบัญชีก็ตาม และให้อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน มีอำนาจเปรียบเทียบปรับได้สำหรับความผิดที่มีโทษปรับสถานเดียว

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสต์, 5/2/2562

9 หน่วยงานรุกส่งเสริมสุขภาพ "ผู้ประกันตน" ผ่าน 10 ชุดความรู้สุขภาพคนทำงาน

6 ก.พ. 2562 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแก่ผู้ประกันตน ในสถานประกอบการร่วมกับ 9 หน่วยงาน คือ สำนักงานประกันสังคม กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมการแพทย์ กรมอนามัย กรมควบคุมโรค กรมสุขภาพจิต สมาคมโรงพยาบาลเอกชน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีวัยแรงงานรวมกว่า 38 ล้านคน โดยมีผู้ประกันตนประมาณ 16 ล้านคน มีสิทธิตรวจสุขภาพ 13 ล้านคร จึงจัดทำโครงการประชารัฐร่วมกับภาคีเครือข่ายกว่า 1,100 แห่ง ดำเนินโครงการตรวจสุขภาพให้กับผู้ใช้แรงงานในสถานประกอบการ โดยจัดให้มีบริการตรวจสุขภาพจำนวน 14 รายการ เช่น ตรวจสุขภาพช่องปาก ตรวจทางห้องปฏิบัติการ เอกซเรย์ทรวงอก ตรวจหามะเร็งปากมดลูก ฯลฯ พร้อมจัดทีมแพทย์เฉพาะทางในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขตรวจสุขภาพให้การแนะนำแก่ผู้ประกันตน รวมถึงส่งเสริมให้สถานประกอบการที่มีแรงงาน 200 คนขึ้นไป ตั้งคลินิกในสถานประกอบการ มีแพทยืและพยาบาลประจำ เพื่อส่งเสริมสวัสดิการด้านสุขภาพและมีการจัดสภาพแวดล้อมให้มีความปลอดภัย เอื้อต่อการทำงานให้มากขึ้น ทั้งนี้ จะเริ่มดำเนินการนำร่องกิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพเชิงรุกในสถานประกอบการครั้งแรก ในวันที่ 7 ก.พ. 2562 ที่นิคมอุตสาหกรรม อมตะซิตี้ จังหวัดชลบุรี

นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สถานการณ์ปัญหาสุขภาพคนวัยทำงานที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้หน่วยงานกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และเครือข่าย อาทิ กระทรวงแรงงาน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เครือข่ายองค์กรสุขภาวะ และภาคเอกชน ได้ตระหนักถึงความสำคัญของงานส่งเสริมสุขภาพคนวัยทำงานในสถานประกอบการ เพื่อให้คนวัยทำงานมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีจากการทำงาน มีการพัฒนารูปแบบของการส่งเสริมสุขภาพคนวัยทำงานด้วยชุดความรู้สุขภาพ 10 เรื่อง ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อใช้เป็นแนวทางในการส่งเสริมให้สถานประกอบการนำไปใช้ออกแบบกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพให้วัยทำงานตามสภาพปัญหาทางสุขภาพ ในแต่ละมิติและความต้องการของสถานประกอบการ เพื่อให้คนวัยทำงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี

นพ.อรรถพล กล่าวว่า ชุดความรู้สุขภาพ 10 เรื่อง ประกอบด้วย ชุดที่ 1 หุ่นดี สุขภาพดี (Smart and Healthy Worker) ชุดที่ 2 จิตสดใส ใจเป็นสุข (Happy Working with Life Balance) ชุดที่ 3 ครอบครัวสดใส ใส่ใจดูแล (Smart and Healthy family) ชุดที่ 4 สุดยอดคุณแม่ (Smart Mom) ชุดที่ 5 เตรียมเกษียณอย่างมีคุณค่า พาชีวายืนยาว (Preretirement and Longevity Planning) ชุดที่ 6 พิชิตออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome Management) ชุดที่ 7 สถานประกอบการจะก้าวไกล ต้องใส่ใจสุขภาพแรงงานต่างชาติ (Happy and Healthy Foreigner Worker) ชุดที่ 8 สถานประกอบการดี ชีวีสดใสไร้แอลกอฮอล์ บุหรี่ (Tobacco and Alcohol Free Living) ชุดที่ 9 โรงอาหารปลอดภัยใส่ใจสุขภาพ (Healthy Canteen) และชุดที่ 10 สถานประกอบการปลอดภัยสิ่งแวดล้อมดี มีสมดุลชีวิต (Safety and Good Environmental Workplace and Happy for Life)

“สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแก่ผู้ประกันตน ในครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมสุขภาพอนามัยคนวัยทำงานด้วยชุดความรู้สุขภาพ 10 เรื่อง ให้วัยทำงานปลอดภัยดี สุขภาพดี งานดี มีความสุขในสถานประกอบการและลดพฤติกรรมทางสุขภาพที่ไม่พึงประสงค์ต่อการเกิดโรคเรื้อรังและโรคจากการประกอบอาชีพพร้อมทั้งสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งของผู้ประกันตน สถานประกอบการและของประเทศ” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 6/2/2562

สตช. เตือนระวังผู้ไม่หวังดีอ้างกรมบัญชีกลางขอข้อมูลส่วนตัว

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. ระบุกรณีมีผู้โทรศัพท์ไปขอเลขที่บัญชีธนาคารและเลขประจำตัวประชาชน โดยอ้างมาจากกรมบัญชีกลาง เพื่อโอนเงินให้แก่ผู้รับบำนาญ รายละ 2,000 บาท ซึ่งกรณีดังกล่าวได้รับแจ้งจากกรมบัญชีกลางว่าไม่เป็นความจริง และกรมบัญชีกลางไม่มีนโยบายดำเนินการด้วยวิธีดังกล่าว ส่วนผู้โทรศัพท์มาหลอกขอข้อมูลจากประชาชน เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป หากประชาชนได้รับความเสียหายจากกรณีดังกล่าว สามารถแจ้งความได้ที่สถานีตำรวจในพื้นที่ใกล้เคียง หรือไทร 191

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 5/2/2562

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net