Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

พลันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตกปากรับคำในการก้าวขึ้นเป็นบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีลำดับที่ 1 ของพรรคพลังประชารัฐ ทำให้นึกถึงหน้าของศาสตราจารย์กิตติคุณ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่เคยพูดไว้ เมื่อตอนแถลงเปิดใจกับผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย (นธป.) รุ่นที่ 4 ณ โรงแรมอโนมา กทม. หลังจากที่ร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งตนเองเป็นผู้ร่าง ถูกสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. คว่ำก่อนถึงขั้นตอนการลงประชามติว่า “....อยากอยู่ยาว...”

แม้สังคมไทย และคนไทยเกือบทั้งประเทศ จะเข้าใจได้อยู่แล้ว ตั้งแต่ที่ศาสตราจารย์กิตติคุณ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ พูดเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2559 ว่า “ใคร?” คือคนที่อยากอยู่ยาว ตามถ้อยแถลงเปิดอกเปิดใจในครั้งนั้น แต่เชื่อว่ายังมี“คนไทย” อีกหลาย ๆ คน ที่แอบหวังลึก ๆ ว่า จะไม่ได้เป็นอย่างที่อดีตประธาน กมธ. ท่านคาดการณ์ไว้ เพราะบาดแผลของสังคมไทยที่บอบช้ำ จากเหตุการณ์ความพยายามที่จะสืบทอดอำนาจในอดีตที่ผ่านมาของรัฐบาลเผด็จการทหาร ที่ฝากไว้กับประเทศ ยังคงตามหลอกหลอนคนไทยอย่างไม่มีวันลืม ไม่ว่าวันเวลาจะผ่านมากี่ยุคกี่สมัยก็ตาม จึงน่าจะเป็นบทเรียนให้กับ“ใคร?” บางคนได้เป็นอย่างดี แต่เมื่อมีการตกปากรับคำกันเป็นที่มั่นเหมาะแล้ว ทำให้คนไทย ได้แต่หวังกันอีกต่อไปว่า จะไม่เกิดเหตุการณ์ทมิฬใด ๆ แบบในอดีตที่ผ่านมากับประเทศไทย

แม้ไม่รู้ว่ากรอบเวลาคำว่า “ยาว” ของศาสตราจารย์กิตติคุณ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ จะมีระยะเวลาเนิ่นนานเท่าไร แต่ถ้ากางปฏิทินนับคร่าว ๆ นับตั้งแต่ปี 57 ถึง ณ วันนี้แล้ว ก็ผ่านมาร่วม 5 ปี ซึ่งถ้าดูกันตามนี้เชื่อว่ามีคนไทยหลายคนที่คิดว่า นี่ก็“ยาว” เกินไปแล้ว สำหรับรัฐบาลที่ไม่ได้เลือกเข้ามา แต่หากดูกันตามขีดความสามารถ และกลไกที่รัฐธรรมนูญปี 2560 บัญญัติไว้แล้ว คำว่า“ยาว” ของศาสตราจารย์กิตติคุณ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อาจจะกินเวลาขั้นต่ำล่วงเลยถึงอีก 8 ปีทีเดียว เพราะอายุของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) แบบสรรหาที่เลือกโดย คสช.นั้นจะมีอายุ 5 ปี ซึ่งจะสามารถร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีได้อย่างน้อย 2 ครั้งตามอายุของสภาผู้แทนราษฏร 4 ปีในกรณีที่อยู่ครบเทอม

ดังนั้นเมื่อปรากฏเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า จะมีการอยู่“ยาว” เพื่อสืบทอดอำนาจจริงๆ หลายฝ่ายควรจะต้องกลับมานั่งวิเคราะห์ว่า แล้วหลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 นั้น ประเทศไทยเราจะไปทางไหน เพราะหากสมการของการสืบทอดอำนาจ คือเหตุการณ์มหาวิปโยค เราควรจะทำยังไง? เพื่อไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเหตุการณ์ในอดีต

ซึ่งถึงวันนี้แล้วเชื่อว่าทางเลือกที่จะหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ที่ว่านั้น คงจะมีเพียงไม่กี่ทาง

ทางหนึ่งคือการไปเลือกตั้ง เข้าคูหา ใช้สิทธิ์ลงคะแนน เลือกพรรคการเมืองที่ประกาศตัวชัดเจนว่าไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งสำหรับคอการเมืองทั่วไป คงทราบกันดีอยู่แล้วว่า มีพรรคใดบ้างที่ประกาศตัวดังว่า

ส่วนอีกทางเลือกหนึ่งคือการแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าไม่ต้องการสืบทอดอำนาจจริง ๆ ของตัว พล.อ.ประยุทธ์ นั่นเอง เพราะในวันที่ออกหนังสือตอบรับเพื่อเข้าร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐนั้น ในเอกสารดังกล่าวระบุชัดเจนว่า ไม่ต้องการสืบทอดอำนาจ ดังนั้นเพื่อเป็นการพิสูจน์ความจริงใจให้สังคมรับรู้ว่าท่านไม่เคยโกหก ตัวท่านเองสามารถทำได้ง่าย ๆ โดยการใช้ ม.44 ตามอำนาจของหัวหน้า คสช. ออกคำสั่งให้ระงับการใช้บทเฉพาะกาล มาตรา 271 ของรัฐธรรมนูญ ที่ให้อำนาจ สว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี

เพียงเท่านี้ก็จะเป็นการพิสูจน์ว่า ท่านไม่ต้องการสืบทอดอำนาจจริง ๆ ที่เข้าสู่การเมือง เพราะต้องการทำเพื่อชาติบ้านเมืองด้วยความบริสุทธิ์ใจ

สำคัญอยู่ที่ว่าท่านต้องการ “....อยากอยู่ยาว...” จริง ๆ หรือเปล่า


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net