รัฐสวัสดิการสู่สังคมไทยเสมอหน้า(2): รัฐสวัสดิการคือเครื่องมือลดความขัดแย้ง

‘ผาสุก’ ชี้ความเสมอภาค=ไม่มีใครอยู่ใต้เส้นความยากจน แต่ไม่ใช่ทุกคนต้องรวยเท่ากัน รัฐสวัสดิการคือเครื่องมือลดความขัดแย้ง ไทยเป็นได้ต้องมีความมุ่งมั่นทางการเมือง-ปฏิรูปภาษี ย้ำทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมในการได้รับสวัสดิการ แต่ต้องยอมรับหลักจ่ายภาษีมีมากจ่ายมากมีน้อยจ่ายน้อย ระบุมูลค่าทรัพย์สินของมหาเศรษฐีไทย 40 คนเพิ่มขึ้น 8 เท่าใน 12 ปี

11 ก.พ. 2562 เครือข่ายวีแฟร์ (We Fair) จัดเวทีเสวนาเชิงปฏิบัติการ รัฐสวัสดิการสู่สังคมไทยเสมอหน้า เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2562 ณ ห้องประกอบ หุตะสิงห์ ชั้น 3 อาคารอเนกประสงค์ 1 ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีการปาฐกถา รัฐสวัสดิการสู่สังคมไทยเสมอหน้า โดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

รัฐสวัสดิการสู่สังคมไทยเสมอหน้า(1): ความเหลื่อมล้ำเป็นอาชญากรรมของรัฐ

รัฐสวัสดิการสู่สังคมไทยเสมอหน้า(3): รัฐสวัสดิการในฐานะโครงสร้างพื้นฐานของประชาชน

 

ผาสุก พงษ์ไพจิตร คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวปาฐกถา ‘รัฐสวัสดิการสู่สังคมไทยเสมอหน้า’ ว่า

“ภาพรวมความเหลื่อมล้ำนั้นอาจดูได้จากค่าจีนี (Gini) บอกความเหลื่อมล้ำสูงหรือต่ำ ถ้าใกล้หนึ่งแปลว่าคนๆหนึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สินเกือบทั้งหมดความเหลื่อมล้ำจึงสูง ถ้าใกล้ศูนย์เป็นในทางตรงกันข้ามคือความเหลื่อมล้ำต่ำ

ในปี 1960 ไทยมีค่าจีนีอยู่ที่ 0.4 ซึ่งเป็นปกติของประเทศกำลังพัฒนา แต่ในปี 1985 ค่าจีนีกลับเพิ่มขึ้นเป็น 0.5 และปัจจุบันเมื่อเปรียบเทียบกับอาเซียน จีนีเราสูงกว่าเพื่อนบ้าน

เครดิตสวิสชี้ว่าไทยมีค่าจีนีสูงถึง 0.92 มาจากสองเรื่อง คือ หนึ่ง-ที่ดิน คน 10% มี 61.48% สอง-เงินในธนาคาร นอกจากนี้ข้อมูลปี 2549-2561 พบว่ามูลค่าทรัพย์สินของมหาเศรษฐีไทย 40 คนเพิ่มขึ้น 8 เท่าใน 12 ปี และปี 2561 ทรัพย์สินพวกเขามีมูลค่า 1 ใน 3 ของค่าจีดีพี

ครัวเรือนที่รวยที่สุด 10% ถือครองทรัพย์สิน 50 % ของทั้งหมด ครัวเรือนที่รวยที่สุด 1% มีรายได้ที่มาจากค่าเช่า เงินปันผล ดอกเบี้ย คิดเป็น 50% ของเงินรายได้ประเภทนี้ทั้งหมด

ความเสมอภาคหมายถึงไม่มีใครอยู่ใต้เส้นความยากจน แต่ไม่ใช่ทุกคนจะต้องรวยเท่ากันหมด แต่มีโอกาสเท่าๆ กันในชีวิต หัวใจของรัฐสวัสดิการคือรัฐที่เก็บภาษีของพวกเราและเอาไปใช้นอกจากจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตแล้ว ยังจะต้องให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ได้รับสวัสดิการขั้นพื้นฐานต่างๆ สุขภาพ ประกันการว่างงาน บำนาญ ชักจูงประชาชนร่ำรวยให้ร่วมมือลงทุนสร้างชาติเพื่อลดความขัดแย้ง เราจะไม่เป็นประชานิยม เราจะต้องมีแหล่งรายได้หลัก คือ ภาษี และการที่เศรษฐกิจเจริญเติบโต ซึ่งต้องไปด้วยกัน ไม่งั้นเราจะถูกประนามว่าเป็นประชานิยมที่มีข้อเสนอทำสิ่งต่างๆ ไม่มีแหล่งรายได้ แต่เกิดเป็นหนี้สาธารณะ

ดังนั้นเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องมีการปฏิรูประบบภาษี ไม่จำเป็นต้องเพิ่มอัตราภาษีแต่อุดช่องโหว่ระบบภาษีในปัจจุบัน ลดคนที่หลีกเลี่ยงการเสียภาษี เช่น เก็บภาษีที่ดิน เก็บอัตราต่ำ แต่กระจายทั่ว และมีอัตราก้าวหน้า ประเทศเกาหลีใต้ปี 2503 มีรายได้ต่อหัวเท่าไทยคือ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อหัวต่อปี แต่ตอนนี้เกาหลีเป็นโออีซีดีมีการเก็บภาษีที่ดิน ได้รายได้สูงสุดต่อจีดีพีในโออีซีดี ใช้จ่ายกับระบบสวัสดิการ และให้ประชาชนที่รายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน

ดังนั้นอีกเรื่องที่เราต้องทำคือการร่วมมือกับโออีซีดีเพื่อป้องกันการเลี่ยงภาษีของบริษัทข้ามชาติและบรรดามหาเศรษฐี ซึ่งโออีซีดีกำลังเจรจาให้ทุกประเทศมีข้อตกลงร่วมกันที่จะป้องกัน รัฐบาลควรเข้าไปร่วมมือกับเรื่องนี้ เพื่อที่จะมีภาษีใช้ในประเทศอย่างพอเพียง

หลักการรัฐสวัสดิการของยุโรป ข้อแรกเป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือเกื้อกูลร่วมสร้างชาติ ลดความขัดแย้ง คนฐานะดีเสียภาษีมาก คนฐานะไม่ดีเสียภาษีน้อย ข้อสองหลักการ Social wage หรือหลักค่าจ้างทางสังคม คือทุกคนควรมีค่าจ้างขั้นต่ำทางสังคม ยกตัวอย่าง แม่บ้านที่เลี้ยงลูกอยู่บ้าน ไม่มีใครให้เงินเดือน ต้องพึ่งสามี แต่จริงๆการเลี้ยงลูกของแม่บ้านเลี้ยงเพื่อสังคม เพราะลูกเติบโตไปเป็นแรงงานในสังคม ดังนั้นสังคมจึงต้องช่วยตอบแทนเป็นค่าจ้างทางสังคม คล้ายๆกับการได้รับบำนาญ แต่รัฐบาลเราไม่ได้อธิบายแบบนี้ แต่อธิบายเหมือนเป็นการกุศล ช่วยเหลือคนจน  

ตัวอย่างประเทศในยุโปรที่นำรัฐสวัสดิการมาใช้ เช่น เยอรมนี ช่วงที่เข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมมีความระส่ำระสายทางการเมืองสูง คนงานประท้วงตลอดเวลา ธุรกิจมีการผูกขาด นายจ้างเอาเปรียบคนงาน เกิดสงครามกับประเทศอื่น มีขบวนการของคนงานผลักดันให้เกิดระบบรัฐสวัสดิการ แต่รัฐบาลอนุรักษ์นิยมในสมัยนั้นตัดสินใจนำระบบรัฐสวัสดิการเข้ามาใช้ ปรับระบบภาษี สร้างระบบบำนาญ ระบบค่าทดแทนคนงาน เงินประกันสังคมเมื่อเจ็บป่วย ชรา ทุพพลภาพ และเยอรมนีขณะนี้มีเศรษฐกิจแข็งแกร่งที่สุดในยุโรป ขยายไปสู่ประเทศอื่น ซึ่งโมเดลนี้ต่างจากอเมริกันโมเดล ที่เชื่อเรื่องการไหลรินลงสู่เบื้องล่าง คือข้างบนต้องได้ก่อนข้างล่างจึงจะได้ ซึ่งทำให้ระบบสวัสดิการของอเมริกายังไม่ดี

ทำไมยุโรปถึงทำได้ เพราะทุกคนยอมรับในหลักการว่าทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันในการได้รับสวัสดิการ แต่การจ่ายภาษีใช้หลักการมีมากจ่ายมากมีน้อยจ่ายน้อย คนรวยพร้อมจะลงทุนสร้างชาติด้วยการเสียภาษีมากกว่า

ถ้าเอามาใช้ในเมืองไทยจะมีอุปสรรคสองแบบ ได้แก่ อุปสรรคภายนอก คือการผูกขาดบริษัทข้ามชาติที่แผ่อิทธิพลและเข้ามาแข่งขันกับธุรกิจขนาดเล็กและกลางซึ่งสร้างงานและรายได้ให้แก่ไทย ซึ่งบริษัทข้ามชาติเหล่านี้มาทำธุรกิจในบ้านเราแต่ไม่ได้เสียภาษีในบ้านเรา เช่น ซอฟต์แวร์ที่เรายังผลิตไม่ได้ เราไปซื้อจากไอร์แลนด์และจ่ายภาษีที่ไอร์แลนด์ ตรงนี้สำคัญมากและยุโรปเข้าใจเรื่องนี้ดี พยายามจะเจรจาระหว่างประเทศเพื่อให้มีการกระจายภาษีของบริษัทข้ามชาติที่มีสาขาไปทั่วโลกไปในประเทศต่างๆ ที่มีสาขาอย่างเป็นธรรม

อุปสรรคภายในสำคัญกว่า คือมีข้อโต้แย้งจากกลุ่มคนไม่เห็นด้วย เพราะหมายความว่าคนรายได้มากต้องเสียภาษีมาก แต่ต้องเห็นใจเขาว่าเขาไม่อยากเปลี่ยนแปลง เขาอยากคงฐานะ แต่รัฐบาลต้องตะล่อมให้เขาเข้ามาอยู่ในระบบ

ข้อโต้แย้งว่าไม่ดี คือ แพง ต้นทุนสูง เป็นภัยต่อสังคม ลดแรงจูงใจการทำงาน คนขี้เกียจ และปล้นจากคนรวยไปคนจน

ขอตอบว่า เรื่องต้นทุนสูงขึ้นเรื่องจริง แต่เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของภาพทั้งหมด แต่ที่ไม่พูดคือสวัสดิการเพิ่มอุปสงค์ทำให้ตลาดใหญ่ขึ้น นักธุรกิจสามารถขายของได้ ทำกำไรได้ดีขึ้น และรัฐสวัสดิการไม่ใช่การให้เปล่าแต่เป็นการลงทุน ทำให้คนงานมีทักษะ มีสุขภาพแข็งแรง ทั้งหมดนี้กระตุ้นเศรษฐกิจ และไม่เป็นความจริงที่คนจะไม่อยากทำงาน คนจะมีแรงจูงใจและความมุ่งมั่นที่จะทำงาน

รัฐสวัสดิการปล้นจากคนรวยไปให้คนจน คำตอบคือ การกระจายจากคนรวยไปคนจนเป็นเพียงเสี้ยวของระบบ เพราะเราสร้างสวัสดิการให้ทุกคนรวมทั้งคนรวยด้วย

เราต้องมองภาพทั้งหมดเป็นพลวัต เมื่อผู้มีรายได้ใช้จ่ายก็จะกระตุ้นเศรษฐกิจ เมื่อได้รับการศึกษาก็จะหางานที่มีรายได้ดี ก็จะเสียภาษีได้ และสำหรับทุกคนระบบรัฐสวัสดิการเป็นเหมือนกระปุกออมสินในยามยาก เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เมื่อตกงาน เมื่อเจ็บป่วย แก่ชรา

ยุโรป ประชาชนไม่ได้ต้องการเลิกระบบรัฐสวัสดิการ แม้ต้นทุนสูง เพราะเลิกเมื่อไหร่ยุโรปจะระส่ำระสายแตกเป็นเสี่ยงๆ นักวิชาการ นักวิเคราะห์รู้ดีว่ายกเลิกไม่ได้ เขาก็ทำการศึกษาทำให้รัฐสวัสดิการในยุโรปยังคงเดินหน้าต่อไป

สรุปคือขอให้มีความมุ่งมั่นที่จะปฏิรูประบบภาษี สร้างค่านิยมใหม่ ยกเลิกระบบอุปถัมภ์ การกุศล แต่เราจะรักกันอย่างไรในโลกสมัยนี้ ไม่ใช่ถ้าฉันมีจะให้ ถ้าไม่มีจะไม่ให้ ต้องรักแบบสร้างรัฐสวัสดิการสร้างกระปุกออมสินผ่านระบบภาษี เป็นหน้าที่พรรคการเมืองที่ต้องแข่งขันเสนอแนวทางต่างๆ มีหลายโมเดล ที่ครอบคลุมที่สุดเราจะพูดถึงระบบรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า แต่ก็มีหลายระดับ แต่ยังไงก็ขอให้มากกว่า 500 บาท ถ้าเราไม่ซื้อเรือดำน้ำ ไม่ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย อุดช่องโหว่คอร์รัปชันบางระดับ และอุดช่องโหว่ภาษี

ธนาคารโลกได้คำนวณไว้ว่า ถ้ารัฐบาลไทยอุดช่องโหว่ภาษี ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีเลย ได้ภาษีเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ของจีดีพี แต่ขณะนี้ต้นทุนของรัฐสวัสดิการของไทยคิดเป็นร้อยละ 10 ของจีดีพี อาจารย์สมชัย จิตสุชน ได้คำนวณว่า ถ้าจัดระบบรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้าแบบอ.ป๋วย โดยให้ทุกคนมีบำนาญเดือนละ 1,000 บาท เราต้องการต้นทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 ของจีดีพี ทำไมเราไม่ทำ อันนี้ก็มีสาเหตุเยอะ ต้องคุยกันอีกหลายรอบ กรมสรรพากรก็ทำได้ดี แต่เขาก็ถูกอำนาจกดดัน เราต้องคาดหวังนักการเมืองจากการเลือกตั้งเข้าไปปฏิรูป ขอให้กำลังใจจากพรรคการเมืองที่จะแข่งกันสร้างรัฐสวัสดิการ”

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท