กสทช. ปิด 'วอยซ์ ทีวี' 15 วัน เหตุเนื้อหาขัด ก.ม. ซีอีโอชี้ เลือกปฏิบัติ-ลุแก่อำนาจ

บอร์ด กสทช. ลงดาบวอยซ์ งดออกอากาศ 15 วัน หลังประชาชนและบางองค์กรร้องเรียนรายการ Wake Up News-Tonight Thailand วิจารณ์ ยั่วยุ ขัดกฎหมาย ย้ำ ไม่ได้เลือกปฏิบัติ ซีอีโอแถลง เตรียมฟ้องศาลปกครอง ลงดาบครั้งนี้ทำให้วอยซ์ยังยืนหนึ่งเป็นสื่อที่ถูกลงโทษบ่อยสุดในไทย ชวนรู้จัก MoU กสทช. คำสั่ง คสช. ที่ใช้กำกับสื่อ

12 ก.พ. 2562 วอยซ์ทีวีรายงานว่า ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และ พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการ กสทช. ในฐานะประธานอนุกรรมการกำกับเนื้อหา เปิดเผยว่า บอร์ดฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้สถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี ช่อง 21 ระงับการออกอากาศ มีผลตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (13 ก.พ.) ตั้งแต่เวลา 00.01 น. ถึงวันที่ 27 ก.พ. 2562 รวมเป็นเวลา 15 วัน

พีระพงษ์ระบุว่ามติบอร์ดฯ ไม่ได้เลือกปฏิบัติ ที่ผ่านมามีการเรียกทีวีหลายช่องมาพูดคุยเรื่องเนื้อหาที่ขัดต่อกฎหมาย และคิดว่าการพิจารณาครั้งนี้ไม่กระทบต่อการนำเสนอเนื้อหาในช่วงเลือกตั้งเพราะเชื่อว่าแต่ละช่องพิจารณาเนื้อหารายการก่อนนำเสนอ

มติบอร์ดฯ ดังกล่าวเป็นผลจากการตรวจสอบตามการร้องเรียนของประชาชนและองค์กรบางองค์กร และพบว่า รายการ Wake Up News และ Tonight Thailand มีการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงยั่วยุ ขัดหลักกฏหมาย บอร์ดฯจึงอาศัยการพิจารณาตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 มาตรา 37 ที่ห้ามออกอากาศเนื้อหากระทบความมั่นคงของรัฐ มาตรา 64 และ 16 ประกอบกับคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ฉบับที่ 97/2557 และฉบับที่ 103 /2557

ฐากรเพิ่มเติมว่า นอกจากข้อกฎหมายข้างต้น  กสทช. ยังอาศัยอำนาจตามข้อ 20 ของประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2555 ด้วย ทั้งนี้ วอยซ์ ทีวีไม่สามารถยื่นอุทธรณ์กลับมายังสำนักงาน กสทช.ได้ แต่สามารถยื่นคำร้องต่อศาลปกครองได้ภายใน 90 วันหลังได้รับหนังสือคำสั่งคำสั่งดังกล่าว

วอยซ์ ทีวี ออกแถลงการณ์ ลงชื่อโดยเมฑินทร์ เพ็ชรพลาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) บริษัทวอยซ์ ทีวี จำกัด  ขอยืนยันการทำงานสื่อมวลชนตามหลักวิชาชีพ โดยวอยซ์ ได้รับการปฏิบัติจาก กสทช. อย่างไม่เป็นธรรม สะท้อนการลุแก่อำนาจของหน่วยงานอิสระนับตั้งแต่มีรัฐประหารโดย คสช. เป็นต้นมา โดยวอยซ์ ทีวี จะดำเนินการยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองทันที และเมฆินทร์กล่าวในถ่ายทอดสดแถลงข่าวว่าขณะนี้อยู่ในช่วงเตรียมการและรอเอกสารอย่างเป็นทางการก่อนจะฟ้องศาลปกครองเพื่อขอคุ้มครองชั่วคราว และฟ้องละเมิด ตามข้อกฎหมายที่ควรจะเป็น

ซีอีโอของวอยซ์ ทีวียังระบุในถ่ายทอดสดว่าที่ผ่านมามีการหารือกับ กสทช. เป็นระยะ แต่ไม่มีการพูดในลักษณะที่จะลงโทษ การจอดำครั้งนี้จึงถือเป็นเรื่องกระทันหัน โดยเบื้องต้นจะยังผลิตรายการตามปกติ แต่ต้องปรับเรื่องช่องทางนำเสนอไปทางออนไลน์หรือทางที่มีผู้สนใจซึ่งต้องดูข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

(ใจความบางส่วนจากแถลงการณ์)

“เรามีความเห็นว่า กสทช. ใช้อำนาจในการกำกับดูแล วอยซ์ ทีวีเป็นกรณีพิเศษและอาจตีความและบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เสมอภาค ภายใต้บทบัญญัติกฎหมายเดียวกันเมื่อเทียบกับสถานีข่าวอื่นๆ”

“การออกคำสั่งระงับการออกอากาศสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี สะท้อนให้เห็นถึงการลุแก่อำนาจของหน่วยงานอิสระซึ่งก่อตัวขึ้นบนฐานที่คิดว่าเมื่อมีหน่วยงานอิสระจากการบังคับบัญชาของส่วนราชการ การแทรกแซงเสรีภาพของสื่อมวลชนคงปลาสนาการไป แต่เราพบว่า นับแต่รัฐประหาร 2557 เหตุการณ์หาเป็นเช่นนั้นไม่ การแทรกแซงสื่อมวลชนจาก กทสช. เกิดขึ้นอย่างแข็งขัน ส่งผลกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงความเห็นและเสรีภาพของสื่อซึ่งได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ”

“ในสถานการณ์ที่ประเทศกำลังเดินหน้าสู่การเลือกตั้งภายในไม่กี่สัปดาห์ ข้อตกลงหรือข้อบังคับใดๆ สำหรับเหตุการณ์พิเศษควรยุติลงเพราะสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการตัดสินใจเลือกตั้งของประชาชนคือข้อมูลข่าวสารที่ครอบคลุม รอบด้าน มีคุณภาพ”

“วอยซ์ ทีวี จะดำเนินการยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองโดยทันที และจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้ประชาชนที่ต้องการติดตามข่าวสารจากรา ได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่อง”

การปิดวอยซ์ทีวีเป็นครั้งแรกที่มีการลงโทษสื่อภายหลังพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป ประกาศใช้เมื่อ 23 ม.ค. 2562 ตามมาด้วยกำหนดการการเลือกตั้งและกระบวนการต่างๆ อย่างเป็นทางการ ภายใต้รัฐบาลรัฐประหารของ คสช. วอยซ์ ทีวีถูกลงโทษไปแล้วหลายครั้ง ข้อมูลจากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) รายงานว่าวอยซ์ทีวีเป็นสถานีโทรทัศน์ที่ถูก กสทช. ลงโทษมากที่สุดหลังการรัฐประหารปี 2557 ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2557-3 ก.ค. 2561 วอยซ์ทีวีถูก กสทช. มีคำสั่งลงโทษถึง 20 ครั้ง (รวมครั้งนี้เป็น 21 ครั้ง) นับว่ามากที่สุดในหมู่สื่อมวลชนด้วยกัน มาตรการที่โดนมีทั้งการตักเตือน ทำความเข้าใจ ปรับปรุงเนื้อหารายการ ปรับเงิน พักออกอากาศรายการ ระงับการดำเนินงานของพิธีการไปจนถึงระงับการออกอากาศทั้งสถานี

เมื่อเดือน มี.ค.2561 รายการ Tonight Thailand โดน กสทช. ระงับออกอากาศ 15 วัน หลังรายงานและวิเคราะห์กรณี "หน้ากากยุทธ์น็อคคิโอ" และครบรอบ 10 ปีทักษิณกราบแผ่นดิน ออกอากาศเมื่อวันที่ 1 มี.ค. ที่ประชุม กสทช. ได้พิจารณาเนื้อหาและสาระสำคัญของรายการในวันดังกล่าว เห็นว่าการนำเสนอมีลักษณะส่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง หรือสร้างให้เกิดความแตกแยกในราชอาณาจักร จึงห้ามมิให้ออกอากาศในกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศ คสช. ฉบับที่ 130/2557

วอยซ์ทีวีไลฟ์นาทีจอดับ ชวนติดตามประวัติศาสตร์ช่วงยุติออกอากาศ 7 วัน

วอยซ์ทีวีโดน กสทช. พักออกอากาศ 2 รายการข่าวเหตุขัดประกาศ คสช.

เมื่อ 27 มี.ค. 2560 วอยซ์ทีวียุติการออกอากาศทั้งสถานี หลังจากถูกกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) สั่งพักใบอนุญาตเป็นเวลา 7 วัน โดยอ้างว่าวอยซ์ทีวีมีการกระทำผิดซ้ำเดิม ให้ข้อมูลข่าวสารที่ส่อให้เกิดความสับสนยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง หรือสร้างให้เกิดความแตกแยก

รู้จัก MoU กสทช. คำสั่ง คสช. ที่ควบคุมสื่อ

การลงโทษวอยซ์ทีวีหลายครั้งมักใช้เหตุผลเรื่องการละเมิดคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พ.ร.บ. กสทช. และการละเมิด MoU ที่เซ็นไว้กับคณะรัฐประหาร แม้เนื้อหาใน MoU ยังไม่เป็นที่ปรากฏแน่ชัด แต่ไอลอว์ให้ข้อมูลผ่านงานวิจัยว่า “สาระของ MoU ตามที่เปิดเผยในร่างรายงานวิจัย หัวข้อ “การกำกับดูแลเนื้อหา: สื่อวิทยุและโทรทัศน์” ของโครงการการปฏิรูปสื่อ: การกำกับดูแลด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม มีอยู่ว่า ทางสถานียินยอมงดเว้นการนำเสนอเนื้อหาที่ขัดต่อประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และ 103/2557 และมีหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารตามที่ได้รับแจ้งจาก คสช. หากฝ่าฝืนอาจถูกพิจารณาถอนใบอนุญาตทันที”

ดาบ โซ่ แส้ กุญแจมือ: เปิดเครื่องมือเชือด Voice TV และเนื้อหา 3 รายการที่โดนลงโทษ

สุภิญญา กลางณรงค์: ม.44 อุ้มทีวีดิจิตอล ยิ่งคลายยิ่งรัด ทหาร-คสช. ได้ประโยชน์

จับตา 'วอยซ์ทีวี' กับ คำสั่ง คสช.บรรเทาผลกระทบผู้ประกอบการทีวิดิจิทัล

ผู้มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมและลงโทษสถานีโทรทัศน์คือ กสทช. มีคณะกรรมการทั้งหมด 11 คน แบ่งออกเป็น กทช. รับผิดชอบในส่วนกิจการโทรคมนาคม  และ กสท. รับผิดชอบส่วนกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์

ใน กสท.มีคณะอนุกรรมการกำกับเนื้อหาและผังรายการ ซึ่งจะดูแลเนื้อหาของทีวีทุกช่อง และมีอำนาจลงโทษ

1.ตักเตือนเป็นหนังสือ

2.ปรับ 50,000-500,000 บาท

3.พักใช้ใบอนุญาต (ปิดสถานีชั่วคราว)

4.เพิกถอนใบอนุญาต (ปิดสถานีถาวร)

ทั้งหมดเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา 37 พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรานี้กำหนดกรอบความผิดไว้ว่า

“ห้ามมิให้ออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือมีการกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจาร หรือมีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง

ผู้รับใบอนุญาตมีหน้าที่ตรวจสอบและให้ระงับการออกอากาศรายการที่มีลักษณะตามวรรคหนึ่ง หากผู้รับใบอนุญาตไม่ดำเนินการ ให้กรรมการซึ่งคณะกรรมการมอบหมายมีอำนาจสั่งด้วยวาจา หรือเป็นหนังสือให้ระงับการออกอากาศรายการนั้นได้ทันที และให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวโดยพลัน

ในกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนแล้วเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเกิดจากการละเลยของผู้รับใบอนุญาตจริง ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้ผู้รับใบอนุญาตดำเนินการแก้ไขตามที่สมควร หรืออาจพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตได้”

ปัจจุบันคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 97/2557 และ 107/2557 ยังคงไม่ถูกยกเลิก สองคำสั่งดังกล่าวให้สื่องดเว้นการนำเสนอเนื้อหาหลายอย่าง ดังนี้

ฉบับที่ 97/2557 ห้ามบุคคลและสื่อทุกประเภทสัมภาษณ์นักวิชาการ อดีตข้าราชการ และองค์กรอิสระ ในลักษณะที่อาจขยายความขัดแย้งหรือนำไปสู่ความรุนแรง และห้ามการวิพากษ์ วิจารณ์การปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เจ้าหน้าที่ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และบุคคลที่เกี่ยวข้อง หากฝ่าฝืนให้ระงับการเผยแพร่ทันทีละให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายที่กำหนดความผิดฐานนั้นดำเนินการตามกฎหมาย

ฉบับที่ 103/2557 หลังมีเสียงค้านอย่างหนักจากสมาคมวิชาชีพสื่อ จึงแก้ไขเพิ่มเติมประกาศฉบับที่ 97 ให้สื่อวิจารณ์การทำงานของ คสช. ได้บ้าง แต่ห้ามวิจารณ์โดยมีเจตนาไม่สุจริตเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ หากฝ่าฝืนจะส่งเรื่องให้องค์กรวิชาชีพสอบสวนทางจริยธรรม

กสทช. มีเครื่องมือในการควบคุมการลงโทษการนำเสนอเนื้อหาของสื่อมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อปี 2559 มีคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 41/2559 หรือเรียกง่ายๆ ที่ให้อำนาจ กสทช. ตัดสินและกำหนดกับสื่อมวลชนโดยเว้นโทษความผิดแพ่งและอาญาต่อคณะทำงาน นั้นหมายความว่า กสทช. สามารถออกคำสั่งควบคุมสื่อได้โดยไม่ต้องรับผิด

เมื่อเดือน พ.ค. 2561 มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2561 เรื่อง มาตรการบรรเทาผลกระทบต่อผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ โดยอนุญาตให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลที่ประสงค์จะขอพักชำระหนี้ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ได้ไม่เกินสามปี ให้มีการอุดหนุนค่าเช่าใช้โครงข่ายดิจิตอลทีวี (MUX) ที่ต้องเช่าเพื่อใช้ออกอากาศเป็นเวลา 24 เดือน แต่ก็ให้อำนาจ กสทช. เป็นผู้พิจารณาว่าผู้ประกอบการรายใดมีสิทธิได้รับการพักชำระหนี้ หากผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลทำผิดเงื่อนไข ผลิตรายการที่ขัดต่อ “กฎหมายและศีลธรรมอันดีของประชาชน” สำนักงาน กสทช. อาจพิจารณายกเลิกการพักชำระหนี้ได้

สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการ กสทช. เคยให้ความเห็นเรื่องคำสั่งที่ 9/2561 ว่า การแก้ปัญหาด้วยคำสั่ง ม.44 โดยวางเงื่อนไขกำกับการนำเสนอไว้นำมาซึ่งคำถามเรื่องความเป็นธรรม ความเท่าเทียมบนสนามแข่งขันของทีวีดิจิทัลและ และยิ่งตอกย้ำถึงกระทบโดยตรงจากการเมืองหลังรัฐประหารที่บีบให้การนำเสนอข่าวไม่มีความหลากหลาย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท