ผลสำรวจระบุ 'บริษัทข้ามชาติญี่ปุ่น' กลัวการขึ้นค่าแรงในเอเชียมากที่สุด

ผลสำรวจพบ 'ต้นทุนแรงงานที่เพิ่มขึ้น' เป็นข้อกังวลของบริษัทญี่ปุ่นในเอเชียมากที่สุด และอันดับการมีส่วนร่วมใน CLMV ของญี่ปุ่นแซงไทยแล้ว โดยเน้นลงทุนภาคบริการใน 'กัมพูชา-ลาว-พม่า' มากขึ้น


ที่มาภาพประกอบ: ELEVATE (Pexels License)

เมื่อต้นเดือน ม.ค. 2562 ที่ผ่านมา NNA Business News ในเครือของสำนักข่าวเกียวโด ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นบรรดาเจ้าหน้าที่ของบริษัทญี่ปุ่นที่ดำเนินกิจการอยู่ในเอเชีย (เอเชียตะวันออก, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้, อินเดีย และออสเตรเลีย) จำนวน 630 คน โดยให้ผู้ร่วมสำรวจเลือกตอบคำถามถึงสิ่งที่เป็นความวิตกกังวลของพวกเขาจากความเสี่ยงทั้งหมด 13 ปัจจัย ที่รวมถึงปัจจัยในด้านภาษีและพิกัดอัตราศุลกากร, ความมีเสถียรภาพทางการเมือง และความปลอดภัย ซึ่งผลปรากฏว่าผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 479 คน (คิดเป็นร้อยละ 76) ระบุว่าปัจจัยด้านแรงงานเป็นสิ่งที่พวกเขากังวลมากที่สุดจาก 13 ปัจจัยเสี่ยง

“เราจำเป็นต้องย้ายการผลิตไปยังประเทศอื่นๆ หากค่าแรงยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน” เจ้าหน้าที่ชาวญี่ปุ่นที่ทำงานในประเทศไทยกล่าวไว้ระหว่างการสำรวจเมื่อวันที่ 26 พ.ย.- 9 ธ.ค. 2561

ในไทย ร้อยละ 86 ของผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นตัวแทนของบริษัทญี่ปุ่นระบุว่าพวกเขากังวลถึงต้นทุนในเรื่องค่าแรง เช่นเดียวกับผู้ตอบแบบสอบถามจากบริษัทญี่ปุ่นในเกาหลีใต้ที่มีกังวลในเรื่องดังกล่าวถึงร้อยละ 84 อินโดนีเซียร้อยละ 83 ส่วนตัวแทนจากบริษัทญี่ปุ่นในออสเตรเลีย มาเลเซีย และเวียดนาม อีกประเทศละร้อยละ 80 ระบุว่าเรื่องต้นทุนแรงงานเป็นสิ่งที่พวกเขากำลังกังวลด้วยเช่นกัน

ส่วนในจีน ร้อยละ 77 มีความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่รัฐบาลจีนกำลังพยายามจำกัดการไหลเข้าของแรงงานชนบทที่เข้ามาทำงานในเมือง และในขณะเดียวกันร้อยละ 48 ยังมองอีกว่าเรื่องของภาษีและพิกัดอัตราศุลกากรในจีนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่พวกเขาต้องเผชิญ ขณะที่ข้อพิพาทการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ยังคงยืดเยื้อต่อไป

แต่ในสิงคโปร์ร้อยละ 91.3 ของตัวแทนบริษัทญี่ปุ่นระบุว่าพวกเขากังวลเกี่ยวกับการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะโดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีมากกว่าเรื่องค่าแรง

ส่วนปัจจัยอื่นๆ ที่ตัวแทนบริษัทญี่ปุ่นในเอเชียกังวลใจก็ได้แก่ ร้อยละ 44.9 กังวลปัจจัยในเรื่องภาษีและพิกัดอัตราศุลกร, ร้อยละ 44.8 มีความกังวลเกี่ยวกับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา และร้อยละ 42.2 วิตกกังวลเรื่องระบบกฎหมายของแต่ละประเทศ

มีบริษัทญี่ปุ่นที่ดำเนินการในเอเชียมากน้อยแค่ไหน


ที่มาภาพประกอบ: jetro.go.jp

ถ้านับจากตัวเลขที่ Japan External Trade Organization หรือ JETRO ระบุไว้ในการสำรวจบริษัทญี่ปุ่นที่ดำเนินการใน 20 ประเทศเอเชียและโอเชียเนีย (ลงทุนโดยตรง หรือมีหุ้นมากกว่าร้อยละ 10) เมื่อปี 2560 โดย JETRO ส่งแบบสอบถามไปยัง 11,994 บริษัท ซึ่งแบ่งเป็นตามภูมิภาคและประเทศดังนี้

อาเซียน 8,122 บริษัท (ไทย 2,541 บริษัท, อินโดนีเซีย 1,698 บริษัท, เวียดนาม 1,345 บริษัท, มาเลเซีย 939 บริษัท, สิงคโปร์ 717 บริษัท, ฟิลิปปินส์ 382 บริษัท, กัมพูชา 232 บริษัท, พม่า 213 บริษัท และลาว 55 บริษัท)

เอเชียตะวันออก 2,416 บริษัท (จีน 1,405 บริษัท, ไต้หวัน 501 บริษัท, ฮ่องกง-มาเก๊า 364 บริษัท และเกาหลีใต้ 146 บริษัท)

เอเชียใต้ 1,007 บริษัท (อินเดีย 795 บริษัท, บังกลาเทศ 115 บริษัท, ศรีลังกา 51 บริษัท และปากีสถาน 46 บริษัท)

โอเชียเนีย 449 บริษัท (ออสเตรเลีย 291 บริษัท และนิวซีแลนด์ 158 บริษัท)

อันดับการมีส่วนร่วมใน CLMV ของญี่ปุ่นแซงไทย


บริษัทญี่ปุ่นในเวียดนาม ที่มาภาพ: VietnamWorks

เมื่อเดือน ม.ค. 2562 ที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์ 'อันดับการมีส่วนร่วมใน CLMV ของญี่ปุ่นแซงไทยขึ้นมาอยู่อันดับ 3 โดยเน้นลงทุนภาคบริการใน CLM มากขึ้น' ชี้ว่า นับเป็นครั้งแรกที่ดัชนีบทบาททางเศรษฐกิจใน 'กัมพูชา-ลาว-พม่า-เวียดนาม' หรือ CLMV (KR CLMV Economic Presence Index: CLMV-EPI) โดยรวมของไทยตั้งแต่ไตรมาสที่ 4/2560 เป็นต้นมา ไม่ติด 1 ใน 3 อันดับสูงสุด โดยญี่ปุ่นก้าวขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 3 แทนไทย โดยมีบทบาทในฐานะผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สนใจลงทุนใน CLMV มากขึ้น ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า รูปแบบการลงทุนโดยตรงของญี่ปุ่นใน CLMV เริ่มเปลี่ยนแปลงไปจากในอดีต โดยเน้นการลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่ภาคการผลิต (Non-manufacturing sector) มากขึ้น โดยเฉพาะในกัมพูชาและพม่า อาทิ อุตสาหกรรมค้าปลีก ภาคการเงินการธนาคาร โลจิสติกส์ เพื่อเจาะตลาดผู้บริโภคทางเลือกที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง


ที่มาภาพ: การเงินการธนาคาร

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่าเป็นที่น่าสังเกตว่ารูปแบบของการลงทุนโดยตรงของญี่ปุ่นในกลุ่ม CLMV เริ่มเปลี่ยนแปลงในช่วงที่ผ่านมา โดยอุตสาหกรรมที่นักลงทุนญี่ปุ่นเลือกลงทุนมีความหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่ภาคการผลิตเพื่อตอบสนองทิศทางของการเพิ่มขึ้นของรายได้ประชาชาติต่อหัวของกลุ่มประเทศ CLMV ที่นับได้ว่าเป็นปัจจัยดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศที่สำคัญจนทำให้ CLMV กลายมาเป็นตลาดผู้บริโภคทางเลือกใหม่ที่ทางนักลงทุนญี่ปุ่นเล็งเห็นโอกาสในการเจาะตลาดซึ่งสวนทางกับตลาดผู้บริโภคของญี่ปุ่นเองที่เริ่มหดตัว        

ปัจจุบันอัตราการขยายตัวของการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่ภาคการผลิตในพม่าและกัมพูชามีอัตราการขยายตัวที่สูงมาก ซึ่งนับได้ว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้มูลค่าการลงทุนจากญี่ปุ่นโดยเฉลี่ยระหว่างปี 2557-2560 ใน 2 ประเทศดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างมากด้วยเช่นกัน ทั้งนี้รูปแบบการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่ภาคการผลิตใน Frontier market อย่างพม่าและกัมพูชาของนักลงทุนญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะเน้นอุตสาหกรรมค้าปลีก อสังหาริมทรัพย์ (โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรม อาทิ Phnom Penh SEZ และ Sanco Poipet SEZ ในกัมพูชา หรือ Thilawa SEZ ในเมียนมา) และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ แต่เริ่มมีสัญญาณของความหลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในภาคการเงินการธนาคาร โลจิสติกส์ บริการทางด้านสาธารณสุข และธุรกิจร้านอาหารที่ยังมีโอกาสในการเติบโตสูง อาทิ การเข้าลงทุนในภาคธนาคารในพม่ามาผ่านการได้ Banking license ของ 3 ธนาคารญี่ปุ่น (The Bank of Tokyo-Mitsubishi UFJ, Sumitomo Mitsui Banking Corp., และ Mizuho Bank) หรือการเปิดธุรกิจร้านกาแฟสำหรับกลุ่มคนที่มีฐานะดีของ Kiriya Cafe ในกัมพูชา     

ทั้งนี้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในภาคการผลิตของญี่ปุ่นนั้นไม่ได้เกิดในรูปของเม็ดเงินการลงทุนและการจ้างงานเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงความรู้ด้านเทคโนโลยี การบริหารจัดการ และทุนทางปัญญาที่มีส่วนช่วยยกระดับศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ CLM ได้อย่างยั่งยืนมากกว่าการลงทุนโดยตรงในภาคบริการดั้งเดิมที่ไม่เน้นการใช้เทคโนโลยีแต่ใช้แรงงานที่ไม่ได้ต้องการทักษะสูงในการให้บริการ อาทิ อุตสาหกรรมค้าส่งและค้าปลีก การท่องเที่ยว หรือร้านอาหาร เป็นต้น

ตัวอย่างที่ชัดเจนได้แก่การที่นักลงทุนญี่ปุ่นเลือกลงทุนผลิตชิ้นส่วนที่ใช้แรงงานเข้มข้นและเทคโนโลยีไม่ซับซ้อนในกัมพูชาภายหลังจากอุทกภัยครั้งใหญ่ในไทยในปลายปี 2554 โดยเฉพาะชิ้นส่วนยานยนต์และชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอกนิกส์ (E&E) ไม่ว่าจะเป็นบริษัทที่ลงทุนใน Poipet SEZs ซึ่งได้แก่ Sumitronics (ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน) Sanko Electric (ชุดสายไฟยานยนต์) Nidec (ฐานรอง HDDs) NHK Springs (ชิ้นส่วนยานยนต์) หรือบริษัทที่ลงทุนใน Phnom Penh SEZs ได้แก่ Minebea (มอเตอร์ขนาดเล็ก) ก็มีส่วนช่วยให้ผลิตภาพแรงงานของกัมพูชายังคงเติบโตได้ในระดับที่สูงกว่าในอดีต

 

ข้อมูลประกอบการเขียน
NNA survey: Rising labor costs biggest threat to Japanese firms in Asia (NNA, 9/1/2019)
2017 JETRO Survey on Business Conditions of Japanese Companies in Asia and Oceania (Japan External Trade Organization, 21/12/2017)
Results of JETRO's 2017 Survey on Business Conditions of Japanese Companies in Asia and Oceania (Japan External Trade Organization, 21/12/2017)
อันดับการมีส่วนร่วมใน CLMV ของญี่ปุ่นแซงไทยขึ้นมาอยู่อันดับ 3 โดยเน้นลงทุนภาคบริการใน CLM มากขึ้น (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, 16/1/2562)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท