Skip to main content
sharethis

สื่ออัลจาซีราพลัส นำเสนอการตีความมิวสิควิดีโอเพลง "This Is America" ของ ไชลดิช แกมบิโน เพลงที่เพิ่งได้รับรางวัลยอดเยี่ยมของแกรมมีอวอร์ด โดยระบุว่ามิวสิควิดีโอนี้มีการนำเสนอแง่มุมหลายอย่างที่เสียดสีและสะท้อนปัญหาการเหยียดสีผิวและความรุนแรงต่อคนดำที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ เอาไว้ด้วย

(ที่มา: Youtube/ Donald Glover)

12 ก.พ. 2562 ศิลปินเพลงแร็ป ไชลดิช แกมบิโน หรือ โดนัลด์ โกลเวอร์ ได้รับรางวัลเพลงยอดเยี่ยมแห่งปีในการประกาศรางวัลแกรมมีอวอร์ดด้วยผลงานเพลงชื่อ "This Is America" รวมถึงรางวัลอื่นๆ รวม 4 รางวัลได้แก่รางวัลการแสดงขับร้อง/แร็ปยอดเยี่ยม รางวัลการบันทึกเสียงยอดเยี่ยมแห่งปี และรางวัลมิวสิควิดีโอยอดเยี่ยม โดยที่โกลเวอร์ไม่ได้ขึ้นรับรางวัลบนเวทีในครั้งนี้ด้วยตนเอง

สื่อ AJ+ ในเครืออัลจาซีรานำเสนอเกร็ดที่น่าสนใจจากมิวสิควิดีโอ "This Is America" ของ ไชลดิช แกมบิโนว่าพยายามจะสื่ออะไรบ้าง ซึ่งมีการตีความว่ามิวสิควิดีโอของเขาสะท้อนและเสียดสีเรื่องการเหยียดผิวในสหรัฐฯ หลายแง่มุม

เกร็ดอย่างแรกในมิวสิควิดีโอของโกลเวอร์คือการอ้างอิงถึง "จิม โครว" ตัวละครที่คนขาวใช้เป็นภาพล้อของคนดำและนำมาใช้สื่อเหมารวมแบบเหยียดคนดำในเชิงลบ โกลเวอร์แสดงออกในท่วงท่าเดียวกับรูปภาพจิม โครว ในฉากประหารชีวิตคนดำในมิวสิควิดีโอของเขา

เกร็ดอย่างที่สองที่ AJ+ ตั้งข้อสังเกตไว้คือเรื่องของอาวุธปืนในสหรัฐฯ อเมริกา AJ+ ระบุว่ามิวสิควิดีโอของโกลเวอร์พยายามสื่อว่า "อเมริการักในปืนมากกว่าร่างกายคนดำ" ในเอ็มวีของโกลเวอร์มีการใช้อาวุธปืนสองครั้ง และทั้งสองครั้งนั้นก็มีการปฏิบัติต่อปืนอย่างทะนุถนอม แต่เหยื่อที่ถูกสังหารไม่ได้รับความเคารพใดๆ มีฉากหนึ่งที่โกลเวอร์ยิงคณะนักร้องประสานเสียงของโบสถ์ที่เป็นคนดำทั้งหมดด้วยอาวุธปืนไรเฟิลจู่โจม มีคนเชื่อว่าฉากนี้เป็นการอ้างอิงถึงเหตุกราดยิงโบสถ์เมืองชาร์ลตันที่ทำให้มีคนดำเสียชีวิตเก้าราย

ผู้ใช้ทวิตเตอร์ชื่อ dylan ระบุว่าภาพฉากต่างๆ เหล่านี้เป็นการสะท้อนให้เห็นปัญหาในสหรัฐฯ ที่มีกลุ่มผู้เชื่อว่าคนขาวคือเชื้อชาติสีผิวที่เหนือกว่า (white supremacy) สังหารคนดำด้วยท่าทีไม่ยี่หระใดๆ

เกร็ดอย่างที่ 3 AJ+ ตั้งข้อสังเกตว่าการเต้นรำเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจท่ามกลางความวุ่นวายเกิดขึ้นในฉากหลังของเอ็มวีนั้น เป็นการจงใจวิพากษ์วิจารณ์สื่อบันเทิงกระแสหลักที่เบี่ยงเบนความสนใจของผู้คนออกจากปัญหาในชีวิตจริงที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ทั้งนี้การเต้นในเพลงของโกลเวอร์อาจจะสื่อความหมายอย่างอื่นด้วย นั่นคือการปรับตัวเผชิญปัญหาความโหดร้ายที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของคนดำ

เกร็ดสุดท้ายที่ AJ+ ตั้งข้อสังเกตเอาไว้คือเอ็มวีนี้น่าจะสื่อถึงว่าอเมริกาชื่นชอบวัฒนธรรมคนดำ แต่กลับไม่ยอมรับคนดำ ทำให้คนดำต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่เปราะบาง แคธลีน นิวแมน-บรีมัง นักเขียนและโปรดิวเซอร์กล่าวถึงเพลงนี้ว่าสำหรับเธอแล้วมันเป็นคำวิจารณ์เรื่องที่ชาวอเมริกันที่เป็นคนขาวเสพย์ศิลปะคนดำในขณะที่ทำเป็นมองไม่เห็นความอยุติธรรมที่ดำรงอยู่ด้วยแนวคิดแบบคนขาวคือเชื้อชาติสีผิวที่เหนือกว่า

ลุดวิก กอรันชอน ผู้ที่ร่วมแต่งเพลง This Is America เป็นผู้ขึ้นรับรางวัลแทนโกลเวอร์ในครั้งนี้กล่าวว่าเขาไม่รู้ว่าทำไมโกลเวอร์ถึงไม่ยอมขึ้นรับรางวัล แต่การที่แกรมมีอวอร์ดแสดงการยอมรับศิลปินเพลงแร็ปกับฮิปฮอปถือเป็นเรื่องสำคัญ

นอกจากโกลเวอร์แล้วหนึ่งในผู้ร่วมงานเพลงนี้คือ 21 Savage ไม่มาขึ้นรับรางวัลเช่นกัน สาเหตุเพราะมีเจ้าหน้าที่ทางการควบคุมเพราะวีซาหมดอายุ

เรียบเรียงจาก

Childish Gambino's This Is America makes Grammys history, BBC, Feb. 12, 2019

What Does “This is America” Mean?, AJ+, Feb. 12, 2019

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Jim_Crow_(character)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net