สภาเภสัชกรรมจี้คกก.วัตถุอันตรายยกเลิกพาราควอต คลอร์ไพริฟอส ไกลโฟเสต

สภาเภสัชกรรมออกแถลงการณ์ยกระดับการควบคุม พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเสต  ให้เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 ชี้หลายประเทศที่ได้ยกเลิกการใช้แล้ว มีตัวอย่างมากมายของเกษตรกรรมที่ได้ผลผลิตสูงโดยไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชดังกล่าว

13 ก.พ. 2562 สืบเนื่องจากกรณีที่วันพรุ่งนี้ (14 ก.พ.) จะมีการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายเพื่อพิจารณาคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งเสนอให้มีการยกเลิกการใช้พาราควอตภายใน 1 ปี หากไม่มีการดำเนินการ ผู้ตรวจการแผ่นดินสามารถเสนอต่อรัฐบาลให้มีการดำเนินการตามคำวินิจฉัย หรือส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐได้

วันนี้สภาเภสัชกรรมได้ออกแถลงการณ์เรื่อง ยกระดับการควบคุม พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเสต  ให้เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 ภายใน พ.ศ. 2562 โดยแถลงการณ์ส่วนหนึ่งระบุว่า ข้อมูลทางวิชาการชี้ชัดถึงพิษร้ายแรงของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้งสามชนิด ประกอบกับปัจจุบัน มีหลายประเทศที่ได้ยกเลิกการใช้แล้ว และมีตัวอย่างมากมายของการทำเกษตรกรรมที่ได้ผลผลิตสูงโดยไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชดังกล่าว

สภาเภสัชกรรมจึงมีมติขอเสนอให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย พิจารณายกระดับการควบคุม พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเสต ให้เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 และยกเลิกการใช้สารที่มีพิษสูงทั้งสามภายใน พ.ศ. 2562 เพื่อสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค โดยเฉพาะทารกและเด็กในอนาคต

 

แถลงการณ์สภาเภสัชกรรม

เรื่อง ยกระดับการควบคุม พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเสต  ให้เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 ภายใน พ.ศ. 2562

จากการศึกษาข้อมูลวิชาการที่น่าเชื่อถือทั้งในและต่างประเทศ สภาเภสัชกรรมได้พิจารณาหลักการควบคุม วัตถุอันตราย พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเสต สำหรับประเทศไทย โดยคำนึงถึงความสมดุลของการพัฒนาประเทศ พร้อมกับคุณภาพชีวิตของประชาชน สรุปเป็น 3 ประการ ดังนี้

1. หลักการป้องกันไว้ก่อน (Precautionary principle) ซึ่งเป็นหลักการสากลในการพิจารณาการควบคุมวัตถุอันตราย

2. เกษตรกรควรมีสิทธิและทางเลือกที่จะทำเกษตรกรรมที่ไม่มีผลเสียต่อสุขภาพของตนเอง และผู้บริโภค

3. นโยบายและแผนยุทธศาสตร์ประเทศในการพัฒนาการเกษตรกรรมของไทย เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ “เกษตรกรมั่นคง ภาคการเกษตรมั่งคั่ง ทรัพยากรการเกษตรยั่งยืน”

จากหลักการทั้งสามข้อ สภาเภสัชกรรมจึงขอเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งเป็น คณะกรรมการตามกฎหมายที่จะกำหนดมาตรการในการควบคุมสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้งสามชนิดดังกล่าว โดยขอให้ยกระดับการควบคุม พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเสต ให้เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 ด้วยเหตุผลที่สารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้งสามชนิดมีพิษสูง เข้าข่ายตามเกณฑ์ที่กำหนดให้เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4  รายละเอียดสรุปข้อมูลของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เป็นดังนี้

  1. พาราควอต

เป็นสารที่มีพิษเฉียบพลัน ได้รับเพียงเล็กน้อย 1-2 ช้อนชา ก็อาจถึงแก่ชีวิต มีงานวิจัยมากมายแสดงว่า พาราควอตเข้าสู่สมองมนุษย์ได้ และทำลายสมองโดยการสร้างสาร ∝-synuclein เช่นเดียวกับที่พบ ในสมองของผู้ที่ตายจากการได้รับพาราควอตและผู้ป่วยอัลไซม์เมอร์

จากการศึกษาหาปริมาณพาราควอตในคนไทย พบทั้งเลือดหญิงตั้งครรภ์ เลือดจากสายสะดือ และขี้เทาทารกแรกเกิด และพบปริมาณสารนี้ในสิ่งแวดล้อม น้ำ พืช อาหาร

นอกจากนี้ ยังพบว่า สามารถทำการเกษตรกรรมที่ไม่ใช้พาราควอตและได้ผลผลิตสูงแม้ในระดับเกษตรอุตสาหกรรม

ในต่างประเทศยกเลิกการใช้พาราควอต จำนวนกว่า 53 ประเทศ รวมทั้ง จีน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตพาราควอตที่มีขนาดใหญ่ที่สุด

2. คลอร์ไพริฟอส

เป็นสารที่มีผลการวิจัยจำนวนมากที่แสดงว่า มีผลต่อสมองเด็ก ทำให้เกิดการเรียนรู้ช้ากว่าปกติ นอกจากนี้ ยังพบคลอร์ไพริฟอสในสิ่งแวดล้อม จากการศึกษาในคนไทยพบปริมาณคลอร์ไพรีฟอสในเลือดหญิงตั้งครรภ์ และในสายสะดือของทารก

นอกจากนี้ ยังพบว่า สามารถทำการเกษตรกรรมที่ไม่ใช้คลอร์ไพริฟอสและมีผลผลิตสูงได้ แม้ในระดับเกษตรอุตสาหกรรม

หลายประเทศที่ยกเลิกการใช้สารนี้แล้ว และต้นเดือนสิงหาคม 2561 ศาลรัฐบาลกลางสหรัฐสั่งสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม (EPA) ให้ห้ามขาย คลอร์ไพริฟอส ภายใน 60 วัน

3. ไกลโฟเสต

เป็นสารพิษที่ International Agency for Research on Cancer (IARC) ได้จัดเป็นกลุ่มที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง (Group 2A)

ผลการวิจัยที่ผ่านมา พบไกลโฟเสตตกค้างในซีรัมของแม่ และสายสะดือของทารก ในมารดาที่พักอาศัย ในบริเวณใกล้เคียงกับบริเวณที่มีการฉีดพ่นไกลโฟเสต ประเทศต่าง ๆ หลายประเทศได้ยกเลิกการใช้สารนี้  และจากข้อมูลล่าสุด บริษัทไบเออร์มอนซานโตในเยอรมัน แพ้คดีจากการฟ้องร้องของผู้ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพ จากไกลโฟเสต และขณะนี้มีกรณีฟ้องร้องถึงเกือบหมื่นกรณี

ข้อมูลทางวิชาการข้างต้น ชี้ชัดถึงพิษร้ายแรงของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้งสามชนิด ประกอบกับปัจจุบัน มีหลายประเทศที่ได้ยกเลิกการใช้แล้ว และมีตัวอย่างมากมายของการทำเกษตรกรรมที่ได้ผลผลิตสูงโดยไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชดังกล่าว

สภาเภสัชกรรมจึงมีมติขอเสนอให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย พิจารณายกระดับการควบคุม พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเสต ให้เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 และยกเลิกการใช้สารที่มีพิษสูงทั้งสามภายใน พ.ศ. 2562 เพื่อสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค โดยเฉพาะทารกและเด็กในอนาคต

 

รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงจิราพร ลิ้มปานานนท์

นายกสภาเภสัชกรรม

13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท