Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในความขัดแย้งทางการเมืองกว่าทศวรรษมีการใช้วาทกรรม “ฝ่ายประชาธิปไตย-ฝ่ายเผด็จการ” กันมานาน และต่างฝ่ายต่างแขวะกันไปมา ยิ่งเข้าสู่โหมดเลือกตั้งยิ่งเกิดกระแสการต่อสู้ระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับฝ่ายเผด็จการมากขึ้น กระทั่งเกิดกระแสว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญที่ประชาชนจะได้ตัดสินว่าจะเลือกฝ่ายประชาธิปไตยหรือฝ่ายเผด็จการ

แน่นอน ไม่ง่ายที่จะตัดสินเด็ดขาดว่าใคร กลุ่มไหนคือฝ่ายประชาธิปไตยหรือฝ่ายเผด็จการที่ “เพียว” จริงๆ และผมตระหนักดีว่าผมกำลังพูดถึงอะไรที่ "ซับซ้อน” มาก แต่จะพูดในความหมายกว้างๆ โดยพิจารณาจากปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นจริง เพื่อชี้ให้เห็นความแตกต่างที่เด่นๆ ของทั้งสองฝ่าย

ดังนั้น "ฝ่ายประชาธิปไตย" ที่ผมพูดถึงจึงไม่ได้หมายถึงฝ่ายประชาธิปไตยที่ "เพียว" ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่ามันเคยมีฝ่ายประชาธิปไตยที่ "เพียว" จริงๆ ไหมในประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองในโลกนี้

อีกอย่าง ในบริบทที่เป็นจริงของการเมืองไทย ไม่ว่าฝ่ายประชาธิปไตยที่เป็นพรรคการเมือง มวลชน นักเคลื่อนไหว นักกิจกรรม นักวิชาการ สื่อ มีใครหรือกลุ่มไหนบ้างไหมที่สามารถเสนอแนวคิด นโยบาย แนวทางปฏิบัติรูปธรรมที่เป็นประชาธิปไตย "เพียว" หรือ "สมบูรณ์" ได้จริง เพราะมันมี "ข้อจำกัด" ที่ชัดเจนอยู่ (ดังเช่นที่ตั้งคำถามกันว่าทำไมพรรคฝ่ายประชาธิปไตยไม่แตะประเด็น 112 เป็นต้น)

ถ้าไม่มีฝ่ายประชาธิปไตยที่เพียวได้จริง แล้วอะไรที่ทำให้เราเห็นความแตกต่างระหว่าง "ฝ่ายประชาธิปไตย" กับ "ฝ่ายเผด็จการ" ล่ะ

ผมคิดว่ามีความแตกต่างชัดเจนอยู่ตรงที่ฝ่ายประชาธิปไตยยืนยัน “การเลือกตั้ง” เป็นเวทีต่อสู้ทางการเมืองตลอดมา ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 หรือรัฐธรรมนูญ 2550 ที่แย่กว่า 2540 และสุดท้ายแม้แต่การเลือกตั้งที่ห่างไกลจากการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมมากที่สุดภายใต้อำนาจ คสช. ฝ่ายประชาธิปไตยที่รู้ทั้งรู้ว่าพวกตน "เสียเปรียบมาก" ภายใต้กติกาแบบ คสช.ก็ยังเรียกร้องหรือยืนยันที่จะสู้ในสนามเลือกตั้งอยู่นั่นเอง

ขณะที่ฝ่ายเผด็จการ คือฝ่ายที่พยายามสร้างวาทกรรมต่างๆ ในเชิงลดคุณค่าและความน่าเชื่อถือของการเลือกตั้ง บอยคอต/ขวางการเลือกตั้ง ทำรัฐประหาร สนับสนุนรัฐประหารทั้งโดยตรง โดยอ้อม

หรือพูดรวมๆ ก็คือพวกเขาไม่ได้ปกป้องระบบเลือกตั้งอย่างถึงที่สุด พร้อมที่จะใช้ “อำนาจนอกระบบเลือกตั้ง” เอาชนะคู่แข่งทางการเมืองเสมอ จนทำให้เราได้ระบบการเลือกตั้งที่แย่ลงเรื่อยๆ นอกจากแย่ลงเรื่อยๆ แล้วยังไม่มีความแน่นอนอีกด้วยว่าจะมีการเลือกตั้งตามประกาศจริงหรือไม่ ต้องลุ้นกันวันต่อวัน

อีกอย่างเวลาพูดถึง “การโกง” โดยรวมๆ แล้วทั้งสองฝ่ายก็ไม่มีฝ่ายไหนๆ "เพียว" หรือ "บริสุทธิ์" จากการโกงจริงๆ ดอก แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ฝ่ายยืนยันการต่อสู้บนเวทีเลือกตั้งเท่ากับว่าพวกเขายังยืนยันการรักษากระบวนการประชาธิปไตยที่ "เสรีและเป็นธรรม" สำหรับทุกคนทุกฝ่ายให้ได้มีสิทธิเท่าเทียมในการต่อสู้แข่งขันกัน และยังรักษาระบบตรวจสอบถ่วงดุลทางการเมืองเอาไว้ ไม่ได้กีดกันฝ่ายใดๆ ออกไปจากเวทีนี้

ขณะที่ฝ่ายเผด็จการที่ใช้และสนับสนุนการใช้อำนาจนอกระบบเลือกตั้งทำรัฐประหาร เท่ากับว่าพวกเขาได้กีดกันฝ่ายอื่นออกไปจากเวทีการต่อสู้ทางการเมืองบนหลักสิทธิและเสรีภาพที่เท่าเทียม และทำลายระบบตรวจสอบถ่วงดุลลงเสียสิ้น

แต่มันตลกตรงที่ว่า ฝ่ายเผด็จการที่กีดกันคนอื่นฝ่ายอื่นออกไปจากเวทีการต่อสู้ทางการเมือง กลับเป็นฝ่ายกล่าวหาคนอื่น ฝ่ายอื่นว่า "โกง" ทั้งๆ ที่การทำลายระบบการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรมสำหรับทุกคนทุกฝ่ายเพื่อผูกขาดอำนาจทางการเมืองไว้ที่ฝ่ายตนเองเท่านั้นมันคือ "อภิมหาโกง" หรือเป็นความคดในข้องอในกระดูกที่สุด

ยิ่งกว่านั้น แม้แต่การอ้าง “หลักการประชาธิปไตย” พวกเขาก็อ้างอย่างบิดเบี้ยว เช่นกรณีล่าสุด บรรดานักวิชาการ ปัญญาชน กวี นักเขียนฝ่ายเผด็จการ ต่างอ้างหลักการประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ กางกฎหมายปฏิเสธการเสนอชื่อฟ้าหญิงอุบลรัตน์เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี (ซึ่งผมเองก็เห็นด้วยว่าการเสนอเช่นนั้นขัดหลักการประชาธิปไตย) แต่พวกเขากลับไม่อ้างหลักการเดียวกันตั้งคำถามว่า การเสนอชื่อหัวหน้าคณะรัฐประหาร หัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลเผด็จการทหารเป็นแคนดิเดตนายกฯ โดยเขายังมีอำนาจ ม.44 และไม่ลาออกเป็นการขัดหลักการประชาธิปไตยหรือไม่

แปลว่า หลักการประชาธิปไตย หลักความสุจริตโปร่งใสและตรวจสอบได้ในทัศนะของพวกเขาเป็นหลักการที่ใช้อ้างตั้งคำถาม วิจารณ์ ตรวจสอบเฉพาะนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น ไม่ควรใช้อ้างตั้งคำถาม วิจารณ์ ตรวจสอบอำนาจนอกระบบเลือกตั้งหรือฝ่ายที่ทำรัฐประหารเช่นนั้นหรือ

อีกอย่าง ในยามที่พวกเขาต้องการขจัดนักการเมือง พรรคการเมืองที่พวกตนกล่าวหา พวกเขาก็ “โหนเจ้า” สุดๆ กระทั่งสร้าง “ผังล้มเจ้าปลอม” ใส่ร้ายว่าฝ่ายตรงข้ามว่า “ล้มเจ้า” แต่ครั้นเห็นเจ้าบางคนอยู่ในขั้วการเมืองฝ่ายตรงข้าม พวกเขาก็ยังกล่าวหาว่าฝ่ายตรงข้ามล้มเจ้าอีกอยู่นั่นเอง

เมื่อเป็นเช่นนี้ความขัดแย้งระหว่างสองฝ่ายก็ไม่มีวันจบ แต่ถ้าอยากให้จบ จะจบได้อย่างไร?

จบด้วยรัฐประหารอีกงั้นหรือ ใครจะการันตีได้ว่าทำรัฐประหารแล้วจะทำให้ประชาชนจำนวนมากเลิกคิดที่จะเรียกร้องการเลือกตั้งและประชาธิปไตย และใครจะรับผิดชอบต่อหายนะที่ตามมาจากการทำรัฐประหารอีกครั้ง รับผิดชอบไหวหรือ เพราะไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่ามันจะเกิดความเสียหายอะไรตามมาบ้างจากรัฐประหารอีกครั้ง

ใครที่คิดวางแผนทำรัฐประหารอีก ก็ไม่ต่างจากการวางแผนฆ่าตัวตาย เพราะคนที่ทำรัฐประหารมาแล้วก็เหมือนคนที่ตายแล้วหรือตายทั้งเป็น เพราะนอกจากพวกเขาจะทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เลิกนิยมพรรคการเมือง นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามไม่ได้แล้ว พวกเขายังทำให้ความศรัทธาเชื่อเถือในอุดมการณ์และอำนาจฝ่ายอนุรักษ์นิยมเสื่อมถอยหรือตกต่ำลงไปมากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน จนยากที่จะฟื้นฟูกลับมาได้ดังเดิม และที่ยากมากก็คือ ทำรัฐประหารแล้วอาจอยู่ในอำนาจได้นานก็จริง แต่กลับหาทางลงจากอำนาจอย่างปลอดภัยไร้กังวลอย่าง “นอนหลับสนิท” ไม่ได้

ก็คงไม่มีทางจบแบบอื่น นอกจากฝ่ายเผด็จการยอมเข้าสู่การต่อสู้ทางการเมืองบนเวทีเลือกตั้ง (ตามกติกาที่ตัวเองเขียนขึ้น) และยอมรับผลแพ้-ชนะอย่างมีน้ำใจนักกีฬา

ถึงวันนี้ประชาชนส่วนใหญ่คงเอือมระอาที่จะมาฟังคนกลุ่มไหนๆ โกหกซ้ำซากว่าพวกตัวเองทำรัฐประหารในฐานะผู้เสียสละเพื่อชาติ เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนทุกฝ่าย แต่ประชาชนทุกฝ่ายต้องเป็นผู้ตัดสินเองหรือเลือกเองผ่านการเลือกตั้งว่าพวกเขาต้องการให้ใคร พรรคการเมืองไหนมาทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมในฐานะตัวแทนที่ชอบธรรม



ปล.ผมตระหนักดีว่าประชาธิปไตยมีมิติอื่นๆ อีกมากนอกจากการเลือกตั้ง แต่เราจะมีฐานความชอบธรรมในการสร้างประชาธิปไตยในมิติอื่นๆ ขึ้นมาได้อย่างไรถ้าไม่อาศัยความชอบธรรมจากการเลือกตั้ง
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net