Skip to main content
sharethis

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ หนึ่งในผู้ดำเนินรายการในวอยซ์ ทีวี โพสต์ภาพปิดปากในเฟสบุ๊ค เรียกร้อง กสทช. เปิดรายละเอียดหลังถูกปิด 15 วัน มั่นใจไม่ทำผิดกฎหมาย ทำตามหลักการสื่อ โอด เคยถูกลงดาบสารพัดกระทั่งทำข่าวชาวประมง-ปล่อยฟุตเทจและเสียง 'ฮิวแมนไรท์วอทช์' ขอ กสทช. ทบทวนคำสั่ง ชี้ เป็นการเซ็นเซอร์สื่อที่ไม่ชอบธรรม ตีความการวิพากษ์วิจารณ์อย่างสงบเป็นภัยคุกคามรัฐ ทำให้การเลือกตั้งในไทยไม่น่าเชื่อถือ

13 ก.พ. 2562 ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ หนึ่งในผู้ดำเนินรายการของวอยซ์ ทีวี อัพโหลดภาพตนเองที่มีเทปปิดปากในเฟสบุ๊คเพจของเขา พร้อมป้ายข้อความ "เอาเสรีภาพคืนมา เอาอำนาจเถื่อนคืนไป Day 1 ของการถูกปิดปาก" ในแคปชันยังเขียนข้อความขอให้ กสทช. แสดงรายละเอียดให้ชัดเจนว่าปิดวอยซ์ทีวีด้วยเหตุผลอะไรบ้าง เพราะที่ผ่านมาถูกลงโทษหลายครั้งด้วยข้ออ้างสารพัด โดยยืนยันว่าเขาทำตามหลักการของสื่อ และจะทำเช่นนั้นตลอด ใจความ มีดังนี้

ประเทศเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง แต่วันนี้เป็นวันแรกที่สถานีข่าวถูกปิดโดยทางการ จากนี้วอยซ์จะ “จอดำ” ไป 15 วันด้วยเหตุผลที่คนสั่งปิดไม่ยอมเปิดเผยว่าคืออะไร

ผมไม่ได้เป็นพนักงานวอยซ์ แต่ในฐานะที่จัดรายการที่โดนปิดบ่อยๆ ผมอยากให้ท่านเปิดหลักฐานครับ เพราะผมมั่นใจว่าไม่ได้ผิดอะไรในแง่สื่อมวลชน

ไม่ต้องอ้างครับว่าไม่ชี้แจงเพราะกลัววอยซ์เสียหาย ห้าปียุค คสช.มีการปิดช่อง, ห้ามพิธีกรจัดรายการ, แบนรายการ 7-14 วัน ความเสียหายทางธุรกิจเยอะไปหมด ขู่นอกรอบแบบเล่าต่อไม่ได้ก็มี แต่สิ่งที่ย่อยยับกว่าคือ New Low ของการใช้อำนาจขู่สื่อให้ทำตามที่รัฐต้องการ

ท่านอ้างเป็นฉากๆ ว่าสั่งปิด 14 วันเพราะช่องนี้ทำผิดซ้ำมาตลอด แต่ท่านต้องบอกครับว่าสิ่งที่ท่านอ้างว่าผิดนั้น หลายเรื่องไม่ผิด่กฎหมาย ในแง่ประชาธิปไตย และในแง่ความเป็นคน

ครั้งหนึ่งผมอ่านข่าว Jakarta Post เรื่องลูกเรือประมงไทยติดเกาะอยู่อินโดนีเซีย ท่านก็เรียกลงโทษ อ้างว่าทำเจ้าหน้าที่เสียหาย แต่ผมมั่นใจว่าผมทำถูกครับที่รายงานเรื่องนี้ เพราะคนไทยไม่ควรถูกทิ้งให้ติดเกาะ เจ้าหน้าที่รัฐควรไปช่วย และสื่อไม่ควรปิดข่าวเพื่อรักษาหน้ารัฐบาล

ถ้าชาติหน้าผมทำสื่อ ผมก็จะทำแบบวันนั้นครับ วันไหนท่านหมดอำนาจ ผมก็จะทำแบบที่ว่าเหมือนเดิม ผมทำตามหลักมากกว่าท่านที่เอนเอียงไปมาตามที่อำนาจต้องการ

สามปีนี้เรื่องที่ท่านลงโทษมีตั้งแต่ปล่อยภาพทักษิณ, เปิดเสียง พล.ต.อ.เสรี-ทนายอานนท์-อาจารย์ชัชชาติ หรือแม้แต่คนชุมนุมอยากเลือกตั้ง

ท่านอ้างว่าปล่อยภาพกับเสียงคือการยั่วยุ แต่เราปล่อยเพราะมันเป็นประเด็นข่าว แล้วเราจะรายงานข่าวโดยไม่มีเสียงคนที่พูดถึงได้อย่างไร

ท่านพูดถูกครับว่าปิดช่องสิบสี่วันเพราะห้าปีนี้ผิดซ้ำซาก แต่ท่านพูดไม่ครบครับว่าเนื้อในของเรื่องที่ “ผิดซ้ำซาก” คือเรื่องที่ไม่ถูกใจผู้มีอำนาจแทบทั้งสิ้น ไม่ใช่เรื่องหมิ่นประมาท ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย และไม่ใช่เรื่องให้ข้อมูลเท็จอย่างที่ท่านพยายามทำให้สังคมเข้าใจ

เราพูดเรื่องที่ผิดใจผู้มีอำนาจแน่ โดยเฉพาะในกรณีผู้มีอำนาจผิด แต่เราไม่เคยให้ร้ายคนอื่นโดยมีแผนร้าย และไม่มีที่พูดเพื่อปลุกปั่นทางการเมือง

ทุกวันที่วอยซ์จอดำไป 15 วัน คือหลักฐานของการใช้อำนาจเพื่อปิดหูปิดตาเพียงเพื่อสนองความกระหายอำนาจของคนบางคน
#เอาเสรีภาพสื่อคืนมาเอาอำนาจเถื่อนคืนไป
#SaveVoiceTV #SaveVoiceTV21

'ฮิวแมนไรท์วอทช์' ขอ กสทช. ทบทวนคำสั่งปิดวอยซ์ หวั่นกระทบความน่าเชื่อถือเลือกตั้ง

ในวันเดียวกันนี้ องค์กรสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรท์วอทช์ ออกแถลงการณ์กรณีที่บอร์ดคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีคำสั่งให้สถานีโทรทัศน์วอยซ์ ทีวี งดออกออกอากาศเป็นเวลา 15 วัน หลังพบว่ามีเนื้อหาที่ขัดต่อกฎหมาย โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เที่ยงคืนของวันนี้ จนถึงวันที่ 27 ก.พ. 2562 โดยมีใจความขอให้ทบทวนคำสั่งดังกล่าวซึ่งเป็นการเซ็นเซอร์สื่อและการวิพากษ์วิจารณ์อย่างสงบ การกระทำเช่นว่าไม่สามารถทำให้การเลือกตั้งในไทยเป็นที่น่าเชื่อถือได้

ประเทศไทย: ยกเลิกการปิดกั้นสถานีโทรทัศน์ที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์

ยุติการปิดกั้นสื่อ การแสดงความเห็นอย่างเสรีก่อนจะมีการเลือกตั้ง

(นิวยอร์ก) – หน่วยงานกำกับสื่อในประเทศไทย ควรทบทวนคำสั่งที่พักการออกอากาศของวอยซ์ทีวีโดยทันที ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในวันนี้ การสั่งพักการออกอากาศรายการโทรทัศน์ แม้เป็นการชั่วคราว ถือเป็นการเซ็นเซอร์สื่อที่ไม่ชอบธรรม ทำให้เกิดข้อกังขาต่อสภาพที่เป็นธรรมในการทำงานของสื่อ ก่อนจะมีการเลือกตั้งระดับชาติในวันที่ 24 มีนาคม 2562

ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ประกาศพักการออกอากาศของวอยซ์ทีวีเป็นเวลา 15 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ กสทช.กล่าวหาว่าทางสถานีให้ข้อมูลที่สับสนต่อสาธารณะ ยุยงให้เกิดความขัดแย้งในสังคม และคุกคามความมั่นคงแห่งชาติ เนื่องจากทางสถานีให้พื้นที่กับผู้สมัครรับเลือกตั้งที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารของไทย และมีการออกอากาศคำวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานของรัฐบาลเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นและเศรษฐกิจ

“การสั่งพักการออกอากาศของวอยซ์ทีวี เน้นให้เห็นว่าการวิพากษ์วิจารณ์ใด ๆ ต่อรัฐบาลทหารของไทยก่อนจะมีการเลือกตั้ง เป็นเรื่องต้องห้าม” แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “บิ๊กทหารของไทยกำลังแสดงให้เห็นว่า พวกเขาไม่ได้ต้องการผ่อนปรนการควบคุมอย่างเข้มงวดในประเทศ เพื่อประกันให้เกิดการออกคะแนนเสียงอย่างเป็นธรรมแต่อย่างใด”

นับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ซึ่งเป็นเหตุให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีอำนาจปกครองประเทศ วอยซ์ทีวีได้ตกเป็นเป้าหมายการเซ็นเซอร์และการลงโทษ มากกว่าสถานีโทรทัศน์อื่นใดในประเทศไทย ทางการเคยสั่งปิดสถานีเป็นเวลา 26 วันในปี 2557 และเจ็ดวันในปี 2560 นอกจากนั้นยังมีคำสั่งพักการออกอากาศบางรายการอีก 17 ครั้ง และให้ยกเลิกบางรายการ เพื่อแลกกับการออกอากาศอีกครั้ง กสทช.บังคับให้วอยซ์ทีวีลงนามบันทึกความเข้าใจ กำหนดให้ทางสถานีต้องไม่แสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ต่อรัฐบาลทหารหรือสถานการณ์ในประเทศไทย

ในช่วงกว่าสี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลทหารได้ใช้อำนาจโดยพลการและอย่างกว้างขวาง เพื่อตีความการวิพากษ์วิจารณ์อย่างสงบ และการแสดงความเห็นต่างว่าเป็นการให้ข้อมูลที่บิดเบือน เป็นการยุยงปลุกปั่น และคุกคามต่อความมั่นแห่งชาติ ในวันที่ 11 ธันวาคม 2561 คสช.ยกเลิกคำสั่งห้ามชุมนุมสาธารณะและการจัดกิจกรรมทางการเมือง เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองรณรงค์หาเสียงได้ อย่างไรก็ดี รัฐบาลยังคงไม่ยกเลิกประกาศคำสั่งของทหารที่ควบคุมการแสดงออก และให้มีการดำเนินคดีอาญาต่อผู้แสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหาร นโยบายและการปฏิบัติของพวกเขา และสถาบันพระมหากษัตริย์

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 97/2557 ซึ่งห้าม “การวิพากษ์ วิจารณ์การปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ“และห้ามเผยแพร่ “ข้อมูลที่จะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ที่ส่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง หรือสร้างให้เกิด ความแตกแยกในราชอาณาจักร“ โดยยังเป็นการบังคับให้สำนักข่าวทุกแห่งต้องรายงานข้อมูลที่เผยแพร่โดยรัฐบาลทหาร

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 103/2557 ห้ามการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ กรณีที่เป็นข้อมูลซึ่งทางการเห็นว่า “บิดเบือน และ (สร้าง) ความเข้าใจผิด อันจะส่งผลกระทบต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม” เท่ากับว่ากสทช. กลายเป็นเครื่องมือหลักในการเซ็นเซอร์สื่อของรัฐบาลทหาร โดยมีอำนาจอย่างกว้างขวางและปราศจากการตรวจสอบ สามารถสั่งพักการออกอากาศรายการโทรทัศน์และวิทยุได้ หรือสามารถสั่งปิดสถานีได้ เพียงเพราะเนื้อหาของรายการถูกทางการมองว่าเป็นการบิดเบือน สร้างความแตกแยก และคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติ

“ไม่อาจบอกว่าการเลือกตั้งในประเทศไทยน่าเชื่อถือได้ หากยังมีคำสั่งควบคุมสื่อมวลชน และยังคงห้ามการแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ระบอบปกครองของทหาร” อดัมส์กล่าว “รัฐบาลควรคุ้มครองเสรีภาพสื่อโดยทันที โดยต้องยกเลิกคำสั่งพักการออกอากาศของวอยซ์ทีวี และยุติความพยายามใด ๆ ที่จะปิดปากสื่อดังกล่าวและสื่ออื่น ๆ ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหาร”

'ซีป้า' ชี้เป็นการคุกคามเสรีภาพสื่อมวลชนอีกครั้งหนึ่ง

วอยส์ออนไลน์รายงานด้วยว่า เช่นเดียวกับ สมาพันธ์ผู้สื่อข่าวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) หรือซีป้า เผยแพร่แถลงการณ์ พาดพิงกรณีนี้ว่า คำสั่งปิดช่องวอยซ์ ทีวี เป็นการคุกคามเสรีภาพสื่อมวลชนอีกครั้งหนึ่ง 

ซีป้าระบุว่า คำสั่งของ กสทช. สามารถตีความได้ว่าเป็นการละเมิดเสรีภาพสื่อมวลชนโดยคณะรัฐบาลทหาร และเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่ารัฐบาลทหารไม่อดทนต่อการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนในการรายงานข่าว เผยแพร่ข้อมูล และเป็นช่องทางในการถกเถียงแสดงความคิดเห็นในประเด็นที่สำคัญต่อคนในสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในช่วงที่ประเทศไทยกำลังจะจัดการเลือกตั้งครั้งใหญ่ขึ้นในเร็วๆ นี้

ซีป้าระบุเพิ่มเติมว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐบาลทหารมีคำสั่งปิดกั้นการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ต้องเคารพ โดยเมื่อปี 2561 กสทช. มีคำสั่งระงับการออกอากาศของรายการ Daily Dose และ Tonight Thailand รวมถึงสั่งระงับการทำหน้าที่ของ 2 พิธีกร 'ศิโรฒน์ คล้ามไพบูลย์' และ 'วิโรจน์ อาลี' ตลอดจนห้ามเผยแพร่ผลงานของ 'เซีย' การ์ตูนนิสต์ชื่อดังเป็นการชั่วคราว โดยอ้างคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 97/2557 ซึ่งระบุว่าจะต้องปิดกั้นข้อมูลข่าวสารที่ยั่วยุและเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ

คำสั่งของ คสช.ฉบับดังกล่าว ส่งผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนในประเทศไทย ไม่เฉพาะแค่กิจการของวอยซ์ ทีวี เพราะรายงานสถานการณ์สื่อมวลชนของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย หรือ TJA ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือน ธ.ค. 2561 ตอกย้ำเช่นกันว่า คำสั่งของ คสช. หลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็น คำสั่ง คสช. 97/2557, 103/2557, 3/2558 และ 41/2559 มีผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนในการให้ข้อมูลแก่สาธารณชนในช่วงก่อนเลือกตั้ง ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net