Skip to main content
sharethis

อาจารย์มานุษยวิทยาจากมหาลัยในสหรัฐฯ ทวีต ถูก ตม. ไทยกักตัวชั่วคราวก่อนออกจากประเทศ คาด เพราะลงชื่อคัดค้านคดี 'เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร' แม้ศาลยกฟ้องแล้ว อาจารย์ไทยในมาเลเซียเผยถูกกักตัว-สอบถาม 10 ครั้ง และมองว่าเป็นการคุกคามนักวิชาการไม่ให้ยุ่งการเมือง อนุสรณ์ อุนโน ระบุ มีนักวิชาการต่างชาติราว 30 คนในลิสต์ ชี้ไม่มีอำนาจใดรองรับการกักตัวเพราะไปลงชื่อในแถลงการณ์

13 ก.พ. 2562 เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (10 ก.พ. 2562) ทวิตเตอร์ของ ผศ.แอนดรูว์ จอห์นสัน อาจารย์ด้านมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยปรินซ์ตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ทวีตว่าเขาถูกกักตัวโดยตำรวจตรวจคนเข้าเมืองของไทยเอาไว้ชั่วคราวระหว่างกำลังจะเดินทางออกจากประเทศ เจ้าหน้าที่บอกกับแอนดรูว์ว่า มีรายชื่อของนักวิชาการจำนวนราว 30 คนที่ต้องการจะได้ข้อมูลว่าพวกเขาไปพูดคุยกับใครและไปที่ไหนมาบ้าง

แอนดรูว์ยังทวีตต่อด้วยว่า มีเพื่อนของเขาให้ข้อมูลว่ารายชื่อดังกล่าวมาจากการร่วมลงชื่อคัดค้านการดำเนินคดีกับนักวิชาการในเวทีนำเสนองานทางวิชาการในงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา (The International Conference on Thai Studies) ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อที่ 18 ก.ค. 2560 หรือที่รู้จักกันในเหตุการณ์ 'เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร' แม้คดีจะถูกยกฟ้องไปเมื่อเดือน ธ.ค. 2561 ไปแล้วแต่รายชื่อยังคงอยู่

ผู้สื่อข่าวติดต่อไปยังกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 2 (บก.ตม.2) สนามบินสุวรรณภูมิเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม บก.ตม.2 ระบุให้ไปสอบถามฝ่ายพิธีการตรวจคนเข้าเมือง เมื่อสอบถามไปแล้วได้ความว่า ฝ่ายพิธีการฯ ยังไม่ได้รับข้อมูล ให้ติดต่อไปที่ บก.ตม.2

สำหรับคดีเวทีวิชาการไทยศึกษา ศาลเห็นว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าในความผิดฐานชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คน โดยไม่ได้รับอนุญาตจาก คสช. ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558. แต่ระหว่างการพิจารณาคดีนี้มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 22/2561 ออกมาให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12. ที่โจทก์นำมาฟ้องแล้ว การกระทำจึงไม่เป็นความผิด จึงมีเหตุยกฟ้อง แต่ศาลยังรับรองไว้ด้วยว่าการกระทำความผิดตามฟ้องนั้นไม่กระทบกระเทือนหรือไม่เสียไป ซึ่งเป็นไปตามข้อ 2 ของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 22/2561

ศาลแขวงเชียงใหม่ยกฟ้องชูป้าย "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" เพราะไม่มีฐานความผิดนี้แล้ว

สิ่งที่เกิดขึ้นกับแอนดรูว์เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งของการคุกคามนักวิชาการที่ใช้ชื่อตนเองร่วมลงนามในแถลงการณ์ต่างๆ  จากการสอบถามนักวิชาการรายอื่นก็พบว่ามีการสอดส่องและติดตามในลักษณะนี้เกิดขึ้นแล้วแม้แต่กับนักวิชาการชาวไทย

รุสนันท์ เจ๊ะโซ๊ะ อาจารย์ภาษาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมลายา ประเทศมาเลเซีย นักวิชาการสัญชาติไทยที่ลงชื่อในแถลงการณ์กรณีไทยศึกษาฉบับหนึ่ง ให้ข้อมูลว่าเธอถูกเจ้าหน้าที่ ตม. กักตัวไว้สอบถามเมื่อเดินทางเข้า-ออกประเทศถึง 10 ครั้ง เนื่องด้วยเธอต้องเดินทางเข้า-ออกประเทศไทยบ่อย การกักตัวครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2561 เมื่อเดินทางจากกรุงกัวลาลัมเปอร์มาสนามบินหาดใหญ่ เจ้าหน้าที่ ตม. แจ้งว่าได้รับเรื่องจากกองบัญชาการตำรวจสันติบาลเมื่อ 24 ส.ค. 2561  ว่าให้ตรวจสอบรายชื่อนี้เมื่อเข้า -ออกประเทศ เจ้าหน้าที่ถามว่าทำอะไรที่ผิดกฎหมายมาหรือเปล่า เคยไปร่วมชุมนุมประท้วง หรือมีคดีติดตัวหรือไม่ ซึ่งเธอก็บอกไปว่าไม่เคยชุมนุมเคลื่อนไหวอะไร ไม่เคยมีคดีติดตัว

รุสนันท์ได้บันทึกเหตุการณ์การถูกกักตัวเอาไว้ทุกครั้ง โดยระบุว่าเธอมีชื่อในรายชื่อซึ่งถูกตรวจพบได้เมื่อตรวจสอบพาสปอร์ต ขณะถูกกักตัวครั้งที่สองมีเจ้าหน้าที่ระดับผู้กองแจ้งว่ามีชื่ออยู่ในกลุ่มชุมชนนักวิชาการนานาชาติเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในไทย จึงให้เธอเข้าห้องเพื่อสอบถามรายละเอียด พฤติการณ์การกักตัวเป็นเช่นนี้เกือบทุกครั้ง

อาจารย์มหาวิทยาลัยมลายาระบุว่า เธอร่วมลงนามในแถลงการณ์หลายฉบับ หนึ่งในหลายฉบับคือเรื่องการคัดค้านการดำเนินคดีไทยศึกษา รวมถึงเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาด้วย การถูกกักตัวครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นกับเธอคือเมื่อ 5 ก.พ. 2562

“คือเข้าออกแต่ละครั้ง จะไม่ใช่ด่านเดียวกัน ก็จะโดนเจ้าหน้าที่สอบถามคำถามเดิมๆ ค่ะ ว่าไปมีคดีอะไรมั้ย ทำไมมีชื่อในลิสต์ เคยไปร่วมประท้วง ชุมนุมที่ไหนมั้ย เคยลงชื่ออะไรมั้ย” รุสนันท์กล่าว

“คือทุกครั้งเจ้าหน้าที่ ตม. หลังจากที่เขาได้ติดต่อกับทางสันติบาลและอนุญาตให้เข้าออกได้  เจ้าหน้าที่จะพูดว่า ก็เข้าออกได้ตามปกติ แต่จะเจอกับการถูกสอบถามตรวจสอบแบบนี้เป็นเรื่องปกติ เพราะทางหน่วยงานสันติบาลส่งรายชื่อมา ทาง ตม. เป็นแค่คนรับเรื่องและต้องดำเนินการไปตามระบบ”

รุสนันท์มองสิ่งที่เกิดขึ้นกับเธอว่าเป็นการคุกคามนักวิชาการไม่ให้ความเห็นใดๆ เกี่ยวกับการเมือง  

“คิดว่าเป็นการคุกคามกลายๆ ปรามไม่ให้นักวิชาการพูด หรือให้ความเห็นใดๆ เกี่ยวกับการเมืองไทย  เพราะครั้งหนึ่งที่ด่านสะเดา เจ้าหน้าที่บอกเองว่าต้องขอให้เข้าใจว่าตอนนี้บ้านเมืองตอนนี้ไม่ปกติ การแสดงออกบางอย่างอาจเป็นภัยความมั่นคงได้”

ต่อสมมติฐานเรื่องความเกี่ยวโยงระหว่างนักวิชาการที่เกี่ยวพันกับการคัดค้านการดำเนินคดีกับนักวิชาการในเวทีไทยศึกษา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่ามีแถลงการณ์จากนักวิชาการและภาคส่วนอื่นๆ ถึง 18 ฉบับด้วยกัน บางฉบับมีผู้ร่วมลงนามหลักสิบ บางฉบับหลักร้อย และมีคนที่ลงนามในแถลงการณ์ซ้ำกันหลายฉบับ

ภาพการอ่านแถลงการณ์เรียกร้องเสรีภาพทางวิชาการ หนึ่งในแถลงการณ์ที่สืบเนื่องมาจากกรณีเวทีไทยศึกษา

ประชาไทสอบถาม รศ. อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้ร่วมลงนามในหลายแถลงการณ์ที่สืบเนื่องจากเหตุการณ์เวทีไทยศึกษา อนุสรณ์ให้ข้อมูลว่า ในแถลงการณ์คัดค้านการดำเนินคดีกับห้านักวิชาการฉบับหนึ่งที่มีนักวิชาการลงชื่อกว่า 300 คน และมีชาวต่างชาติประมาณ 40 คนในนั้น โดยจำนวน 30 คนนั้นจากการสอบถามพบว่ามีรายชื่ออยู่ในรายชื่อ

อนุสรณ์ระบุว่าการมีชื่อในรายชื่อทำให้นักวิชาการต่างชาติประสบปัญหาในการเข้าออกประเทศไทยต่างกันไป ถูกซักถามมากน้อยต่างกัน บางคนก็ถูกกักตัวเอาไปอยู่ห้องต่างหากแล้วถูกสอบถามเพิ่มเติม บางคนก็ได้พบกับฝ่ายความมั่นคงหรือสันติบาล ทำให้การเดินทางเข้า-ออกประเทศไทยมีความยุ่งยาก ซึ่งนักวิชาการต่างชาติที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับประเทศไทยต่างก็กังวลว่าเรื่องนี้จะเป็นปัญหาต่อการศึกษาในไทยในกรณีที่ถึงขั้นการเพิกถอนสิทธิต่างๆ หรือวีซ่า

“สิ่งที่กระทำลงไปมันไม่มีข้อกฎหมายใดเอาผิดได้ มันไม่ถือเป็นความผิดตามกฎหมาย เพราเป็นการร่วมลงนามในแถลงการณ์ ซึ่งโดยตัวของมันก็เป็นการเรียกร้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ไม่ว่าจะเป็นทางวิชาการหรือลักษณะอื่นๆ เป็นสิทธิที่ได้รับการคุ้มครองอยู่แล้ว”

“เพียงแต่ว่าในช่วงที่ผ่านมาที่ประเทศไทยไม่ได้เป็นนิติรัฐ นิติธรรม ฝ่ายที่อยู่ในอำนาจก็ใช้ช่องทางนี้เล่นงานคนที่เห็นต่างหรือกระด้างกระเดื่อง แต่เอาเข้าจริงในทางกฎหมายมันทำอะไรไม่ได้” อนุสรณ์กล่าว

อนุสรณ์ยังกล่าวว่าเครือข่ายนักวิชาการกำลังเก็บข้อมูลในเรื่องนี้ โดยในอนาคตจะยื่นเรื่องให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเปิดเผยรายชื่อออกมาว่ามีใครบ้าง และด้วยเหตุผลอะไรถึงมีชื่ออยู่ในนั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net