Skip to main content
sharethis

‘ดวงมณี’ ระบุไทยเหลื่อมล้ำสูงทั้งรายได้ ทรัพย์สิน ที่ดิน การศึกษา สาธารณสุข ประกันสังคม กระบวนการยุติธรรม เมื่อเทียบกลุ่มคนรวยสุด-จนสุดพบว่า รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายต่างกัน 59 เท่า ทรัพย์สินต่างกัน 375 เท่า ที่ดินต่างกัน 855 เท่า ‘ษัษฐรัมย์’ ชี้ต้องทำให้รัฐสวัสดิการเป็นโครงสร้างพื้นฐานเหมือนน้ำและอากาศ เพื่อให้เรามีทางเลือกในชีวิตมากขึ้น

11 ก.พ. 2562 เครือข่ายวีแฟร์ (We Fair) จัดเวทีเสวนาเชิงปฏิบัติการ รัฐสวัสดิการสู่สังคมไทยเสมอหน้า เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2562 ณ ห้องประกอบ หุตะสิงห์ ชั้น 3 อาคารอเนกประสงค์ 1 ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยผู้ร่วมเสวนาคือ เดชรัต สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw), ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

รัฐสวัสดิการสู่สังคมไทยเสมอหน้า(1): ความเหลื่อมล้ำเป็นอาชญากรรมของรัฐ

รัฐสวัสดิการสู่สังคมไทยเสมอหน้า(2): รัฐสวัสดิการคือเครื่องมือลดความขัดแย้ง

 

ดวงมณี เลาวกุล: ไทยเหลื่อมล้ำสูงทั้งรายได้ ทรัพย์สิน ที่ดิน การศึกษา สาธารณสุข ประกันสังคม กระบวนการยุติธรรม

 

ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่า ที่พูดกันว่าไทยเหลื่อมล้ำที่สุดในโลกนั้นโดยส่วนตัวคงบอกไม่ได้ว่าจริงรึเปล่า เพราะไม่มีข้อมูลเพียงพอ และการเปรียบเทียบระหว่างประเทศต้องไปดูรายละเอียดว่าใช้อะไรเปรียบเทียบ แต่ไม่ว่าไทยเหลื่อมล้ำที่สุดในโลกหรือไม่ สำคัญคือความเหลื่อมล้ำมีอยู่จริง มีต่อเนื่องเป็นเวลานานหลายศตวรรษ ไม่ว่าไทยจะมีการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมไปมากแค่ไหน บางช่วงอัตราเติบโตเกิน 10% แต่ความเหลื่อมล้ำยังอยู่ มีช่วงที่ดีขึ้นบ้าง แต่ถึงที่สุดยังไม่มีการลดความเหลื่อมล้ำได้จริงและยั่งยืน

ความเหลื่อมล้ำของการถือครองทรัพย์สินในประเทศไทย จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ค่าจีนี รายจ่ายดูเหลื่อมล้ำไม่มาก เพราะคนอาจไปกู้ยืมมาจ่าย แต่ค่าจีนีรายได้อยู่ที่ 0.4-0.5 และค่าจีนีทรัพย์สินอยู่ที่  0.6 ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูง แต่ฐานข้อมูลนี้ก็ยังไม่ครอบคลุมไปถึงคนที่รวยจริงๆ ถ้าเข้าถึงได้ก็จะทำให้ค่าเหล่านี้แย่กว่านี้อีก

นอกจากนี้ยังพบว่าครัวเรือน 10% ถือครองทรัพย์สินประมาณ 50% และคน 1% ที่มีทรัพย์สินมากที่สุดมีแหล่งรายได้มาจากธุรกิจและการลงทุน เขตเมืองมีความเหลื่อมล้ำสูงกว่าเขตชนบท ในช่วง 30 ปี ตัวเลขไม่ได้ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อยู่ที่ 0.4-0.5 ไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แม้จะมีการพัฒนา ความเหลื่อมล้ำยังอยู่

*หมายเหตุ ภาพประกอบมาจากสไลด์ประกอบการบรรยายของ ดวงมณี เลาวกุล

 

ชายแดนใต้เหลื่อมล้ำสูงสุด 0.485 และถ้าดูเป็นภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเหลื่อมล้ำสูงสุด 0.432

 

คน 10% รวยสุด กับ 10% จนสุด ในชายแดนใต้ต่างกันถึง 20 เท่า รวมทั้งประเทศต่างกัน 17 เท่า

 

ดวงมณีระบุว่าสาเหตุมาจากพื้นฐานทางเศรษฐกิจและครอบครัว คนที่เกิดในครอบครัวร่ำรวย ก็มีโอกาสพัฒนาทักษะความรู้ประกอบอาชีพหารายได้ได้มากกว่า อีกสาเหตุคือความแตกต่างทางโครงสร้างเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาค ปัจจัยทรัพยากรมีไม่เท่ากันในแต่ละภาค ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่เท่ากัน มูลค่าผลิตภัณฑ์แต่ละภาค ภาคตะวันออก 400,000 ต่อปี ขณะที่ชายแดนใต้ 70,000 กว่าบาท

 

โครงสร้างการกระจายรายได้จากการผลิตในแต่ละภูมิภาค เกินกว่าครึ่งกระจายอยู่ในภาคกลาง (ร้อยละ 56.1 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์ทั่วประเทศ) รองลงมาอยู่ในภาคตะวันออกร้อยละ 17.6 สำหรับภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคใต้ชายแดน มีการกระจายรายได้จากการผลิตไปสู่แต่ละภาคน้อยกว่าร้อยละ 10 โดยเฉพาะภาคใต้ชายแดนน้อยกว่าร้อยละ 1 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์ทั่วประเทศ

ความแตกต่างของการพัฒนาคนของแต่ละภูมิภาค โดยเฉพาะการพัฒนาคนด้านการศึกษาซึ่งคือการสร้างคน โอกาสในการประกอบอาชีพ สร้างรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ดูจากผลการทดสอบโอเน็ต ใน 4 วิชาหลัก ภาคกลางดีที่สุด และภาคใต้ชายแดนแย่ที่สุด

ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ผ่านระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พบว่า ข้อมูลจากปี 2555 ผู้ยื่นแบบในขั้นเงินได้สูงสุด (มากกว่า 20 ล้านบาท) มีเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายมากกว่าผู้ที่อยู่ในขั้นเงินได้ต่ำสุด (ต่ำกว่า 5 แสนบาท) 114 เท่า ซึ่งดีขึ้นแล้วจากก่อนหน้านี้

 

ถ้าแบ่งคนเป็น 10 กลุ่ม กลุ่มที่ 10 มีรายได้มากกว่ากลุ่มที่ 1 ประมาณ 58 เท่า และผู้ที่มีเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายมากที่สุด Top 10% มีสัดส่วนเงินได้ประมาณ 45% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย

ดวงมณีอ้างถึงรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ปี 2559 พบความเหลื่อมล้ำในหลายประเด็นดังนี้

ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา

พบว่าการเข้าถึงการศึกษาภาคบังคับของคนไทยอยู่ในสัดส่วนที่สูง แต่ยังคงมีเด็กในวัยเรียนบางส่วนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา และแนวโน้มอัตราการเข้าเรียนลดลงตามระดับการศึกษาที่สูงขึ้น อัตราการเข้าเรียนสุทธิ ระดับประถมศึกษา ร้อยละ 87.3 ระดับมัธยมศึกษา ร้อยละ 67.4 อัตราการเข้าเรียนระดับอนุบาลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (ร้อยละ 72.3)

อัตราการเข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (รวม ปวช.) และระดับปริญญาตรี (รวม ปวส.) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ยังคงต่ำกว่าระดับชั้นอื่นๆ อัตราการเข้าเรียนในแต่ละภาคจำแนกตามระดับชั้น ไม่แตกต่างกันมาก

อัตราการเข้าเรียนระดับปริญญาตรีของกรุงเทพมหานครมีสัดส่วนสูงกว่าภาคอื่น ๆ อยู่ที่ร้อยละ 40.4 ส่วนภาคใต้อยู่ที่ร้อยละ 19.2 ของไทย เกือบจะดี ชั้น 1 2 3 ได้รับการจัดสรรงบประมาณสูงกว่า 4 กับ 5 (ซึ่งฐานะดีกว่า) แต่ไปรวมอยู่ที่ 3

ข้อมูลที่สำรวจโดยยูเนสโกพบว่า เด็กที่อยู่ในครอบครัวยากจนที่สุด 20% ของประเทศ มีโอกาสเข้ามหาวิทยาลัยแค่ประมาณ 5% เท่านั้น เทียบกับเด็กที่มาจากครอบครัวร่ำรวยที่สุด 20% แรก ได้เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย 100%

 

ความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข

เกิดความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพการบริการทางสาธารณสุข เนื่องจากการกระจายบุคลากรทางการแพทย์มีความแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค

จำนวนแพทย์ต่อประชากรที่้ต้องดูแลมากกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ควรจะเป็น การกระจุกตัวของแพทย์ต่างกัน ที่กทม. ประชากร 716 คนต่อแพทย์ 1 คน บึงกาฬน้อยสุดคือประชากร 5,906 ต่อแพทย์ 1 คน มากกว่าภูมิภาคอื่นส่งผลต่อระยะเวลาในการรอคิวตรวจรักษา และคุณภาพการให้บริการ

 

ความเหลื่อมล้ำด้านการคุ้มครองทางสังคม

มีการขยายสวัสดิการครอบคลุมถึงกลุ่มเด็กแรกเกิดในครัวเรือนยากจน คือโครงการเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดในครัวเรือนที่ยากจนโดยให้เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดเป็นเวลา 3 ปี จำนวน 600 บาทต่อคนต่อเดือน

แต่แรงงานนอกระบบจำนวนมากยังขาดการคุ้มครองทางสังคมอย่างเป็นระบบ แม้มีการขยายความคุ้มครองไปสู่แรงงานนอกระบบ โดยการนำแรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบประกันสังคมภาคสมัครใจตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 40 แต่มีผู้สนใจเข้าสู่ระบบเพียง 2.24 ล้านคน (ร้อยละ 10.52 ของแรงงานนอกระบบทั้งหมดในปี 2559) และแรงงานนอกระบบได้รับค่าจ้างเฉลี่ยต่ำกว่าแรงงานในระบบประมาณ 2.2 เท่า

ความเหลื่อมล้ำด้านกระบวนการยุติธรรม

รายงานความเป็นธรรมโลก ปี 2559 พบว่า ดัชนีหลักนิติธรรม (RULE OF LAW INDEX) ในภาพรวมของประเทศไทยมีคะแนน 0.51 เป็นลำดับที่ 46 จาก 113 ประเทศทั่วโลก และอยู่ลำดับที่ 10 และ 15 ประเทศในกลุ่มภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก

• คะแนนสูงสุดในด้านการมีความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัย (0.70)

• คะแนนน้อยที่สุดในด้านกระบวนการยุติธรรรมทางอาญา (0.45) โดยเฉพาะด้านประสิทธิภาพในการสอบสวน การปราศจากการเลือกปฏิบัติและกระบวนการที่ถูกต้องทางกฎหมาย ซึ่งเป็นปัญหาทั้งจากกระบวนการยุติธรรมมีค่าใช้จ่ายสูง ปัญหาการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ปัญหาความไม่เท่าเทียมจากกระบวนการยุติรรมสองมาตรฐาน เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานไม่ชอบด้วยกฎหมาย และประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจด้านกฎหมาย

ความเหลื่อมล้ำการถือครองที่ดิน

ผู้ถือครองที่ดินที่มีเอกสารสิทธิประเภทโฉนดที่ดินร้อยละ 1 ที่มีที่ดินสูงสุด ถือครองที่ดินประมาณ 1 ใน 4 ของที่ดินที่มีเอกสารสิทธิประเภทโฉนดที่ดินทั้งหมด ที่คนถือครองที่ดินมากเพราะอัตราการเปลี่ยนแปลงราคาที่ดิน เพิ่ม 7 เปอร์เซ็นต์ต่อปี คนที่มีทรัพย์สินมากจึงซื้อที่ดินเพื่อการเก็งกำไร

ร้อยละ 50 ของผู้ถือครอง ถือครองไม่เกิน 1 ไร่, ร้อยละ 22 ของผู้ถือครอง ถือครอง 1-5 ไร่ และร้อยละ 28 ของผู้ถือครอง ถือครองมากกว่า 5 ไร่

หากแบ่งคนเป็น 10 กลุ่มความเหลื่อมล้ำระหว่างคนกลุ่มที่ 10 ซึ่งรวยที่สุด และคนกลุ่มที่ 1 ที่จนที่สุด พบว่า รายได้ต่างกัน 19 เท่า รายได้หลังหักค่าใช้จ่าย(ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา)ต่างกัน 59 เท่า ทรัพย์สินต่างกัน 375 เท่า ที่ดินต่างกัน 855 เท่า

 

ความมั่งคั่งของเศรษฐีไทย

ปี 2561 87% ของจำนวนบัญชีเงินฝาก มีเงินฝากไม่เกิน 50,000 บาท เปรียบเทียบ 18 เงินฝากมากกว่า 500 ล้านบาท

ในปี 2561 สัดส่วนมูลค่าทรัพย์สินรวมของเศรษฐีไทย 40 อันดับแรกคิดเป็น 32% ของจีดีพี ขณะที่หนี้สาธารณะของไทยประมาณ 40% ของจีดีพี เท่ากับว่าความมั่งคั่งของเศรษฐีเหล่านี้เกือบจะใช้หนี้ได้

มูลค่าทรัพย์สินรวมของ 40 อันดับแรกมหาเศรษฐีไทย เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 สูงกว่าปี 2552 6 เท่า

มูลค่าทรัพย์สินรวมของมหาเศรษฐีไทยที่เป็น billionaire เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 61 สูงกว่าปี 52 11 เท่า

 

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

1. ต้องทำให้ข้อมูลทั้งทางด้านรายได้และทรัพย์สินเป็นข้อมูลที่สามารถเข้าถึงได้

2. รัฐต้องมุ่งลดการผูกขาดทางธุรกิจ และส่งเสริมการแข่งขัน

3. ส่งเสริมให้การกระจายอำนาจทั้งการเมืองและการคลัง เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นกลไกสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำ

4. การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามร่างฯ ที่ผ่านสภาฯ ไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ไม่สามารถเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการลดความเหลื่อมล้ำได้ใน 2 มิติ คือ เป็นการบั่นทอนการกระจายอำนาจ โดยเฉพาะการกระจายอำนาจทางการคลัง และไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำในการถือครองทรัพย์สินในรูปของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้

รัฐบาลควรลดการยกเว้นภาษีลง ปรับการลดหย่อน และอัตราภาษีให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อเป็นแหล่งรายได้ที่ดีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และลดความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดิน

5. สำหรับภาษีมรดก ควรลดการยกเว้นภาษีลง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินในระยะยาว 

6. ควรมีการขยายฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กว้างและครอบคลุมมากขึ้น และมีมาตรการที่จะทำให้ผู้มีเงินได้เข้ามาในระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในแนวนอน

7. ควรมีการจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มของทุน เช่น กำไรจากการซื้อขายหุ้น กำไรจากการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์

8. ลดรายจ่ายทางภาษีที่เกิดจากมาตรการลดหย่อนภาษีและการให้สิทธิพิเศษทางภาษีต่าง ๆ ที่เอื้อประโยชน์กับผู้ที่มีความมั่งคั่ง และไม่ควรใช้มาตรการทางการคลังที่หวังผลเพียงในระยะสั้น

9. ส่งเสริมให้มีการจัดทำฐานข้อมูลคนยากจนอย่างเป็นระบบ ทั่วถึง และโปร่งใส เพื่อให้สามารถจัดสรรงบประมาณทางด้านสวัสดิการต่าง ๆ ลงไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและตรงจุด

10. มุ่งส่งเสริมการใช้จ่ายของรัฐบาลทางด้านสวัสดิการที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ดี เช่น การศึกษา สาธารณสุข การสร้างโครงข่ายความคุ้มครองทางสังคม การอุดหนุนคนที่มีรายได้น้อย และการอุดหนุนคนสูงอายุ

• สำหรับสวัสดิการด้านการศึกษาควรพยายามลดความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรงบประมาณ และควรเพิ่มงบประมาณรายหัวสำหรับเด็กด้อยโอกาส

• ในด้านการประกันสังคม ควรขยายระบบประกันสังคมให้ครอบคลุมแรงงานนอกระบบและแรงงานที่ประกอบอาชีพอิสระได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น

 

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี: รัฐสวัสดิการในฐานะโครงสร้างพื้นฐานเหมือนน้ำและอากาศ เพื่อให้เรามีทางเลือกในชีวิตมากขึ้น

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่า “รัฐสวัสดิการไม่ใช่การมองว่าคนรวยให้คนยากจน แต่มองในฐานะโครงสร้างพื้นฐานของประเทศนี้ เหมือนกับถนน น้ำ ไฟ เป็นไปไม่ได้ที่จะมีการยกเลิกรัฐสวัสดิการในยุโรป เพราะเหมือนกับการที่บอกว่าคนไม่ต้องดื่มน้ำ ไม่ต้องหายใจ

ผมอยากเล่าประสบการณ์ในอดีตของผม แม่ของผมเป็นผู้หญิงที่ทำงานหนัก เหมือนผู้หญิงในประเทศนี้ที่มีลูกแล้วก็ไม่มีสวัสดิการการเลี้ยงดูบุตร แม่ลาออกมาเลี้ยงดูบุตร พ่อผมต้องทำงานหนักมากขึ้นเพื่อทดแทนรายได้ที่หายไป แม่เป็นคุณแม่ฟูลไทม์ไม่มีการลาพักร้อน ไม่มีการขึ้นเงินเดือน นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงส่วนมากในประเทศนี้

แม่เป็นแม่ฟูลไทม์มา 30 กว่าปี เมื่อลูกเรียนจบ เมื่อพ่อเสียชีวิต สวัสดิการที่พ่อเคยได้จากการเป็นข้าราชการก็หายไป รัฐบาลประเทศนี้ให้คุณค่ากับผู้หญิงที่ทำงานหนัก ไม่มีโบนัส ไม่มีการเลื่อนขั้น ไม่มีวันลา คือ 600 บาทต่อเดือน

นอกจาก 600 บาท สิ่งที่เป็นบำเหน็จบำนาญให้คุณแม่ผมคือ เบาหวาน ความดัน และพาร์กินสัน โรคเหล่านี้ถ้าใครศึกษาด้านสาธารณสุขมันคือโรคที่เกิดจากการใช้ชีวิต โรคจากคุณภาพชีวิตที่ต่ำตมของประเทศนี้ อาหารที่ไม่มีคุณภาพ มลพิษ PM2.5 ไม่ได้มีผลกับเราในวันนี้พรุ่งนี้ แต่อีก 20 ปีเราจะเป็นโรคประจำตัว และเราจะมีชะตากรรมแบบนี้ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร ความเหลื่อมล้ำทำให้เราถูกกักขังด้วยชาติกำเนิด

จากการคำนวณของธนาคารโลก คนที่เกิดมาเป็นชนชั้นล่างของสังคม 7 คนมีเพียงแค่ 1 คนเท่านั้นที่จะมีโอกาสเป็นชนชั้นบน

มีนักศึกษาคนหนึ่งไม่กู้ กยศ. ขอผ่อนผันไปซ้ำแล้วซ้ำอีก เพราะบอกว่าพ่อเขาไม่มีเงิน พ่อเขามีอาชีพขายประกัน เขารู้ดีว่าเงินของบ้านมีอยู่เท่าไหร่ สุดท้ายเขาบอกว่าพ่อเขาจะกดบัตรเครดิตมาจ่าย ถ้าเราคิดด้วยนักเศรษฐศาสตร์ มันคือการตัดสินใจที่ไม่สมเหตุสมผล ดอกเบี้ยบัตรเครดิตประมาณ 25-27% ต่อปี ไปกู้ กยศ. ดอกเบี้ย 1% แถมยังไม่ต้องใช้ทันที แต่สิ่งที่พ่อเขาพูดกับเขาคือ ‘จำคำกูไว้นะ ถ้าชีวิตมึงตอนเรียนจบเริ่มต้นด้วยการเป็นหนี้ 300,000 บาท ชีวิตมึงทั้งชีวิตก็เป็นได้แค่คนขายประกัน’ นี่คือความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ไม่เท่ากัน

เราอาจเจอคำหยามหมิ่นว่ารัฐสวัสดิการเป็นไปไม่ได้ แต่มันเป็นไปได้ และถ้าคุณคิดว่าเป็นไปได้เครื่องมือทางเศรษฐกิจก็จะตามมา คำอธิบายทางปรัชญาก็จะตามมา

ภาษีเงินได้ของประเทศนี้ถ้าเก็บในอัตราก้าวหน้าเพิ่มขึ้น นอกจากได้เงินเพิ่มเป็นหลักหมื่นล้าน อีกสิ่งคือการลดอำนาจทางการเมืองของคนเหล่านี้ ต้องลดเสียงของคนกลุ่มนี้และเพิ่มเสียงของพวกเราให้ดังมากขึ้น

งานวิจัยของ Oxfam เรื่องดัชนีความพยายามในการลดความเหลื่อมล้ำในแต่ละประเทศ ดัชนีตัวนี้เป็นตัวบอกว่าแต่ละประเทศมีความพยายามลดความเหลื่อมล้ำเพียงใด โดยนำปัจจัยต่างๆ มาคำนวณ ไทยอยู่ลำดับที่ 70 กว่า จากทั้งหมด 150 กว่าประเทศ แม้แต่ประเทศที่ดูแลประชาชนดีที่สุดอย่างสวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ ก็ยังสามารถทำได้ดียิ่งขึ้นกว่านี้อีก ไม่ใช่ถึงปลายทางแล้ว

งานสำรวจของเว็บไซต์เดอะการ์เดียน เกี่ยวกับคนแต่ละประเทศเข้าใจเกี่ยวกับประเทศตัวเองมากน้อยแค่ไหน ไทยสำรวจว่า คิดว่าไทยใช้งบประมาณสาธารณสุขกี่เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี พบว่าคนไทยเป็นกลุ่มที่เข้าใจผิดที่สุดในโลก เพราะเราคิดว่าเราใช้งบประมาณด้านสาธารณสุข 30-40% ของจีดีพี แต่จริงๆ แล้วอยู่ที่ประมาณ 3-4% เท่านั้นเอง ถ้าคิดเฉพาะงบบัตรทองก็ยิ่งน้อยลงอีก

มายาคติที่บอกว่ารัฐสวัสดิการเป็นไปไม่ได้ หรือเสนอสร้างกองทุนประกัน ให้รับผิดชอบตัวเอง สิ่งเหล่านี้สร้างความเหลื่อมล้ำมากขึ้น เพราะเป็นการยืนยันว่าคุณทำงานหนักและต้องจ่ายแพงเพิ่มขึ้นทุกปี คนรุ่นใหม่มีชีวิตที่เปราะบางอย่างมาก ทำงานหนัก เครียด ซึมเศร้า ดังนั้นหากมีรัฐสวัสดิการคนได้ประโยชน์คือคนรุ่นใหม่ด้วย ที่ทำให้คนรุ่นใหม่สามารถวิ่งตามความฝันของตัวเองได้มากขึ้น

มายาคติอีกข้อคือการบอกว่าตลาดสามารถทำงานได้ดีกว่าภาครัฐ ถ้ารัฐเข้ามาจะเกิดการคอร์รัปชัน ไม่สามารถตรวจสอบได้ ดังนั้นเราจะเห็นแคมเปญ ไม่ต้องมีรัฐสวัสดิการ แต่มีเงินในกระเป๋าก็พอ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับรัฐสวัสดิการ รัฐสวัสดิการไม่ได้ปฏิเสธการขึ้นค่าจ้าง แต่สำคัญกว่าการขึ้นค่าจ้างคือการมีสวัสดิการพื้นฐานตั้งแต่เกิดจนตาย เพื่อให้คุณมีชีวิตที่มั่นคง

สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงมากเพราะไปอยู่ในมือเอกชน ดังนั้นเอกชนไม่สามารถดูแลชีวิตประชาชนได้ดีกว่ารัฐ และรัฐสามารถตรวจสอบได้ง่ายกว่า

แนวคิดเสรีนิยมใหม่มักกล่าวอ้างว่ารัฐสวัสดิการคือเส้นทางสู่การเป็นทาส ตั้งแต่ในทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา จอร์จ ออร์เวลล์ได้ตอบโต้ว่าเมื่อใดก็ตามที่คุณให้อำนาจของกลไกตลาดมาทำหน้าที่แทนรัฐทั้งหมดมันคือหายนะและเผด็จการที่สุดของมนุษยชาติ อำนาจรัฐถ้าคุณทำให้เป็นประชาธิปไตย คุณสามารถตรวจสอบได้ วิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เป็นอำนาจของกลุ่มทุน ถ้าคุณไม่สามารถถือหุ้นเพียงพอ คุณก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้

มายาคติอีกชุดคือรัฐสวัสดิการจะทำให้ประเทศกลายเป็นแบบอาร์เจนติน่า เวเนซูเอลา กรีซ สิ่งที่เกิดขึ้นในเวเนซูเอลาไม่ได้เป็นแบบรัฐสวัสดิการครบวงจรถ้วนหน้า แต่มีความคล้ายบัตรคนจนอย่างมาก มีการลดราคาสินค้าสำหรับกลุ่มคนจนที่ผ่านการทดสอบ และไม่มีความพยายามที่จะลดอำนาจของชนชั้นสูง ปฏิรูปภาษี แต่ใช้งบประมาณของรัฐจากการขายน้ำมัน เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดวิกฤตจึงทำให้รายได้ของรัฐหายไป แต่งบประมาณรายจ่ายด้านสวัสดิการของเวเนซูเอลาอยู่ที่ 18% ของจีดีพี สวีเดน ฝรั่งเศสงบประมาณรายจ่ายด้านสวัสดิการอยู่ที่ 30-40% ของจีดีพี และไม่ได้ทำให้ประเทศเขาล้มละลาย

มีงานวิจัยของฟินแลนด์เรื่องเงินเดือนให้เปล่าแบบไม่มีเงื่อนไข เป็นพัฒนาการขั้นต่อของรัฐสวัสดิการ คือมีสวัสดิการพื้นฐานแล้ว และรัฐบาลให้เงินเดือนให้เปล่าแบบไม่มีเงื่อนไข ให้เดือนละ 20,000 บาท เป็นเวลาสองปี ชีวิตคนเป็นอย่างไร พบว่าการให้เงินเดือนแบบนี้ไม่ได้ทำให้คนขี้เกียจ แต่มี concentrate ต่อสิ่งที่ตัวเองรู้สึกสำคัญในชีวิต เช่น การวาดรูป การกลับไปหาพ่อแม่ที่ไม่ได้ไปหามานาน ทำให้คนมีจินตนาการมากขึ้น ทำให้มนุษย์ชนะเอไอ ชนะแพลตฟอร์มใหม่ๆของทุน ไม่ทำให้เราติดอยู่กับกับดักของการสะสมทุนแบบโบราณ และทำให้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเรากลับคืนมา”

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net