ข้อสังเกตพระราชโองการ เหตุการณ์ 8 กุมภาพันธ์ 2562

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เหตุการณ์ 8 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่มีความสำคัญต่อหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างยิ่ง เนื่องด้วยปรากฏว่า ในช่วงเช้าของวันนั้นเวลา 9.10 นาที พรรคไทยรักษาชาติ ได้ยื่นพระนาม ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อเสนอพระนามเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคไทยรักษาชาติในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 เหตุการณ์นี้นับเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความสนใจแก่ประชาชนชาวไทยทั้งประเทศ นับเป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่สำคัญเหตุการณ์หนึ่งนับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง เนื่องด้วยเหตุการณ์นี้เป็นครั้งแรกที่ปรากฏว่ามีพระบรมวงศ์ชั้นสูง (อดีตฐานันดรศักดิ์ เจ้าฟ้าหญิง) ได้เข้าสู่เกมการเมืองไทยอย่างเป็นทางการ และประสงค์จะเข้าสู่กระบวนการแข่งขันการเลือกตั้งของการเมืองไทยเป็นครั้งแรก ในอดีตนั้น นับแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อ พ.ศ. 2475 แม้ว่าจะปรากฎเจ้านายเชื้อพระวงศ์เข้าสู่การเมืองไทยและการบริหารประเทศอยู่บ้าง เช่น พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ เคยเป็นรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร และเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในกระทรวงอื่นด้วย หรือในกรณี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธุ์เพ็ญศิริ เคยดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในสมัยรัฐบาลของนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ฯลฯ แต่มักจะปรากฏมีแต่ชั้นเจ้านายในระดับพระอนุวงศ์เท่านั้น เช่น ชั้นพระองค์เจ้า หม่อมเจ้า หรือแม้แต่เชื้อพระวงศ์ที่ไม่นับเป็นเจ้า แต่เป็นสามัญชน เช่น หม่อมราชวงศ์ หม่อมหลวง เพียงเท่านั้น แต่เหตุการณ์ 8 กุมภาพันธ์ 2562 นี้นับเป็นครั้งแรกที่มีอดีตพระบรมวงศ์ ฐานันดรศักดิ์ชั้น “เจ้าฟ้า” เข้าสู่การเมืองไทยอย่างเป็นทางการ

ภายในช่วงค่ำของวันนั้นเอง เวลา 22.40 นาที โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยได้ถ่ายทอดและเผยแพร่ประกาศ พระราชโองการของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เรื่อง “สถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” โดยในประกาศพระราชโองการ สถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้ มีทั้งสิ้น สี่ย่อหน้า อาจสรุปความย่อๆ ได้ดังนี้ คือ ย่อหน้าแรกของพระราชโองการ ว่าด้วยสมเด็จพระเจ้าอยู่มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯให้ประกาศพระราชโองการ ย่อหน้าที่สอง กล่าวถึงสถานะทั่วไปของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยในสังคมไทย ที่มีสถานะเป็นศูนย์รวมจิตใจคนไทย และพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศ์ทรงสถานะอยู่เหนือการเมือง นอกจากนี้ในย่อที่สองนี้ยังกล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรในฐานะเป็น “พ่อของแผ่นดิน” ที่ประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าเคารพรักและเทิดทูน ย่อหน้าที่สาม กล่าวถึงทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ว่าทรงสถานะเป็นพระเชษฐภคินีของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศ์ทุกพระองค์ แม้ว่าจะทรงลาออกจากฐานันดรศักดิ์ “เจ้าฟ้า”แล้ว แต่ยังทรงดำรงสถานะเป็นสมาชิกของพระบรมราชวงศ์จักรีอยู่ เป็นสมาชิกพระบรมวงศ์ที่ทรงประกอบพระกรณียกิจมากมาย และภายในย่อหน้าที่สามนี้เองที่มีการกล่าวถึงเหตุการณ์ 8 กุมภาพันธ์ที่มี “การนำสมาชิกชั้นสูงในพระบรมราชวงศ์มาเกี่ยวข้องกับการเมือง” ว่าเป็น “การกระทำที่ขัดต่อโบราณราชประเพณี ขนบธรรมเนียม และวัฒนธรรมของชาติ ถือเป็นการกระทำที่มิบังควรไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง” ต่อมาในย่อหน้าสุดท้ายนับเป็นย่อหน้าที่สำคัญอย่างยิ่ง และอาจนับว่าเป็นย่อหน้าที่สำคัญที่สุดที่ปรากฏภายในพระราชโองการ “สถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย”ก็ว่าได้ เพราะภายในย่อหน้าที่สี่นี้เป็นข้อความที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นพระราชวินิจฉัยส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ที่มีต่อเหตุการณ์นี้โดยเฉพาะ โดยย่อหน้านี้ พระราชโองการได้มีการอ้างถึงข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน โดยเฉพาะหมวดที่ 2 ที่ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นหมวดที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาโดยตลอดทุกฉบับ และภายในย่อหน้านี้เองที่มีข้อน่าสังเกตหลายประการที่ควรกล่าวถึงในภายหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ และสถานะของพระมหากษัตริย์ตามประเพณีการปกครองภายในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข บทความนี้จึงตั้งข้อสังเกตถึงพระราชโองการ “สถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ” ในประเด็นต่างๆ ที่จะกล่าวถึงต่อไปข้างหน้านี้ 4 ประเด็นด้วยกัน

1. พระราชโองการ “สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” ไม่มีผู้สนองพระราชโองการ นั่นเท่ากับว่า พระราชโองการนี้ พระมหากษัตริย์ทรงประกาศด้วยในนามของพระองค์เอง นับเป็นการใช้พระราชอำนาจอธิปไตยโดยไม่ผ่านสามเสาหลัก (นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ) ดังที่เป็นธรรมเนียมประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเมื่อพิจารณาข้อความในพระราชโองการแล้ว อาจถือได้ว่าในพระราชวินิจฉัยที่ปรากฏในพระราชโองการ อาจตีความได้ว่า ได้เกิดการขยายการอธิบายขอบเขตของกฎหมายบางมาตราขึ้นมาใหม่ด้วย (ซึ่งจะกล่าวต่อไปในข้อที่ 2) โดยตามธรรมเนียมการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแล้วนั้น พระราชอำนาจการปรับปรุง แก้ไข กฎหมายใดๆ ก็ตามจำเป็นจะต้องได้รับความยินยอมจากประชาชนเสียก่อน หรือต้องได้รับความเห็นชอบจากตัวแทนของประชาชนซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยแทนปวงชนชาวไทย จำเป็นอย่างยิ่งที่ในข้อสังเกตข้อแรกนี้จะต้องกล่าวถึงอำนาจอธิปไตย (Sovereignty)

อำนาจอธิปไตย (Sovereignty) หมายถึงอำนาจสูงสุดในการปกครอง ซึ่งในราชอาณาจักรไทยนั้น อำนาจนี้เป็นอำนาจที่ใช้ร่วมกันระหว่างปวงชนชาวไทยกับพระมหากษัตริย์ ดังที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตราที่ 3 กล่าวว่า "อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ" จากข้อความในมาตราที่ 3 นี้จึงหมายความว่า อำนาจอธิปไตย (อำนาจสูงสุดในการปกครอง) เป็นของปวงชนชาวไทยทุกคน แต่ในส่วนของพระราชอำนาจอธิปไตยของพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์จะทรงสามารถ "ใช้อำนาจนั้นได้" ก็ต้องเมื่อผ่านทั้งสามเสาหลักของอำนาจอธิปไตยก่อน โดยในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนั้นได้ใช้ทฤษฎีการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยออกเป็นสามฝ่ายของมงแตสกีเยอ(Montesquieu) นั้นก็คือรัฐสภา (อำนาจนิติบัญญัติ) คณะรัฐมนตรี (อำนาจบริหาร) และศาล (อำนาจตุลาการ) ซึ่งล้วนเป็นแหล่งที่อยู่ของอำนาจอธิปไตย

ด้วยเหตุนี้ในประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น พระราชโองการต่างๆ ของพระมหากษัตริย์จึงจำเป็นต้องมีผู้รับสนองพระราชโองการเพื่อมิให้พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจอธิปไตยด้วยพระองค์เอง อันเป็นไปตาม "ประเพณีการปกครองของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข" ในหลักที่ว่า "The king can do no wrong" ซึ่งหมายความว่า พระราชโองการ หรือ กฎหมายใดๆ ก็ตามที่พระมหากษัตริย์ทรงประกาศออกมาทั้งสิ้นนั้น พระมหากษัตริย์จะไม่ต้องทรงรับผิดชอบด้วยพระองค์เองใดๆ ทั้งสิ้น แม้ว่าจะออกมาในพระนามของพระมหากษัตริย์ เนื่องด้วยได้มีผู้รับผิดชอบแทนตัวองค์พระมหากษัตริย์แล้ว นั่นคือ ผู้รับสนองพระราชโองการ นั่นเอง หลัก "The king can do no wrong" จึงนับเป็นหลักที่มีไว้เพื่อป้องกันพระมหากษัตริย์ในกรณีที่มีความผิดพลาดจากประกาศของพระมหากษัตริย์เอง (ตัวอย่างเช่น การประกาศสงคราม จำเป็นจะต้องมีผู้รับสนองพระราชโองการ เพราะหากว่าเมื่อแพ้สงคราม ผู้ที่รับผิดชอบต่อการประกาศสงครามจะเป็นผู้รับสนองพระราชโองการไม่ใช่พระมหากษัตริย์ แต่หากไม่มีผู้รับสนองพระราชโองการในการประกาศสงคราม พระมหากษัตริย์จะต้องทรงรับผิดชอบต่อการประกาศสงครามนั้น) ดังนั้นเมื่อพระมหากษัตริย์จะทรงใช้พระราชอำนาจอธิปไตยแล้ว พระมหากษัตริย์จำเป็นต้องใช้ผ่านทั้งสามฝ่ายไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง "เท่านั้น" (หรือ ในบางกรณี ก็จะมีการกำหนดตัวว่า ผู้รับสนองพระราชโองการในกฎหมายนั้น ผู้ใดจะต้องเป็นผู้รับสนองพระราชโองการ) พระมหากษัตริย์จึงไม่สามารถทรงใช้พระราชอำนาจในการออกพระราชโองการ โดยไม่มีผู้รับสนองพระราชโองการได้ เพราะจะทำให้พระมหากษัตริย์ ทรงตกอยู่ในสภาวะที่ทรงลงประกาศเอง และเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่ง ที่พระมหากษัตริย์อาจได้รับผลจากการประกาศพระราชโองการของพระองค์ ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่กระทบต่อพระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขของรัฐ เช่น พระมหากษัตริย์จะทรงได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์ ตำหนิได้ โดยตรง หลักนี้จึงมีขึ้นเพื่อรักษาพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขโดยแท้

อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุลได้อธิบายว่า ในระบอบประชาธิปไตยนั้น “การใช้อำนาจ”กับ “ความรับผิดชอบจากการใช้อำนาจ” เป็นของคู่กัน ผู้ใดที่มีอำนาจ ผู้นั้นก็ต้องมีความรับผิดชอบของอำนาจตามมาด้วย ความรับผิดชอบต่อการใช้อำนาจนั้นจะสามารถแสดงออกได้จาก การถูกฟ้องร้องดำเนินคดี การปลดออกจากตำแหน่ง การรับโทษอาญา ฯลฯ หากสภาวะความรับผิดชอบเป็นเช่นนี้ หากไม่ต้องการให้เกิดขึ้นกับพระมหากษัตริย์ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตัด “ความรับผิดชอบ”ของพระมหากษัตริย์ออกไป และจะ “ตัดความรับผิดชอบ” ออกได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่พระมหากษัตริย์จะต้องไม่มีอำนาจโดยพระองค์เอง เมื่อไม่มีอำนาจ พระมหากษัตริย์จึงไม่ต้องรับผิดชอบ เมื่อไม่ต้องทรงรับผิดชอบแล้ว พระมหากษัตริย์ก็หลุดพ้นจากการติฉิน ฟ้องร้อง ลงโทษ ปลดออก[1] และนี่คือหลักใหญ่สำคัญของประเพณีการปกครอง ที่มีไว้เพื่อป้องกันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนี้     

2. พระราชโองการนี้ได้ขยายความหมายภายในรัฐธรรมนูญด้วยตัวของ"พระราชโองการ"เอง ดังความที่ปรากฏในพระราชโองการว่า "..ตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ผู้ใดจะละเมิด กล่าวหา หรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้..." ความที่ปรากฏในพระราชโองการนี้ นับเป็นการเอามาจากความที่มาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 6 ความว่า "..องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้.."[2] ความน่าสนใจและข้อสังเกตอยู่ที่ว่า พระราชโองการได้ขยายความหมาย "เพิ่มเติม" ในมาตรา 6 เข้าไป "ใหม่" ดังปรากฏความว่า

"..ซึ่งบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญดังกล่าวย่อมครอบคลุมถึงพระราชินี พระรัชทายาทและพระบรมราชวงศ์ซึ่งมีความใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์ ดังที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิบัติพระราชกรณียกิจร่วมกับพระองค์หรือแทนพระองค์อยู่เป็นนิจ ดังนั้นพระราชินี พระรัชทายาท และพระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์ จึงอยู่ในหลักการเกี่ยวกับการดำรงอยู่เหนือการเมือง และความเป็นกลางทางการเมืองของพระมหากษัตริย์ด้วย และไม่สามารถดำรงตำแหน่งใดๆ ในทางการเมืองได้ เพราะจะเป็นการขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข.."[3]

พระราชโองการนี้ จึงเท่ากับว่า ได้ทรงมีพระราชอำนาจขยายขอบเขตของความหมายที่ปรากฏในมาตรา 6 หมวดพระมหากษัตริย์ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย "อย่างมาก" กล่าวคือ หากเรามองย้อนกลับไปที่มาตรา 6 อันเป็นสิ่งที่พระราชโองการอ้างถึงนั้น เราจะพบว่า ในมาตราที่ 6 กล่าวถึงแต่เพียง "องค์พระมหากษัตริย์" แต่เพียงเท่านั้น และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยย้ำอย่างชัดเจนว่า มาตรา 6 หมายความถึง "องค์พระมหากษัตริย์"เท่านั้น มิได้ขยายความครอบคลุมไปยังพระองค์อื่น เช่น พระราชินี พระรัชทายาท หรือพระบรมวงศ์ฯ แต่อย่างใด ดังนั้นแล้ว เมื่อหากได้พิจารณาภายในข้อความที่ปรากฏในย่อหน้าที่สี่ของพระราชโองการ “สถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” จึงอาจตั้งข้อสังเกตได้ว่า พระราชโองการได้มีการขยายขอบเขตการตีความกว้างขวางขึ้นไปเสียแล้ว เพราะได้นับรวมว่า มาตรา 6 หมวดพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย นี้ ได้ครอบคลุมไปถึง พระราชินี รัชทายาท และพระบรมวงศ์ด้วย จึงอาจนับเป็นการตีความมาตรา 6 ในรัฐธรรมนูญที่กว้างขวางกว่าที่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติไว้เสียเอง เท่ากับว่า พระราชโองการนี้ พระมหากษัตริย์ได้ทรงใช้พระราชอำนาจส่วนพระองค์ขยายความในรัฐธรรมนูญด้วยพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์เองด้วย โดยปราศจาก ความเห็นชอบของประชาชน ผู้ใช้อำนาจอธิปไตยร่วมกับพระมหากษัตริย์ (ตามมาตรา 3) อันเป็นหลักประเพณีการปกครองของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
 

3. พระราชโองการนี้ นับเป็นพระราชโองการเฉพาะพระองค์ เพราะไม่มีผู้ใดรับสนองพระราชโองการ และพระราชโองการนี้ก็ทรงประกาศในนามของ "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว"แต่เพียงเท่านั้น นั้นเท่ากับว่า ความที่ปรากฏในพระราชโองการทั้งหมด ล้วนเป็นพระราชโองการที่มาจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแต่เพียงพระองค์เดียว ทั้งนี้อาจจะเป็นด้วยในฐานะที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้เป็นใหญ่ในพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งปวง อันเป็นธรรมเนียมในราชสำนักที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชโองการต่างๆ เกี่ยวกับพระราชสำนักของพระองค์เอง แต่กระนั้นอาจมีผู้ตั้งข้อสงสัยว่า การที่พระราชโองการไม่มีผู้รับสนองพระราชโองการนั้นก็เนื่องด้วย พระราชโองการนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับพระราชวงศ์เท่านั้น หาใช่เกี่ยวข้องกับงานบริหารราชการแผ่นดิน ดังนั้นพระราชโองการนี้จึงไม่จำเป็นต้องมีผู้รับสนองพระราชโองการ แต่ถ้าเมื่อหากย้อนกลับไปดูพระบรมราชโองการต่างๆ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรแล้ว กลับปรากฏว่า แม้ว่าพระบรมราชโองการที่ประกาศจะเป็นเรื่องภายในพระบรมวงศานุวงศ์ก็ตาม ก็ยังปรากฏว่าจำเป็นจะต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการอยู่เสมอ ตัวอย่าง เช่น พระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ก็มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ คือ นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี[4] หรือ ในกรณี พระบรมราชโองการ เรื่อง ลาออกจากฐานันดรศักดิ์ ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ก็มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้รับสนองพระพระบรมราชโองการ[5] ดังนั้นแล้วไม่ว่าอย่างไรก็ตาม พระราชโองการของพระมหากษัตริย์จำเป็นจะต้องมีผู้รับสนองพระราชโองการ ตามหลัก The king can do no wrong ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้ององค์พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยให้ทรงดำรงอยู่ในฐานะประมุขของรัฐ และศูนย์รวมจิตใจของชาติแต่เพียงเท่านั้น

4. ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น พระมหากษัตริย์ไม่ทรงมีพระราชอำนาจ ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือตีความรัฐธรรมนูญด้วยพระองค์เอง (ดังกล่าวไปข้างต้นแล้ว) ทั้งนี้ย่อมต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ใช้อำนาจอธิปไตยร่วมกับพระมหากษัตริย์เสียก่อน นั่นคือ ปวงชนชาวไทย ด้วย (ตามที่มาตรา 3 ในรัฐธรมนูญบัญญัติไว้) จึงอาจตั้งข้อสังเกตได้ว่า พระราชโองการนี้ พระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจนั้นด้วยพระองค์เองเสียแล้วในการตีความรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในมาตราที่ 6 ซึ่งเท่ากับว่า ทรงมีพระราชอำนาจส่วนพระองค์ในการตีความรัฐธรรมนูญ และแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือเกือบจะเรียกได้ว่า ทรงมีพระราชอำนาจดังสมัยสมัยการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เสียด้วย นั่นคือ พระราชโองการที่ออกจากพระมหากษัตริย์จะนับว่าเป็นกฎหมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขพึงมีได้ ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นพระราชโองการนับเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะถือว่าเป็นกฎหมายของราชอาณาจักร และสามารถมีผลบังคับใช้ได้ด้วยตัวของพระบรมราชโองการเอง ตัวอย่างเช่น พระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนา เลื่อนกรมตั้งกรม และตั้งเจ้าพระยา ซึ่งเป็นพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีผลให้เลื่อนขุนนางจากชั้นพระยา เป็นเจ้าพระยา ดังตัวอย่างเช่น กรณีข้าราชการนามว่า พระยาสุรบดินทรสุรินทรฦๅชัย ได้เลื่อนเป็น เจ้าพระยาสุรบดินทรสุรินทรฦๅชัย[6] ในปีพ.ศ. 2468 อันเป็นปีสุดท้ายของรัชกาล ซึ่งในประกาศก็ไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ เพราะถือว่าประกาศพระบรมราชโองการ หรือคำสั่งของกษัตริย์ถือเป็นกฎหมายทันที ตามธรรมเนียมการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่อำนาจอธิปไตยเป็นของกษัตริย์

ข้อน่าสังเกตเพิ่มเติม​: ในการประกาศของโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย​ทางทีวีในช่วง 22.40 นาทีของวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 ผู้ประกาศได้​ กล่าวไว้ในช่วง​ต้น​ๆ​ว่า​ "..พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศ์ทุกพระองค์อยู่เหนือกฎหมาย.." ​ แต่ในประกาศพระราชโองการในราชกิจจานุเบกษา​ กลับไม่ปรากฏคำว่า​ “..อยู่เหนือกฎหมาย​..” แต่ปรากฏคำว่า “..อยู่เหนือการเมือง..”​ เท่านั้น เท่ากับว่าในการประกาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ​ ผู้ประกาศพระราชโองการได้มีการเพิ่มคำว่า​ เหนือกฎหมาย​ ไปด้วย​ในการประกาศครั้งนั้น แต่ในประกาศราชโองการไม่ปรากฏ ภายหลังเกิดความผิดพลาดจากผู้ประกาศข่าว กรมประชาสัมพันธ์จึงได้แก้ไขและส่งวิดีโอประกาศพระราชโองการใหม่ ในช่วงเที่ยงของวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2562[7]

ดังนั้นแล้วพระราชโองการ “สถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” ในเหตุการณ์ 8 กุมภาพันธ์ 2562นี้ จึงนับเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไทยที่สำคัญต่อการศึกษาประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในไทยได้เป็นอย่างดี และผู้เขียนเชื่อว่า ประกาศราชโองการนี้ในอนาคตจะเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญหลักฐานหนึ่งในการศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทยและประวัติศาสตร์ไทยไปอย่างยาวนาน และอาจเทียบเท่ากับความสำคัญของประกาศสละราชสมบัติ หรือประกาศต่างๆ ที่มีปรากฏอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ไทย ดังนั้นแล้ว พระราชโองการนี้จึงเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีส่วนสำคัญต่อการศึกษาการดำเนินไปของวิวัฒนาการระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในไทยอย่างมาก โดยความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะเห็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในไทยอย่างแท้จริงของผู้เขียน จึงขอมอบบทความนี้ให้เป็นข้อสังเกตสำหรับผู้สนใจการเมืองไทยในช่วงที่มีความสำคัญอย่างยิ่งของพุทธศตวรรษที่ 26 ซึ่งเป็นช่วงที่ประวัติศาสตร์การเมืองไทยมีสิ่งต่างๆ ให้เห็นกันมากมายทั้งในช่วงที่ผ่านมา ตอนนี้ และในอนาคต

 

 

อ้างอิง

[1] โปรดดู ปิยบุตร แสงกนกกุล, “องค์กษัตริย์ไม่อาจถูกละเมิดได้” คืออะไร?, https://blogazine.pub/blogs/piyabutr-saengkanokkul/post/4058
[2] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 , http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/040/1.PDF
[3] ราชกิจจานุเบกษาพระราชโองการ ประกาศสถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย, เล่ม 136, ตอน พิเศษ 37 ง, วันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562, หน้า 1 โปรดดู http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/E/037/T_0001.PDF
[5] ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศเรื่องลาออกจากฐานันดรศักดิ์, เล่ม 131, ตอน 29 ข, วันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2557, หน้า 1 โปรดดู, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2557/B/029/1.PDF
[6] ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนาเลื่อนกรมตั้งกรม และตั้งเจ้าพระยา, เล่ม 42, ตอน 0 ก, 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468, หน้า 216 โปรดดู http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2468/A/216.PDF
[7] โปรดดู คมชัดลึก, “พระราชโองการ”โปรดเกล้าฯให้ประกาศสถาบันกษัตริย์ตามรธน., 10 กุมภาพันธ์ 2562 http://www.komchadluek.net/news/breaking-news/361969

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท