Skip to main content
sharethis

เดินทางไปดูงานวันชาติกะเหรี่ยงของที่เขตปกครองพิเศษตะนาวศรี ดูท่าทีของผู้นำในวันที่พม่าตั้งเขตปกครองครอบพื้นที่ และ KNU ถอนตัวจากวงเจรจาสันติภาพชั่วคราว ซึ่งมีผลสะเทือนกับชีวิตชาวกะเหรี่ยงทั้งสองฝั่งพม่า-ไทย

“ขับช้าฉิบหายเลย รถก็เพิ่งออกมาใหม่ๆ”

ชายกลางคนเชื้อสายกะเหรี่ยงสบถเป็นภาษาไทยให้รถกระบะคันข้างหน้า ขณะขับรถพาผมและเพื่อนร่วมทางไต่เขาเป็นขบวนแถวตอนเรียงหนึ่งบนถนนลูกรัง ปลายทางคือค่ายอัมรา ค่ายที่พักชั่วคราวของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในเขตปกครองพิเศษตะนาวศรี จังหวัดทวาย ประเทศพม่า

 

เส้นทางบนสันเขา เลี้ยวซ้ายนำไปสู่ค่ายอัมรา ส่วนฝั่งขวาของภูเขาเป็นเขตแดนประเทศไทย

ค่ายดังกล่าวถูกจัดไว้รองรับการกลับมาของผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงที่กระจัดพลัดพรายสมัยกองทัพพม่าโจมตีถิ่นที่อยู่ของพวกเขาเมื่อราวสามทศวรรษที่แล้ว ในวันที่ผมไปถึง มันถูกใช้เป็นสถานที่จัดงานวันชาติกะเหรี่ยงปีที่ 71 โดยกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) กองพลน้อยที่ 4 ของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงหรือ KNU เพื่อรำลึกถึงวันที่ชาวกะเหรี่ยงกว่าสี่แสนคนมาชุมนุมที่ย่างกุ้ง เมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2491 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษเคารพสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง

อย่างไรก็ตามเมื่อไม่เป็นไปตามข้อเรียกร้อง อีก 1 ปีต่อมาจึงเกิดสงครามกลางเมืองระหว่างรัฐบาลพม่ากับสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU ตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2492 ซึ่งดำเนินต่อเนื่องกันมากว่า 7 ทศวรรษ

การเดินสวนสนามของกองทัพ KNU และชาวชาติพันธุ์กะเหรี่ยงจากหลายที่นับจำนวนได้หลักพันมีขึ้นในวันที่ 11 ก.พ. ที่เป็นวันงานวันสุดท้ายหลังจากวันชาติที่มีทั้งเวทีดนตรีแสง สี  เสียง ร้านค้า และซุ้มนิทรรศการมาแล้วหกวัน

กองทหารในพิธีเดินขบวน และชาวกะเหรี่ยงที่ร่วมงานนับพันคน

ปมทางการเมืองเงื่อนใหญ่ของพม่าคือกระบวนการสันติภาพ ว่าด้วยการจัดสรรอำนาจระหว่างรัฐบาลกลางกับกลุ่มชาติพันธุ์ บนความฝันของการสร้างสหภาพพม่าแบบ ‘สหพันธรัฐ’ ฝันดังกล่าวเคยจะเป็นรูปร่างในสัญญาปางโหลงเมื่อปี 2490 แล้วล้มโต๊ะกันไป ก่อนมารื้อฟื้นกันอีกครั้งในปี 2554 ที่จนถึงวันนี้ยังไม่มีความชัดเจนในรายละเอียดของของสหพันธรัฐ ขณะที่กองทัพรัฐบาลกลางยังไม่โอนอ่อนเรื่องการให้กลุ่มชาติพันธุ์แยกตัวออกจากสหภาพพม่า จน KNU ตัดสินใจถอนตัวจากวงเจรจาชั่วคราวเมื่อ ต.ค. ปีที่แล้วและยังไม่กลับไป

แกะรอยสันติภาพพม่า (1) การเจรจาที่ชะงักงันและหมากกลยุทธศาสตร์

กะเหรี่ยง KNU-กองทัพรัฐฉานถอนคุยสันติภาพสะท้อนภาวะย่ำแย่ในวงเจรจา

จากแนวปะทะในสงครามสู่การต่อรองทางการเมือง จากโต๊ะเจรจาอย่างเป็นทางการสู่การถอนตัว ความไม่แน่นอนเหล่านี้จะนำไปสู่อะไร ทีมคนนอกจากประเทศเพื่อนบ้านเดินทางไปร่วมงานวันชาติในเขตปกครองพิเศษตะนาวศรีเพื่อหาคำตอบของคำถาม

หยุดยิงแล้วชีวิตดีขึ้น แต่อนาคตยังไม่แน่นอน

จากการพูดคุยกับ เอย์โดะ นายอำเภอในพื้นที่ผู้คลุกคลีกับลูกบ้านมาหลายปี ทราบว่าในเขตปกครองพิเศษตะนาวศรีมีหมู่บ้านเก้าหมู่บ้าน เมื่อปี 2548 เคยมีการปะทะระหว่าง KNU กับกองกำลังพม่า หลังจากเซ็นสัญญาหยุดยิงพม่าก็เข้ามามีความสัมพันธ์ในพื้นที่มากขึ้น มีชาวพม่ามาอาศัยในพื้นที่

เอย์โดะ

ปัจจุบันรัฐบาลกลางจากกรุงเนปิดอว์ตั้งเขตปกครองขึ้นตั้งแต่ระดับเขตปกครองพิเศษตะนาวศรีโดยเรียกพื้นที่นี้ว่ากิ่ง อ.มิตตา ในระดับย่อยลงมายังจัดตั้งหน่วยปกครองระดับตำบลครอบสองหมู่บ้าน และมีแผนจะครอบอีกสี่หมู่บ้าน นอกจากนั้นยังเข้ามาจัดตั้งโรงเรียนและโรงพยาบาลในพื้นที่ด้วย

การหยุดยิงเป็นเพียงหมุดหมายสำคัญหนึ่งชิ้นที่ทำให้คนธรรมดาไม่ต้องเสียเลือดเสียเนื้อ พื้นที่สงครามในวันนั้นถูกแทนที่ด้วยที่อยู่อาศัยในวันนี้ พร้อมกับโครงสร้างพื้นฐานอย่างค่ายรับรองผู้ลี้ภัยที่จะกลับมาจากฝั่งไทย โรงเรียนทั้งที่ตั้งโดย KNU และรัฐบาลกลาง  รวมถึงถนนที่เอย์โดะเล่าว่า ถูกสร้างโดยบริษัทเอกชนเพื่อใช้ขนส่งถ่านหิน

นายอำเภอยังเล่าว่า ทุกวันนี้ประชากรในพื้นที่ยังกลัว เนื่องจากไม่แน่ใจกับความไม่มั่นคงทางการเมืองตั้งแต่ระดับบนลงมา ส่วนตัวเขานั้นก็อยู่ต่อไป เพราะก็อยู่มานานแล้วก็ยังอยู่ได้ และพยายามไม่ก้าวก่ายหน้าที่ของกันและกันระหว่างตัวเองกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลาง

หนึ่งในชุมชนกะเหรี่ยงที่ร่วมเดินขบวน

บรรยากาศของความไม่ชัดเจนสามารถสัมผัสได้อีกในระดับผู้นำที่เหนือไปกว่านายอำเภอ

พลโทซันนี หรือในภาษากะเหรี่ยงเรียกพลโทเจนนี่ ผู้บังคับบัญชาการ KNLA กองพลน้อยที่ 4 กล่าวว่า การฉลองวันชาตินี้สำคัญต่อชาวกะเหรี่ยงทั้งในประเทศและนอกประเทศ เป็นการรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องเพื่อการยืดหยัดของชาติ ในวันนี้แม้ KNU จะถอนตัวจากวงเจรจาสันติภาพ แต่การปรึกษาหารืออย่างไม่เป็นทางการยังคงมีตลอด

พลโทซันนี

ซันนีขอไม่ตอบคำถามเรื่องที่รัฐบาลกลางมาเขตปกครองซ้อนทับกับหมู่บ้านในเขตปกครองพิเศษตะนาวศรี ทั้งยังบอกว่าในส่วนการสร้างความมั่นใจในการลงทุน หรือการจัดตั้งพรรคการเมืองของ KNU ในอนาคต ซันนีบอกว่าต้องให้ทางให้ระดับกองบัญชาการเป็นคนวางแผนและตัดสินใจ

ทะดู ตอสิ กรรมการบริหารจังหวัดมะริด-ทวาย ในพื้นที่ของ KNU บอกว่าการถอนตัวจากโต๊ะเจรจาสันติภาพนั้นเพราะว่ามีบางสิ่งที่ถ่วงการเจรจาไม่ให้คืบหน้า แต่ถ้าวันข้างหน้ามีความเป็นไปได้ที่จะบรรลุถึงข้อตกลงในทางที่สงบก็จะกลับไปร่วมโต๊ะเจรจากัน ซึ่งต้องเริ่มจากการสร้างความเชื่อมั่นระหว่างคู่เจรจา

ไทยอยู่ตรงไหน ควรทำอะไรกับโจทย์ปัญหาพม่า-กะเหรี่ยง

พื้นที่ของ KNLA กองพลน้อยที่ 4 นี้มีความสำคัญทางเศรษฐกิจต่อพม่ามาก เนื่องจากเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายอยู่ในพื้นที่ของกองพลน้อยที่ 4 ด้วย นอกจากนี้ยังติดต่อกับพื้นที่ชายทะเลด้านมหาสมุทรอินเดีย การจัดงานของชาวกะเหรี่ยงในครั้งนี้จึงมีนายทุนทั้งจากไทยและพม่า รวมถึงหน่วยงานความมั่นคงจากไทยเข้าร่วมด้วย

สุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการ (ผอ.) ศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและการพัฒนา หนึ่งในทีมที่เดินทางไปวันชาติกะเหรี่ยงครั้งนี้ด้วยกันให้ข้อมูลว่า กองกำลังของ KNU เป็นกองกำลังที่เข้มแข็งที่สุดที่สร้างปัญหาให้กับกองทัพพม่ามาตลอด ด้วยประชากรจำนวนหลักล้าน ครองพื้นที่กว้างขวาง แม้รัฐบาลพม่าจะได้เปรียบขึ้นมาจากการตีฐานที่มั่นมาเนอปลอว์ของกะเหรี่ยงจนตกได้ในปี 2538 และทำให้ฝ่ายกะเหรี่ยงแตกเป็น KNU กับกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตยหรือ DKBA แต่ KNU ก็ยังอยู่ และ DKBA ที่เคยร่วมมือกับกองทัพพม่าตีทหารกะเหรี่ยงของ KNU ก็ยังไม่ร่วมมือกับพม่าเต็มตัว

สุรพงษ์เล่าว่า ผู้ลี้ภัยหลักแสนกระจัดพลัดพรายมายังประเทศไทยหลังจากฐานมาเนอปลอว์แตก ทางการไทยก็จัดตั้งค่ายอพยพหลายแห่งในภาคตะวันตกเรื่อยมาตั้งแต่แม่ฮ่องสอนถึงราชบุรี ซึ่งไทยก็มีนโยบายชัดเจนว่าไม่อยากรับคนเหล่านี้ไว้ อยากให้กลับไปที่ประเทศต้นทางหรือไม่ก็ประเทศที่สาม

เวลาผ่านไปเกือบ 30 ปี ค่ายพักพิงเหล่านี้ยังทำงานของมัน มีจำนวนเพียงหมื่นที่ไปถึงประเทศที่สาม หลักแสนที่ยังอยู่ก็มีลูกหลานในเขตประเทศไทย หลังพม่ามีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย องค์กรระหว่างประเทศ รัฐบาลกลาง รวมถึง KNU ก็พยายามให้คนเหล่านี้กลับถิ่นฐานเดิม มีการสร้างบ้านให้ผู้ลี้ภัยที่จะกลับไป แต่ตัวเลขของคนที่กลับก็ยังน้อย สุรพงษ์มองว่าเป็นปัญหาเรื่องของความมั่นใจ และไทยเองก็มีบทบาทที่ต้องเล่นในภารกิจนี้

หนึ่งในบ้านที่สร้างในค่ายพักพิง เอย์โดะเล่าว่าได้รับเงินสนับสนุนจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศ ของญี่ปุ่น (JICA) ให้เงินผ่านรัฐบาลพม่า ในค่ายมีบ้านลักษณะนี้กระจายอยู่เป็นกระจุก บางหลังมีไฟฟ้า บางหลังไม่มี

“แม้มีการสร้างไว้จำนวนมาก แต่ก็กลับไปจำนวนน้อย เพราะยังไม่ไว้วางใจกับทางการพม่านักว่าจะดูแลเรื่องความปลอดภัยให้เขาขนาดไหน เรื่องที่ทำกิน ให้สิทธิความเป็นพลเมืองกับเขาขนาดไหน ซึ่งในความเห็นผม ผมมองว่าคนเหล่านี้ตอนมา เขามาเอง เพราะประเทศพม่าไม่ปลอดภัย ถ้าเราทำให้เขาเห็นได้อย่างจริงจังว่าพม่าปลอดภัย กลับไปมีที่ทำกินแน่นอน เขาก็ (จะ) กลับเอง ไม่ต้องไปบังคับเขา เผลอๆ ไม่ต้องสร้างบ้านให้ด้วยก็ได้”

“ไทยต้องคุยกับพม่า ให้พม่าสร้างความมั่นใจกับคนเหล่านี้อย่างจริงจัง ว่าจะไปมีชีวิตที่ดีในพม่าได้ ถ้าเขามั่นใจ เขากลับไปเอง และต้องไม่บีบให้คนเหล่านี้กลับ เราต้องให้คนเหล่านี้กลับโดยสมัครใจ ถ้าเกิดบีบไปก็จะถูกต่างประเทศว่าเอาว่าเราดูแลเขาไม่ดี สร้างเงื่อนไขให้เขากลับ คนเหล่านี้สามารถกลับโดยให้เขาสมัครใจได้” ผอ.ศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและการพัฒนากล่าว

ญาติมิตรพบปะกันในงานเป็นเรื่องที่เห็นบ่อย

แม้ในวันนี้ที่สุรพงษ์เห็นถึงจุดยืนที่ไม่แตกหักกับรัฐบาลกลางจากเหล่าผู้นำกะเหรี่ยงในพื้นที่ เขายังมองว่านั่นอาจไม่ใช่เสียงทั้งหมดของพื้นที่ปกครองชาติพันธุ์กะเหรี่ยง สำหรับ 71 ปีที่การต่อสู้ของชาวกะเหรี่ยง มีความหวังทางการเมืองจากการที่อองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐที่เป็นผู้นำในทางปฏิบัติของพม่ามีเชื้อสายกะเหรี่ยง ถึงอกหักจากการเจรจา การจัดวันชาติยังทำหน้าที่ของมันในการย้ำเตือนฝันของการมีอธิปไตยเหนือดินแดนกะเหรี่ยง และบอกโลกถึงการมีตัวตนของพวกเขา

การแสดงรำตงโดยเยาวชนชาวกะเหรี่ยง

“การที่กะเหรี่ยงจัดงานวันชาติ มันเป็นการบอกโลกและคนกะเหรี่ยงเองว่าคนกะเหรี่ยงยังมีตัวตนอยู่ วัฒนธรรม จิตใจจะต่อสู้เพื่อชุมชนของเขาเอง ซึ่งก็ยังมีกองกำลังอยู่ด้วย ที่ผ่านมาเราจะเห็นจากการสวนสนามกองกำลังเขา และมีประชาชนจำนวนมากมาร่วมสวนสนามด้วย แสดงว่าเขาเป็นหนึ่งเดียวกัน”

“และก็ยังมีการรำตงของกะเหรี่ยงรุ่นใหม่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ายังมีวัฒนธรรมของกะเหรี่ยงอยู่...ขณะเดียวกัน อีกนัยหนึ่งที่กะเหรี่ยงไม่ได้บอก แต่คนมาร่วมงานบอก เราพบว่ามีคนที่จะมาลงทุนมาร่วมงานในจำนวนมาก แสดงว่าพื้นที่กะเหรี่ยงเหล่านี้ ที่ต้องใช้คำว่าค่อนข้างใหม่เพราะยังไม่ได้เปิด เป็นพื้นที่หอมหวานสำหรับผู้มาประกอบการในการลงทุนในพื้นที่ตรงนี้อยู่” สุรพงษ์ทิ้งท้าย

ภาพในงาน

งานกลางคืนมีคอนเสิร์ตเต็มวงไปจนถึงพลุไฟ ได้รับความสนใจจากผู้ร่วมงานจำนวนมาก

หนึ่งในการแสดงรำตง

เด็กชาวกะเหรี่ยงที่โรงอาหาร 

โรงอาหารที่จัดเลี้ยงผู้มาเยือน และอาหารบางรายการ ภาพที่สองคือแกงเผือก ในถังน้ำของภาพล่างสุดคือน้ำชา ที่กินน้ำชาเพราะต้องต้มน้ำเสียก่อนเพื่อทำให้น้ำสะอาด

แม่น้ำตะนาวศรีเป็นที่อาบน้ำของทั้งชายและหญิง ไปจนถึงใช้ล้างรถ

ภาพช่วงก่อนเดินขบวน และช่วงพิธีในวันที่ 11 ก.พ.

เครื่องแบบนายตำรวจของกองกำลังตำรวจกะเหรี่ยง (KNPF) 

ส่วนหนึ่งของนิทรรศการ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net