Skip to main content
sharethis

กสทช. ระบุเนื้อหารายการทำให้ประชาชนสับสน มีการแบ่งฝ่ายเผด็จการและประชาธิปไตยชัดเจน ด้านวอยซ์ทีวีชี้ เป็นการแสดงความเห็นต่อจากข้อเท็จจริง ถือเป็นเสรีภาพสื่อ ข้อมูลที่ใช้สื่ออื่นก็ใช้ ผู้บริหารวอยซ์ทีวีระบุ ระงับออกอากาศเสียหายต่อสังคมและความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน กสทช. ระบุ ไม่มีผลกระทบเพราะไปดูสถานีอื่นก็ได้

15 กุมภาพันธ์ 2562 วันนี้ ศาลปกครองนัดไต่สวนฉุกเฉิน กรณีสถานีโทรทัศน์วอยซ์ ทีวี ยื่นฟ้องกสทช. ต่อศาลปกครองและขอให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวทุเลาการบังคับตามคำสั่งของกสทช. ให้สามารถออกอากาศได้ก่อนมีคำพิพากษาเพื่อทุเลาผลกระทบต่อธุรกิจของสถานีฯ และผลกระทบต่อเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชน

โดยมีเมฆินทร์ เพ็ชรพลาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี, ประทีป คงสิบ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายข่าวและเนื้อหารายการ สถานีโทรทัศน์วอยซ์ ทีวี, อธึกกิต แสวงสุข ผู้ดำเนินรายการ, ม.ล. ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ผู้ดำเนินรายการ และทนายความผู้รับมอบอำนาจเป็นผู้ชี้แจง ขณะที่ฝ่ายกสทช. มีสมบัติ ลีลาพตะ และผู้รับมอบอำนาจอีกสองคนร่วมเป็นผู้ชี้แจงด้วย

เวลา 10.00 น. ตุลาการศาลปกครองเริ่มทำการไต่สวนโดยสอบถามรายละเอียด พร้อมกับชี้แจงว่า ตามขั้นตอนปกติของศาลปกครองอาจมีระยะเวลาสองปีถึงจะสามารถมีคำพิพากษาได้ แต่เห็นว่า เป็นเรื่องที่มีความเร่งด่วนในการพิจารณาคดี เข้าข่ายข้อกำหนดตามที่ประชุมใหญ่ของศาลปกครองสูงสุดให้สามารถใช้วิธีการเร่งด่วนได้ เนื่องจากคำสั่งมีผลในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2562 และจะสิ้นสุดในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 หากคำพิพากษาออกมาช้ากว่านั้นก็จะไม่มีประโยชน์ อย่างไรก็ตามตุลาการฯจำเป็นจะต้องเสนออธิบดีศาลปกครองก่อน หากสามารถทำตามข้อกำหนดการพิจารณาเร่งด่วนได้ ศาลจะนัดไต่สวนคดีในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 และวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2562 โดยจะมีคำพิพากษาในวันเดียวกันเลย

 

กสทช. อ้างประกาศคสช. ที่ 97/2557 และ 103/2557 เป็นความผิดตามมาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ

สมบัติ ลีลาพะตะ ผู้รับมอบอำนาจจากกสทช. อธิบายขั้นตอนกฎหมายในการออกคำสั่งว่า การอนุญาตให้ประกอบกิจการกระจายเสียงเป็นกรณีที่มีความเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ฯ , พ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ โดยให้กรอบอำนาจกสทช. ในการออกใบอนุญาตและให้กำกับดูแล, ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง  กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง  หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ 2555

นอกจากนี้มีประกาศคสช.ที่ 97/2557 แก้ไขเป็นประกาศคสช.ที่ 103/2557 มีสถานะเป็นกฎหมาย โดยในข้อ 3(5) ระบุว่า ข้อมูลข่าวสารที่ส่อให้เกิดความสับสน  ยั่วยุ  ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง  หรือสร้างให้เกิด ความแตกแยกในราชอาณาจักร และคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 41/2559 ระบุให้การเผยแพร่เนื้อหาต้องห้ามตามประกาศคสช.ที่ 97/2557 และ 103/2557 เป็นความผิดตามมาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ

และกล่าวต่อว่า กสทช. กำหนดเงื่อนไขในวันที่ 25 เมษายน 2557 เงื่อนไขข้อ 18 ระบุว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องประกอบกิจการตามที่กำหนดและกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด รวมถึงคำสั่งของกสทช.ที่มีขึ้นในภายหลัง ขณะที่ประกาศคสช.ที่ 15/2557 มีคำสั่งให้ระงับการออกอากาศสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม รวมถึงวอยซ์ ทีวีที่เป็นดิจิทัลทีวี ในการพิจารณาให้กลับมาออกอากาศมีการทำเป็นบันทึกข้อตกลง  กำหนดไว้ว่า ให้ถือเป็นเงื่อนไขในการอนุญาต เห็นได้ว่า วอยซ์ ทีวียอมรับว่า เป็นเงื่อนไข

 

ทนายวอยซ์ทีวีโต้ ประกาศคสช.ที่ 103/2557 หากเนื้อหาขัดให้เสนอสภาวิชาชีพ ไม่ใช่เพิกถอนใบอนุญาต

ทนายความผู้รับมอบอำนาจของวอยซ์ทีวีโต้แย้งในประเด็นนี้ว่า ประกาศคสช.ที่ 97/2557 กำหนดบทลงโทษโดยเฉพาะ คือหากเนื้อหาขัดต่อประกาศดังกล่าวให้องค์กรที่เกี่ยวข้องเพิกถอนใบอนุญาต แต่ประกาศคสช.ที่ 103/2557 ได้ยกเลิกบทลงโทษ โดยหากเนื้อหาขัดต่อข้อต้องห้าม ให้เสนอสภาวิชาชีพดำเนินการต่อไป กฎหมายไม่ได้มีจุดประสงค์ให้เพิกถอนหรือระงับใบอนุญาตจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สมบัติ โต้แย้งว่า ประกาศคสช.ที่ 97/2557 ระบุว่า ‘อาจ’ ส่งเรื่องให้องค์กรวิชาชีพ ทั้งทางกสทช.มองว่า มีคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 41/2559 มาสำทับอีกทีด้วย และอธิบายเพิ่มเติมว่า ในรายการ Wake up news กสทช. มองว่า ฝ่าฝืนประกาศคสช.ที่ 97/2557 จึงฝ่าฝืนมาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ

 

กสทช. ระบุเนื้อหารายการทำให้ประชาชนสับสน มีการแบ่งฝ่ายเผด็จการและประชาธิปไตยชัดเจน

ผู้รับมอบอำนาจจากกสทช. ตอบว่า การพิจารณาเนื้อหารายการมีทั้งหมด 5 เทปคือ รายการ Tonight Thailand 1 เทป คือเทปออกอากาศวันที่ 16 ธันวาคม 2561 และรายการ Wake up news 4 เทปคือ เทปออกอากาศวันที่ 21, 28 และ 29 มกราคม และ 4 กุมภาพันธ์ 2562 ยกตัวอย่างในกรณีของรายการ Wake up news วันที่ 21 มกราคม 2562 ผู้ดำเนินรายการคือ วิโรจน์ อาลี, ม.ล. ณัฏฐกรณ์ เทวกุล และศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ให้ความเห็นเรื่องผลสำรวจของประชาชน ข้อกังวลในการเลือกตั้งและเศรษฐกิจ ผู้ดำเนินรายการมีความเห็นในทางเดียวกันว่า ผู้มีอำนาจไม่อยากให้มีการเลือกตั้ง ทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจที่สับสน รายการมีความยาวประมาณ 1 ชั่วโมง มีลักษณะแบ่ง ‘เขา’ และ ‘เรา’ มีสองฟากฝั่งคือ เผด็จการและประชาธิปไตย ผู้ดำเนินรายการมีลักษณะผูกตัวเองเข้ากับฝั่งใดฝั่งหนึ่ง

อีกเรื่องหนึ่งคือ การวิพากษ์ว่า ซีพีได้สัมปทานโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงโดยไม่ต้องประมูล ทั้งที่ความจริงจะต้องมีกระบวนการก่อนหน้าการได้สัมปทาน

 

วอยซ์ทีวีชี้ เป็นการแสดงความเห็นต่อจากข้อเท็จจริง ถือเป็นเสรีภาพสื่อ ข้อมูลที่ใช้สื่ออื่นก็ใช้

ประทีป คงสิบ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายข่าวและเนื้อหารายการสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี กล่าวว่า  เรื่องข้อกังวลของคนไทยเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ในการนำเสนอเป็นข้อมูลที่เกิดขึ้นโดยทั่วไป การแสดงความเห็นต่อเนื่องกับข้อเท็จจริงที่นำเสนอไปก่อน ซึ่งถือว่า เป็นเสรีภาพของสื่อมวลชน ส่วนที่กล่าวอ้างว่า การเป็นสื่อต้องมีความเป็นกลาง การที่สื่อมีจุดยืนบนหลักการประชาธิปไตย ไม่ได้หมายความไม่เป็นกลาง ประชาธิปไตยเป็นหลักการสากล

ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ผู้ดำเนินรายการกล่าวว่า เรื่องข่าวซีพีนั้นเป็นการพาดหัวข่าวของสื่อหลายฉบับ โดยข้อมูลที่ใช้ในวันนั้นเป็นข้อมูลโดยหนังสือพิมพ์ “โพสต์ ทูเดย์” เป็นการนำเสนอระยะสั้นๆ การนำพาดหัวข่าวในหนังสือพิมพ์มาใช้เป็นหนึ่งในองค์ประกอบของรายการเล่าข่าว เป็นเรื่องที่สื่อทำเป็นปกติและทำทุกสถานี

 

ผู้บริหารวอยซ์ทีวีระบุ ระงับออกอากาศเสียหายต่อสังคมและความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน

เมฆินทร์ เพ็ชรพลาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวีกล่าวว่า เป็นความเสียหายต่อสังคมและสาธารณะ ตอนนี้สังคมกำลังเข้าสู่การเลือกตั้งจำให้เสียโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลจากวอยซ์ ทีวี ในช่วงการเลือกตั้งประชาชนต้องการการวิเคราะห์ข่าวการเมือง ดังนั้นการระงับการออกอากาศจึงเป็นความเสียหายต่อสิทธิขั้นพื้นฐานทางสังคมในวงกว้าง ส่วนความเสียหายในอุตสาหกรรม วอยซ์ทีวีประกอบธุรกิจตั้งแต่ปี 2552-2558 มาด้วยความราบรื่น ไม่มีปัญหา มาจนกระทั่งปี 2558 เริ่มมีการลงโทษ ที่ผ่านมาวอยซ์ ทีวีได้สั่งสมความสามารถทางธุรกิจ ผู้ชมและความเชื่อมั่นของลูกค้า ถ้าเกิดมีการปิดสถานี 15 วัน จะสูญเสียแรงส่งที่สั่งสมมา สร้างความเสียหายทางธุรกิจอย่างไม่สามารถเรียกคืนได้ การสั่งสมฐานผู้ชมในช่วงนี้ที่เป็นจังหวะที่สำคัญก็จะส่งผลเสียหายเช่นกัน

อธึกกิต แสวงสุข ผู้ดำเนินรายการกล่าวว่า ความสนใจประชาชนที่มีต่อการเลือกตั้งสูงมาก วอยซ์ทีวีที่คนทั่วไปเข้าใจว่า มีความเห็นต่างกับผู้มีอำนาจ คนดูจะรู้สึกได้ว่า มีการโต้แย้งในเนื้อหา ถึงแม้ว่าจะมีการออกอากาศออนไลน์ แต่ไม่สามารถเข้าถึงผู้ชมได้หมด ส่งผลต่อประโยชน์ในการเปรียบเทียบข้อมูลข่าวสาร การทำหน้าที่สื่อคือ การเสนอความเห็นที่หลากหลาย แต่ละช่องคิดอย่างไร  การระงับการออกอากาศไม่ได้กระทบต่อวอยซ์ ทีวีเพียงช่องเดียว แต่มันสะดุ้งสะเทือนถึงสื่อทั้งหมด การใช้อำนาจค่อนข้างกว้าง คลุมเครือไม่ชัดเจน บางครั้งถูกลงโทษจากการเลือกปล่อยเสียงสัมภาษณ์ ทั้งที่ช่องอื่นก็ออกอากาศเหมือนกัน แต่ทำไมวอยซ์ทีวีถึงโดน การลงโทษจะทำให้สื่ออื่นกังวลว่า หากช่องเห็นต่างจะเกิดผลกระทบหรือไม่ นอกจากนี้หัวหน้าคสช.ประกาศเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองแล้ว แต่ประกาศคสช.ยังถูกนำมาใช้อีก

ประทีปกล่าวเพิ่มเติมว่า  ถ้าพิจารณาเฉพาะรายการข่าวของทุกสถานี รายการ Wake up news ถือเป็นท็อปเทนของทีวีดิจิทัลทั้งหมด

ม.ล.ณัฏฐกรณ์ กล่าว่า วอยซ์ทีวีแพร่ภาพตั้งแต่ปี 2552 ในช่วงรายการประกอบความเห็น (Commentary show) ที่ได้ทำมาโดยตลอดไม่เคยถูกประณามโดยองค์กรวิชาชีพสื่อ แต่ละครั้งที่กล่าวอ้างมีเพียงทางกสทช.ล้วนๆ โดยสภาวิชาชีพไม่เคยมีการลงโทษ และเป็นที่ยอมรับต่อสังคมโดยรวม ในการให้ความร่วมมือกับกสทช.กำกับดูแลเป็นไปด้วยดีมาตอลด แม้หลังการรัฐประหาร วอยซ์ ทีวีแสดงความเคารพต่อการตักเตือนทางการหรือไม่เป็นทางการมาตลอดและน้อมรับปฏิบัติตาม สิ่งที่กสทช.แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนว่า กสทช.มีความพร้อมในการปิดสถานีในแบบที่ทำลายความน่าเชื่อขององค์กร

ผู้ที่มีความพร้อมที่จะลงทุนกับวอยซ์ ทีวีตกอยู่ในสภาวะที่เชื่อว่า วอยซ์ ทีวี สามารถถูกเลือกปฏิบัติเมื่อไหร่ก็ได้ ถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้อาจสายเกินไปที่จะเยียวยาในภายหลัง สื่อมีเหตุผลที่อยู่ได้คือ มีสปอนเซอร์มาลงทุน เมื่อหมดความเชื่อมั่นจะส่งผลต่อธุรกิจ ถ้าผ่านจุดนี้ไปตามอำเภอใจ ความเสียหายมันเกินการเยียวยา

 

กสทช. ระบุ ไม่มีผลกระทบเพราะไปดูสถานีอื่นก็ได้

สมบัติ กล่าวว่า ช่องรายการที่เป็นช่องข่าวเลยมีอยู่ 6 ช่อง นอกจากนี้ช่องที่เป็นวาไรตี้ไม่ใช่ช่องรายการข่าวก็มีการเสนอข้อมูลข่าวเป็นรายการหลัก เช่น ไทยรัฐทีวี หรือช่อง 7 การรับรู้ข้อมูลข่าวสารมองว่า ไม่มีผลกระทบเพราะไปดูสถานีอื่นก็ได้ มีการนำเสนอเรื่องการเลือกตั้ง ให้ผู้สมัครดีเบต ประเด็นที่วอยซ์ทีวีมองว่า จะส่งผลกระทบต่อประชาชน วอยซ์ทีวีก็ได้ระบุแล้วว่า ยังมีช่องทางออนไลน์ที่เป็นผู้ชมที่เป็นแฟนคลับก็ตามไปดูได้

อีกประเด็นหนึ่งคือ ธุรกิจเรื่องเรตติ้งที่ได้รับผลกระทบ ต้องเรียนว่า การประกอบกิจการในกรณีที่มีการนำเสนอที่ขัดต่อกฎหมายและยอมให้ออกอากาศต่อไป โดยไม่ได้ใช้มาตรการทางปกครองจะก่อผลกระทบ ที่ทราบกันเป็นประจักษ์อยู่แล้วว่า วอยซ์ทีวีเคยถูกปิดตอนที่มีการรัฐประหารและมีการให้ออกอากาศในภายหลัง เหตุที่สั่งให้ปิดก็เกิดจากเรื่องทางการเมืองเหมือนกัน หากยังปล่อยให้ออกอากาศต่อไปจะทำให้เกิดการแบ่งแยกไม่เป็นการปรองดองสมานฉันท์หรือไม่ กสทช.จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งและชั่งน้ำหนัก

ผู้รับมอบอำนาจจากกสทช. กล่าวเสริมว่า เป็นที่ยอมรับกันว่าในการเลือกตั้ง สื่อมีบทบาทสำคัญมาก การที่มีสื่อหลากหลายมีความสำคัญ แต่การมีสื่อเป็นกลางก็สำคัญเช่นเดียวกัน ในการเลือกตั้งมีการออกกฎหมายให้สื่อจัดเวลาสำหรับพรรคการเมืองอย่างเท่าเทียมกัน กกต.จะขอความร่วมมือไปทางสถานีและจัดสรรเวลาแก่พรรคการเมืองวันละ 1 ชั่วโมง ในการดำเนินการจะต้องเท่าเทียมกันและตั้งอยู่บนฐานของจริยธรรมสื่อ ช่องอื่นๆก็จะทำแบบนี้ สื่อสำคัญถือเป็นวอทช์ด็อกคอยตรวจสอบ แต่หากสื่อ ‘เลือกข้าง’ หรือที่วอยซ์ ทีวีเรียกว่า ‘จุดยืน’ เสนอนโยบายพรรคการเมืองต่างๆ และบอกว่า นโยบายแบบนี้ไม่ดี ถ้าสื่อทุกช่องทำแบบนี้ก็จะส่งผลเสียหายต่อสังคม

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net