องค์กรสิทธิฯ ร้องประยุทธ์ยุติการดำเนินคดีของ บ.ธรรมเกษตร ที่ไล่ฟ้องคนงาน-นักป้องสิทธิฯ ไม่ต่ำกว่า 13 คดีแล้ว

องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม 22 องค์กร ออกจำหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ เรียกร้องรัฐบาล ยุติการดำเนินคดีของบริษัทธรรมเกษตร จำกัด ซึ่งมีกิจการฟาร์มไก่ใน จ.ลพบุรี หลังฟ้องคดีไม่ต่ำกว่า 13 คดี ทั้งนักปกป้องสิทธิฯ และอดีตลูกจ้างชาวเมียนมาร์ ชี้เป็นการฟ้องปิดปาก พร้อมเสนอจัดทำกฎหมายต่อต้านการฟ้องคดีปิดปากอย่างเป็นองค์รวม

ภาพเมื่อวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มคนงานดีใจ หลังศาลฎีกามีคำสั่ง “ไม่รับฎีกา” บ.ธรรมเกษตรฯ จากที่พนักงานตรวจแรงงานฯ มีคำสั่งให้ชำระค่าจ้างและค่าอื่นๆให้แรงงานข้ามชาติทั้ง 14 คน เป็นเงิน 1.7 ล้านบาท อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : https://prachatai.com/journal/2019/01/80554

16 ก.พ.2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม 22 องค์กร ออกจำหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เรื่อง คดีใหม่ที่บริษัทธรรมเกษตรจำกัด ฟ้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เรียกร้องรัฐบาลไทยให้ดำเนินการโดยทันที เพื่อคัดค้านและหาแนวทางยุติการดำเนินคดีของบริษัทธรรมเกษตร จำกัด ซึ่งมีกิจการฟาร์มไก่ในจังหวัดลพบุรี ที่ได้ฟ้องคดีไม่ต่ำกว่า 13 คดีทั้งแพ่งและอาญาเพื่อเอาผิดกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจำนวนหนึ่ง รวมทั้งอดีตลูกจ้างแรงงานชาวเมียนมาร์ ซึ่งมีเจตนารมณ์ตรงข้ามกับนโยบายที่รัฐบาลของท่านประกาศไว้ ที่จะสนับสนุนการปฏิบัติตามหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน รวมทั้งผลประโยชน์ของประเทศ พันธกรณีทางกฎหมาย และพันธกิจที่มีต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

แถลงการณ์ระบุด้วยว่า เราเห็นว่าการฟ้องคดีของบริษัทธรรมเกษตร จำกัด มีลักษณะเป็นการตอบโต้และคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่เปิดโปงการปฏิบัติมิชอบ การตอบโต้เช่นนี้ถือเป็นการแทรกแซงการทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และขัดขวางการดำเนินงานเพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงาน การฟ้องคดีของบริษัทธรรมเกษตร จำกัด เป็นกรณีตัวอย่างของคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน (Strategic Litigation Against Public Participation -SLAPP) คดีเหล่านี้สะท้อนให้เห็นอันตรายของคดีฟ้องปิดปากที่มีต่อคนงานและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในไทย และสะท้อนให้เห็นความจำเป็นที่รัฐบาลของท่านต้องมีนโยบายที่ชัดเจนและมีบทบัญญัติทางกฎหมายและข้อบังคับเพื่อป้องกันไม่ให้คดีเหล่านี้เดินหน้าต่อไป ตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน บริษัทธรรมเกษตร จำกัด ดำเนินคดีอย่างน้อย 13 คดี ที่มุ่งฟ้องร้องอดีตลูกจ้างที่เรียกร้องสิทธิของตนเอง รวมถึงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เปิดเผยการละเมิดสิทธิมนุษยชนในการดำเนินธุรกิจ

กลุ่มที่ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์นี้ยังเสนอแนะให้มีการจัดทำกฎหมายต่อต้านการฟ้องคดีปิดปากอย่างเป็นองค์รวม เพื่อให้การคุ้มครองอย่างเต็มที่กับคนงาน นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และบุคคลอื่น ๆ ไม่ให้ถูกคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังจำเป็นที่พนักงานอัยการและสำนักงานอัยการสูงสุดจะต้องมีทรัพยากรและความสนับสนุนมากเพียงพอ เพื่อให้สามารถใช้อำนาจของตนตามมาตรา 21 ของพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 เพื่อคัดกรองการฟ้องคดีที่ไม่พึงประสงค์ออกไป รวมทั้งคดีที่มุ่งคุกคาม ข่มขู่ หรือตอบโต้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหรือบุคคลอื่น ๆ ประเทศไทยยังควรยกเลิกการเอาผิดทางอาญาฐานหมิ่นประมาทและยกเลิกบทลงโทษจำคุกหรือโทษปรับในคดีหมิ่นประมาทด้วย

รายละเอียดจดหมาย : 

14 กุมภาพันธ์ 2562

นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา 

สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี 

ทำเนียบรัฐบาล

เลขที่ 1 ถนนพิษณุโลก

ดุสิต กรุงเทพ ฯ 10300

ประเทศไทย

 

เรื่อง      คดีใหม่ที่บริษัทธรรมเกษตรจำกัด ฟ้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

เรียน       นายกรัฐมนตรี

 

องค์กรที่มีชื่อแนบท้ายลงนามในจดหมายฉบับนี้เพื่อแสดงข้อกังวลอย่างลึกซึ้ง เกี่ยวกับข้อกล่าวหาที่บริษัทธรรมเกษตร จำกัด กล่าวโทษเพื่อเอาผิดแรงงานชาวเมียนมาร์และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยหลายคนในข้อหาหมิ่นประมาทและข้อหาอาญาอื่น ๆ

ด้วยความเคารพ เราขอเรียกร้องรัฐบาลไทยให้ดำเนินการโดยทันที เพื่อคัดค้านและหาแนวทางยุติการดำเนินคดีของบริษัทธรรมเกษตร จำกัด ต่อแรงงานชาวเมียนมาร์และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีเจตนารมณ์ตรงข้ามกับนโยบายที่รัฐบาลของท่านประกาศไว้ ที่จะสนับสนุนการปฏิบัติตามหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน รวมทั้งผลประโยชน์ของประเทศ พันธกรณีทางกฎหมาย และพันธกิจที่มีต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

จนถึงปัจจุบัน บริษัทธรรมเกษตร จำกัดของไทย ซึ่งมีกิจการฟาร์มไก่ในจังหวัดลพบุรี ได้ฟ้องคดีไม่ต่ำกว่า 13 คดีทั้งแพ่งและอาญาเพื่อเอาผิดกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจำนวนหนึ่ง รวมทั้งอดีตลูกจ้าง ที่ผ่านมาทางพนักงานอัยการและศาลได้ยกฟ้องคดีส่วนใหญ่ไปแล้ว แต่ยังหลงเหลืออยู่บางคดี ในเดือนพฤศจิกายน 2561 ตัวแทนของบริษัทยังประกาศจะฟ้องคดีเพิ่มเติม

ในเดือนธันวาคม 2561 พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองลพบุรีได้เรียกตัวอดีตลูกจ้าง 14 คนของบริษัทธรรมเกษตร จำกัด ซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติทั้งหมด ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา โดยทางบริษัทกล่าวหาว่าคนงานเหล่านี้ “แจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน และก่อให้เกิดความเสียหายต่อ [บุคคลหรือหน่วยงานอื่น]” พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจอำเภอโคกตูม จังหวัดลพบุรียังเรียกตัวสุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) กลุ่มที่ทำงานสนับสนุนสิทธิคนข้ามชาติในไทย ไปสอบถามในฐานะพยานเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2562 กรณีที่บริษัทธรรมเกษตร จำกัด แจ้งข้อกล่าวหากับเธอ ในวันเดียวกันนั้น พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจอำเภอโคกตูม จังหวัดลพบุรี ขอข้อมูลจากพยานบุคคลเพื่อสืบสวนคำร้องของบริษัทธรรมเกษตร จำกัด ซึ่งแจ้งความกับบุคคล 6 รายจากกิจกรรมบนโซเชียลมีเดียก่อนหน้านี้

การฟ้องร้องคดีอาญาของบริษัทธรรมเกษตร จำกัด เกิดขึ้นเนื่องจากอดีตลูกจ้าง 14 คนได้ให้ข้อมูลกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เกี่ยวกับการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิแรงงานในปี 2559 ซึ่งจากการสอบสวนข้อร้องเรียนแยกกันของทั้งกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และกสม. พบว่ามีหลักฐานบ่งชี้ถึงการปฏิบัติมิชอบด้านแรงงาน โดยบริษัทธรรมเกษตร จำกัด ไม่ได้จ่ายค่าแรงตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่ได้จ่ายค่าทำงานล่วงเวลา และไม่อนุญาตให้คนงานลาหยุดงานได้มากเท่าที่กฎหมายกำหนด ในวันที่ 15 มกราคม 2562 ศาลฎีกายังพิพากษายืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้น สั่งให้บริษัทธรรมเกษตร จำกัด จ่ายเงินประมาณ 1.7 ล้านบาท เป็นค่าจ้าง ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลา และดอกเบี้ยให้กับอดีตลูกจ้าง 14 คน จากการละเมิดพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน

เมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัทธรรมเกษตร จำกัด ยังร้องทุกข์กล่าวโทษต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ออกมาเปิดเผยการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิแรงงาน และการตอบโต้คนงาน จนถึงเดือนตุลาคม 2561 นาน วิน อดีตลูกจ้างชาวเมียนมาของบริษัทธรรมเกษตร จำกัด ถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาททางอาญาอีกครั้ง จากการกล่าวหาว่ามีการปฏิบัติมิชอบด้านแรงงานและการตอบโต้อดีตลูกจ้าง 14 คน ในสารคดี ที่จัดทำโดยฟอร์ตี้ฟายไรต์ หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชน และในระหว่างการแถลงข่าวซึ่งจัดโดยฟอร์ตี้ฟายไรต์ ที่มีการถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊ก สุธารี วรรณศิริ อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของฟอร์ตี้ฟายไรต์ ยังถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาททั้งทางอาญาและแพ่ง จากการเผยแพร่สารคดีของฟอร์ตี้ฟายไรต์ทางโซเชียลมีเดีย ศาลอาญากรุงเทพ ฯ มีกำหนดพิจารณาคำฟ้องต่อนาน วิน และสุธารี วรรณศิริ ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ และ 11 มีนาคม 2562 ตามลำดับ และศาลแพ่งมีกำหนดฟังการพิจารณาคดีในเดือนสิงหาคม 2562 ในคดีที่สุธารี วรรณศิริถูกฟ้องทางแพ่ง

การดำเนินคดีต่อแรงงานและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนของบริษัทธรรมเกษตร จำกัด โดยเฉพาะหลังจากศาลแขวงดอนเมืองได้ยกฟ้องคดีหมิ่นประมาททางอาญาที่คล้ายคลึงกันไปแล้วเมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 เป็นคดีที่ทางบริษัท ฯ ฟ้องอดีตคนงานทั้ง 14 คน ข้อกล่าวหาใหม่ของบริษัทธรรมเกษตร จำกัด มีลักษณะเป็นการใช้กระบวนการยุติธรรมเพื่อคุกคาม ย่อมทำให้เกิดความสูญเปล่าด้านทรัพยากรและเวลาของตำรวจ พนักงานอัยการ และเจ้าหน้าที่ศาล

เราเห็นว่าการฟ้องคดีของบริษัทธรรมเกษตร จำกัด มีลักษณะเป็นการตอบโต้และคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่เปิดโปงการปฏิบัติมิชอบ การตอบโต้เช่นนี้ถือเป็นการแทรกแซงการทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และขัดขวางการดำเนินงานเพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงาน การฟ้องคดีของบริษัทธรรมเกษตร จำกัด เป็นกรณีตัวอย่างของคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน (Strategic Litigation Against Public Participation -SLAPP) คดีเหล่านี้สะท้อนให้เห็นอันตรายของคดีฟ้องปิดปากที่มีต่อคนงานและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในไทย และสะท้อนให้เห็นความจำเป็นที่รัฐบาลของท่านต้องมีนโยบายที่ชัดเจนและมีบทบัญญัติทางกฎหมายและข้อบังคับเพื่อป้องกันไม่ให้คดีเหล่านี้เดินหน้าต่อไป ตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน บริษัทธรรมเกษตร จำกัด ดำเนินคดีอย่างน้อย 13 คดี ที่มุ่งฟ้องร้องอดีตลูกจ้างที่เรียกร้องสิทธิของตนเอง รวมถึงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เปิดเผยการละเมิดสิทธิมนุษยชนในการดำเนินธุรกิจ

ในเดือนสิงหาคมและตุลาคม 2560 บริษัทธรรมเกษตร จำกัด ได้ฟ้องคดีอาญาต่อแรงงานข้ามชาติสองคนและสุธาสินี แก้วเหล็กไหล ในข้อหาลักทรัพย์รวมถึงบัตรลงเวลาทำงาน โดยในความเป็นจริง พวกเขาได้ใช้บัตรลงเวลาเหล่านี้เป็นหลักฐานที่มอบให้กับเจ้าพนักงานตรวจแรงงาน เพื่อพิสูจน์ว่ามีการละเมิดด้านแรงงานเกิดขึ้นจริง เป็นการช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย แม้ว่าต่อมาศาลไทยได้ยกฟ้องคำร้องของบริษัทธรรมเกษตร จำกัด แต่อันที่จริงแล้ว ไม่ควรมีการรับฟ้องคดีนี้ตั้งแต่ต้น เนื่องจากส่งผลให้เกิดแรงกดดันที่ไม่จำเป็น ค่าใช้จ่ายทางคดีที่ไม่จำเป็น ทำให้เสียเวลาและเสียรายได้จากการทำงานสำหรับผู้ถูกดำเนินคดี

เราตระหนักว่าทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พยายามแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 161/1 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเมื่อเดือนธันวาคม มาตรา 161/1 ให้อำนาจศาลในการใช้วิจารณญาณเพื่อยกฟ้องคำร้องของราษฎร และห้ามไม่ให้มีการฟ้องซ้ำโดยราษฎร กรณีที่เป็นการ “ฟ้องคดีโดยไม่สุจริตหรือโดยบิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อกลั่นแกล้งหรือเอาเปรียบจำเลย” จึงควรนำมาตรา 161/1 มาใช้กับการฟ้องคดีล่าสุดของบริษัทธรรมเกษตร จำกัด

มาตรา 161/1 นี้ยังไม่เพียงพอที่จะพูดถึงกรณีการฟ้องแกล้งทั่วไปในประเทศไทยได้ นอกจากการคาดหวังให้ศาลใช้มาตรา 161/1 ในการพิจารณาคดีแล้ว เรายังเรียกร้องรัฐบาลของท่านให้กำหนดมาตรการอย่างชัดเจนเพื่อคัดค้านการฟ้องแกล้ง ดังกรณีของการฟ้องของบริษัทธรรมเกษตร จำกัด การที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องและศาลมีคำพิพากษาที่จะไม่รับฟ้องคดีของบริษัทธรรมเกษตร จำกัด โดยเร็ว ย่อมเป็นการส่งสัญญาณต่อหน่วยงานธุรกิจทั้งของต่างชาติและไทยที่ดำเนินงานในประเทศไทย และสะท้อนให้เห็นพันธกิจของรัฐบาลของท่านที่จะบังคับใช้กฎหมายและปฏิบัติตามหลักการธุรกิจและสิทธิมนุษยชน

เพื่อป้องกันไม่ให้มีการฟ้องคดีปิดปากแบบของบริษัทธรรมเกษตร จำกัด อีก เราเสนอแนะให้มีการจัดทำกฎหมายต่อต้านการฟ้องคดีปิดปากอย่างเป็นองค์รวม เพื่อให้การคุ้มครองอย่างเต็มที่กับคนงาน นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และบุคคลอื่น ๆ ไม่ให้ถูกคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังจำเป็นที่พนักงานอัยการและสำนักงานอัยการสูงสุดจะต้องมีทรัพยากรและความสนับสนุนมากเพียงพอ เพื่อให้สามารถใช้อำนาจของตนตามมาตรา 21 ของพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 เพื่อคัดกรองการฟ้องคดีที่ไม่พึงประสงค์ออกไป รวมทั้งคดีที่มุ่งคุกคาม ข่มขู่ หรือตอบโต้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหรือบุคคลอื่น ๆ ประเทศไทยยังควรยกเลิกการเอาผิดทางอาญาฐานหมิ่นประมาทและยกเลิกบทลงโทษจำคุกหรือโทษปรับในคดีหมิ่นประมาทด้วย

เราเรียกร้องรัฐบาลไทยให้ปฏิบัติตามข้อเสนอแนะ จากคณะผู้ชำนาญการด้านสิทธิมนุษยชนหกคนของสหประชาชาติ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2561 ที่เสนอให้ “ทบทวนกฎหมายแพ่งและอาญา รวมทั้งกระบวนการฟ้องคดี เพื่อป้องกันไม่ให้มีการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทอย่างมิชอบโดยบริษัท” ในระหว่างการเดินทางมาเยือนประเทศไทยเมื่อเดือนเมษายน 2561 คณะทำงานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ได้เรียกร้องในทำนองเดียวกันให้รัฐบาลไทย “ประกันว่าภาคธุรกิจจะไม่ใช้คดีหมิ่นประมาทเป็นเครื่องมือเพื่อขัดขวางการใช้สิทธิและเสรีภาพโดยชอบของผู้ทรงสิทธิที่ได้รับผลกระทบ หน่วยงานภาคประชาสังคม และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน” คณะทำงานยังเสนอแนะต่อไปว่า ควร “ตรากฎหมายต่อต้านคดีปิดปากเพื่อประกันว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนจะไม่ถูกฟ้องในทางแพ่งจากการดำเนินงานของตน” เราจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยนำข้อเสนอแนะเหล่านี้ไปผนวกเป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการแห่งชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน และดำเนินการให้มีการปรึกษาหารืออย่างจริงจังกับหน่วยงานภาคประชาสังคม เพื่อจัดทำและดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการแห่งชาตินี้

เราขอขอบคุณที่ท่านให้ความใส่ใจต่อปัญหาและข้อเสนอแนะตามจดหมายนี้ เรายินดีที่มีโอกาสช่วยเหลือและสนับสนุนรัฐบาลไทย เพื่อให้ปฏิบัติตามพันธกิจของหลักการธุรกิจและสิทธิมนุษยชนได้ รวมทั้งการคุ้มครองสิทธิของคนงาน นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพขั้นพื้นฐานในประเทศไทย

 

ขอแสดงความนับถือ

กลุ่มการเมืองหลังบ้าน

กลุ่มคนงานหญิงเพื่อความยุติธรรม จังหวัดเชียงใหม่

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จังหวัดเลย

กลุ่มด้วยใจ

กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา
กลุ่มโรงน้ำชา Togetherness for Equality in Action Group

เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี

เครือข่ายชีวิตสาธารณะ จังหวัดพัทลุง

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ

โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา

มูลนิธิศักยภาพชุมชน

มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน

มูลนิธิไอเจเอ็ม IJM Foundation

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน

สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้

สหพันธ์คนงานข้ามชาติ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ห้องเรียนเพศวิถีและสิทธิมนุษยชน ร้านหนังสือบูคู

 

 

สำเนา:    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

อัยการสูงสุด

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  

เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย

เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย

ผู้แทนภูมิภาคประจำสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

ผู้แทนภูมิภาคประจำองค์การแรงงานระหว่างประเทศ

ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท