Skip to main content
sharethis

ภาพยนตร์เรื่อง หนักแผ่นดิน สมบัติ เมทะนี กำกับแสดงนำ ร่วมกับนัยนา ชีวานันท์ ฉายครั้งแรกในปี 2520 

เพลงหนักแผ่นดินถูกพูดถึงอีกครั้ง หลังจากพล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก และเลขาธิการคณะรักษาความสบแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว ถึงกรณีที่ สุดารัตน์ เกยุราพันธ์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยกล่าวในเวทีปราศรัยใหญ่ ที่ลานคนเมือง กทม. เมื่อวันที่ 15 ก.พ. ว่า จะยกเลิกทหารเกณฑ์ และตัดงบประมาณในส่วนดังกล่าวของกองทัพ 10 เปอร์เซ็นต์มาเป็นกองทุนเพื่อการกู้ยืมสำหรับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการทำธุรกิจของตัวเอง ซึ่งพล.อ.อภิรัชต์ ตอบโต้ถึงประเด็นนี้ด้วยถ้อยคำง่ายๆ ว่า “ให้ไปฟังเพลงหนักแผ่นดิน”

หากว่าไม่ได้ติดตามการเมืองในระดับฮาร์ดคอร์ และไม่ได้เติบโตมาในช่วงสงครามคอมมิวนิสต์ก็อาจจะสงสัยอยู่ว่าบทเพลงที่ ผบ.ทบ. บอกให้ไปฟังนั้นคือเพลงอะไร สื่อสารถึงอะไร และมีจุดมุ่งหมายอย่างไร

เพลงนี้ถูกแต่งขึ้นโดย พ.อ.บุญส่ง หักฤทธิ์ศึก ในปี 2518 ช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 ซึ่งช่วงหลังจากขบวนการนักศึกษาได้รับชัยชนะเหนือระบอบเผด็จการ สามารถโค่นล้มจอมพลถนอมและประภาสลงจากอำนาจได้ เกิดกระแสเบ่งบานทางประชาธิปไตย นักศึกษาและประชาชนเริ่มเปิดรับอุดมการณ์สังคมนิยม ทฤษฎีสังคมนิยมกลายเป็นอาวุธในการวิพากษ์สังคมไทยอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยการวิเคราะห์และวิพากษ์สังคมไทยว่าเป็นสังคมชนชั้น ที่มีการกดขี่ขูดรีดกันอย่างรุนแรง ขณะที่ในประเทศเพื่อนบ้านมีการจัดตั้งกองกำลังคอมมิวนิสต์เพื่อเข้าชิงอำนาจรัฐ เพลงหนักแผ่นดิน จึงเป็นเพลงที่ทำหน้าที่ในฐานะเครื่องมือการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อตอบโต้กระแสอุดมการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในเวลานั้น

เนื้อหาในเพลงดังกล่าว ทำหน้าที่ในการสร้างกรอบจำกัดของความเป็นไทย พร้อมไปกับการสร้างศัตรูที่อยู่ร่วมในชาติเดียวกัน เช่น “คนใดใช้ชื่อไทยอยู่ กายก็ดูเหมือนไทยด้วยกัน ได้อาศัยโพธิ์ทองแผ่นดินของราชันย์ แต่ใจมันยังเฝ้าคิดทำลาย” ,  “คนใดคิดร้ายราวี ประเพณีของไทยไม่ต้องการเกื้อหนุนอคติ เชื่อลัทธิอันธพาล แพร่นำมันมาบ้านเมืองเรา”

เกษียร เตชะพีระ: ทำไมประเทศกูถึงมี “ลัทธิชังชาติ”

ปี 2518 คือปีที่เพลงหนักแผ่นดินถูกแต่งขึ้น และเป็นปีเดียวก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ล้อมปราบและสังหารหมู่นักศึกษาวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ส่งผลให้นิสิตนักศึกษาหลายคนหนีเข้าป่าร่วมกับพรรคคมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และรัฐไทยก็มีนโยบายปราบปรามคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง ก่อนที่ปี 2521 รัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ จะออก พรบ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 โดยสาระสำคัญของ พรบ. เป็นการนิรโทษกรรมแบบ "เหมาเข่ง" ให้กับทุกฝ่าย ซึ่งรวมถึงกลุ่มผู้ใช้ความรุนแรงเข้าล้อมปราบนักศึกษาประชาชนด้วย

ในงาน “6 ตุลาในความทรงจำของฝ่ายขวา 2519-2549 – จากชัยชนะสู่ความเงียบ” ของธงชัย วินิจจะกูล กล่าวตอนหนึ่งว่า ช่วงบ่ายวันที่ 6 ต.ค. 2519 หลังการปราบปรามสิ้นสุดลงไม่กี่ชั่วโมง สถานีโทรทัศน์ กองทัพบกช่อง 5 และวิทยุยานเกราะเป็นแม่ข่ายถ่ายทอดรายการสดเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตอน เช้าวันนั้นและ ณ ขณะนั้น โดยมีเสียงเพลง “หนักแผ่นดิน” ดังประกอบตลอดรายการ

เพลงหนักแผ่นดิน ถูกหยิบมาใช้อีกหลายครั้งหลังจากสงครามคอมมิวนิสต์ เช่น ในการชุมนุมขับไล่ ทักษิณ ชินวัตร ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เรื่อยมาจนถึงการชุมนุมขับไล่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ของกลุ่ม กปปส. จนมีการพูดถึงเพลงนี้ครั้ง โดย พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์

สำหรับงบประมาณกระทรวงกลาโหม หากนับจากการรัฐประหารในปี 2549 เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

  • ปี 2549 ได้งบ 85,936 ล้านบาท
  • ปี 2550 ได้งบ 115,024 ล้านบาท
  • ปี 2551 ได้งบ 143,519 ล้านบาท
  • ปี 2552 ได้งบ 170,157 ล้านบาท
  • ปี 2553 ได้งบ 154,032 ล้านบาท
  • ปี 2554 ได้งบ 168,501 ล้านบาท
  • ปี 2555 ได้งบ 168,667 ล้านบาท
  • ปี 2556 ได้งบ 180,491 ล้านบาท
  • ปี 2557 ได้งบ 184,737 ล้านบาท
  • ปี 2558 ได้งบ 193,066 ล้านบาท
  • ปี 2559 ได้งบ 206,461 ล้านบาท
  • ปี 2560 ได้งบ 213,544 ล้านบาท
  • ปี 2561 ได้งบ 222,437 ล้านบาท
  • ปี 2562 ได้งบ 227,671 ล้านบาท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net