Skip to main content
sharethis

แฟ้มภาพประชาไท

18 ก.พ. 2562  เวลา 11.30 น. ที่ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ได้ยื่นเรื่องกับ กกต. ให้พิจารณายุบพรรคพลังประชารัฐ ในข้อหาเสนอคนที่ยึดอำนาจเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี โดยชี้ว่า เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตย

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวว่า การที่พรรคพลังประชารัฐ เสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ตนขอเอาประเด็นที่เทียบเคียงกับพรรคไทยรักษาชาติ อยากถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยึดอำนาจเข้ามา ถึงแม้ว่าจะได้รับพระราชทานอภัยโทษเรื่องกบฏแล้ว อีกทั้งยังมีการยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2550 และ ได้เขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมานั้น เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย หรือไม่

“พรรคพลังประชารัฐ ไปเสนอให้คนยึดอำนาจ มาเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรค ก็น่าจะต้องถูกดำเนินคดีในข้อหาเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย ด้วยชัดยิ่งกว่ากรณีพรรคไทยรักษาชาติ กรณีของพรรคไทยรักษาชาติ 3 วันทำเสร็จ ถ้าตนยื่นกรณีนี้จะพิจารณาข้อหาเดียวกันด้วย หรือไม่ ถ้าไม่ทำ ก็จะดำเนินคดี กกต.ในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในมาตรา 157 ต่อไปด้วย” พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าว

ส่วนกรณีการเกณฑ์ทหารที่มีข้อถกเถียงกันนั้น ส่วนตัวมองว่า เรื่องนี้มีคู่กับบ้านเมืองมานานแล้ว แต่ก็มีการโกงด้วยการมีทหารรับใช้เรื่องส่วนตัว มาถึงวันนี้ก็ถึงเวลาแล้วที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพราะไม่มีอะไรยั่งยืนตลอดไป และตั้งข้อสังเกตถึงการย้ายทะเบียนบ้านของทหารเกณฑ์เข้าไปในกรมกอง เพื่อโกงการเลือกตั้งและสืบทอดอำนาจ

ขณะที่ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักษาชาติ เข้ายื่นหนังสือให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง พิจารณาให้ยุบพรรคพลังประชารัฐ หลังจากพบว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งมองว่าอยู่ในหลักการเดียวกัน จึงอยากให้ กกต. ปฏิบัติเหมือนกันคือการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคพลังประชารัฐ

เรืองไกร กล่าวว่า กกต. ได้อ้างกฎหมายมาตรา 92 (2) ที่เกี่ยวเนื่องกับการที่พรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งยังเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งถือเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ส่วนอีกประเด็นหนึ่ง คือการที่หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ อุตตม สาวนายน มีการจดจัดตั้งพรรคการเมืองก่อนการเป็นสมาชิกพรรค ซึ่งถือว่าผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ด้วย

และประเด็นสุดท้าย ขอให้ กกต. เสนอยุบพรรคพลังประชารัฐ คือการระดมเงินทุนจากโต๊ะจีน ที่พรรคพลังประชารัฐระดมทุนซึ่งต้องเสนอเรื่องให้ กกต. พิจารณา ซึ่งการระดมเงินทุนในครั้งนั้น ทางพรรคฯ ได้เงิน 650 ล้านบาท แต่เมื่อชี้แจงกับ กกต. กลับได้มา 90 ล้านบาท และอ้างว่านอกจากนั้นเป็นเงินที่ได้รับบริจาค

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 15 ก.พ. วิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ (สกสส.) ยื่นหนังสือต่อประธาน กกต.เรียกร้อง กกต.พิจารณาดำเนินการยุบพรรคพลังประชารัฐ แบบเดียวกับพรรคไทยรักษาชาติแล้ว โดยยกกรณีกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ตามที่มีการเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เป็นนายกรัฐมนตรีในนามของพรรค อันเป็นการขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นหัวหน้า คสช. ที่มาโดยการยึดอำนาจการบริหารประเทศ ซึ่งขัดกับหลักการระบอบประชาธิปไตย 

อีกทั้งการเสนอชื่อดังกล่าวยังเข้าข่ายการครอบงำพรรคการเมือง ของพล.อ.ประยุทธ์ ด้วยในฐานะที่พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเจ้าหน้าที่รัฐใช้ตำแหน่งเป็นคุณหรือเป็นโทษต่อผู้สมัครและพรรคการเมือง และยินยอมให้มีการใช้ทรัพยากรของรัฐ และยังมีการสมคบใช้นโยบายของรัฐเพื่อเป็นนโยบายพรรคการเมืองเพื่อเอื้อประโยชน์ จูงใจ ในการหาเสียงเลือกตั้งจึงขอให้ กกต. เร่งพิจารณาโดยเร็ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net