วงเสวนา: ควรตัดสิทธิการเมืองคนทำลายประชาธิปไตย ไม่ใช่นักโทษ

วงเสวนาพูดคุยประเด็นสิทธิทางการเมืองของนักโทษและอดีตนักโทษ ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ลงคะแนนเสียงไปจนถึงสมัครสมาชิกพรรคการเมือง - ส.ส. ชี้ กฎหมายมีปัญหา หว่านแหเหมารวมโทษสารพัด ไม่จำกัดกรอบเวลารับโทษ แบนจากการเมือง 10 ปีนานเกินไป พรรคการเมืองระบุ ต้องแก้รัฐธรรมนูญ ไม่ให้คนทำลายประชาธิปไตยมีสิทธิทางการเมือง

ซ้ายไปขวา: นิภาพร สมุทรคีรี พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ มูฮำหมัดอัณวร หะยีเต๊ะ วิญญัติ ชาติมนตรี อังคณา นีละไพจิตร

18 ก.พ.  2562 ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) กลุ่ม Fairly Tell กลุ่มรณรงค์เพื่อสิทธิและสวัสดิภาพของนักโทษและอดีตนักโทษ จัดเสวนาหัวข้อ “10 ปีที่สูญหาย การจำกัดสิทธิทางการเมืองของอดีตนักโทษ” ร่วมเสวนาโดยวิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ (สกสส.) มูฮำหมัดอัณวร หะยีเต๊ะ หรืออันวาร์ อดีตผู้ต้องขังในคดีการเมืองในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ นิภาพร สมุทรคีรี อดีตผู้ต้องขังในคดียาเสพติด และอังคณา นีละไพจิตร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ดำเนินการเสวนาโดยพิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ

การจัดเสวนาพูดคุยถึงรัฐธรรมนูญมาตราที่ 96  98 และ มาตรา 9 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่กำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ผู้ลงรับสมัครเลือกตั้งในตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และผู้ที่จะเป็นสมาชิกพรรค ซึ่งตัดสิทธิของนักโทษที่พ้นโทษออกมาแล้วเป็นเวลาอย่างน้อยสิบปี ไม่ให้ลงรับสมัคร ส.ส. สมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ส่วนนักโทษและผู้ถูกคุมขังตามคำสั่งศาลนั้นไม่สามารถลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้

คำจากอดีตนักโทษ ที่อยากทำประโยชน์แต่ติดเพดานกฎหมาย

นิภาพรกล่าวว่า ก่อนหน้านั้นไม่ค่อยมีความรู้ว่าตัวเองได้รับสิทธิทางการเมืองอะไรบ้าง แต่พอมารู้และอยากจะเปลี่ยนแปลงความลำบากในเรือนจำหลังพบกับภรณ์ทิพย์ มั่นคง จากกลุ่ม Fairly tell ที่ขับเคลื่อนประเด็นสิทธิผู้ต้องขัง ก็หวังจะเป็นตัวแทนของนักโทษ แต่พบว่าทำได้ไม่เต็มที่เพราะว่าเคยต้องโทษ ทั้งๆ ที่เคยรับโทษไปแล้วแต่ทำไมถึงต้องถูกตัดสิทธิเช่นนี้

นิภาพรยังเพิ่มเติมว่า อยากให้มีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในเรือนจำ แต่ถ้าไม่ได้ดูสื่อก็จะไม่รู้ว่าพรรคอะไรใครลง ถ้าเช่นนั้นจะทำอย่างไร ให้เลือกตั้งตามที่ผู้คุมบอกหรือ ตอนนี้ 35 แล้ว ถ้ายังใช้สิทธิไม่เต็มที่  แล้วต่อไปถ้าเป็นอะไรไปจะเป็นตัวแทนให้เพื่อนๆ ข้างในได้อย่างไร  

อันวาร์เล่าว่า หลังจากพ้นโทษออกมาก็อยากร่างนโยบายให้พรรคอนาคตใหม่ ชูประเด็นสามจังหวัดชายแดนใต้อย่างจริงจัง แต่การเคยต้องโทษ และกลไกของพรรคไม่ได้เอื้อให้คนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกมีบทบาท ถ้าไม่ได้เป็นสมาชิก จะร่วมประชุมสามัญหรือเสนอความเห็นอะไรก็ไม่ได้ มีบ้างที่คนสงสัยว่าเป็นใคร ทำไมมีบทบาทมากกว่าสมาชิกพรรค จึงตัดสินใจถอยออกมา เขามองว่าต้องแก้กฎหมายที่จำกัดสิทธิทางการเมือง เชื่อว่านักโทษไม่โดดเข้ามาเล่นในเวทีการเมืองทุกคน แต่คนที่มุ่งมั่นจะเข้ามาในกระบวนการทางการเมืองเพื่อให้เกิดผลประโยชน์กับคนของเขา ชาติพันธุ์เขาก็ควรที่จะทำได้

กฎหมายไม่เคยอำนวยสิทธินักโทษเสมอกัน เสนอยกเลิก-ตีกรอบให้ชัดเจน

วิญญัติกล่าวว่า ทุกคนควรมีสิทธิในการแสดงออกซึ่งเจตจำนงทางการเมืองอย่างเท่าเทียมกัน  หากดูรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2475 จนถึงปัจจุบัน ไม่มีฉบับไหนให้สิทธิทางการเมืองกับผู้ต้องขังเลย

วิญญัติยังกล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 ตัดสิทธิการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ห้าปี แต่ฉบับปัจจุบันตัดสิทธิ 10 ปี แทนที่จะให้อดีตนักโทษมีโอกาสพัฒนาตัวเองให้เป็นคนดี หรือช่วยพัฒนาประเทศในการมีส่วนร่วมทางการเมืองก็ทำไม่ได้ นอกจากกฎหมายที่รองรับว่ามีสิทธิ  เสรีภาพเสมอกันแล้วก็ไม่มีกฎหมายใดรองรับเจตจำนงของผู้ถูกคุมขังเลย ในประเทศแคนาดา ออสเตรเลียก็ให้คนเหล่านี้เป็นสมาชิกพรรคและลงสมัครรับรับเลือกตั้งได้เกือบ 100 เปอร์เซนต์ ในสหรัฐฯ มีไม่กี่มลรัฐ ก็เป็นตัวอย่างที่ดีที่ไทยน่าใช้เป็นแบบอย่าง แต่ของไทยก็ไปตัดสินนักโทษในทุกอัตราความผิด ซึ่งตามหลักอาชวิทยานั้นต้องให้โอกาสพวกเขา ไม่ใช่ทำให้พวกเขาจมหายไปจากสังคม

วิญญัติเสนอว่าต้องแก้ที่กฎหมาย เพราะไทยเป็นระบบนิติรัฐ ที่คนออกกฎหมายยังเป็นเต่าล้านปี ถูกควบคุมด้วยอำนาจบางอย่าง แม้นักวิชาการ นักวิจัย  นักกฎหมายจะมีวิจัยออกมาเยอะแยะก็ตาม โดยมีข้อเสนอแนะทั้งหมดสามข้อ ดังนี้

  1.  แก้ไขมาตรา รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมาตรา 96 97 98  และอนุมาตรา 13 ของมาตรา 98  ไม่ให้ตัดสิทธิทางการเมืองกับความผิดทางกฎหมายที่ไม่ได้เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย
  2. ถ้าหากจะตัดสิทธิทางการเมืองจริงๆ ก็ต้องจำกัดฐานความผิด คนที่อยู่ในระหว่างพิจารณาคดีควรได้รับสิทธิ เพราะพวกเขายังต้องได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ตามหลักกฎหมาย
  3. ไม่ตัดสิทธิทางการเมืองของผู้ไม่ได้ไปลงคะแนนเสียงในวันเลือกตั้ง หรือไม่ได้แจ้งเหตุที่ไม่ไปลงคะแนนเสียง เพราะเขาเหล่านั้นอาจถูกกลั่นแกล้งทางการเมืองหรือมีเหตุผลส่วนตัว หากไม่แก้ไข อาจมีการกล่าวหาบุคคลโดยทำให้เขาเหล่านั้นไม่ได้รับประกันตัวทันเวลาเลือกตั้งจนทำให้ถูกตัดสิทธิทางการเมือง

อังคณากล่าวว่า ตามหน้าที่ที่ไปเยือนเรือนจำ สถานที่กักกัน พบว่าการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องขังมีพัฒนาการที่ดีขึ้น แต่ก็ยังมีหลายสิ่งที่ยังเป็นความยาก เป็นอุปสรรค โดยเฉพาะทัศนคติรัฐและสังคมต่อการลงโทษผู้กระทำผิดในแบบแก้แค้นมากกว่าการมุ่งหวังให้ปรับปรุงพฤติกรรม ยิ่งเป็นคดีสะเทือนใจยิ่งต้องหนัก บางคนถูกปฏิบัติการทางข้อมูลทำให้ไม่มีที่ยืนในสังคม

อังคณากล่าวต่อไปว่า ในฐานะพลเมืองแล้ว นักโทษก็ควรมีสิทธิพลเมืองเสมอกันกับคนอื่น และสิทธิทางการเมืองก็ไม่สามารถแยกกับสิทธิพลเมืองได้ เธอเคยไปตรวจสอบสิทธิทางข่าวสารของนักโทษ พบว่าหนังสือพิมพ์ในเรือนจำจะถูกตัดแหว่งๆเจ้าหน้าที่บอกว่าข่าวหรือข้อความบางอย่างอาจกระทบความไม่ปลอดภัยหรือความมั่นคงของเรือนจำจึงต้องตัดออก อ่างไรเสีย พอมนุษย์เข้าไปถูกจำกัดอิสรภาพในเรือนจำแล้วก็ควรเข้าถึงสิทธิอื่นๆ ในฐานะพลเมือง ไม่ใช่พ้นโทษแล้วกลายเป็นคนไม่รู้เรื่องอะไรเลย ไม่ยึดโยงกับสังคมปัจจุบัน จนไม่สามารถใช้ชีวิตในสังคมต่อไปได้

กรรมการ กสม. กล่าวว่า การใช้สิทธิทางการเมืองไม่ได้มีแค่การลงคะแนนเสียงหรือการลงรับสมัคร แต่ยังมีการใช้สิทธิทางการเมืองผ่านการเป็นสมาชิกองค์กรอิสระต่างๆ แต่เกณฑ์คุณสมบัติเจ้าหน้าที่ระดับกรรมาธิการ อนุรรมาธิการ หรือคณะกรรมการอิสระก็มีเรื่องการไม่เคยต้องโทษมาก่อน ในประเด็นนี้ ประเทศอื่นในเอเชียก็ยังมีแต่เจาะจงเป็นกรณี เช่น โทษคอร์รัปชัน ทุจริตการเลือกตั้ง ไม่ได้เหมารวม ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องน่าคิด

กรณีหนึ่งน่าสนใจที่มีการฟ้องร้องกันในศาล คือ กรณีในแคนาดาของริชาร์ด โซโว่ ที่ศาลสูงแคนาดาพิพากษาว่า ให้โซโว่ ซึ่งเป็นนักโทษสามารถใช้สิทธิเลือกตั้ง เพราะไม่เห็นผลชัดเจนว่าทำให้จำนวนผู้กระทำผิดเพิ่ม เกิดแง่ลบแก่สังคม การเมืองการปกครอง คือไม่ได้ทำให้สังคมเลวร้าย หรือกระทบการเมืองการปกครองใดๆ เลย (ข้อมูลเพิ่มเติม: วิกิพีเดีย)  แต่ในหลายประเทศก็เห็นแย้งว่าคนทำผิดฐานคอรัปชัน หรือเรื่องเกี่ยวกับการเลือกตั้งอาจจะใช้สิทธิสนับสนุนคนของตัวเองเข้าไป

อังคณาเชื่อว่านักการเมืองเองก็คงไม่กล้าเสนอนโยบายให้ผู้ต้องขังมีสิทธิมากขึ้น ถ้ายังค้านกับเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน จึงต้องมีการทำงานกับประชาชนให้มากขึ้นเพื่อให้มีความเข้าใจ ควบคู่กับการทำงานเสนอกฎหมายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร

พรรคการเมืองแสดงทิศทาง ลด-เลิกตัดสิทธินักโทษ

ในงานมีตัวแทนพรรคการเมืองที่ตอบรับคำเชิญมาเข้าร่วมและต่างแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นสิทธิทางการเมืองกับนักโทษด้วย 

นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ตัวแทนจากพรรคสามัญชน กล่าวว่าต้องแก้ไขมาตรา 98 เรื่องโทษและอัตราโทษที่ต้องห้ามลงสมัครรับเลือกตั้ง และปรับไม่ให้บุคคลที่มีประวัติทำลายประชาธิปไตยและรัฐประหารลงสมัครรับเลือกตั้งได้ มาตรา 9 และ 24 ก็ต้องแก้ไขของ พ.ร.ป. พรรคการเมืองที่กำหนดจำนวนขั้นต่ำและคุณสมบัติของผู้เริ่มจดจัดตั้งพรรคการเมืองที่ทำให้พรรคการเมืองเล็กจัดตั้งยาก ในส่วนของการสิทธิเลือกตั้ง ในประเทศอื่นอย่างอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์นั้นมีให้เลือกตั้งจากในเรือนจำ ที่เนปาลก็ให้นักโทษไปเลือกตั้งนอกเรือนจำ คิดว่าสิทธิดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญ นักโทษควรมีสิทธิเลือกตั้ง ในเยอรมนีนั้นผู้ต้องขังจะเสียสิทธิดังกล่าวต่อเมื่อถูกตัดสินว่ามีโทษทำลายล้างระบอบประชาธิปไตย น้ำหนักการถูกตัดสิทธิในเรื่องนี้จึงควรมีบรรทัดฐาน

รังสิมันต์ โรม ตัวแทนจากพรรคอนาคตใหม่ ที่เคยใช้เวลาในเรือนจำเมื่อถูกศาลสั่งฝากขังชั่วคราว กล่าวถึงการแก้กฎหมายสิทธิทางการเมืองของอดีตนักโทษว่า ถ้าประชาชนเห็นด้วย พรรคการเมืองก็จะทำทันที แต่ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 แก้รัฐธรรมนูญนั้นไม่ง่าย พรรคการเมืองที่เสนอจะต้องอาศัยเสียง 1 ใน 5 ของสภาผู้แทนฯ ก็คือ 100 เสียง ถ้าคิดกันดีๆ ก็เป็นจำนวนที่เยอะ การเลือกตั้งนี้ก็ยังไม่รู้ว่าจะได้กันกี่เสียง แต่ถ้ามีโอกาส พรรคอนาคตใหม่จะเสนอให้มีการแก้รัฐธรรมนูญไม่เพียงแต่ประเด็นนี้ ซึ่งถ้าพรรคอนาคตใหม่มีโอกาสจะทำทันที และเป็นเรื่องแรกๆ ที่จะทำ

ธนพร ศรียากูล หัวหน้าพรรคคนธรรมดา กล่าวว่า สิ่งที่เริ่มดำเนินการได้เลยในวันนี้คือการประสานกับภาคประชาสังคมรณรงค์ให้แก้ไขอนุบัญญัติ ระเบียบกรม คิดว่าสามารถริเริ่มให้เกิดกระแสสังคมเพื่อนำไปสู่การแก้ไขหรือผ่อนคลายก่อนได้ และมองว่าการผลักดันร่าง พ.ร.บ. การเสนอกฎหมายโดยตรงของประชาชนนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้การเมืองภาคสถาบันกับภาคประชาชนมารวมประสานกันได้

สุขทวี สุวรรณชัยรบ เลขาธิการพรรคกลาง เสนอว่าความผิดของนักโทษไม่ควรถูกพรากสิทธิตั้งแต่แรก สิ่งที่ควรทำโทษอย่างเดียวคือการจำกัดเสรีภาพ ซึ่งไม่ควรทำแต่ก็เป็นการลงโทษที่สูงสุดที่อนุโลมให้ทำแล้ว ไม่ควรไปตัดสิทธิในการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญฉบับนี้ชัดอยู่แล้วว่าเป็นประชาธิปไตย แต่พรรคการเมืองสามารถเป็นประชาธิปไตยได้ก่อน แม้ทางกฎหมาย อดีตนักโทษไม่สามารถเป็นสมาชิกพรรคได้ แต่พวกเขาสามารถเป็นสมาชิกพรรคกลางในทางปฏิบัติได้ก่อน พรรคกลางจะให้สิทธิการแสดงความเห็นและออกเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ และพรรคกลางก็รณรงค์ให้พรรคการเมืองอื่นทำแบบเดียวกัน

ศิริ นิลพฤกษ์ ตัวแทนจากพรรคเกรียน กล่าวว่า พรรคเกรียนมีเพียงแต่การสมัครออนไลน์แล้วคุยกันในเรื่องนโยบาย ความคิด มีข้อเสนอว่า สิ่งที่ทำได้ดีและเร็วที่สุด คือต้องทำให้เกิดการเลือกตั้งและกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยตามปกติที่สุด ไม่เช่นนั้นจะมีเงื่อนไข กลไกที่ทำให้แก้ไขกฎหมายไม่ได้ ตอนนี้ที่จะทำควบคู่ไปได้คือเรื่องการศึกษา ที่มองว่าคนทำผิดคือคนเลว มีการลงโทษของสังคม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท