Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

แทนที่ผู้นำกองทัพจะกระทำการหลงยุค โหมกระหน่ำเปิดเพลงประณามผู้ที่เรียกร้องให้ยกเลิกการเกณฑ์ว่าเป็นพวกหนักแผ่นดิน น่าจะใช้กำลังพลที่มีอยู่ช่วยกันค้นหาคำตอบว่า ทำไมในปัจจุบันราาว 90 ประเทศทั่วโลกจึงยกเลิกการเกณฑ์ทหารไปแล้ว จะเกณฑ์ได้ก็เฉพาะภาวะฉุกเฉินหรือภาวะสงครามเท่านั้น ในจำนวนนี้มีทั้งในยุโรป สหรัฐอเมริกา เอเชีย และแอฟริกา

ผู้คนในหลายประเทศเห็นตรงกันว่าการบังคับเกณฑ์ทหารคือระบบเผด็จการที่รัฐบังคับใช้กับประชาชน ประเทศที่ยึดมั่นในสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยไม่ควรมีระบบนี้อีกต่อไป รัฐจึงต้องหาทางปรับตัว-ปรับปรุงกองทัพให้รับมือกับคุณค่าในสังคมที่เปลี่ยนไปด้วย

ในสหรัฐอเมริกา ระบบเกณฑ์ทหารยกเลิกไปนับแต่สงครามเวียดนาม อันเป็นช่วงเวลาที่คนหนุ่มสาวทั่วประเทศตั้งคำถามกับนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลว่ากำลังละเมิดรุกรานประเทศอื่น พร้อมๆ กับละเมิดสิทธิของประชาชนของตนอยู่หรือไม่ เป็นยุคที่การถกเถียงเรื่องสิทธิมนุษยชนด้านต่างๆ ทั้งสิทธิพลเมือง คนผิวสี เพศสภาพ ฯลฯ ​เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง

มีงานวิจัยมากมายที่ยืนยันว่าระบบที่ให้คนสมัครใจมาเป็นทหารนั้นมีประสิทธิภาพที่ดีกว่าระบบทหารเกณฑ์ที่มีปริมาณแต่ขาดคุณภาพ สิ้นเปลืองงบประมาณกับความด้อยคุณภาพของกองทัพ เพราะคนที่ถูกบังคับเกณฑ์สองปีแล้วออก จะไม่ได้รับการฝึกฝนด้านการรบอย่างเชี่ยวชาญเท่าคนที่ตั้งใจมาเป็นทหารอาชีพ และอยู่กับกองทัพยาวนานกว่า งานวิจัยพบว่าเมื่อขนาดของกองทัพเล็กลงจะทำให้รัฐต้องหาทางเพิ่มประสิทธิภาพของกำลังพลแต่ละคนให้มากขึ้น รวมทั้งใช้เทคโนโลยี่เข้ามาช่วยมากขึ้น ข้อสำคัญการรบสมัยใหม่อาศัยอาวุธยุทโธปกรณ์สมัยใหม่มากกว่ากำลังทหารราบที่เทอะทะแต่ขาดความเชี่ยวชาญในการรบ

อย่างไรก็ตาม การยกเลิกระบบเกณฑ์ทหารแต่ยังรักษาศักยภาพของกองทัพไว้ได้ ต้องประกอบด้วยมาตรการหลายๆ อย่างควบคู่กันไป รวมทั้งวิธีคิดของผู้นำกองทัพด้วย กล่าวคือ ต้องไม่มองว่าคนที่สมัครมาเป็นทหารคือพลทหารชั้นต่ำในกองทัพ เช่น ถ้าไม่มีการรบก็เอาไปทำงานบ้านนายพลแทนก็ได้ เป็นต้น แต่ต้องมองว่ากองทัพคือระบบที่รับคนเข้าไปเรียนรู้พัฒนาทักษะต่างๆ เพื่อทำให้กองทัพเข้มแข็ง คนที่จบป.ตรี-เอกในสาขาต่างๆ ก็สมัครได้ เพราะกองทัพยุคใหม่ต้องมีความรู้หลากหลาย เช่น การวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ความมั่นคงของประเทศอื่นๆ นโยบายต่างประเทศ ลักษณะภัยคุกคามรูปแบบใหม่ เป็นต้น (จากประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยบรรยายให้กับนายทหารระดับสัญญาบัตร พบว่าพวกเขามีความรู้ในเรื่องเหล่านี้จำกัดมากๆ) ในสหรัฐฯ​ อายุของคนที่สมัครเข้ามาเป็นทหารแต่ละหน่วยจะหลากหลาย เช่น กองทัพอากาศ สมัครได้ถึงอายุ 39 ปี

แม้จะเป็นการรับสมัครแต่ก็ต้องมีการทดสอบความรู้และความสามารถ ในสหรัฐฯ​มีระบบสอบเข้ากองทัพที่ดูความสามารถ 4 ด้านเป็นหลัก คือการคำนวนพื้นฐาน การอ่าน ทักษะเฉพาะด้าน (ผู้สมัครต้องกรอกว่าตนเองมีความสามารถด้านไหน และคณิตศาสตร์ (มากกว่าบวกลบคูณหารเลข)

อยากให้คนมีคุณภาพมาสมัครและอยู่กับกองทัพนานๆ ก็ต้องปรับปรุงคุณภาพชีวิต มีระบบเงินเดือนตามความสามารถของพวกเขา มีสวัสดิการให้กับเขาและครอบครัวโดยเฉพาะหากทุพพลภาพหรือเสียชีวิต ไม่ใช่จ่ายเขาเดือนละ 9,000 บาท แล้วยังเอาไปทำงานบ้านนายพลอีกต่างหาก

งานวิจัยหลายชิ้นในสหรัฐฯ​ ชี้ว่าปัจจัยที่ทำให้กองทัพมีประสิทธิภาพขึ้นกับคุณสมบัติของผู้สมัคร 3 ข้อคือ 1. ระดับการศึกษา (จบมัธยมปลาย - กองทัพสหรัฐฯมีมหาวิทยาลัยของตนเอง ที่ถือว่าดีมากๆ เข้ายากมาก เรียนฟรี แต่จบมาต้องเป็นทหาร, พลทหารที่จบมัธยมปลายสามารถสมัครศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยกองทัพได้) 2. คะแนนสอบเข้ากองทัพสูง 3. มีประสบการณ์การทำงานมาก่อน

หลายปีที่ผ่านมา แม้จะมีความพยายามของนักการเมืองส่วนน้อยจากพรรครีพับลิกันพยายามผลักดันกฎหมายบังคับเกณฑ์ทหารอีกครั้ง แต่ก็ไม่เคยสำเร็จสักครั้ง

ที่จริงผู้นำกองทัพไทยน่าจะขอคำแนะนำจากกองทัพสหรัฐฯ​ ที่สนิทชิดเชื้อกันมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น ว่าทำไมเขาเลิกเกณฑ์ทหารตั้งแต่สงครามเวียดนามยุติลง

 

เอกสารประกอบการเขียน
The Congress of the United States. The All-Volunteer Military: Issues and Performance.
July 2007.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net