Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ที่มาภาพ http://nineentertain.tv/view/5c6529bce3f8e40ac48e6076

กรณีพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) เสนอชื่อฟ้าหญิงอุบลรัตน์เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาและเกิดการโต้กลับจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมอย่างรวดเร็ว ทำให้การเสนอชื่อดังกล่าวเป็นโมฆะ และ กกต.เสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคไทยรักษาชาตินั้น

หากมองจากปรากฏการณ์ระดับ “พื้นผิว” อาจทำให้เข้าใจว่าเป็นปัญหาของ “การเมืองเชิงหลักการ” เพราะมีการอ้างหลักการประชาธิปไตย กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายเลือกตั้งมาโต้เถียงกัน ข้อกล่าวหายุบพรรคก็อิงกฎหมายว่าเป็น “การกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” เสมือนว่าทั้งหมดคือเรื่องของปัญหาเชิงหลักการเป็นด้านหลัก

แต่แท้จริงแล้ว “ภูมิหลัง” (Background) หรือพื้นฉากของการอ้างหลักการประชาธิปไตยและตัวบทกฎหมายที่ทำให้การเสนอชื่อเป็นโมฆะและเสนอยุบพรรค คือ “การเมืองวัฒนธรรม” (cultural politics) ซึ่งเป็นการเมืองที่มีอิทธิพลสูงเหนือหลักการประชาธิปไตย (liberal democracy) มาตลอดกว่าทษวรรษนี้

อาการแสดงออกของการเมืองวัฒนธรรม เห็นได้ทันทีที่ปรากฏชื่อแคนดิเดตนายกฯของพรรคไทยรักษาชาติอย่างเป็นทางการ ความหวังว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” จะชนะถล่มทลายก็พุ่งขึ้นสูงลิ่ว พร้อมๆ กับปรากฏอาการวิตกกังวล กลัว เกรี้ยวกราดของฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็พุ่งขึ้นสูงในสัดส่วนใกล้เคียงกัน

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น แน่นอนว่าไม่ใช่เพราะแคนดิเดตนายกฯของพรรคไทยรักษาชาติมีชื่อเสียงและผลงานโดดเด่นในภาพลักษณ์ “ผู้นำประชาธิปไตย” หรือแม้แต่เคยปรากฏคำพูด ความคิดเกี่ยวกับการสนับสนุนเสรีภาพและประชาธิปไตยมาก่อน แต่เพราะเป็น “เจ้า” ต่างหาก แม้จะลาออกจากฐานันดรศักดิ์แล้วตั้งแต่ปี 2515 แต่ก็ยังเป็นเจ้าทางวัฒนธรรม หรือในความรับรู้และการปฏิบัติของภาครัฐและประชาชนทั่วไป 

ดังนั้น สถานะที่ได้รับความเคารพอย่างสูงทางวัฒนธรรมของแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคไทยรักษาชาติจึงเป็นสิ่งที่ “จุดกระแส” คะแนนนิยมมากกว่าเรื่องความชอบธรรมตามหลักการประชาธิปไตย หรือความเป็นผู้นำประชาธิปไตย 

ขณะที่ฝ่ายประชาธิปไตยที่ลิงโลดใจกับกระแสความนิยมที่เชื่อว่าจะ “พลิกเกม” ให้ฝ่ายตนได้ชัยชนะเหนือเผด็จการ ก็ไม่ได้ลิงโลดใจเพราะว่าตัวเองจะชนะด้วยอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่เหนือกว่า แต่เพราะคิดว่านั่นอาจเป็นหนทางเดียวที่จะชนะฝ่ายเผด็จการได้ภายใต้การเลือกตั้งที่ฝ่ายตนถูกเอาเปรียบทุกประตูและยังมีข้อจำกัดอื่นๆ อีกมหาศาล

ส่วนฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่เกรี้ยวกราดสุดๆ ก็ไม่ใช่เพราะพวกเขายืนยันใน “หลักการประชาธิปไตย” อย่างแท้จริง เพราะถ้ายืนยันหลักการประชาธิปไตยกันจริงๆ พวกเขาก็ต้องยืนยันหลักการเดียวกันนี้ปฏิเสธการเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรีด้วย 

แต่ที่พวกเขาเกี้ยวกราดก็เพราะรับไม่ได้อย่างยิ่งกับปรากฏการณ์ที่ทำให้พวกเขาเชื่อว่าเจ้าบางคนไปอยู่ในฝ่ายที่พวกเขากล่าวหาว่า “ล้มเจ้า” มาตลอดกว่า 10 ปี ช่วงเวลาราว 13 ชั่วโมงของวันที่พรรคไทยรักษาชาติเสนอชื่อเจ้าเป็นแคนดิเดตนายกฯ จึงเป็นช่วงเวลาของความเกรี้ยวกราดของฝ่ายอนุรักษ์นิยมพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลของการเกิดอาการ “ช็อก” อย่างรุนแรง!

หลังจากมีพระบรมราชโองการออกมาในช่วงใกล้ดึก อาการเกรี้ยวกราดจึงแปรเปลี่ยนเป็นอาการของผู้มีชัยในการเมืองวัฒนธรรมที่แสดงออกเป็น “ความปลื้มปีติซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ” ตามมาด้วยอาการลิงโลดใจ และการไล่บี้ให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ โดยอ้างหลักการประชาธิปไตย ตัวบทกฎหมายต่างๆ นานา ราวกับว่าพวกเขายึดมั่นในหลักการดังกล่าวอย่างเหนียวแน่นตลอดมา

แต่หลังจากนั้น “อาฟเตอร์ช็อก” ก็ตามมาเป็นระลอก เมื่อเกิดกระแสว่าหากยุบพรรคไทยรักษาชาติ ประชาชนอาจเทคะแนนให้ “พรรคอนาคตใหม่” (อนค.) มากขึ้น ยิ่งเมื่อเกิดปรากฏการณ์ “ฟ้ารักพ่อ” ที่สะท้อนว่าคนรุ่นใหม่กรี๊ด “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ที่เสนอนโยบายแก้ปัญหา “โครงสร้างอำนาจนอกระบบ” ที่กดทับสังคมไทยมายาวนาน แก้รัฐธรรมนูญเผด็จการ ล้างผลพวงรัฐประหาร ปฏิรูปกองทัพ ฯลฯ ยิ่งทำให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมดิ้นพล่านในโลกโซเชียล

ทั้งนักเขียนดัง นักแต่งเพลง ศิลปินแห่งชาติ ดารา นักร้อง สื่อบางค่าย ต่างออกมาร่วมขบวนแห่ “ขุด” ประวัติ คำให้สัมภาษณ์ก่อนลงเล่นการเมืองของธนาธรมาโจมตีกันใหญ่ เช่น เอาเรื่องธนาธรวิจารณ์ “ยิ้มสยาม” ก่อนลงเล่นการเมืองมาโจมตี โดยไม่สนใจคำถามสำคัญในบทสัมภาษณ์ที่ถามถึง “จุดยืน” ของคนไทยว่าจริงๆ แล้วคนไทยมี “จุดยืนบนหลักการสากล” กันหรือไม่ 

คำถามที่ว่าคนไทยมีจุดยืนบนหลักการสากลหรือไม่? เป็นคำถามสำคัญมาก เพราะคำถามดังกล่าวทำให้เราเห็นความเป็นจริงว่า ทำไมในศตวรรษที่ 21 แล้ว คนในแวดวงอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ แม้กระทั่งวงวิชาการ จึงมักจะมองว่าการต่อสู้ทางการเมืองด้วยอุดมการณ์เป็นเรื่อง “ไร้เดียงสา” หรือไม่สอดคล้องกับสภาวะความเป็นจริงของการเมืองไทยที่เน้นการใช้เหลี่ยมคู 

กระทั่งรอยัลลิสต์หลงยุคอย่างเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ถึงขนาดพูดแรงๆ เรื่องวิจารณ์ยิ้มสยามของธนาธรว่า “ถ้าเป็นประเทศอื่นเขาอาจฆ่าทิ้งแล้ว” ดังที่เราทราบทางสื่อออนไลน์

ศิลปินแห่งชาติบางคนก็โจมตีว่าธนาธรอาจเป็น “แดงใหม่” สื่อบางคนบอกว่า “มีประวัติที่น่าสงสัย” ขุดเรื่องชุมนุมกับเสื้อแดงมาโจมตี ราวกับว่าใครในประเทศนี้ “เป็นเสื้อแดง” แล้วต้องมี “ตราบาป” ติดตัวที่ลบไม่ออกไปชั่วชีวิต

แน่นอน การรังเกียจแดงหรือมองแดงเป็นพลเมืองชั้นสอง ก็เป็นผลของอิทธิพลการเมืองวัฒนธรรมที่สร้างขึ้นโดย “ฝ่ายเหลือง” ด้วยการอ้างเจ้ามาต่อสู้ทางการเมืองอย่างเข้มข้นมากที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยที่สถาบันอำนาจใดๆ ในประเทศนี้ก็ไม่เคยห้ามปรามการประทำเช่นนั้นอย่างจริงจัง 

ผู้นำกองทัพที่ประกาศว่า “กองทัพเป็นกลางทางการเมือง” บ่อยๆ นอกจากไม่เคยห้ามมวลชนฝ่ายเหลือง อ้างสถาบันกษัตริย์มาต่อสู้ทางการเมืองแล้ว การทำรัฐประหารแทบทุกครั้งก็อ้างชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์มาตลอด จนกลายเป็นประเพณีหรือวัฒนธรรมการเมืองไทยว่า ทหารมีสถานะและอำนาจพิเศษที่สามารถทำรัฐประหารได้ตลอดเวลาเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

ล่าสุด เพื่อตอบโต้ฝ่ายประชาธิปไตยที่เสนอยกเลิกการเกณฑ์ทหารและลดงบประมาณกระทรวงกลาโหม ผบ.ทบ.และคนดังฝ่ายอนุรักษณ์นิยมต่างออกมาประสานเสียงปลุกให้ประชาชนฟัง “เพลงหนักแผ่นดิน” โดยประยุทธ์ จันทร์โอชา และประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็ออกมาประสานเสียงกับเขาด้วย

เพลงหนักแผ่นดินเป็นเพลงโฆษณาชวนเชื่อยุค “ขวาพิฆาตซ้าย” ฝ่ายขวาใช้เพลงนี้เพื่อสื่อให้สังคมเชื่อว่านักศึกษาและประชาชนที่ต่อสู้เรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตยเป็น “พวกหนักแผ่นดิน” หรือเป็นคอมมิวนิสต์ที่มุ่งทำลายชาติ ศาสน์ กษัตริย์ จนนำไปสู่การล้อมปราบนักศึกษาและประชาชนในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยมเจนจัดในการใช้การเมืองวัฒนธรรมทำลายฝ่ายประชาธิปไตยมายาวนาน

แต่วันนี้สถานการณ์เปลี่ยนไป เพราะฝ่ายอนุรักษ์นิยมไม่ได้ต่อสู้เพียงกับนักศึกษาและประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเท่านั้น หากยังต่อสู้กับเครือข่ายพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยที่มีประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุน แม้จะเป็นการต่อสู้ภายใต้กติกาที่พวกเขาได้เปรียบ แต่ก็ไม่ง่ายที่จะชนะขาดลอย พวกเขาจึงออกการการวิตกกังวล หวาดกลัว เกรี้ยวกราดอย่างที่เห็น

พูดสั้นๆ คือ ในสนามการเมืองวัฒนธรรม อาการกลัว การระแวงความคิด ความเชื่อใหม่ๆ อุดมการณ์ใหม่ๆ การเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่ๆ ที่ประชาชนสามารถจะมีเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มากขึ้น กำลังบั่นทอนจิตใจหรือสำนึกแบบอนุรักษ์นิยมอย่างถึงราก เพราะโลกยุคนี้มีเงื่อนไขหรือตัวแปรจำนวนมากที่อยู่เหนือการควบคุมของพวกเขาโดยสิ้นเชิง  

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net