Skip to main content
sharethis

สื่อพนมเปญโพสต์รายงานเรื่องสตูดิโอแอนิเมชันในกัมพูชาที่รวบรวมทั้งคนที่มีฝีมือและเทคโนโลยีล้ำสมัย ทำผลงานจนได้ไปจัดแสดงผลงานที่เกาหลีใต้เมื่อปีที่แล้ว ในขณะเดียวกันก็ต้องแก้ปัญหาอุปสรรคค่าเรียนที่แพงและอื่นๆ ที่ทำให้คนทำแอนิเมชันดิจิทัลในกัมพูชาขาดแคลน

ภาพในเกม Angkor: Rise of Heroes หนึ่งในผลผลิตของสตูดิโอ ศิล แอนิเมชัน (ที่มา: Youtube/Sil Animation Studio)

19 ก.พ. 2562 สตูดิโอแห่งหนึ่งในเขตแซนซก คอมมูนทะไม ประเทศกัมพูชา มีทีมศิลปินดิจิทัลรุ่นเยาว์หกคนกำลังทำงานอย่างแข็งขัน ในขณะที่ผู้ก่อตั้งสตูดิโอคอยเดินตรวจตราให้คำแนะนำและความช่วยเหลือทางเทคนิค สตูดิโอแห่งนี้มีชื่อว่า ศิล แอนิเมชัน เป็นสตูดิโอที่ผลิตผลงานทั้งคลิปแอนิเมชันในคอมพิวเตอร์ รวมไปถึงมินิซีรีส์อย่าง Little Yak หรือวิดีโอเกมที่มีชื่อเสียงอย่าง Angkor: Rise of Heroes โดยที่ผลงานเกมนี้ได้ไปจัดแสดงโชว์ในนิทรรศการเกมโลก G-Star ที่ปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อปี 2561

ผู้ก่อตั้งสตูดิโอแห่งนี้คือ ยก ชิวัลรี ผู้มีพื้นเพจากจังหวัดกำปอต เขาเลือกที่จะไม่ทำงานตามสายงานการเงินที่ตัวเองเรียนมา แต่หันมาไล่ตามความฝันในฐานะผู้ผลิตศิลปะดิจิทัลและเรียนรู้ทักษะเกี่ยวกับเรื่องนี้ในช่วงที่กัมพูชาคนสร้างสรรค์งานแนวดังกล่าวน้อยคน จนทำให้เขากลายมาเป็นผู้ก่อตั้ง 'ศิล อนิเมชัน สตูดิโอ' ด้วยอายุ 30 ปี

ชิวัลรีเล่าว่าเขาเป็นศิลปินดิจิทัลทั้งแบบ 2D และ 3D จากการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยก่อนหน้านี้เขาเคยทำงานให้กับเกมโทรศัพท์มือถือทั้ง 2D และ 3D จำนวนมาก เรียกได้ว่ามีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมเกมมือถือมาเป็นเวลา 7 ปี ต่อมาเขาทำงานให้กับสตูดิโอสะบายโอสจาในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งและผู้อำนวยการฝ่ายครีเอทีฟ จนกระทั่งมาเปิดสตูดิโอของตัวเองเมื่อเดือน พ.ค. 2559

กัมพูชาเตรียมเข็นเกม "อังกอร์เรียน" ใช้เทคนิค AR เกมแรกของประเทศ

ชื่อสตูดิโอใหม่ของเขา "ศิล" มีความหมายได้ทั้ง “ศิลปะ” และ “เวทย์มนตร์” พวกเขาไม่ได้แค่ก่อตั้งสตูดิโอนี้เพื่อผลกำไรเท่านั้น แต่ยังมีปรัชญาของบริษัทที่ต้องการเน้นผลิตผลงานจินตนาการสู่ระดับโลกผ่านทั้งศิลปินที่มีทักษะสูงและเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย

ชิวัลรีพูดถึงอุปสรรคและเอกลักษณ์ของแอนิเมชันเมื่อเทียบกับภาพยนตร์ที่ใช้คนแสดงว่า แอนิเมชันสามารถสื่อสารกับคนได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่แม้จะไม่ใช้คำพูดใดๆ เพียงแต่ใช้ภาษาท่าทาง อากัปกิริยา และสีหน้า เพื่อทำให้คนดูเกิดความรู้สึกสนุกสนานเช่นเดียวกับที่พวกเขาใช้ในแอนิเมชัน Little Yak ที่ไม่มีบทพูดใดๆ เลย

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำหรับแอนิเมชันคือการที่ต้องวาดทุกอย่างขึ้นมาเองและมีขั้นตอนจำนวนมากในการทำให้มันมีชีวิตขึ้นมา ชิวัลรีบอกว่าบางครั้งพวกเขาต้องใช้เวลาประมวลภาพ หรือที่เรียกว่า render เป็นเวลา 2-3 วัน จนบางครั้งก็ทำให้เขาท้อจนอยากจะหยุด แต่ด้วยความที่ทีมงานของเขามีไฟในความทะเยอทะยานอยากให้ผู้คนได้พึงพอใจไปกับการผจญภัยที่ไม่ธรรมดาภายใต้ฉากอาณาจักรเขมรที่มีอุปกรณ์ประกอบฉากและเครื่องแต่งกายแบบดั้งเดิม ทำให้พวกเขาไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค

นอกจากงานผลิตแล้ว เมื่อชิวัลรีว่างเว้นจากกระบวนการทำงานสตูดิโอ เขาก็จะใช้เพจโซเชียลมีเดียในการสาธิตกระบวนการทำวิดีโอตั้งแต่ต้นจนเสร็จเพื่อแสดงให้คนที่ไม่คุ้นเคยกับอุตสาหกรรมอนิเมชันได้เห็นว่าการพัฒนาอนิเมชัน 3D เป็นอย่างไร ชิวัลรียังพยายามส่งเสริมอุตสาหกรรมอนิเมชันในกัมพูชาโดยเปิดคอร์สการเรียนการสอนราคาถูกให้กับคนที่มีความมุ่งมั่นอยากจะเรียนด้วย เพราะเขามองว่าอุตสาหกรรมอนิเมชันในกัมพูชายังขาดแคลนคน อีกทั้งคอร์สการเรียนกการสอนดิจิทัลอาร์ตยังแพงมาก

เรียบเรียงจาก

Cambodian animation racing towards world-class imagery, The Phnom Penh Post, Feb. 13, 2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net