ผลสำรวจออนไลน์พบแรงงานไทยในอิสราเอล 44% ชี้ 'เครื่องซักผ้า' ในที่พักไม่เพียงพอ

ผลสำรวจออนไลน์ของ 'คาฟลาโอเวด' (Kavlaoved Agriculture) องค์กรช่วยเหลือแรงงานต่างชาติในอิสราเอลเมื่อเดือน ม.ค. 2562 จากแรงงานไทยในอิสราเอล 548 คน 56% ระบุมีเครื่องซักผ้าที่นายจ้างจัดให้ในที่พักเพียงพอ อีก 44% ระบุว่าไม่เพียงพอ

ตัวอย่างสภาพที่อยู่อาศัยของแรงงานต่างชาติในอิสราเอล (ภาพเมื่อปี 2556) ที่มาภาพ: Kavlaoved Agriculture

เมื่อเดือน ม.ค. 2562 'คาฟลาโอเวด' (Kavlaoved Agriculture) องค์กรช่วยเหลือแรงงานต่างชาติในอิสราเอล ได้จัดทำ ผลสำรวจออนไลน์เรื่อง ‘เครื่องซักผ้าเพียงพอสำหรับจำนวนแรงงานหรือไม่?’ ซึ่งตามกฎหมายของอิสราเอล นายจ้างจะต้องจะต้องจัดหาให้แรงงานอย่างน้อย 1 เครื่องต่อแรงงาน 8 คน ถึงจะเรียกว่าเพียงพอ

โดยผลสำรวจพบว่ามีผู้ตอบแบบสอบถาม 548 คน ร้อยละ 56 ระบุมีเครื่องซักผ้าที่นายจ้างจัดให้ในที่พักเพียงพอ อีกร้อยละ 44 ระบุว่าไม่เพียงพอ

ทั้งนี้ในประเด็น 'ที่พักอาศัย' นั้นตามกฎหมายอิสราเอล นายจ้างจำเป็นต้องจัดสรรที่พักอาศัยในสภาพที่เหมาะสม ทางเข้า-ออก สะดวกปลอดภัย จัดหาเตียงเดี่ยว ที่นอน หมอน ผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม ตู้ใส่ของใช้ส่วนตัวและเสื้อผ้า ที่พักอาศัยรวมถึง ห้องครัวตู้เย็น เตาหุง ต้ม (แก๊ส หรือ ไฟฟ้า) ที่นั่งสำหรับกินข้าว ห้องส้วม ห้องอาบน้ำ พร้อมน้ำเย็นและน้ำอุ่น (ภายในที่พักหรืออยู่บริเวณใกล้เคียงที่พักอาศัย) ทุกห้องจะต้องมีไฟฟ้าและแสงสว่างเพียงพอ และต้อง มีกุญแจล็อกเพื่อป้องกันข้าวของสูญหาย กรณีเลิกจ้างงาน แรงงานมีสิทธิอยู่ต่อที่พักอาศัยเดิมได้อย่างน้อย 7 วันหลังหยุดทำงาน ซึ่งนายจ้างสามารถหักค่าที่พักอาศัยได้ตามขอบเขตที่กำหนดตามกฎหมายเท่านั้น

คลิปการดัดแปลงเครื่องซักผ้าที่ชำรุดของแรงงานไทยในอิสราเอลที่เผยแพร่เมื่อปี 2560

อิสราเอลรับปากดูแลสวัสดิการ สุขภาพ ที่พักอาศัยของแรงงานไทย

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือน ธ.ค. 2561 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้เดินทางไปยังประเทศอิสราเอล โดยได้ประชุมหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอิสราเอล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สวัสดิการ และบริการสังคมของอิสราเอล ซึ่งผลการหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของอิสราเอล รัฐบาลอิสราเอลได้ผ่านสภาเห็นชอบให้มีการจัดตั้งกองทุนปิซูอิม (Deposit Fund) ที่กำหนดให้นายจ้างจ่ายเงินเข้ากองทุน เมื่อคนงานทำงานครบสัญญาจ้างงาน จะได้รับเงิน 1 เดือนต่อการทำงานครบ 1 ปี นอกจากนี้ รมว.แรงงานของไทยยังได้ฝากเจ้าหน้าที่ดูแลคุ้มครองแรงงานไทยโดยขอให้ดำเนินการต่อนายจ้างที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และให้มีการ Black list ต่อนายจ้างที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายด้วย ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยยืนยันที่จะดูแลสวัสดิการ สุขภาพ ที่พักอาศัยของแรงงานไทย ทั้งนี้ได้เพิ่มเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบนายจ้างให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ส่วนปัญหายาเสพดิดนั้น ซึ่งทั้งสองฝ่ายเข้มงวดตรวจสอบแรงงานไทยทั้งก่อนเดินทางและหลังจากที่เดินทางอิสราเอลแล้ว ส่วนประเด็นสลิปเงินเดือนจะบังคับให้บริษัทจัดหางานจัดทำเป็นภาษาไทยให้คนงานได้รับทราบและเข้าใจ ขณะเดียวกัน รมว.มหาดไทยอิสราเอลรับที่จะพิจารณาในการเพิ่มโควตานำเข้าแรงงานไทยไปทำงานในอิสราเอลเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ส่วนการหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สวัสดิการ และบริการสังคมของอิสราเอล สรุปได้ว่าเนื่องจากหลายปีที่ผ่านมาแรงงานไทยประสบปัญหาการถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้างอิสราเอลและการไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้างในเรื่องค่าจ้าง จึงอยากให้กระทรวงแรงงาน สวัสดิการและบริการสังคมอิสราเอลเร่งหามาตรการเพื่อคุ้มครองสิทธิของแรงงานไทย และบังคับให้นายจ้างปฏิบัติตามสัญญาจ้างอย่างเคร่งครัด การเพิ่มช่องทางร้องทุกข์ของแรงงานไทย การพิจารณาการดำเนินการเพิ่มบทลงโทษและการสั่งปรับนายจ้างที่ฝ่าฝืน รวมทั้งการพิจารณายกเลิกโควตาจ้างแรงงานต่างชาติสำหรับนายจ้างที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และเพิ่มระดับความเข้มงวดกวดขันเกี่ยวกับปัญหายาเสพติด เพื่อให้แรงงานไทยได้รับการคุ้มครองและได้รับสิทธิตามกฎหมายอิสราเอล โดยไม่ต้องเกิดปัญหาฟ้องร้องกับนายจ้าง และยังเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แรงงานไทยที่ทำงานอยู่ต่อไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท