Skip to main content
sharethis

ตอนจบของรายงานพิเศษ “การเมืองพม่า” ว่าด้วยการเจรจาสันติภาพและข้อเสนอสหพันธรัฐตอนจบ พิจารณาสถานการณ์รัฐกะเหรี่ยงหลังการเจรจาสันติภาพที่สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU ใช้การเมืองเชิงบริหารราชการและการกำหนดนโยบายแข่งขันกับรัฐบาลพม่าที่พยายามขยายอำนาจรัฐเข้าไปในพื้นที่ซึ่งไม่เคยยึดครองได้มาก่อน

แกะรอยสันติภาพพม่า (1) การเจรจาที่ชะงักงันและหมากกลยุทธศาสตร์, 7 ม.ค. 2562
แกะรอยสันติภาพพม่า (2) รัฐมอญ: ต่อสู้ต่อรองเพื่อสิทธิในรัฐชนชาติพันธุ์, 21 ม.ค. 2562

  • ตอนจบของรายงานสำรวจสถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า ที่รัฐกะเหรี่ยง ที่แม้ว่าเส้นทางเจรจาสันติภาพจะชะงัก แต่กลุ่มกองกำลังในรัฐกะเหรี่ยงที่เคยแตกแยกรบกันเองเมื่อ 25 ปีที่แล้วก็พยายามปรองดองและสร้างเอกภาพ
  • นอกจากนี้สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU ก็นำเสนอนโยบายและบริหารราชการแข่งขันกับรัฐบาลพม่าที่พยายามขยายอำนาจรัฐเข้าไปในพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่เคยยึดครองได้มาก่อน
  • ขณะเดียวกันขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในรัฐกะเหรี่ยงก็พยายามใช้พื้นที่การเมืองที่เปิดกว้างขึ้นมาเล็กน้อย ในการรณรงค์การเมืองเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากร พร้อมสร้างข้อเสนอการพัฒนาทางเลือกเพื่อต่อรองท้าทายกับรัฐบาลพม่า

พิธีรำลึกวันปฏิวัติกะเหรี่ยงครบรอบปีที่ 70 ที่โกละยอเล (Klo Yaw Lay) ฐานที่มั่นของกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง KNLA กองพลน้อยที่ 7 เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2019 (ที่มา: Facebook/KNUHQ)

พิธีรำลึกวันปฏิวัติกะเหรี่ยงครบรอบปีที่ 70 ที่โกละยอเล (Klo Yaw Lay) ฐานที่มั่นของกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง KNLA กองพลน้อยที่ 7 สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union - KNU) ตรงข้าม อ.ท่าสองยาง จ.ตาก เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2019 ที่ผ่านมาถูกจับตาจากผู้สังเกตการณ์การเจรจาสันติภาพพม่าเป็นพิเศษ โดยเฉพาะท่าทีของผู้นำสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง ภายหลังประกาศระงับการเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลพม่าชั่วคราว และนี่ยังเป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปีที่กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่เคยแตกแยกกันในอดีตกลับมาสวนสนามร่วมกับกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Liberation Army - KNLA) ซึ่งเป็นปีกการทหารของ KNU

กองทัพกะเหรี่ยงกลุ่มที่แยกตัวออกไปและส่งกำลังมาร่วมสวนสนาม ได้แก่ กองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) รัฐกะเหรี่ยง หรืออดีตกองทัพกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตย (DKBA) กลุ่มของซอว์ชิดตู่ ที่แยกตัวไปในปี 1994 สภาสันติภาพแห่งกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KPC) ที่แยกตัวไปในปี 2007 และกองทัพกะเหรี่ยงประชาธิปไตยผู้มีความเมตตา (DKBA/KKO) ซึ่งแยกตัวจากกองทัพกะเหรี่ยง BGF ในปี 2010 [1]

ในแถลงการณ์วันปฏิวัติกะเหรี่ยงปีที่ 70 สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU ยืนยันเป้าหมายการต่อสู้เพื่อสร้าง "รัฐกะเหรี่ยงที่มีสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตน" ที่ซึ่งประชาชนกะเหรี่ยงมีสิทธิในการตัดสินใจและบริหารจัดการ บนพื้นฐานของหลักเสรีภาพ ความเสมอภาค และความยุติธรรม และสร้างสหภาพพม่า "ที่เป็นสหพันธรัฐแบบประชาธิปไตย"

ทั้งนี้สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU เปลี่ยนเป้าหมายจากเดิมในช่วงปลายทศวรรษ 1940 ที่เคยเรียกร้องรัฐเอกราช ต่อมานับตั้งแต่ปี 1976 ได้เปลี่ยนเป็นการเรียกร้องเขตปกครองตนเอง และในช่วงที่รัฐบาลพม่ากลับมาเปิดการเจรจาสันติภาพ สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU ก็เป็นหนึ่งในกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีข้อเสนอให้พม่าปกครองในรูปแบบ "สหพันธรัฐประชาธิปไตย"

จากสงครามกลางเมืองสู่การเจรจาสันติภาพ

สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU สู้รบกับรัฐบาลพม่ามาตั้งแต่ 31 มกราคม 1949 เคยผ่านจุดต่ำสุดของการต่อสู้เมื่อต้องสูญเสียฐานบัญชาการมาเนอปลอว์เมื่อปี 1995 รวมทั้งการแยกตัวออกไปของกองทัพกะเหรี่ยงกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะกองทัพกะเหรี่ยง DKBA ของซอว์ชิดตู่ หรือปัจจุบันคือกลุ่มกะเหรี่ยง BGF ที่เคยร่วมมือกับกองทัพพม่านำกำลังมายึดฐานบัญชาการมาเนอปลอว์ รวมทั้งพื้นที่ยึดครองอื่นๆ ของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU กลายเป็นความบาดหมางร้าวลึกภายในรัฐกะเหรี่ยง

จุดเปลี่ยนของสงครามกลางเมืองในพม่ามาถึง หลังการเลือกตั้ง 7 พฤศจิกายน 2010 ทำให้พม่าได้รัฐบาลกึ่งพลเรือนนำโดยพรรคสหภาพเพื่อความสามัคคีและการพัฒนา (USDP) ที่ตั้งโดยรัฐบาลทหารพม่า

ภายหลังเข้ารับตำแหน่ง เดือนสิงหาคม 2011 เต็งเส่ง ประธานาธิบดีซึ่งเป็นอดีตนายทหารในกองทัพพม่าได้ประกาศว่าต้องการเจรจาสันติภาพกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ทั่วประเทศ โดยกองทัพรัฐฉาน RCSS/SSA ได้เริ่มเจรจาแบบทวิภาคีกับรัฐบาลพม่ามาตั้งแต่ปลายปี 2011 มีลงนามหยุดยิง 2 ฝ่ายในระดับรัฐบาลท้องถิ่น ต่อมาลงนามหยุดยิง 2 ฝ่ายในระดับรัฐบาลสหภาพในปี 2012

ส่วน KNU เริ่มเจรจาแบบทวิภาคีกับรัฐบาลพม่าเช่นกัน โดยลงนามหยุดยิง 2 ฝ่ายในระดับรัฐบาลท้องถิ่นตอนต้นปี 2012 และลงนามหยุดยิง 2 ฝ่ายในระดับรัฐบาลสหภาพในช่วงกลางปีเดียวกัน

โดยภายหลังการลงนามหยุดยิง 2 ฝ่ายของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์หลักอย่างกองทัพรัฐฉาน และ KNU ก็ทำให้กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มอื่นๆ ทยอยเจรจาและลงนามหยุดยิง 2 ฝ่ายกับรัฐบาลพม่า โดยในที่สุดก็นำไปสู่การเจรจาหยุดยิงทั่วประเทศ (Nationwide Ceasefire Agreement-NCA) ระหว่างรัฐบาลพม่ากับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ (Ethnic Armed Organizations-EAOs) 8 กลุ่ม เมื่อ 15 ตุลาคม 2015 และในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2018 ก็มีกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์อีก 2 กลุ่มร่วมลงนามคือ สหภาพประชาธิปไตยลาหู่ (Lahu Democratic Union - LDU) และพรรครัฐมอญใหม่ (New Mon State Party - NMSP) (อ่านตอนที่ 1)

ทั้งนี้เฉพาะในรัฐกะเหรี่ยง นอกจากสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU ที่ลงนามหยุดยิง NCA แล้ว ยังมีกองกำลังกะเหรี่ยงกลุ่มที่แยกตัวออกไปจาก KNU ที่ลงนามหยุดยิง NCA และปัจจุบันกลายเป็นพันธมิตรในทางยุทธศาสตร์ของ KNU ทั้ง กองทัพกะเหรี่ยงประชาธิปไตยผู้มีความเมตตา DKBA/KKO สภาสันติภาพแห่งกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง KPC รวมทั้งกองทัพนักศึกษาอย่าง แนวร่วมนักศึกษาพม่าทั้งมวลเพื่อประชาธิปไตย ABSDF ที่มีฐานที่มั่นส่วนหนึ่งอยู่ในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยง

7 เขตการปกครองของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU

7 เขตการปกครองที่ประกาศโดยสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง เทียบกับพื้นที่ซึ่งรัฐบาลพม่าประกาศเป็นรัฐกะเหรี่ยง (ที่มา: ดัดแปลงจาก Myanmar Information Management Unit (2016) และ Kim Jolliffe/The Asia Foundation (2016)

แม้ในช่วงปลายทศวรรษ 1960 สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU จะสูญเสียพื้นที่ยึดครองสำคัญบริเวณปากแม่น้ำอิระวดี พื้นที่ตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงไปให้กับรัฐบาลพม่า แต่พื้นที่ชายแดนด้านตะวันออกเฉียงใต้ของพม่าก็เป็นพื้นที่เคลื่อนไหวของ KNU มาหลายทศวรรษ

ทั้งนี้ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 7 จังหวัด (District) และมีกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง KNLA 1 กองพลน้อย ดูแลพื้นที่ ประกอบด้วย

KNLA กองพลน้อยที่ 1 จังหวัดดูตะทู (Du Tha Htu District) พม่าเรียกว่า จังหวัดสะเทิม (Thaton District) กินพื้นที่รัฐกะเหรี่ยงบางส่วน และซ้อนกับตอนบนของรัฐมอญ

KNLA กองพลน้อยที่ 2 จังหวัดตออู (Taw Oo District) พม่าเรียกว่า จังหวัดตองอู (Taungoo District) โดยกินพื้นที่รัฐกะเหรี่ยงตอนบน และภาคพะโคด้านตะวันออกเฉียงเหนือบางส่วน

KNLA กองพลน้อยที่ 3 จังหวัดเกลอะ-ลวีทู (Kler Lwee Htuu District) พม่าเรียกว่า เญาง์เลบิน (Nyaunglebin District) กินพื้นที่ภาคพะโคด้านตะวันออกบางส่วน

KNLA กองพลน้อยที่ 4 จังหวัดมะริด-ทวาย (Mergui Tavoy District) กินพื้นที่ภาคตะนาวศรี (Tanintharyi region) ของพม่า

KNLA กองพลน้อยที่ 5 จังหวัดมูตรอ (Mutraw District) พม่าเรียกว่า จังหวัดผาปูน (Hpapun District) กินพื้นที่ตอนบนของรัฐกะเหรี่ยง

KNLA กองพลน้อยที่ 6 จังหวัดดูปลายา (Dooplaya District) กินพื้นที่จังหวัดกอกะเร็ก (Kawkareik District) ทางตอนใต้ของรัฐกะเหรี่ยง และตอนใต้ของรัฐมอญ

KNLA กองพลน้อยที่ 7 จังหวัดผาอัน (Hpa-An District) พม่าเรียกจังหวัดผาอันเช่นกัน โดยกินพื้นที่ตอนกลางของรัฐกะเหรี่ยง

เมื่อแบ่งสภาพการนำภายในสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU ก็จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกนำโดย KNLA กองพลน้อยที่ 7 จังหวัดผาอันที่มี พล.อ.มูตูเซพอ ตู เซพอ (Mutu Say Poe) ประธานสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU และเกวทูวิน (Kwe Htoo Win) เลขาธิการสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU ซึ่ง พล.อ.มูตูเซพอ และเกวทูวิน เป็นฝ่ายริเริ่มการเจรจาสันติภาพมาตั้งแต่ปี 2012 โดยกลุ่ม KNLA กองพลน้อยที่ 7 เสนอว่าเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในรัฐกะเหรี่ยงจะต้องร่วมมือกับรัฐบาลพม่า รวมทั้งปฏิรูปทางเศรษฐกิจในพื้นที่

ขณะที่อีกกลุ่มคือ กลุ่ม KNLA กองพลน้อยที่ 5 จังหวัดมูตรอ นำโดยนอว์ซิปโปรา เส่ง (Naw Zipporah Sein) รองประธานสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU โดยนอว์ซิปโปรา เส่ง ยังเป็นลูกสาวของธัมลา บอว์ (Tamla Baw) อดีตประธานสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU ด้วย โดยแกนนำสำคัญในกลุ่มนี้ยังมี พล.ท.บอจ่อแฮ รองผู้บัญชาการ KNLA ซึ่งเคยเป็นผู้บัญชาการ KNLA กองพลน้อยที่ 5 ซึ่งยังคงควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดมูตรอไว้ได้ กลุ่มนี้ไม่ไว้ใจการร่วมมือกับรัฐบาลพม่า และยังคงให้ความสำคัญกับการเรียกร้องให้พม่าเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบประชาธิปไตย และร่วมมือกับกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ลี้ภัยไปต่างประเทศ [2]

โดยกองทัพพม่าถือว่า KNLA กองพลน้อยที่ 5 เป็นกลุ่มฮาร์ดไลน์เนอร์ เพราะกองทัพพม่ายังไม่สามารถขยายกำลังทางทหารเพื่อยึดครองพื้นที่สำคัญในจังหวัดมูตรอ

การบริหารราชการของ KNU หลังลงนามหยุดยิง

การก่อสร้างสะพานคอนกรีตในพื้นที่จังหวัดมูตรอ พื้นที่ปกครองของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU ภาพถ่ายเดือนพฤษภาคม 2018 ทั้งนี้หลังการหยุดยิง ในพื้นที่ซึ่งสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU ควบคุมพื้นที่ได้ เริ่มมีการตัดถนนและสร้างสะพานหลายจุด

ป้ายทางเข้าโรงเรียนประถมทีซเวนี ในหมู่บ้านเดอปูนุ จังหวัดมูตรอ ในพื้นที่ซึ่งสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU ปกครองพื้นที่ ภาพถ่ายเดือนมกราคม 2014

ภายหลังการลงนามหยุดยิง 2 ฝ่ายในปี 2012 และการลงนามหยุดยิงทั่วประเทศ NCA ในเดือนตุลาคมปี 2015 ทำให้สถานการณ์การเมืองในรัฐกะเหรี่ยงผ่อนคลายลงระดับหนึ่ง เพราะพลเรือนสามารถเข้าร่วมงานรำลึกที่จัดโดยสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU ทั้งวันวีรชน 13 สิงหาคม, วันปฏิวัติกะเหรี่ยง 31 มกราคม และงานปีใหม่กะเหรี่ยงก็สามารถจัดได้อย่างเปิดเผยยิ่งขึ้น

สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU ยังสามารถจัดการประชุมของคณะทำงานในระดับต่างๆ รวมทั้งให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆ กับประชาชนได้มากขึ้น ทั้งยังยังสามารถเคลื่อนไหวเชิญชวนให้ชุมชนในรัฐกะเหรี่ยงตระหนักถึงกระบวนการสันติภาพรวมทั้งเป้าหมายทางการเมือง รวมทั้งสานสัมพันธ์กับองค์กรอื่นๆ ของชาวกะเหรี่ยงทั่วทั้งพม่า และยังสามารถเปิดสำนักงานประสานงานในตัวเมืองซึ่งเป็นพื้นที่ของรัฐบาลได้อีกด้วย

นอกจากนี้ ยังเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU โดยเฉพาะการฟื้นฟูงานบริหารราชการของกลุ่ม โดยในงานวิจัยของ Asia Foundation ในปี 2016 ประเมินว่าสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU ยังคงมีอิทธิพลต่อประชากรในพื้นที่ด้านตะวันออกเฉียงใต้ของพม่าราว 800,000 คน โดยในจำนวนนี้ 250,000-350,000 คน อาศัยอยู่ในพื้นที่บริหารร่วม (mixed-authority areas) ระหว่างสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU กับรัฐบาลพม่า และประชากรมากกว่า 100,000 คน อาศัยอยู่ในพื้นที่ปกครองโดยสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU ฝ่ายเดียว [3]

พื้นที่ซึ่งมักพบการบริหารร่วมได้แก่ จังหวัดผาอัน/KNLA กองน้อยที่ 7, จังหวัดดูปลายา/KNLA กองพลน้อยที่ 6, พื้นที่ตอนใต้ของจังหวัดดูตะทู/KNLA กองพลน้อยที่ 1 และอาจรวมถึงพื้นที่ใต้สุดในการปกครองของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU คือจังหวัดมะริด-ทวาย/KNLA กองพลน้อยที่ 4

ส่วนพื้นที่ซึ่งสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU ปกครองพื้นที่ฝ่ายเดียว อย่างเช่น พื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดมูตรอ/KNLA กองพลน้อยที่ 5, พื้นที่ด้านตะวันออกของจังหวัดเกลอะ-ลวีทู/KNLA กองพลน้อยที่ 3 และพื้นที่ด้านใต้ของจังหวัดตออู/KNLA กองพลน้อยที่ 1 โดยกองทัพพม่ายังคงถือว่าเป็นพื้นที่สีดำ (black areas) และถือว่าชาวบ้านในพื้นที่เป็นสมาชิกของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU โดยมีรายงานการยิง จับกุม และสอบสวนพลเรือนในพื้นที่บ่อยครั้ง

แมัจะประสบภาวะสงครามกลางเมืองมาตลอด 7 ทศวรรษ แต่สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU ยังคงวางระบบบริหารราชการเอาไว้ในพื้นที่ยึดครองทางด้านตะวันออกของพม่า ทั้งระบบจัดเก็บภาษี การอำนวยกระบวนการยุติธรรมขั้นพื้นฐานโดยระบบตำรวจ, การรังวัดและออกโฉนดที่ดิน, การบริหารจัดการป่าไม้และการใช้ที่ดินในรูปแบบต่างๆ การบริการทางสังคมพื้นฐานประกอบด้วย การศึกษา และสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน

ที่น่าสนใจก็คือ กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มอื่นในรัฐกะเหรี่ยง อย่างเช่น กองทัพกะเหรี่ยงประชาธิปไตยผู้มีความเมตตา DKBA/KKO ซึ่งเคยแยกตัวออกไปจากสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU และต่อมาก็ลงนามหยุดยิง NCA เช่นกัน ในปัจจุบันก็อนุญาตให้สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU เข้ามาฟื้นฟูโครงสร้างการบริหารในพื้นที่ซึ่งกองทัพ DKBA/KKO ควบคุมพื้นที่

อนึ่ง กรณีของพื้นที่บริหารร่วมซึ่งมีความทับซ้อนพื้นที่ปกครองกันระหว่างสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU และรัฐบาลพม่า มักพบรูปแบบการปกครองท้องที่คู่ขนานกัน เช่น ในหมู่บ้านมีการตั้งผู้ใหญ่บ้านทั้งฝ่ายสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU และผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรัฐบาลพม่า และชาวบ้านในพื้นที่มักถูกเรียกเก็บภาษีจากทั้งฝ่ายรัฐบาลพม่า และสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU

ในส่วนของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU ยังจัดชุด "กระทรวงเคลื่อนที่" (mobile ministry) เพื่อพบปะสมาชิกชุมชน และบ่อยครั้งเป็นการแอบนัดประชุมในพื้นที่ห่างไกลชุมชน อย่างไรก็ตามแม้ชาวบ้านในพื้นที่บริหารร่วมจะได้รับบริการภาครัฐจากสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU รวมทั้งรักษาความสัมพันธ์ทางการเมืองไว้ด้วยกัน และแม้จะมีจุดยืนสนับสนุนการต่อสู้ของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU แต่พวกเขาก็รู้สึกว่าสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU ก็เป็นกองกำลังอีกกลุ่มที่เข้ามาเรียกร้องสิ่งต่างๆ ในชุมชน โดยชุมชนที่ถูกบริหารทับซ้อนเช่นนี้มีแนวโน้มต้องการให้มีหน่วยงานปกครองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปเลย แทนลักษณะปกครองคู่ขนานเช่นนี้ [4]

ช่วงการเจรจาหยุดยิงยังเป็นโอกาสสำหรับรัฐบาลพม่าในการขยายการปรากฏตัวของ "รัฐบาล" ในพื้นที่รัฐชาติพันธุ์ โดยเฉพาะในรัฐกะเหรี่ยงที่รัฐบาลพม่าต่อสู้ช่วงชิงพื้นที่มาตลอด 7 ทศวรรษ ทั้งนี้รัฐบาลพม่าจัดตั้ง "กิ่งอำเภอ" (Sub-township) 9 แห่งภายในรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งทำให้รัฐบาลพม่าจัดตั้งส่วนราชการเพิ่มเติม รวมทั้งจัดบริการทางสังคมและการพัฒนาในพื้นที่ รวมทั้งมีความพยายามตั้ง "ผู้ใหญ่บ้าน" ฝ่ายรัฐบาลพม่าในหมู่บ้านที่รัฐบาลพม่าไม่เคยเข้าถึงในช่วงก่อนการหยุดยิงด้วย [5]

แข่งขันกับรัฐบาลพม่าด้วยนโยบาย "ที่ดินสำหรับชนพื้นเมือง"

การต่อสู้นโยบายในพื้นที่บริหารร่วมนั้น สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU ยังพยายามบังคับใช้นโยบาย "ที่ดินสำหรับชนพื้นเมือง" (Land to the native people) [6] ซึ่งริเริ่มมาตั้งแต่ปี 1974 และมีการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้นำชุมชน เพื่อปรับปรุงนโยบายมาโดยตลอด โดยฉบับล่าสุดคือเดือนธันวาคม 2015 ซึ่งผ่านการประชุมหารือ 4 ครั้งระหว่างปี 2013-2014 นอกจากนี้หลังประกาศใช้นโยบายที่ดินก็มีการประชุมอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2016

หน่วยงานที่ดูแลนโยบายที่ดิน เป็นหน่วยงานภายใต้สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU ทั้งแผนกกสิกรรมรัฐกะเหรี่ยง (Karen Agriculture Department - KAD) แผนกป่าไม้รัฐกะเหรี่ยง (Karen Forestry Department - KFD) และคณะกรรมการกลางด้านที่ดิน โดยมีการจำแนกที่ดินออกเป็นหลายประเภท ทั้งที่ดินของหมู่บ้าน (Village Lands) ที่ดินเหล่านี้รวมทั้ง ที่ดินกรรมสิทธิร่วมของชุมชน และที่ดินของครอบครัว ซึ่งประเภทหลังนี้สามารถรังวัดและออกเอกสารสิทธิให้แต่ละครอบครัวได้

นอกจากนี้ยังมีการจำแนกที่ดินประเภท "ก่อ" หรือพื้นที่ป่าไม้ตามธรรมเนียมความเชื่อดั้งเดิม, ป่าชุมชน, ป่าสงวน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งตามนโยบายที่ดินของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU ไม่อนุญาตให้ใช้เพาะปลูก

ซอว์อเล็กซ์ จากเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อสันติภาพ (Karen Peace Support Network - KPSN) องค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยง กล่าวว่าที่ผ่านมาสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU มีการจัดทำรังวัด ออกโฉนดให้กับชาวบ้าน เพื่อสร้างหลักประกันว่าชุมชนสามารถใช้ที่ดินได้ และใช้ที่ดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเป็นการปกป้องการใช้ประโยชน์ที่ดินอีกทางหนึ่ง

อนึ่งสถิติจนถึงเดือนพฤษภาคมในปี 2017 หลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU ประกาศใช้นโยบายที่ดิน มีการรังวัดและมอบโฉนดที่ดินแล้ว 68,530 ครอบครัว ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 7 จังหวัด รวมที่ดินที่มีการออกโฉนดราว 372,303 เอเคอร์ หรือ941,554 ไร่ นอกจากนี้ยังออกเอกสารสิทธิรับรองการใช้ที่ดินให้กับ 1,952 ครอบครัว กินพื้นที่ 10,105 เอเคอร์ หรือ 25,555 ไร่อีกด้วย [7]

โดยเมื่อเปรียบเทียบนโยบายที่ดินแล้ว ซอว์อเล็กซ์ระบุด้วยว่า ตามกฎหมายและนโยบายของรัฐบาลพม่า สิทธิการถือครองที่ดินของชาวบ้านไม่ค่อยมั่นคง เพราะรัฐบาลพม่าสามารถเวนคืนที่ดินได้ทุกเมื่อ ทั้งนี้รัฐบาลพม่าให้เพียงสิทธิการใช้เท่านั้น ในขณะทีมีกฎหมายอื่นๆ ที่เอื้อให้รัฐบาลเวนคืนที่ดินได้ใช้ ทั้งกฎหมายการบริหารที่ดินรกร้างว่างเปล่า (VFV LandLaw 2012) กฎหมายที่ดินกสิกรรม (Farmland Act 2012) กฎหมายที่เกี่ยวกับการลงทุน และเขตเศรษฐกิจพิเศษ ฯลฯ ซึ่งทำให้ประชาชนมีโอกาสสูญเสียที่ดินทำกิน หากรัฐบาลใช้กฎหมายเพื่อเวนคืนที่ดินเพื่อโครงการพัฒนาต่างๆ

อย่างไรก็ตามการประกาศใช้นโยบายที่ดินของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU ในพื้นที่บริหารร่วม (mixed-authority areas) มีความยากในการบังคับใช้นโยบายกว่าพื้นที่ๆ สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU บริหารเต็มที่ ซอว์อเล็กซ์ระบุว่า สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU จะทำรังวัด ปักเขตที่ดินได้ตามที่ชาวบ้านร้องขอเท่านั้น และเมื่อสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU มอบโฉนด เจ้าหน้าที่รัฐบาลพม่าก็จะเข้ามาทำรังวัดในที่ดินผืนเดียวกันเช่นกัน รวมทั้งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์

"ในที่นี้จึงเกิดการบริหารทับซ้อนกัน เคยมีกรณีของชุมชนที่เมืองผาอัน รัฐกะเหรี่ยง ที่ได้รับเอกสารสิทธิจากสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU แล้ว แต่ชุมชนยังไม่ได้หนังสือรับรองการทำประโยชน์จากรัฐบาลพม่า เมื่อมีบริษัทเข้ามาลงทุนในพื้นที่ และยื่นขอใช้ประโยชน์ในที่ดินทับซ้อนกับของชุมชน รัฐบาลพม่าก็เลือกให้บริษัทดังกล่าวเข้าทำประโยชน์"

อุทยานสันติภาพสาละวิน: ต่อสู้ด้วยภูมิปัญญาชาวกะเหรี่ยง

ชุมชนชาวกะเหรี่ยงในจังหวัดมูตรอ ประกาศจัดตั้งอุทยานสันติภาพสาละวิน เมื่อ 18 ธันวาคม 2019 (ที่มา: KESAN)

หลังลงนามหยุดยิงทั่วประเทศ NCA ในพื้นที่ซึ่งสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU ปกครองพื้นที่ได้เป็นส่วนใหญ่อย่างจังหวัดมูตรอ ที่มีกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง KNLA กองพลน้อยที่ 5 รับผิดชอบพื้นที่นั้น ได้เปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมและชุมชนเคลื่อนไหวเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และปกป้องทรัพยากรตลอดจนภูมิปัญญาของชุมชน ผ่านการริเริ่มการจัดตั้งเขตอุทยานสันติภาพสาละวิน (Salween Peace Park)

โดยระหว่างปี 2016-2018 เครือข่ายปฏิบัติงานเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคมกะเหรี่ยง (KESAN) ทำงานร่วมกับชุมชนของทั้ง 3 อำเภอในจังหวัดมูตรอ รัฐกะเหรี่ยง และสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU เพื่อสำรวจและจัดการปรึกษาหารือสาธารณะเพื่อจัดตั้งเขตอุทยานสันติภาพสาละวิน

ในเอกสารเผยแพร่ของ KESAN ระบุว่า การจัดตั้งเขตอุทยานสันติภาพสาละวินเกิดขึ้นบนความมุ่งหวัง 3 ประการได้แก่ 1. สันติภาพและสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง 2) บูรณาการเรื่องสิ่งแวดล้อม และ 3) การธำรงรักษาวัฒนธรรม การริเริ่มอุทยานสันติภาพสาละวินยังเป็นไปเพื่อการสร้างสันติภาพ การปกป้องพื้นที่ทางวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยงและความหลากหลายทางชีวภาพจากภัยคุกคาม โดยเชื่อว่าไม่มีวิธีการปกป้องป่าไม้ แม่น้ำ และทรัพยากรธรรมชาติที่ดีที่สุดเท่ากับการปกป้องโดยชุมชน [8]

แผนที่แสดงเขตอุทยานสันติภาพสาละวิน ขนาด 5,485.83 ตร.กม. ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอของจังหวัดมูตรอ (ที่มา: KESAN)

โดยพื้นที่ซึ่งถูกประกาศเป็นอุทยานสันติภาพสาละวิน ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอ 26 ตำบล 348 หมู่บ้าน ของจังหวัดมูตรอ มีประชากรอาศัยอยู่ 67,784 คน พื้นที่อุทยานสันติภาพสาละวินมีขนาด 5,485.83 ตร.กม. หรือมีพื้นที่ 7.6 เท่า เมื่อเทียบกับอุทยานแห่งชาติสาละวิน ใน อ.สบเมย และ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ที่มีขนาด 721.52 ตร.กม.

ชุมชนชาวกะเหรี่ยงในจังหวัดมูตรอเลือกที่จะไม่ใช้รูปแบบ "ป่าสงวน" หรือ "อุทยานแห่งชาติ" ที่ชาวบ้านไม่สามารถใช้ประโยชน์ที่ดินและป่าไม้ได้ พวกเขาออกแบบให้ "อุทยานสันติภาพสาละวิน" มีประเภทการใช้ประโยชน์ที่หลากหลาย โดยพื้นที่กว้าง 5,485.83 ตร.กม. [9] แบ่งเป็น

กลุ่มที่ 1 พื้นที่อนุรักษ์ได้แก่ พื้นที่ป่าชุมชน 27 แห่ง เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า 3 แห่ง ป่าสงวน 4 แห่ง โดยมีพื้นที่รวมกัน 855.94 ตร.กม.

กลุ่มที่ 2 พื้นที่ "ก่อ" หรือพื้นที่ป่าไม้ตามความเชื่อดั้งเดิม มีจำนวน 132 แห่ง กินพื้นที่ 2,527.41 ตร.กม. ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของอุทยานสันติภาพสาละวิน

และกลุ่มที่ 3 เป็นพื้นที่ทำกินแบบไร่หมุนเวียน กินพื้นที่ 2,102.48 ตร.กม. ซึ่งการทำไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยง จะเพาะปลูกในพื้นที่หนึ่งๆ เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วปีถัดไปก็จะไปเพาะปลูกในพื้นที่ใหม่ เพื่อให้พื้นที่เดิมได้ฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์กลับมาเป็นป่า เมื่อเวลาผ่านไป 5 - 9 ปีก็จะกลับมาเพาะปลูกในพื้นที่เดิม

การประกาศจัดตั้งอุทยานสันติภาพสาละวิน ยังเป็นการต่อต้านโครงการก่อสร้างเขื่อนในแม่น้ำสาละวินของรัฐบาลพม่าและนักลงทุนระหว่างประเทศอีกด้วย เนื่องจากในพื้นที่อุทยานสันติภาพสาละวิน ยังซ้อนทับกับพื้นที่วางแผนก่อสร้างเขื่อนในแม่น้ำสาละวินด้านรัฐกะเหรี่ยง 3 แห่ง ได้แก่ 1.เขื่อนฮัตจี (Hat Gyi Dam) ขนาด 1,360 เมกะวัตต์ 2. เขื่อนสาละวินชายแดนไทย-พม่าตอนล่าง หรือ เขื่อนดา-กวิน (Dagwin Dam) ขนาด 729 เมกะวัตต์ และ 3. เขื่อนสาละวินชายแดนไทย-พม่าตอนบน หรือ เขื่อนเว่ยจี (Wei Gyi) กำลังผลิต 4,540 เมกะวัตต์ ซึ่งที่ผ่านมาประชาคมชาวกะเหรี่ยงคัดค้านโครงการก่อสร้างเขื่อนเหล่านี้อย่างแข็งขัน

พล.ท.บอจ่อแฮ รองผู้บัญชาการกองทัพกะเหรี่ยง KNLA กล่าวว่า ตอนแรกเขาเสนอให้ใช้รูปแบบ "อุทยานแห่งชาติ" (National Park) แต่เครือข่ายและเพื่อนๆ เสนอว่าต้องเป็น "อุทยานสันติภาพ" (Peace Park) โดยรูปแบบนี้จะส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อสภาพความเป็นอยู่ที่ดีและการพัฒนา และสร้างความมั่นคงในการถือครองที่ดินให้ประชาชนด้วย ซึ่งน่าจะเป็นรูปแบบที่ดีกว่า [10]
ทั้งนี้ผลการทำประชามติของประชากรในจังหวัดมูตรอ 75.1% เห็นชอบให้มีการเขตอุทยานสันติภาพสาละวิน โดยมีการประกาศจัดตั้งอุทยานสันติภาพสาละวินเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2018

"เราต้องการอาศัยอยู่อย่างมีสันติภาพ มีสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเองอย่างเต็มที่ในดินแดนของเรา อย่างที่ชาวกะเหรี่ยงเคยอยู่อาศัยกันมา เราต้องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมรอบชุมชนเราต่อไป มากไปกว่านั้น เราต้องการอนุรักษ์และส่งเสริมภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของเรา ที่่ส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น" ซอว์เทนเดอร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดมูตรอกล่าวระหว่างการเปิดอุทยานสันติภาพสาละวิน [11]

โดยขั้นตอนต่อไปในเดือนมีนาคมและเมษายน 2019 จะมีการประชุมสมัชชาใหญ่เขตอุทยานสันติภาพสาละวิน เพื่อเลือกตั้งตัวแทนสมัชชาใหญ่ 106 คน และคัดเลือกคณะกรรมการบริหารเขตอุทยานสันติภาพสาละวิน 11 คนอีกด้วย

ซอว์อเล็กซ์จากเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อสันติภาพ (Karen Peace Support Network - KPSN) กล่าวว่า ข้อริเริ่มการประกาศเขตอุทยานสันติภาพสาละวิน สามารถเป็นทางเลือก และทางออกสำหรับการแก้ไขปัญหาทางการเมืองของพม่าได้ด้วย "รัฐบาลพม่าจำเป็นต้องเข้าใจว่าความริเริ่มนี้มีอยู่จริงในพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ พวกเขาต้องรับรอง และไม่ควรนำหน่วยงานบริหารปกครองของตนเข้ามาในพื้นที่ เพื่อให้ชุมชนกะเหรี่ยงสามารถดำรงชีวิตตามวิถีของตนได้อย่างเต็มที่ ภายใต้หน่วยงานบริหารในปัจจุบันคือสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU"

"สิ่งที่รัฐบาลและชุมชนนานาชาติควรทำก็คือ ควรเข้ามาสนับสนุนและให้หลักประกันว่า โครงสร้างการบริหารปกครองที่ดำรงอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์จะต้องเติบโตต่อไป และแข็งแกร่งขึ้น คนที่อยู่ในพื้นที่ก็สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข และมีส่วนสนับสนุนกระบวนการสันติภาพ เพื่อสร้างอนาคต สร้างประเทศที่มีความผาสุข นี่คือสิ่งที่รัฐบาลพม่าควรทำ ไม่ใช่ขยายพื้นที่บริหาร จนไปทำลายความเป็นปกติสุขของชุมชน" ซอว์อเล็กซ์กล่าว

ชีวิตชายขอบหลังพม่าเปลี่ยนไม่ผ่าน (1): แม่ตาวคลินิก ความท้าทายสาธารณสุขชายแดน, 1 พ.ย. 2561
ชีวิตชายขอบหลังพม่าเปลี่ยนไม่ผ่าน (2): ผู้ลี้ภัยชายแดนไทย-รัฐฉาน, 8 พ.ย. 2561
ชีวิตชายขอบหลังพม่าเปลี่ยนไม่ผ่าน (ตอนจบ): ผู้อพยพชาวกะเหรี่ยงในดินแดนตนเอง, 14 พ.ย. 2561

การขยายกำลังของกองทัพพม่า และชนวนที่ทำให้กระบวนการสันติภาพสะดุด

ทั้งนี้การประกาศเขตอุทยานสันติภาพสาละวิน ก็กลายเป็นแข่งขันทั้งในทางยุทธศาสตร์และทางนโยบายกับรัฐบาลพม่าและกองทัพพม่า ซึ่งแม้พื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดมูตรอ จะถูกปกครองโดยสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU แต่กองทัพพม่ายังคงพยายามรักษากำลังทางทหารไว้ตามป้อมค่ายยุทธศาสตร์ในพื้นที่อำเภอลูทอ ทางตอนบนของจังหวัดมูตรอ และเมื่อต้นปี 2018 มีความพยายามซ่อมแซมถนนยุทธศาสตร์เส้นทางเชื่อมต่อกับภาคพะโค เพื่อใช้ส่งกำลังบำรุงและเป็นเส้นทางลาดตระเวนของทหารพม่า จนนำไปสู่การปะทะกับทหารกะเหรี่ยง

เฉพาะในเดือนมกราคมถึงพฤศจิกายนปี 2018 สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU ปะทะกับกองทัพพม่า 57 ครั้ง โดยการปะทะเกือบทั้งหมดเกิดขึ้นในจังหวัดมูตรอ รัฐกะเหรี่ยง พื้นที่ของทหารกะเหรี่ยง KNLA กองพลน้อยที่ 5 สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU จากกรณีทหารพม่าเสริมกำลังทหารเพื่อฟื้นฟูถนนยุทธศาสตร์เชื่อมฐานทัพพม่า 2 แห่งเข้าไปในพื้นที่จังหวัดมูตรอ และเกิดการปะทะกับทหารกะเหรี่ยง KNLA ระหว่างเดือนมีนาคมถึงเมษายน 2018 และทำให้มีผู้อพยพกว่า 2,400 คนในพื้นที่ 12 หมู่บ้าน

ซ้ำร้าย ซอว์โอ้มู ผู้นำชุมชนในพื้นที่อำเภอลูทอ จังหวัดมูตรอ ผู้มีบทบาทในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนภูมิปัญญาชาวกะเหรี่ยง และเป็นหนึ่งในผู้ผลักดันอุทยานสันติภาพสาละวินคนสำคัญ ถูกทหารพม่ายิงสังหารเมื่อ 5 เมษายนปี 2018 ในช่วงที่พม่าเสริมกำลังทหารเพื่อตัดถนนเข้ามาในพื้นที่อำเภอลูทอด้วย

สถานการณ์สู้รบในอำเภอลูทอ ดำเนินต่อไป จนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2018 มีการหารืออย่างไม่เป็นทางการระหว่าง พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย (Min Aung Hlaing) ผู้บัญชาการกองทัพพม่า และคณะผู้แทนจากสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงนำโดย พล.อ.มูตูเซพอ (Mutu Say Poe) ประธานสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU ที่กองบัญชาการกองทัพภาคย่างกุ้ง ในนครย่างกุ้ง ทำให้กองทัพพม่าชะลอการก่อสร้างถนนและถอนการเสริมกำลัง อย่างไรก็ตามชาวบ้านที่อพยพไปทั้ง 12 หมู่บ้านยังไม่กล้ากลับมาทำกินในพื้นที่เนื่องจากยังไม่ไว้วางใจในสถานการณ์ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

แต่แล้ว สถานการณ์เจรจาสันติภาพระหว่างกองทัพพม่าและสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU ไปสู่จุดชะงักงัน หลังการประชุมระหว่างรัฐบาลพม่ากับผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์เมื่อเดือนตุลาคม 2018 ที่กรุงเนปิดอว์ โดย พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของพม่าประกาศคัดค้าน "สิทธิแยกตัว" ออกจากสหภาพของบรรดารัฐกลุ่มชาติพันธุ์ รวมทั้งยืนยันว่ารูปแบบของกองทัพจะต้องเป็น "กองทัพเดียว" โดยผลของการยืนยันดังกล่าวทำให้สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU และกองทัพรัฐฉาน RCSS/SSA ประกาศถอนตัวจากการเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลพม่าเป็นทางการชั่วคราว เหลือเพียงช่องทางหารืออย่างไม่เป็นทางการ

คณะกรรมการผู้ลี้ภัย "นี่ไม่ใช่เวลาที่ดีที่จะเดินทางกลับ"

ผลของกระบวนกระบวนสันติภาพที่หยุดชะงัก ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยบริเวณชายแดนไทย-พม่า 9 แห่ง ที่ขึ้นทะเบียนกับ UNHCR ที่ปัจจุบัน (มกราคม 2019) มีประชากรในค่ายทั้งหมด 97,613 คน [12] 

ที่ผ่านมาระหว่างปี 2005-2018มีผู้ลี้ภัยจากค่ายผู้ลี้ภัยชายแดนไทย-พม่ายื่นคำร้องขอลี้ภัยไปประเทศที่ 3 ทั้งหมด 132,797 คน โดยจำนวนผู้ยื่นคำร้องขอลี้ภัยไปประเทศที่ 3 เริ่มชะลอตัวนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2014 หลังจากที่ประเทศที่เคยรับผู้ลี้ภัยเป็นหลักอย่างสหรัฐอเมริกายุติโครงการรับผู้ลี้ภัยไปตั้งถิ่นฐาน [13], [14]

และจากปี 2005 จนถึงเดือนธันวาคมปี 2018 มีผู้ลี้ภัยไปตั้งถิ่นฐานยังประเทศที่ 3 แล้ว 108,093 คน ขณะที่ยังมีผู้รอผลตอบรับ 24,704 คน นั่นหมายความว่าผู้ลี้ภัยที่เหลือมีทางเลือกไม่มาก

เฮซอ หนึ่งในคณะกรรมการผู้ลี้ภัยกะเหรี่ยง (Karen Refugee Committee - KRC) องค์กรที่ผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงตั้งขึ้นเพื่อดูแลสวัสดิภาพความเป็นอยู่ของผู้ลี้ภัยในค่ายชายแดนไทย-พม่าฝั่งตรงข้ามรัฐกะเหรี่ยงซึ่งขึ้นทะเบียนกับ UNHCR จำนวน 7 แห่ง กล่าวว่า เมื่อพิจารณาทั้งสถานการณ์ในรัฐกะเหรี่ยง รวมทั้งเรื่องความจำเป็นพื้นฐาน 5 ประการเพื่อการตั้งถิ่นฐาน ได้แก่ 1. ความปลอดภัย 2. วิถีชีวิตความเป็นอยู่ 3. สิทธิในที่ดินทำกิน 4. การบริการพื้นฐานและการศึกษา รวมทั้ง 5. การออกบัตรประจำตัว เขาเห็นว่านี่ไม่ใช่เวลาที่ดีที่ผู้ลี้ภัยจะกลับไป

"คณะกรรมการผู้ลี้ภัยไม่สนับสนุนให้ใครเดินทางกลับภูมิลำเนาในเวลานี้" เฮโซกล่าว

เขาระบุด้วยว่าตลอดปี 2018 สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ มีโครงการส่งเสริมให้ผู้อพยพกลับไปตั้งถิ่นฐานในรัฐกะเหรี่ยง โดยเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับพม่า มีกำหนด 2 ครั้งในรอบปี 2018 ครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม มีผู้สมัครร่วมโครงการ 300 คน ครั้งที่ 2 คาดหมายว่าจะจัดในเดือนตุลาคมปี 2018 อย่างไรก็ตามหลังกระบวนการเจรจาสันติภาพชะงัก รัฐบาลพม่าระงับกระบวนการส่งผู้ลี้ภัยกลับเข้าไปตั้งถิ่นฐานในรัฐกะเหรี่ยงตามกำหนดเดือนตุลาคม 2018

โดยล่าสุดกระบวนการดังกล่าวถูกเลื่อนออกไป 4 เดือน มาเป็นสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนกุมภาพันธ์ 2019 แทน (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ในด้านการศึกษาของผู้ลี้ภัย คณะกรรมการผู้ลี้ภัยกะเหรี่ยงด้านการศึกษา (Karen Refugee Committee – Education Entity -KRCEE) บริหารจัดการโรงเรียนในค่ายผู้ลี้ภัยตามแนวชายแดนไทย-พม่า รวม 64 แห่งซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ค่ายผู้ลี้ภัยชายแดนไทย-พม่าจำนวน 7 แห่ง โดยในจำนวนนี้มีสถาบันการศึกษาระดับวิทยาลัย 13 แห่งด้วย การจัดการเรียนการสอนภายในค่ายผู้ลี้ภัยตามแนวชายแดนสามารถทำได้ต่อเนื่องและปลอดภัยกว่าพื้นที่ขัดแย้งในรัฐกะเหรี่ยง ด้วยเหตุนี้ผู้ปกครองจึงมักส่งบุตรหลานมาเรียนในภายค่ายผู้ลี้ภัยด้วย [15], [16]

ผลกระทบด้านกลับช่วงที่รัฐบาลพม่าเปิดประเทศทำให้องค์กรผู้บริจาคจากต่างประเทศตะวันตกตัดงบประมาณช่วยเหลือพื้นที่ชายแดน หรือย้ายไปให้ความช่วยเหลือภายในพื้นที่ประเทศพม่าแทน กรณีโรงเรียนในค่ายผู้อพยพก็มีเงื่อนไขของผู้บริจาคต่างประเทศว่าจะให้ความช่วยเหลือในระดับวิทยาลัยต่อเนื่องในปี 2019 หากมีการย้ายสถาบันการศึกษาระดับวิทยาลัยกลับเข้าไปในรัฐกะเหรี่ยง

เฮโซระบุว่า การประเมินของผู้เกี่ยวข้อง หากต้องย้ายวิทยาลัยที่จัดการเรียนการสอนในค่ายผู้ลี้ภัยกลับเข้าไปในรัฐกะเหรี่ยง วิทยาลัยทุกแห่งต้องอยู่ในพื้นที่ที่บริหารโดยสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU หรือบางแห่งอาจอยู่ในพื้นที่บริหารร่วมระหว่างสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU กับรัฐบาลพม่า แต่แน่นอนว่าจะไม่ย้ายวิทยาลัยเข้าไปในพื้นที่ที่บริหารโดยรัฐบาลพม่า

"อย่างไรก็ตาม พวกเราคิดว่ายังไม่ใช่เวลาที่จะกลับไป" เฮโซย้ำ เขาให้เหตุผลด้วยว่าคณะทำงานที่เกี่ยวข้องยังอยู่ระหว่างเตรียมการว่าจะย้ายวิทยาลัยที่อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยเข้าไปในรัฐกะเหรี่ยงอย่างไร เรื่องนี้ยังคงอยู่ระหว่างการหารือ ทำให้ไม่สามารถตอบได้ว่าจะมีการย้ายแน่นอนในปี 2019

การตัดสินใจว่าจะย้ายหรือไม่ย้ายก็อยู่ที่ผู้ดำเนินงานในวิทยาลัย แม้จะมีเงื่อนไขจากองค์กรบริจาคต่างประเทศดังกล่าว เพราะสถาบันการศึกษาเป็นของชุมชนผู้ลี้ภัย

"ถ้าเมื่อไหร่ย้ายวิทยาลัยกลับไป พ่อแม่ผู้ปกครองก็ต้องกลับไปพร้อมนักเรียน นี่เป็นสิ่งเดียวกัน และเราคิดว่ามันน่าจะดี ถ้าคนได้กลับ เขาควรได้กลับไปพร้อมกับชุมชน ไม่ใช่ว่าสถาบันการศึกษาไปตั้งที่หนึ่ง แต่ชุมชนไปตั้งอีกที ดังนั้นเราคิดว่าที่ไหนมีชุมชน ที่นั่นก็จะต้องมีโรงเรียน มีวิทยาลัย" เฮโซกล่าว
ที่ผ่านมาคณะกรรมการ KRCEE ได้หารือกับแผนกการศึกษารัฐกะเหรี่ยง (Karen Education Department - KED) ซึ่งเป็นหน่วยงานของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU เพื่อเตรียมการหากในอนาคตเยาวชนในค่ายผู้ลี้ภัยต้องกลับไปศึกษาต่อในรัฐกะเหรี่ยง พวกเขาจะได้เข้าสู่โรงเรียนในระบบของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU แต่สำหรับนักเรียนการกลับไปศึกษาต่อในโรงเรียนภายใต้รัฐบาลพม่าอาจเป็นไปได้ยาก เนื่องจากวุฒิการศึกษาจากโรงเรียนภายในค่ายผู้ลี้ภัยยังไม่ถูกรับรองจากรัฐบาลพม่า

เรื่องนี้เฮโซเสนอว่า รัฐบาลพม่าเองควรเปิดช่องทางเพื่อให้เยาวชนในค่ายผู้ลี้ภัยสามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาของรัฐบาลกลางได้ โดยอาจจะกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำเพื่อรับนักเรียนเหล่านี้เช่น สอบผ่านวิชาที่กำหนดเช่น ภาษาพม่า คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ฯลฯ

ชะตากรรมผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ ท่ามกลางสถานการณ์สันติภาพผันผวน

หมู่บ้านอิตูท่า ซึ่งถือเป็นค่ายผู้อพยพภายในประเทศ (IDPs) ริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน ในรัฐกะเหรี่ยง

ซอว์โซคู ผู้นำชุมชนของค่ายผู้อพยพภายในประเทศ (IDPs) อิตูท่า

นอกจากค่ายผู้ลี้ภัยตามแนวชายแดนไทย-พม่าแล้ว ภายในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยงก็ยังมีค่ายผู้อพยพภายในประเทศ (IDPs) จำนวนไม่น้อย หนึ่งในนั้นคือ อิตูท่า (Ei Thu Hta) ค่ายผู้อพยพริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน ห่างจากท่าเรือบ้านแม่สามแลบไปทางทิศเหนือ 20 กม. อิตูท่านับเป็นค่ายผู้อพยพภายในประเทศ ภายในจังหวัดมูตรอ รัฐกะเหรี่ยง โดยสถิติในเดือนตุลาคมปี 2017 มีประชากรอยู่ที่ค่ายผู้อพยพอิตูท่า 2,673 คน

ค่ายผู้อพยพอิตูท่าก่อตั้งในปี 2006 หลังจากชาวบ้านกะเหรี่ยง 700 คนอพยพหลังจากกองทัพพม่าสู้รบกับทหารกะเหรี่ยง กองพลน้อยที่ 2 ในพื้นที่ตอนเหนือของรัฐกะเหรี่ยง ผู้อพยพส่วนมากมาจากจังหวัดตออูู, ดูตะทู, เกลอะ-ลวีทู รวมทั้งจังหวัดมูตรอ ในรัฐกะเหรี่ยง

เดิมค่ายแห่งนี้ตั้งใจจะเปิดเพียงชั่วคราว แต่จำนวนผู้ลี้ภัยก็เพิ่มขึ้นหลังการปะทะด้วยกำลังอาวุธยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง โดยในช่วงปี 2006-2008 เคยมีผู้อพยพมาหลบภัยที่ค่ายแห่งนี้สูงถึง 4,500 คน และจำนวนผู้อพยพเริ่มลดลงหลังปี 2011 หลังการเจรจาหยุดยิงระหว่างกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์และรัฐบาลพม่า และนั่นนำมาสู่การตัดความช่วยเหลือขององค์กรผู้บริจาคต่างประเทศ เพราะเห็นว่าสถานการณ์คลี่คลายแล้ว
ทั้งนี้ค่ายผู้อพยพอิตูท่าถูกทยอยตัดความช่วยเหลือด้านอาหารมาเป็นลำดับ จากที่เคยได้ข้าวสาร 16 กิโลกรัมต่อคนต่อเดือนในปี 2006-2008 ก็ค่อยๆ ลดเหลือ 12 กิโลกรัมต่อคนต่อเดือนในปี 2010 จนกระทั่งถูกตัดความช่วยเหลือสิ้นเชิงในเดือนตุลาคมปี 2017 [17]

"ข้าวสารอาจไม่พอเหมือนปีก่อนๆ ก็รู้สึกลำบากใจมากขึ้น หนักใจมากขึ้น เพราะเราจะประกอบอาชีพปกติก็ทำไม่ได้" ซอว์โซคู ผู้นำชุมชนค่ายผู้อพยพอิตูท่าวัย 35 ปี กล่าว

ทั้งนี้คณะกรรมการค่ายผู้ลี้ภัยผู้อิตูท่า และผู้ว่าราชการจังหวัดมูตรอได้ประกาศระดมความช่วยเหลือฉุกเฉิน และองค์กรต่างประเทศอย่าง Burma Link ก็ประกาศระดมความช่วยเหลือด้วย นอกจากนี้ยังมีกลุ่มอาสาสมัครในประเทศไทยที่ระดมความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยที่ค่ายอิตูท่าด้วย แต่ก็ยังไม่สามารถบรรเทาสถานการณ์ได้

ซอว์โซคูให้ข้อมูลด้วยว่า มีผู้อพยพบางส่วนที่ออกไปจากค่ายหลังถูกตัดความช่วยเหลือ บ้างก็หาลู่ทางไปอาศัยอยู่กับญาติพี่น้อง หรือไปขอสร้างบ้านใกล้ๆ ญาติพี่น้องในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยง แต่น้อยมากที่จะมีคนกลับไปอยู่ภูมิลำเนาเดิม

นอกจากนี้การกลับถิ่นฐานภูมิลำเนาของผู้อพยพในค่ายอิตูท่าที่เหลือก็เป็นไปได้ยาก เพราะแม้สถานการณ์สู้รบจะเบาบางลงไปแล้ว แต่ที่อยู่อาศัยที่ดินทำกินเดิมของพวกเขาก็กลายเป็นพื้นที่ยึดครองของกองทัพพม่า

"รัฐบาลพม่าพยายามพูดถึงสันติภาพ ความสงบร่มเย็น แต่ประชาชนรู้ดีว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความเดือดร้อน เป็นความคับแค้น แล้วรัฐบาลพม่าก็พูดไม่ตรงมาโดยตลอด" ซอว์โซคูสะท้อน

ขณะที่คณะกรรมการผู้ลี้ภัยกะเหรี่ยง (KRC) อย่างเฮโซ เห็นว่าสำหรับอนาคตของผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงในฝั่งไทย ไม่ควรทำให้มีเพียงทางเลือกเดียวคือกลับไปตั้งถิ่นฐานที่รัฐกะเหรี่ยง "รัฐกะเหรี่ยงก็เป็นประเทศภูมิลำเนาอีกทางเลือกหนึ่ง แต่ก็ควรมีอีกทางเลือก เพราะเราก็กังวลกลับผู้ลี้ภัยที่ไม่อยากกลับ เช่น ผู้ลี้ภัยรุ่นที่ 2 ที่เป็นประชากรมากกว่า 50% ในค่ายผู้ลี้ภัย พวกเขาเกิดที่เมืองไทย หรือโตที่เมืองไทย เราต้องคิดถึงพวกเขาด้วย เราพูดแต่เรื่องให้เขากลับไป แต่ว่าเขาไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับพม่า พวกเขาก็พูดว่าเราอาศัยที่นี่ เราเกิดที่นี่"

โดยเฮโซเสนอว่าในทางนโยบาย รัฐบาลไทยอาจต้องพิจารณาเรื่องการกำหนดสถานะบุคคลสำหรับเด็กที่โตมาในค่ายผู้ลี้ภัย ในพิจารณาวิธีที่จะทำให้พวกเขาเหล่านี้เติบโตและสามารถเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยได้

000

การขับเคี่ยวอำนาจพม่า-กลุ่มชาติพันธุ์
และความหวังไปสู่ปลายทางสหพันธรัฐ

ผศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงสถานการณ์เจรจาสันติภาพในพม่าที่เกิดความชะงักงันว่า ... ต้องกลับไปพิจารณาที่ความปรารถนาของชนชั้นนำในกองทัพพม่า ที่ต้องการเห็นกองทัพเดียว โดยเห็นว่าพื้นฐานสำคัญที่สุดคือการรวมเป็นหนึ่ง (unification) ต้องไม่ลืมว่าหลักสำคัญแห่งชาติ 3 ประการในสมัยรัฐบาลทหารพม่าก็คือ ไม่ให้สหภาพต้องแตกแยก ต้องไม่ทำให้ความสามัคคีในชาติแยกสลาย ทำให้อธิปไตยมั่นคงถาวร

Soft-liner และ Hardliner ในการเจรจาสันติภาพ

เวลาเรามองคู่เจรจาสันติภาพ จะพบว่ามันมีความกระจัดกระจายหลากหลาย แต่ถ้ามองในทฤษฎีเกม ทางรัฐศาสตร์ ถ้ามองฝ่ายรัฐบาลก็จะมีพวก soft-liner กับ hardliner คือพวกที่เจรจากับฝั่งตรงข้ามได้ กับพวกที่เน้นการใช้กำลัง ถ้าเราจะพูดเรื่องปกครอง พวก hardliner อาจพูดถึงการรวมศูนย์อำนาจ (centralization) อย่างเต็มที่ แต่พวก soft-liner อาจจะคิดถึงรูปแบบผสม

แต่เมื่อดูกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ก็แบ่งออกเป็นสองกลุ่มได้เหมือนกัน คือกลุ่มที่ radical สายปฏิวัติรุนแรง มุ่งแบ่งแยกดินแดน ระดมมวลชนในป่าเขาเพื่อต่อสู้เต็มที่ กับสายกลาง moderate ที่ยอมประนีประนอมเพื่อเจรจาแลกเปลี่ยนกับรัฐบาล

ทีนี้ก็ต้องมาดูว่าการเจรจาสันติภาพ ค่ายไหน มุ้งไหนเข้ามามีบทบาทสำคัญ ซึ่งที่กล่าวเอาไว้ว่ากระบวนการเจรจาสันติภาพยังมีความก้าวหน้าก็เพราะว่า ฝ่ายที่เป็น soft-liner กับ moderate เข้ามามีบทบาทในการเจรจาสันติภาพมากขึ้น กลุ่มพวกนี้เข้ามาในกลไกของกระบวนการสันติภาพ และมีการดึงกลุ่มพวกนี้เข้ามาเจรจากันมากขึ้นเรื่อยๆ

โดยในสนามรบในป่าเขาพวก radical ยังเอาจริงเอาจังกันอยู่ แล้วผลการสู้รบก็แปลงผลมาให้ค่าในการเจรจาบนโต๊ะเจรจา เพราะคนที่ได้เปรียบในการทำศึกก็จะมีอำนาจการเจรจาต่อรองนี่คือการมองแบบคร่าวๆ ตามทฤษฎีเกม (Game theory)

เมื่อเอากรอบการมองเช่นนี้ ไปจับกับสถานการณ์ในพม่าจริงๆ จะพบว่าสถานการณ์ซับซ้อนกว่านั้น ถ้าตามทฤษฎีพวก hardliner ก็จะใช้กำลังอย่างเดียว ปฏิเสธการเจรจา เหมือนพวก radical แต่ในกรณีของพม่านั้นแปลกมาก พวกสายแข็งสายเหยี่ยวก็ไม่ได้ปฏิเสธการเจรจาเสียทีเดียว ถ้าเรามอง พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผบ.สส.กองทัพพม่าว่าเขาเป็นสายแข็ง เป็นคนคุมกำลัง อย่างไรก็ตามเขาก็ไม่ได้ปฏิเสธการเจรจา เพราะเขายอมเดินเข้ามาร่วมประชุมด้วย แต่ว่าเขาอาจจะคุยอะไรหลายๆ อย่างได้ไม่เต็มที่ มีการหักหน้าคู่เจรจาบ้าง มีวอล์กเอาท์เดินออกจากที่ประชุมบ้าง แล้วไปเล่นเกมปะทุสงคราม (War escalation) ข้างนอก แต่ว่าเขาก็ไม่ปฏิเสธ ไม่ปิดประตูเจรจาเสียทีเดียว

เช่นเดียวกับกลุ่มชาติพันธุ์สาย radical ถ้าต้องการรูปแบบการปกครองแบบสหพันธรัฐแบบเข้มข้นไปเลย อย่างพรรคก้าวหน้าแห่งชาติกะเรนนี (KNPP) ที่เป็นแกนนำใน UNFC ซึ่ง UNFC ถือเป็นพวก radical ที่ผลักดัน federal movement แบบจริงจัง แต่สุดท้ายพวกนี้ก็เข้ามาร่วมเจรจา ยอมรอมชอมบ้างกับรัฐบาลพม่าซึ่งนี่คือความก้าวหน้า

เพราะฉะนั้นแม้ว่าระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์และกองทัพพม่าจะมีการตีความเรื่องกองทัพในอนาคตแตกต่างกัน ตีความเรื่องการออกแบบรูปแบบของรัฐแตกต่างกันออกไป แต่ว่าก็ไม่ได้แยกขั้วสุดๆ ไปเสียทีเดียว โดยเริ่มมีการรอมชอมประนีประนอมมากขึ้น แต่ว่าก็แอบไปแข่งขันกันข้างนอกแล้วก็กลับมาเล่นเกมเจรจาอีก เป็นไปรอบๆ ไปแบบนี้ ซึ่งในอนาคตต้องจับตาดู

โดยเกมการต่อรองในระบบการเมืองสันติภาพก็มีทริกของมัน ถ้าเล่นกันนอกวงเจรจาสันติภาพก็คือใช้กำลังรบ นี่ก็เป็นการเมืองสัจจะนิยมหรือ Realism แบบดิบๆ เลย คือการเจรจาภายใต้เกมยุทธศาสตร์ที่มีความลึกซึ้ง และมีหลายเกม

อำนาจที่รัฐบาลพม่าสยายไม่ถึง เปิดช่องให้กลุ่มชาติพันธุ์สร้างระบบบริหารราชการ

ต่อประเด็นการแข่งขันในทางบริหารราชการและนโยบายระหว่างสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU และรัฐบาลพม่าในรัฐกะเหรี่ยงนั้น ดุลยภาคเห็นว่า สิ่งนี้สะท้อนลักษณะอย่างหนึ่งของรัฐเมียนมาคือ รัฐที่มีอธิปไตยครอบคลุมหน่วยดินแดนและประชากรที่ยังไม่สมบูรณ์ นั่นก็คือ อำนาจอยู่เฉพาะในเมืองหลวงกับอาณาบริเวณรายรอบ แล้วก็กองทัพพม่าก็แผ่ขึ้นไปตั้งกองบัญชาการ กองทัพภาค แล้วก็ค่อยๆ กำหนดวงที่เป็นฐานบัญชาการ แล้วก็ขยายอำนาจเป็นภาคๆ ส่วนๆ ไป

อย่างไรก็ตามการขยายอำนาจนั้นกลบกินพื้นที่ต่างๆ ไม่มิด เมื่ออำนาจจะมีช่องโหว่ และเปิดพื้นที่ให้กับกองกำลังติดอาวุธที่พิทักษ์ชนชาติพันธุ์นั้นๆ เข้าไปสร้างระบบบริหารราชการได้ ซึ่งตรงนี้เป็นลักษณะพิเศษมาก เพราะฉะนั้นในพื้นที่รัฐชาติพันธุ์จึงมีลักษณะที่ยันกันและทับซ้อน (overlap) กัน
ในกรณีของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU หรือกลุ่มอื่นที่เล่นการเมืองเรื่องการจัดสรรที่ดิน และป่าไม้ ผมคิดว่าก็เป็นความชาญฉลาดอย่างหนึ่ง แต่จริงๆ แล้วนโยบายเช่นนี้ก็มีมานานแล้วเหมือนกัน มีมานานในแง่ที่ว่าตอนที่อำนาจรัฐเมียนมายังโบกสะบัดคลุมพื้นที่ทั้งหมดไม่เต็มที่เหมือนปัจจุบัน

ส่วนเรื่องของความแข็งแกร่งของรัฐ พม่าไม่ใช่รัฐที่อ่อนแอ (weak state) แต่เป็นรัฐที่ค่อนข้างแข็งแกร่งในเชิงอำนาจของส่วนกลางหรือการบังคับใช้ความรุนแรงจากส่วนกลางที่ส่งผ่านจากเมืองหลวงเข้าไปพื้นที่รายรอบต่างๆ มากขึ้น รวมถึงเรื่องการบังคับใช้กฎหมายการจัดสรรที่ดิน รัฐบาลพม่าเริ่มคุมมากขึ้น แต่ว่าในบางพื้นที่กองกำลังติดอาวุธชนชาติพันธุ์ซึ่งเขาพัฒนาตัวแบบบริหารราชการมาก่อนที่อำนาจส่วนกลางจะเข้ามา ทั้งนี้การบริหารราชการของกลุ่มชาติพันธุ์ก็ฝังรากหรือ embedded ลงไปในรัฐและสังคมในพื้นที่นั้นด้วย เช่นกรณีของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU ที่มีการพัฒนาระบบยุติธรรม มีการใช้กฎหมายข้อบังคับที่มีรากฐานมาจากประเพณีหรือวัฒนธรรมของกะเหรี่ยง ใช้หลักสัมพันธ์กับชุมชนและธรรมชาติ และยังมีการตั้งผู้ตัดสินคดีความจากสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU ด้วย ซึ่งเขาก็ทำตรงนี้ได้ดีอย่างไรก็ตามยังคงจะมีข้อจำกัดบางอย่างเช่น ขาดแคลนบุคลากร ไม่มีผู้พิพากษาหรือเจ้าหน้าที่ในรูปแบบทางการเหมือนรัฐบาลพม่า

อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องพิจารณาก็คือ เมื่อพม่าเปิดประเทศมากขึ้น สิ่งหนึ่งที่ตามมาและไม่อาจมองข้ามได้เลยก็คือ  "ชาตินิยมทรัพยากร" (Resource Nationalism) ซึ่งมีหลายประเทศที่พลังเคลื่อนไหวตรงนี้มันโดดเด่น ก็คือที่ใดก็ตามที่มีความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ สินแร่ ทรัพยากร แล้วเมื่อมันเปิดกับเศรษฐกิจแบบทุนนิยมมากขึ้นหรือมีนักลงทุนเข้ามามากขึ้น หรือแม้กระทั่งอำนาจจากรัฐส่วนกลางแผ่เข้าไปในพื้นที่ท้องถิ่นมากขึ้น ก็จะทำให้คนพื้นเมืองหรือกองกำลังชาติพันธุ์ที่คุมพื้นที่อยู่รู้สึกว่ามันไม่เป็นธรรม มีการเอารัดเอาเปรียบ กดขี่ทางทรัพยากร เมื่อนั้นมันจะมีการปะทุขึ้นมาของชาตินิยมทรัพยากร

กรณีของรัฐกะฉิ่นเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องของเหมืองแร่ เขื่อนกั้นแม่น้ำอิระวดี ที่มีพลังต่อต้าน กรณีของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในรัฐกะเหรี่ยง ก็เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องของการเคลื่อนไหวเพื่อจัดสรรที่ดินหรือพิทักษ์ป่าไม้ ซึ่งเป็นธรรมดาของพลังชาตินิยมที่ต้องการหวงแหนทรัพยากรเอาไว้ให้เยาวชนรุ่นหลัง นอกจากนี้ยังใช้ขบวนการเคลื่อนไหวนี้เพื่อต่อรองทางอำนาจได้ด้วย

ปลายทางสันติภาพพม่าและแนวคิดสหพันธรัฐนิยมจะล้มเหลวหรือไม่

ต่อคำถามว่าปลายทางการเจรจาสันติภาพจะล้มเหลว หรือไปไม่ถึงการลงนามสนธิสัญญาเพื่อสร้างสหพันธรัฐหรือไม่ ดุลยภาค เห็นว่าการออกแบบสหพันธรัฐในพม่านับเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ที่มีวิวัฒนาการความเคลื่อนไหวมาพอสมควร แต่ก็มีช่วงจังหวะที่ถูกทำให้จมหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ โดยปีทองที่สุดคือในปี 1947 คือในสมัยประชุมปางโหลง และรัฐธรรมนูญ 1947 กับการใช้ประชาธิปไตยรูปแบบรัฐสภาช่วงที่พม่าได้รับเอกราชใหม่ๆ ก็มีองค์ประกอบของประชาธิปไตยแบบสหพันธรัฐ

อย่างไรก็ตามสภาพเช่นนี้อยู่ได้ไม่นาน เนื่องจากความต้องการแบ่งสรรอำนาจของกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ได้รับการตอบสนองจากส่วนกลาง และเมื่อการเรียกร้องในช่องทางการเมืองปกติทำไม่ได้ กลุ่มชาติพันธุ์ก็จับอาวุธต่อสู้ ทำให้เกิดสภาพสงครามกลางเมือง และประชาธิปไตยระส่ำระสาย ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อเอกภาพและการดำรงอยู่ของรัฐ สุดท้ายทำให้กองทัพพม่าก้าวเข้ามาเรื่อยๆ ตั้งแต่รูปแบบรัฐบาลการรักษาการณ์ปี 1958 จนถึงรัฐประหารปี 1962 โดยนายพลเนวินนับแต่นั้นเป็นต้นมา พม่าก็ใช้รูปแบบรัฐเดี่ยว และสหพันธรัฐก็หายไปจากประวัติศาสตร์หลายปี  จนกระทั่งการร่างรัฐธรรมนูญ 2008 เริ่มมีการก่อรูปจัดสถาบันการปกครองในรัฐคล้ายๆ แบบสหพันธรัฐ มีรัฐบาล 2 ระดับคือรัฐบาลท้องถิ่น และรัฐบาลที่เนปิดอว์ และมีสภา 2 ระดับ มีสิ่งที่ดูเหมือนว่าเริ่มมีการแบ่งสรรอำนาจออกมาจากส่วนกลาง

อีกเรื่องที่ทำให้บรรยากาศของการเจรจากับกลุ่มชาติพันธุ์และข้อเสนอสหพันธรัฐดีขึ้น มีการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย มีการเลือกตั้ง บรรยากาศการพูดคุยเสรีมากขึ้นกว่าในอดีต เพราะฉะนั้นแรงบรรจบกันของ conflict management,  constitutional engineering และ democratization ทำให้เกิดการฟื้นคืนขึ้นมาของการพูดคุยเรื่องสหพันธรัฐที่เคยจมดับหายไปในอดีต  กลายเป็นว่าปัจจุบันมีการเจรจาเรื่องสหพันธรัฐ

ทั้งนี้แม้รัฐธรรมนูญพม่าปี 2008 ถูกมองว่ายังคงมีความเป็นเผด็จการ อย่างไรก็ตามเงื่อนไขดีขึ้นกว่าสมัยที่พม่าปกครองโดยรัฐบาลทหารเบ็ดเสร็จ แต่ก็ดีกว่าสมัยการปกครองของทหาร สถาบันทางการเมืองงอกงาม และซับซ้อนมากขึ้น กลายเป็นสหพันธรัฐแบบอ่อนๆ ในเชิงโครงสร้าง บวกกับปัจจัยด้านประชาธิปไตย การเจรจาหยุดยิง การบริหารจัดการความขัดแย้ง ก็ทำให้การเจรจาสันติภาพเข้ารูปเข้ารอยมากขึ้น สิ่งนี้ทำให้กระแสเรียกร้องการสร้างสหพันธรัฐ (federalism) เบ่งบาน นี่คือย่างก้าวสำคัญของพม่า แม้ว่าจะมีการเจรจาไปรบไป มีการชะงักงันในบางจังหวะของกระบวนการสันติภาพ แต่ในภาพรวมมันยังดีกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับสมัยรัฐบาลทหาร

000

กะเหรี่ยงและ 7 ทศวรรษของการเรียกร้องอิสรภาพ

ทหารสวนสนามของกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง KNLA กองพลน้อยที่ 5 ในงานรำลึก 65 ปีวันปฏิวัติกะเหรี่ยง ที่บ้านเดอปูนุ จังหวัดมูตรอ รัฐกะเหรี่ยง เมื่อ 31 มกราคม 2014

สำหรับการต่อสู้เพื่อเรียกร้องดินแดนปกครองอิสระของชาวกะเหรี่ยง อาจต้องย้อนกลับไปตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ นำโดยกลุ่มเจ้าฟ้ารัฐฉานจัดประชุมปางโหลงเพื่อกำหนดอนาคตหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ นำมาซึ่งการลงนามในสัญญาปางโหลงระหว่างผู้แทนของสภาสหพันธรัฐเทือกเขา (Supreme Council of the United Hill People - SCOUHP) ชาวกะฉิ่น ฉาน และชิน กับนายพลอองซาน ผู้นำในรัฐบาลเฉพาะกาลของพม่าจากสันนิบาตเสรีภาพประชาชนต่อต้านฟาสซิสต์ (AFPFL) เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 1947 [18] โดยวันดังกล่าวถูกระลึกถึงว่าเป็น "วันสหภาพ" และเป็นวันหยุดในปฏิทินพม่าจนถึงทุกวันนี้ แต่กับกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงซึ่งส่งตัวแทนสังเกตการณ์ 4 คน และไม่ได้ร่วมลงนามในสัญญา พวกเขาเองมีเป้าหมายทางการเมืองที่แตกต่างออกไป

สำหรับชาวกะเหรี่ยงซึ่งมีประชากรทั้งพม่าราว 9.34% ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1940 นั้น พวกเขาถือว่ามีบทบาทสำคัญในรัฐบาลอาณานิคมอังกฤษ เพราะในกองทหารอาณานิคมอังกฤษ มีทหารกะเหรี่ยงประจำการอยู่ 2,797 คนหรือคิดเป็น 35.03% ของกองกำลังประจำการทั้งหมด [19] ข้อเรียกร้องของพวกเขาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็คือประเทศเอกราชสำหรับชาวกะเหรี่ยง

วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 1947 พวกเขาก่อตั้งสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union - KNU) ทั้งยังเรียกร้องเขตปกครองอิสระของตนเอง กินพื้นที่บริเวณรัฐกะเหรี่ยงในปัจจุบันและยังผนวกพื้นที่ซึ่งมีประชากรชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่ ทั้งภาคตะนาวศรี ภาคอิระวดี เขตอินเส่งรอบชานเมืองย่างกุ้ง และเขตยุทธศาสตร์อื่นในภาคพะโค ทว่าข้อเสนอนี้ถูกปฏิเสธจากรัฐบาลเฉพาะกาลของพม่า

ภายหลังจากสหภาพพม่าได้รับเอกราชเมื่อ 4 มกราคม 1948 อีกหนึ่งเดือนถัดมาคือในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 1948 ชาวกะเหรี่ยงเดินขบวนประท้วงใหญ่ในย่างกุ้งเรียกร้องการก่อตั้งรัฐกะเหรี่ยง

ต่อมาอีก 2 เดือน พรรคคอมมิวนิสต์พม่าก็ก่อกบฏ รัฐบาลสหภาพพม่าในเวลานั้นยังต้องพึ่งพากองกำลังทหารประจำสหภาพซึ่งประกอบขึ้นจากทหารเชื้อสายชาติพันธุ์ที่ประจำการมาตั้งแต่สมัยอาณานิคม ร่วมกับทหารเชื้อสายพม่าที่จัดตั้งโดยรัฐบาล AFPFL โดยที่ทหารระดับผู้บัญชาการส่วนมาก อาทิ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อ.สมิธ ดูน (Smith Dun) ผู้บัญชาการทหารบก พลจัตวา ซอว์ จาโด (Saw Kyar Doe) และผู้บัญชาการทหารอากาศ น.ท. ซอว์ชิโช (Saw Shi Sho) ทั้งหมดมีเชื้อสายกะเหรี่ยง ยกเว้นผู้บัญชาการทหารเรือ น.อ.ขิ่นหม่องโป่ (Khin Muang Bo) ที่มีเชื้อสายพม่า

อย่างไรก็ตามเกิดความขัดแย้งภายในกองทัพสหภาพพม่าระหว่างทหารกลุ่มชาติพันธุ์และทหารเชื้อสายพม่า นอกจากนี้รัฐบาลสหภาพพม่าเองก็มีความระแวงต่อกองทัพของสหภาพพม่าในช่วงแรกที่ประกอบด้วยผู้บัญชาการและทหารส่วนใหญ่ที่มาจากกลุ่มชาติพันธุ์โดยเฉพาะกะเหรี่ยง จึงมีการจัดตั้งหน่วยพิเศษซิตหวุ่นดั่น (Sitwundan) ซึ่งประกอบด้วยทหารเชื้อสายพม่า โดยให้พลจัตวาเนวิน (ยศในเวลานั้น) เป็นผู้บัญชาการ เพื่อลดการครอบงำของทหารกลุ่มชาติพันธุ์

ขณะเดียวกันกองกำลังติดอาวุธของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ในนามองค์กรป้องกันแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Defence Organisation - KNDO) ก็เริ่มยึดพื้นที่สำคัญหลายแห่งมาตั้งแต่กลางปี 1948 สมทบด้วยทหารเชื้อสายกะเหรี่ยงในรัฐบาลสหภาพพม่าที่แปรพักตร์มาเข้ากับฝ่ายกะเหรี่ยง

วันที่ 27 มกราคม 1949 พ.อ.มินหม่อง ผู้บัญชาการกองพันกะเหรี่ยงไรเฟิลของรัฐบาลสหภาพพม่า เข้ายึดเมืองตองอู ซอว์แจ็ค นายทหารเรือกะเหรี่ยงโจมตีเมืองพะสิม เมืองท่าสำคัญในภาคอิระวดี นอกจากนี้ในวันที่ 28 มกราคม 1949 ทหารกะเหรี่ยงยังเข้ายึดเมืองผิ่วในภาคพะโค

เหตุการณ์นี้ทำให้ในวันที่ 30 มกราคม 1949 รัฐบาลสหภาพพม่าประกาศให้องค์กร KNDO เป็นองค์กรนอกกฎหมาย และอีก 2 วันต่อมาก็สั่งปลดทหารเชื้อสายกะเหรี่ยงออกจากกองทัพสหภาพพม่า นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีอูนุยังสั่งปลดนายทหารกะเหรี่ยงออกจากตำแหน่งในกองทัพสหภาพพม่าทั้งหมด รวมทั้งปลด พล.อ.สมิธ ดูน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเชื้อสายกะเหรี่ยง แทนที่ด้วยพลจัตวาเนวินซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำของ AFPFL แทน

ในที่สุดการเผชิญหน้าก็ขยายวงเป็นการสู้รบกันระหว่างกองทัพกะเหรี่ยงกับกองกำลังของรัฐบาลพม่าทางตอนเหนือชานกรุงย่างกุ้งเมื่อวันที่ 31 มกราคม 1949 ในช่วงแรกหลายเมืองของพม่าถูกกองกำลังกะเหรี่ยงยึดเอาไว้ ต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนกว่าจะยึดคืนได้ วันที่ 14 มิถุนายน 1949 สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงจะประกาศจัดตั้งรัฐกอทูเล (Kawthoolei) เป็นเขตปกครองอิสระของกะเหรี่ยง ผลของสงครามกลางเมืองยังคงกินเวลายาวนานมาจนถึงปัจจุบัน [20]

สงครามเพื่ออิสรภาพยาวนาน สู่ยุคแห่งการแตกแยก

แม้ในช่วงปลายทศวรรษ 1960 สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU จะสูญเสียพื้นที่ยึดครองสำคัญบริเวณปากแม่น้ำอิระวดี พื้นที่ตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงไปให้กับรัฐบาลพม่า แต่พื้นที่ชายแดนด้านตะวันตกเฉียงใต้ของพม่าก็เป็นพื้นที่เคลื่อนไหวของ KNU มาหลายทศวรรษ โดยแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 7 จังหวัด (District) และมีกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยงดูแลพื้นที่ 1 กองพลน้อยต่อ 1 จังหวัด

นอกจากนี้นับตั้งแต่ปี 1976 สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU ยังเปลี่ยนเป้าหมายทางการเมืองจากเดิมคือการเรียกร้องรัฐเอกราช ก็ได้เปลี่ยนเป็นการเรียกร้องเขตปกครองตนเอง

ขณะที่ในพื้นที่ของจังหวัดผาอัน KNLA กองพลน้อยที่ 7 มีเมืองมาเนอปลอว์ (Manerplaw) ซึ่งถือว่าเป็นฐานที่มั่นของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU ริมฝั่งแม่น้ำเมย ตรงข้าม อ.ท่าสองยาง จ.ตาก และยังกลายเป็นพื้นที่หลบภัยของกลุ่มนักศึกษาพม่า หลังการปราบปรามนักศึกษาและประชาชนในเดือนสิงหาคมปี 1988 หรือเหตุการณ์ 8888

จนกระทั่งเกิดความแตกแยกในสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU มีการแยกตัวของกองทัพกะเหรี่ยงกลุ่มต่างๆ

เริ่มจาก กองทัพกะเหรี่ยงพุทธเพื่อประชาธิปไตย (Democratic Karen Buddhist Army - DKBA) นำโดยซอว์ชิดตู่ที่แยกตัวออกจากสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU ในเดือนธันวาคมปี 1994 และลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลพม่า ทั้งนี้กองทัพกะเหรี่ยง DKBA ร่วมกับกองทัพพม่าโจมตีฐานที่มั่นสำคัญของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU จนสูญเสียเมืองมาเนอปลอว์เมื่อเดือนมกราคมปี 1995 ตามมาด้วยการสูญเสียพื้นที่สำคัญอีกหลายแห่ง จนมีชาวกะเหรี่ยงหลายแสนคนอพยพข้ามมาในพื้นที่ชายแดนไทย

ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 1997 ทูมูเฮ (Thu Mu Heh) ผู้บัญชาการ KNLA กองพัน 16 ขึ้นตรงกับกองพลน้อยที่ 6 ในพื้นที่จังหวัดดูปลายา นำกำลังพลเข้ามอบตัวกับทางการพม่า และได้ตั้งกลุ่มกองทัพกะเหรี่ยงสันติภาพ (Karen Peace Army - KPA) มีสถานะเหมือนกลุ่ม อส. ที่ถูกกำกับห่างๆ โดยกองทัพพม่า

ในเวลาต่อมากองทัพพม่าสนธิกำลัง 26 กองพัน ร่วมมือกับกองทัพกะเหรี่ยง KPA ได้เปิดศึกครั้งใหญ่จนสามารถยึดพื้นที่ปกครองของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU ในพื้นที่จังหวัดดูปลายาได้ในปีนั้น ผลจากการที่ทหารพม่าบังคับโยกย้ายชาวบ้านเข้ามารวมกันในหมู่บ้านยุทธศาสตร์ เพื่อให้ควบคุมได้ง่าย รวมทั้งการบังคับเกณฑ์แรงงาน จึงทำให้มีผู้อพยพชาวกะเหรี่ยงนับหมื่นรายหนีข้ามมาที่ค่ายผู้ลี้ภัยบ้านนุโพ อ.อุ้มผาง จ.ตาก [21]

สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU ยังแยกออกเป็นอีกกลุ่มย่อย เมื่อ พลจัตวาเถ่งหม่อง ในเวลานั้นเป็นผู้บัญชาการ KNLA กองพลน้อยที่ 7 ไปเจรจากับกองทัพพม่าโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU จึงถูกขับออกจากสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU ไปตั้งกลุ่มใหม่เป็น สภาสันติภาพแห่งกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU/KNLA Peace Council หรือ KPC) เมื่อ 31 มกราคมปี 2007 โดยลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลพม่า และเคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่จังหวัดดูปลายา หรือที่พม่าเรียกว่ากอกะเร็ก รัฐกะเหรี่ยง

ความแตกแยกกองทัพของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงดำเนินมาหลายทศวรรษ นอกจากนี้ยังประสบปัญหาการนำหลังนายพลโบเมี๊ยะ อดีตประธานสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU เสียชีวิตด้วยวัย 79 ปี ในเดือนธันวาคมปี 2006 และ พะโด้มานฉ่าหล้าปัน เลขาธิการสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU วัย 64 ปี ก็ถูกลอบสังหารเสียชีวิตเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2008

จนกระทั่งก่อนการเลือกตั้ง 7 พฤศจิกายน 2010 รัฐบาลทหารพม่าในเวลานั้นกำหนดเส้นตายให้กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่ลงนามหยุดยิงเปลี่ยนสถานะจากกลุ่มหยุดยิงไปเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (Border Guard Force - BGF) และกองกำลังรักษาดินแดน (Home Guard Force - HGF) ก่อนเส้นตายการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายนปี 2010 โดยกองกำลัง BGF/HGF จะเป็นกองกำลังทหารกลุ่มชาติพันธุ์ที่เคยลงนามหยุดยิง ที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของกองทัพพม่า ใช้ชุดฝึก อาวุธ และงบประมาณจากกองทัพพม่า และมีผู้บังคับการระดับกองพันมาจากกองทัพพม่า

โดยกองทัพกะเหรี่ยง DKBA ที่นำโดยซอว์ชิดตู่เป็นกองกำลังหยุดยิงของกลุ่มชาติพันธุ์แรกๆ ที่ยอมเปลี่ยนสถานะไปเป็นกองกำลัง BGF โดยกลายเป็นกองกำลัง BGF กองพันที่ 1011 ถึง 1022 ยกเว้นกองทัพกะเหรี่ยง DKBA กองพลน้อยที่ 5 นำโดยซอว์ละเพว หรือที่รู้จักกันในชื่อ "นะคะมวย" ซึ่งไม่ยอมเปลี่ยนสถานะเป็นกองกำลัง BGF [22]

ส่วนกองทัพกะเหรี่ยงสันติภาพ KPA เปลี่ยนสถานะไปเป็นกองกำลัง BGF กองพัน 1023

วันที่ 7 พฤศจิกายน 2010 ตรงกับวันเลือกตั้งทั่วไปที่จัดโดยรัฐบาลทหารพม่า กองทัพกะเหรี่ยง DKBA กลุ่มของซอว์ละเพว ได้บุกถล่มเมืองเมียวดี เมืองการค้าชายแดนไทย-พม่า ตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก และเมืองพญาตองซู ที่ด่านเจดีย์สามองค์ ตรงข้าม อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี
กองกำลังกะเหรี่ยง DKBA กลุ่มซอว์ละเพวที่ไม่ยอมเปลี่ยนสถานะไปเป็นกองกำลัง BGF นี้เองได้พัฒนาความสัมพันธ์กับสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU โดยในปี 2010 และ 2011 มีการสนธิกำลังร่วมกันเพื่อโจมตีกองทัพพม่าหลายครั้ง

โดยกองทัพกะเหรี่ยง DKBA กลุ่มซอว์ละเพว ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น กองทัพกะเหรี่ยงประชาธิปไตยผู้มีความเมตตา/องค์กรกะเหรี่ยงโกละทูบอ (Democratic Karen Benevolent Army/Karen Klo Htoo Baw  หรือ DKBA/KKO) โดยลงนามหยุดยิงรอบใหม่กับรัฐบาลพม่าเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2011 และลงนามหยุดยิงทั่วประเทศ NCA ในเดือนตุลาคมปี 2015 [23]

ขณะที่ สภาสันติภาพแห่งกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง KPC ตัดสินใจไม่เปลี่ยนสถานะไปเป็นกองกำลัง BGF ทำให้สัญญาหยุดยิง 2 ฝ่ายกับรัฐบาลพม่าระงับไป และหวนกลับไปรวมกลุ่มกับกองทัพ DKBA กลุ่มซอว์ละเพว และสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU โจมตีกองทัพพม่าในช่วงปลายปี 2010 ถึงปี 2011 จนกระทั่งมีการลงนามหยุดยิง 2 ฝ่ายรอบใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2012 และลงนามหยุดยิงทั่วประเทศ NCA ในเดือนตุลาคมปี 2015 [24]

 

อ้างอิง

[1] Myanmar's Karen Rebel Groups Reunite for Anniversary, VOA, February 4 2019
[2] Kim Jolliffe. CEASEFIRES, GOVERNANCE AND DEVELOPMENT: THE KAREN NATIONAL UNION IN TIMES OF CHANGE. (Policy Dialogue Brief Series No.16) The Asia Foundation, December 2016
[3] Kim Jolliffe. 2016 (ibid.)
[4] Kim Jolliffe. 2016 (ibid.)
[5] Kim Jolliffe. 2016 (ibid.)
[6] Karen National Union and Central Land Committee. Kawthoolei Land Policy, briefer "Land to the native people", Burma Library, 2018
[7] Karen National Union and Central Land Committee. 2018 (ibid.)
[8] KESAN Media team. Statement on the Declaration of the Salween Peace Park’s Establishment, 18 December 2018
[9] KESAN and Mutraw District, KNU. Salween Peace Park: A vision for an indigenous Karen landscape of human-nature harmony in southeast Myanmar. (2018)
[10] Celebrating the Salween Peace Park Proclamation, YouTube/KESAN, 25 December 2018
[11]  YouTube/KESAN (ibid.)
[12] Regugees in Thailand, UNHCR, 31 January 2019
[13] Resettlement of Myanmar Refugees from Temporary Shelters in Thailand, UNHCR, 31 December 2018
[14] US Ends Group Resettlement for Burmese Refugees on Thai Border, The Irrawaddy, 30 January 2014
[15] Mariko Shiohata. EDUCATION FOR DISPLACED POPULATIONS IN KAREN STATE, MYANMAR, JICA, 2018
[16] Karen Refugee Committee Education Entity. Fact Sheet, Higher Education, March 2015
[17] Ei Tu HTa, Situation Overview, Burma Link, December 2017
[18] Panglong Conference, Wikipedia
[19] Karen Conflict, Wikipedia. refer to Callahan, M., Making Enemies. War and Statebuilding in Burma. Cornell University Press: London/Ithaca, 2003, p. 42
[20] Karen Conflict, Wikipedia. (ibid.)
[21] DOOPLAYA UNDER THE SPDC: Further Developments in the SPDC Occupation of South-Central Karen State, KHRG, November 1998
[22] Kim Jolliffe. 2016 (ibid.)
[23] Democratic Karen Benevolent Army, Myanmar Peace Monitor
[24] KNU/KNLA Peace Council, Myanmar Peace Monitor

หมายเหตุ: ขอขอบคุณ คุณสุภาพรรณ พลังศักดิ์, จิระนันท์ หาญธำรงวิทย์, มุทิตา เชื้อชัง และเนตรชนก แดงชาติ ที่ช่วยเหลือในการถอดเทปบทสัมภาษณ์ และขอขอบคุณ คุณนวพล คีรีรักษ์สกุล และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช ที่ช่วยเหลือประสานงานในการลงพื้นที่ภาคสนามสำหรับรายงานข่าวชิ้นนี้

เกี่ยวกับภาพปก: เยาวชนชาวกะเหรี่ยงรอต้อนรับผู้มาร่วมงานรำลึกวันปฏิวัติกะเหรี่ยงครบรอบปีที่ 65 ที่บ้านเดอปูนุ จังหวัดมูตรอ รัฐกะเหรี่ยง เมื่อ 31 มกราคม 2014

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net