การปรองดองของทุน-ชุมชน(จบ): แผนธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ความหวังหรือกระดาษเปล่า

พามาดูแผนพัฒนาอภิมหาโปรเจ็คในพื้นที่ภาคอีสาน วาดไว้อลังการโดยรัฐบาลทหาร ขาดการมีส่วนร่วมของ “ประชาชน” ในทุกกระบวน ความขัดแย้งใหญ่จึงกำลังจะปะทุ ระหว่างรัฐ-ทุน กับประชาชนในพื้นที่ที่จะเจอโครงการสารพัด ท่ามกลางเครื่องมือผุพังที่ใช้ไม่ค่อยได้ เราพบเจอเครื่องมือใหม่ที่อิงกับนานาชาติ เป็นหน้าเป็นตาของประเทศ ของภาคธุรกิจ นั่นคือ “แผนปฎิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน” แผนที่ว่านี้จะทำให้เกิดการปรองดอง ให้สิทธิต่างๆ เดินทางไปพร้อมผลกำไรได้ตามคาดหวังหรือไม่ กระบวนการยกร่างเป็นอย่างไร ผลลัพธ์ที่ออกมาเป็นอย่างไร อย่าเพิ่งรีบตัดสินหากยังไม่ได้ลองอ่าน

ภาคส่วนที่หายไปในแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย

แผนการพัฒนาเศรษฐกิจด้านอุตสาหกรรมในอนาคตของไทยถูกวางไว้หมดแล้วภายใต้รัฐบาลทหาร ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EEC) และการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจร (Bio Hub) ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ มาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย พ.ศ. 2561-2570 แล้วเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2561 เป้าหมายหลักคือการปรับปรุง และทบทวนกฎหมาย ระเบียบต่างๆ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็น Bio Hub of ASEAN โดยวางพื้นที่เป้าหมายหรือพื้นที่นำร่องไว้ 3 พื้นที่ คือ พื้นที่ในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ EEC (มูลค่าการลงทุน 9,740 ล้านบาท) พื้นที่เขตภาคเหนือตอนล่างรอยต่อระหว่างจังหวัดนครสวรรค์กับจังหวัดกำแพงเพชร (มูลค่าการลงทุน 51,000 ล้านบาท) และพื้นที่เขตภาคอีสานตอนกลางในจังหวัดขอนแก่น (มูลค่าการลงทุน 35,030 ล้านบาท)

มีการออกมามาตรการต่างๆ เพื่อเร่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายเพื่อเอื้อให้เกิดการผลักดันให้เกิดพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพได้จริง ทั้งการแก้ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาล เปิดช่องให้สามารถนำอ้อยไปผลิตเป็นสินค้าชนิดอื่นได้ นอกจากน้ำตาล และส่งเสริมให้มีการจัดสรรวัตถุดิบที่เพียงพอ (เพิ่มพื้นที่การปลูกอ้อย) และเปิดช่องให้สามารถตั้งโรงงานชีวภาพได้ในพื้นที่ห่างจากโรงงานอื่น 50 กิโลเมตรโดยได้รับความยินจากโรงงานที่ตั้งอยู่ก่อนหน้า ทั้งกำหนดให้เพิ่มบัญชีประเภทกิจการอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ ในบัญชีประเภทโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อแยกอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพออกจากอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์  และกรมโยธาธิการและผังเมืองจะต้องเร่งปรับปรุงผังเมืองรวม เพื่อสนับสนุนการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ

ทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อผลักดันให้ไทยกลายเป็น Bio Hub of ASEAN ภายในปี 2570 

หากมองลงมาในพื้นที่ภาคอีสาน รูปธรรมของการพัฒนาเพื่อตอบรับกับการเป็น Bio Hub of ASEAN ที่เห็นได้ชัดคือ การที่คณะกรรมการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลซึ่งผูกขาดด้วยผู้ประกอบการรายใหญ่ 6 กลุ่ม สามารถตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ หรือย้ายหรือขยายกำลังผลิตไปตั้งยังที่แห่งใหม่ ในปี 2558 บวกกับโรงงานที่ได้รับอนุญาตตามมติ ครม. ปี 2554 ซึ่งทำให้ภาคอีสานกำลังจะมีโรงงานน้ำตาลซึ่งขยายกำลังผลิต และโรงงานน้ำตาลเกิดใหม่เพิ่มขึ้น 29 แห่ง ทุกโครงการมาพร้อมกับโรงไฟฟ้าชีวมวล

ขณะที่แผนพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 - 2564) ได้วางแนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับโครงข่ายระบบการคมนาคมขนส่งและพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศ รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงและข้อตกลงกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่กำลังมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วมาเสริมสร้างกิจกรรมการพัฒนาใหม่ๆ เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ คือ พัฒนาอีสานให้เป็น “ศูนย์กลางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง” รวมทั้งระบุถึงการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) ให้เป็นฐานรายได้ใหม่ที่สำคัญของภาคอีสานด้วย

สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย ฉบับที่ 3 ที่วางเป้าหมายให้ประเทศไทยสามารถยกระดับโลจิสติกส์ของประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางทางการค้า การบริหาร และ การลงทุนในภูมิภาค โดยพัฒนาระบบขนส่งทางราง สร้างศูนย์บริการโลจิสติกส์ อาทิ ท่าเรือบก (Dry Port) ศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้า ฯลฯ ในแนวเส้นทางยุทธศาสตร์ที่สามารถเชื่อมโยงกับฐานการผลิตอุตสาหกรรม

สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เองก็เตรียมพัฒนาโครงการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) ในพื้นที่ ต.ม่วงหวาน อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ขนาดพื้นที่ประมาณ 500 - 700 ไร่ ซึ่งมีศักยภาพสามารถพัฒนาเป็นท่าเรือบก และ Logistic Park เพื่อดึงสินค้าส่งผ่าน (Transit Cargo) เข้ามาใช้บริการ และสามารถรองรับสินค้าจากจังหวัดใกล้เคียงโดยรอบ เช่น อุดรธานี กาฬสินธุ์ มุกดาหาร สกลนคร และ หนองคาย

นอกจากนี้ยังมี ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดพื้นที่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศและมาตรการสนับสนุนการประกอบกิจการโรงงานในพื้นที่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ พ.ศ. 2561 ลงวันที่ 2 พ.ย. 2561 ที่กำหนดให้ ต.สีคิ้ว ต.ลาดบัวขาว ต.มิตรภาพ ต.กุดน้อย และต.หนองหญ้าขาว อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา และ พื้นที่เทศบาลต.น้ำพอง เทศบาลต.ลำน้ำพอง เทศบาล ต.ม่วงหวาน เทศบาล ต.กุดน้ำใส อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น เป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ซึ่งหมายความว่าผู้ประกอบการจะได้รับสิทธิประโยชน์อีกมากมาย[1]

ทั้งหมดนี้คือ ส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนานภาคอุตสาหกรรมที่ถูกวางเอาไว้โดยรัฐบาลทหาร ซึ่งไม่มีความยึดโยงกับประชาชน ไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมจัดทำนโยบาย ทั้งที่มันจะส่งผลกระทบต่อภาคส่วนต่างๆ อย่างกว้างขว้าง

ยิ่งเมื่อได้ฟังเสียงจากประชาชนในพื้นที่ภาคอีสาน โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น พื้นที่ซึ่งบริษัทน้ำตาลมิตรผลได้ซื้อที่ดินจำนวน 4,000 ไร่เพื่อเตรียมตั้งนิคมอุตสาหกรรมชีวภาพ (เวลานี้ยังคงติดล็อคที่กฎหมายผังเมืองซึ่งยังทำให้ไม่สามารถดำเนินการก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมได้ อยู่ระหว่างการที่กระทรวงอุตสาหกรรมจะเพิ่มบัญชีประเภทกิจการอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพในบัญชีประเภทโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อแยกอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพออกจากอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ เพื่อเปิดช่องให้สามารถตั้งโรงงานอุตสาหกรรมชีวภาพ หรือโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตรสามารถตั้งอยู่ในพื้นที่สีเขียว หรือพื้นที่ทำการเกษตรได้) ก็ยิ่งทำให้เห็นชัดว่า ข้อมูลเกี่ยวกับแผนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ แผนพัฒนาภาคอีสาน และแผนพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย พ.ศ. 2561-2570 ไม่ได้ลงไปถึงชุมชน เมื่อไม่ได้รับรู้ข้อมูลใดๆ ประชาชนในพื้นที่ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียก็ย่อมถูกตัดขาดจากการกระบวนการตัดสินใจไปพร้อมกัน

การปรองดองของทุน-ชุมชน (1): ทบทวนการละเมิด-การต่อสู้ในอีสานหลัง รปห.2557

แผนปฎิบัติการแห่งชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน

ขณะที่แผนการพัฒนาในภาคอุตหกรรมกำลังเดินหน้าต่อไป ในอีกด้านหนึ่งก็ยังคงมีความหวังเล็กๆ เกิดขึ้น เป็นการผลักดันเครื่องมือใหม่ในการจัดการปัญหาความขัดแย้งนี้ ขณะนี้รัฐบาลไทยกำลังจัดทำ ร่างแผนปฎิบัติการแห่งชาติด้วยด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน เพื่อค้นหาหลักการร่วมของการประกอบกิจการ ธุรกิจต่างๆ ที่ต้องเคารพและยึดถือหลักการสิทธิมนุษยชน

การจัดทำแผนดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากมีการประชุมกลไกการทบทวนสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ(UPR) ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อเดือน 11 พ.ค. 2559 เวทีครั้งนั้นหลังจากประเทศไทยนำเสนอรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนต่อนานาชาติ ประเทศไทยก็ได้รับข้อเสนอแนะจากประเทศต่างๆ กลับมารวมทั้งสิ้น 249 ข้อ คณะผู้แทนประเทศไทย ตอบรับข้อเสนอทันที 189 ข้อ หนึ่งในนั้นคือการตอบรับว่าจะพัฒนา รับรอง และบังคับใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน เพื่อปฏิบัติตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ประเด็นนี้ถูกเสนอแนะโดยคณะผู้แทนจากประเทศสวีเดน

สรุปคือผลจากเวทีนั้นรัฐบาลทหารมีความตั้งใจที่จะพัฒนาแผนปฏิบัติการแห่งชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนให้แล้วเสร็จภายในปี 2561 อย่างไรก็ตามจนถึงเวลานี้ (ก.พ. 2562) แผนปฏิบัติการดังกล่าวก็ยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์

สหประชาชาติเกี่ยวอะไร? แผนปฎิบัติการระดับชาติคืออะไร?

หลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (Guiding Principles for Business and Human Rights / UNGP) ได้รับการรับรองจากที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติในปี 2554 เป็นกลไกที่มุ่งเน้นให้รัฐบาลและภาคธุรกิจในประเทศต่างๆ มีมุมมองต่อการทำธุรกิจที่ยึดถือในหลักการสิทธิมนุษยชนตามมาตรฐานสากล เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการทำธุรกิจ โดยผลักดันให้ประเทศต่างๆ จัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plan on Business and Human Rights: NAP)

UNGP วางอยู่บนหลักการ 3 อย่างด้วยกันคือ

1) การคุ้มครองสิทธิมนุษยชน (Protect) รัฐมีหน้าที่ในการคุ้มครองไม่ให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นโดยองค์กรของรัฐ และบุคคลที่ 3 คือองค์กรภาคธุรกิจ ผ่านการทำหน้าที่ 4 ประการคือ 1.การบังคับใช้กฎหมาย 2.การวางหลักประกันว่ากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจจะต้องไม่เป็นอุปสรรค และต้องส่งเสริมสิทธิมนุษยชน 3.จัดให้มีแนวทางในการปฎิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ  4.สนับสนุนองค์กรธุรกิจกำหนดวิธีการรับมือกับผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน

2) การเคารพสิทธิมนุษยชน (Respect) เป็นหน้าที่ของบุคคล หรือองค์กรธุรกิจ ที่จะต้องคำนึงถือหลักสิทธิมนุษยชนในทุกมิติ โดยการดำเนินธุรกิจในทุกขั้นตอนต้องหลีกเลี่ยงการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งต้องมีการเฝ้าระวังในเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง มีการประเมินผลกระทบ และจัดทำรายงานเปิดเผยต่อสาธารณะ

3) การเยียวยา (Remedy) คือ การแก้ไข ฟื้นฟู ชดเชยเมื่อเกิดผลกระทบจากการทำธุรกิจ หรือเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะมีการป้องกันแล้วหรือไม่ก็ตาม รัฐต้องจัดให้มีการเยียวยาที่เหมาะสม ทั้งโดยกระบวนการยุติธรรมหรือนอกเหนือจากกระบวนการยุติธรรม

หลักการธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนนั้นเป็นหลักการขั้นพื้นฐานซึ่งครอบคลุมในหลายมิติ ทั้งเรื่องการจ่ายค่าจ้างที่เป็นธรรม ชั่วโมงการทำงานที่เป็นธรรม การไม่เลือกปฎิบัติทางเพศ เชื้อชาติ ศาสนา หรือความเชื่อ ความปลอดภัยในการทำงาน การไม่เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคหรือผู้รับบริการ ไปจนถึงเรื่องของสิทธิในที่ดินและสิทธิในทรัพยากร ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรม ธรุกิจพลังงาน การทำเหมืองแร่ และการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งมีผลต่อการบังคับย้ายถิ่นฐาน การสูญเสียสภาพสิ่งแวดล้อมเดิม และในหลายกรณีมีการจำกัดการให้ข้อมูล และการขอความสมัครใจ[2]

ส่วนแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน(NAP) ประกอบด้วยบรรทัดฐานที่สำคัญ 3 ประการด้วยกันคือ

1) จัดทำอยู่บนหลักการ UNGP มีสถานะเป็นเครื่องมือในการบังคับใช้หลักการดังกล่าว

2) แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ภาคธุรกิจในประเทศมีศักยภาพที่อาจก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างไร หรือชี้ให้เห็นสภาพปัญหาการละเมิดสิทธิมนุยษยชนจากการทำธุรกิจของประเทศ

3) การจัดทำ NAP จะต้องเป็นไปอย่างมีส่วนร่วมของผู้ได้เสียทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน โดยความเห็นของภาคส่วนต่างๆ จะต้องถูกรับฟัง และต้องมีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการจัดทำทุกขั้นตอน

เมื่อไทยทำแผนปฎิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน

กระบวนการจัดทำแผนนี้ หลังจากคณะผู้แทนไทยได้รับข้อแนะดังกล่าวจากเวที UPR แล้ว ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2559 เห็นชอบให้หน่วยงานเกี่ยวข้องดำเนินการ โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ภายใต้กระทรวงยุติธรรม เป็นแม่งานจัดทำแผนปฎิบัติการฯ และแสดงบทบาทนำในระดับภูมิภาคเพื่อให้ประเทศในกลุ่มอาเซียนรับรองหลักการ UNGP

กระบวนการจัดทำเริ่มในช่วงปี 2560 เป็นต้นมา โดยมีการจัดเวทีประสานความร่วมมือกับมูลนิธิมานุษยะ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็ก ประเทศไทย (Global Compact Network Thailand) และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ในการจัดทําร่างแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ในกระบวนการทำแผน มีการจัดทำรายงานการประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยในส่วนที่เกี่ยวกับธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนควบคู่กันไปด้วย

กระทรวงยุติธรรมได้ออกคำสั่งกระทรวงที่ 557/2559 ลงวันที่ 14 พ.ย. 2559 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดแนวทาง จัดทำ ติดตาม และประเมินผลตามแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษชน โดยมีอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเป็นประธาน มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะกรรมการ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน เป็นต้น คณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจในการพิจารณากำหนดแนวทางการจัดทำแผนฯ ติดตามและประเมินผลการดำเนินการตามแผนฯ ส่งเสริมให้ภาคส่วนต่างๆ นำแผนไปปฎิบัติ

ต่อมาในวันที่ 19 มี.ค. 2561 กระทรวงยุติธรรมได้ออกคำสั่งกระทรวงที่ 89/2561 เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการเพิ่มเติ่ม โดนให้ผู้แทนในภาคธุรกิจ ผู้แทนในภาคประชาสังคม ร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย จนกระทั่งได้ร่างแผนปฏิบัติการออกมา ร่างแผนฯ ฉบับวันที่ 14 ก.พ. 2562 กำลังเปิดให้ประชาชนทั่วไปแสดงความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ

อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาองค์ประกอบของคณะกรรมการชุดดังกล่าวแล้วพบว่า มีทั้งหมด 37 รายชื่อ ในจำนวนนั้นมีตัวแทนภาคประชาสังคมเพียง 1 รายชื่อเท่านั้น คณะกรรมการทั้งหมดประกอบด้วย

รายชื่อคณะกรรมการ

ตำแหน่ง

ดร.เสรี นนทสูติ

กรรมการที่ปรึกษา

ศาสตราจารย์ ดร.ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนาพานิช

กรรมการที่ปรึกษา

ดร.อุกฤษฎ์ มูสิกพันธ์

กรรมการที่ปรึกษา

อธิบดีกรรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ

ประธานกรรมการ

รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพที่กำกับดูแลกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

รองประธานกรรมการ

ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

กรรมการ

ผู้แทนอัยการสูงสุด

กรรมการ

ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

กรรมการ

ผู้แทนสำนักงานศาลยุติธรรม

กรรมการ

ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

กรรมการ

ผู้แทนคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

กรรมการ

ผู้แทนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

กรรมการ

ผู้แทนกระทรวงการคลัง

กรรมการ

ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ

กรรมการ

ผู้แทนธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

กรรมการ

ผู้แทนกระทรวงต่างประเทศ

กรรมการ

ผู้แทนกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

กรรมการ

ผู้แทนกระทรวงพัฒนาสังคมและความั่นคงของมนุษย์

กรรมการ

ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

กรรมการ

ผู้แทนกระทรวงคมนาคม

กรรมการ

ผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

กรรมการ

ผู้แทนกระทรวงพลังงาน

กรรมการ

ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์

กรรมการ

ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย

กรรมการ

ผู้แทนกระทรวงแรงงาน

กรรมการ

ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข

กรรมการ

ผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม

กรรมการ

ผู้แทนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

กรรมการ

ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

กรรมการ

ผู้แทนสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็ค ประเทศไทย

กรรมการ

ผู้แทนสมาคมธนาคารไทย

กรรมการ

ผู้แทนสมาคมบริษัทจดทะเบียน

กรรมการ

ผู้แทนสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย

กรรมการ

ผู้แทนหอการค้าและสภาหอการค้าไทย

กรรมการ

ผู้แทนคณะกรรมการภาคประชาสังคมเพื่อร่วมจัดทำแผนฯ

กรรมการ

ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยระหว่างประเทศ กรมคุ้มครองสิทธิ

กรรมการ และเลขานุการ

ข้าราชการกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพที่ได้รับมอบหมาย

กรรมการ และผู้ช่วยเลขานุการ

สำหรับภาคธุรกิจ ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะประธานสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กประเทศไทยได้ประกาศจุดยืนว่า ได้ร่วมมือกับผู้นำธุรกิจจากอุตสาหกรรมต่างๆ ผ่านองค์กรภาคเอกชนอื่น ๆ อาทิ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อสนับสนุนให้ผู้นําธุรกิจของแต่ละอุตสาหกรรมมีบทบาทในการเคารพสิทธิมนุษยชน อาทิ การสร้างความตระหนักรู้ การแบ่งปันประสบการณ์การส่งเสริมนวัตกรรม และเมื่อผู้นําธุรกิจของแต่ละอุตสาหกรรมสามารถเคารพสิทธิมนุษยชนได้อย่างจริงจัง ก็จะช่วยยกระดับให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งคู่ค้าและธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานสามารถรับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นในธุรกิจตน เพื่อแก้ไขและเคารพสิทธิมนุษยชนไปได้ด้วย 

Global Compact Network Thailand ลงนามปฏิญญาความร่วมมือครั้งสำคัญระดับชาติเพื่อการขับเคลื่อนหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (UNGPs) ในประเทศไทย จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นสักขีพยาน ณ  ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ  31 พ.ค. 2560 

สำหรับ 15 องค์กรธุรกิจเอกชนที่ร่วมก่อตั้งเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย ได้แก่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน), บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน), บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (มหาชน), บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด, บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน), บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด, บริษัท พินนาเคิล โฮเต็ลส์ แอนด์ รีสอร์ท จำกัด, บริษัท แพรนด้า จิวเวลลี่ จำกัด (มหาชน), บริษัท พริ๊นท์ ซิตี้ จำกัด, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน), บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ยกที่หนึ่ง ภาคประชาชนโวย ชวนมาร่วมเป็นพิธี ไม่มีข้อเสนอในแผน

กระบวนการจัดทำแผนฯ ผ่านไป 1 ปีครึ่ง กรมคุ้มครองสิทธิฯ ก็ได้เผยแพร่ ร่างแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน[3]ออกมาเพื่อใช้ประกอบการรับฟังความคิดเห็นเมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2561 มูลนิธิมนุษยะ พร้อมด้วยเครือข่ายธุรกิจเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งได้เข้าร่วมเวทีปรึกษาหารือกับภาครัฐในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำแผนฯ มาตั้งแต่เดือน ม.ค. 2560 ถึงเดือน มี.ค. 2561 ได้ออกมาแถลงข่าวถึงกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการจัดทำแผนว่า ถูกทำให้เป็นเพียงพิธีกรรมเท่านั้น เพราะข้อเสนอเชิงนโยบายของภาคประชาชนซึ่งได้มีการนำเสนอไปหลายครั้งไม่ได้ถูกนำเข้ามาใส่ร่างแผนดังกล่าวเลย ทั้งยังเห็นว่ากระบวนการจัดทำแม้จะมีการประสานความร่วมมือจาก 3 ฝ่ายคือ ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน แต่กลับมีลักษณะของการแยกส่วน โดยที่ภาคประชาชนกลับไม่ได้รับรู้ถึงข้อจำกัดของภาครัฐต่อการจัดทำแผน และไม่ได้รับรู้ถึงข้อเสนอของภาคธุรกิจที่มีต่อแผน ยิ่งไปกว่านั้นประประชาชนซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนจาการทำธุรกิจกลับไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการร่าง ทำได้เพียงเสนอแนะและรอดูว่าข้อเสนอต่างๆ จะถูกบรรจุลงไปในแผนหรือไม่เท่านั้น

ส.รัตนมณี พลกล้า ผู้ประสานงานมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งคนที่ติดตามกระบวนการจัดทำแผนให้ข้อมูลว่า ร่างแรกของแผนที่เผยแพร่ออกมามีเพียงการอธิบายในเชิงหลักการเท่านั้นว่าทำไมจึงต้องมีแผนปฎิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน เป็นการพูดถึงที่มาและความสำคัญ แต่ไม่ได้ระบุชัดว่าจะมีการดำเนินการอย่างไรบ้าง ต่อมาในวันที่ 5 ก.ย. 2561 มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนได้จัดแถลงข่าวเพื่อนำเสนอข้อเสนอแนะต่อแผนฯ พร้อมทั้งเชิญตัวแทนกรมคุ้มครองสิทธิฯ มารับข้อเสนอ และหลังจากนั้นก็พยายามติดตามความคืบหน้า ซึ่งได้รู้มาว่า กรมคุ้มครองสิทธิฯ ได้จัดเวทีพูดคุยกับหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ไม่แน่ชัดว่ามีการพูดคุยกันในเรื่องอะไร และยังไม่รู้ว่าข้อเสนอแนะที่ทางมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน เสนอไปนั้นจะได้รับการตอบสนองหรือไม่

“ในการประชุม UN Forum on Business and Human Rights ที่เจนีวา ช่วงวันที่ 26-28 พ.ย. (2561) ปรากฎว่าในวันที่ 26 ซึ่งเป็นช่วงเปิดเวที เขาเชิญอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิฯ คนใหม่ (สมณ์ พรหมรส) ขึ้นพูด เขาก็พยายามพูดว่า รัฐบาลไทยกำลังทำแผนปฎิบัติการระดับชาติอยู่ กระบวนการในการจัดทำใกล้เสร็จแล้ว จะนำเสนอ ครม. ภายในสิ้นปี 2561 เราก็อึ้ง เพราะตอนนั้นเรายังไม่เห็นแผนอะไรเลย ต่อมาเราก็ได้สอบถามเขาเรื่องแผน และแสดงความห่วงกังวลเรื่องข้อเสนอที่ได้ส่งไป และการขาดกระบวนการมีส่วนร่วม พร้อมถามเขาไปว่าตัวร่างเสร็จแล้วหรือยัง เขาตอบว่าจะนำขึ้นเว็บไซต์ช่วงสิ้นเดือน พ.ย. แต่จนกระทั่งวันนี้ (สัมภาษณ์วันที่ 15 ธ.ค. 2561) ก็ยังไม่เห็นร่างในเว็บไซต์เลย พอเราถามไปกับเจ้าหน้าที่กรมคุ้มครองสิทธิอีกครั้งเขาก็บอกว่า ยังไม่เสร็จ”ส.รัตนมณี กล่าว

ส.รัตนมณี ให้ข้อมูลต่อไปถึงหนึ่งในข้อเสนอที่ได้เสนอต่อกรมคุ้มครองสิทธิ ในประเด็นทรัพยากรว่า ขอให้ทบทวนกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำโครงการพัฒนาหรือการทำธุรกิจ ทั้งของภาครัฐและภาคธุรกิจ การทำโครงการต่างๆ จะต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจอย่างแท้จริง ต้องมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่ไม่ใช่เป็นเพียงแค่พิธีกรรม เชื่อมโยงกระบวนการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) นอกจากนี้ยังเสนอให้ทำรายงานผลกระทบทางสังคม (SIA) ด้วย

“ข้อเสนอเราลึกไปกว่าเรื่องการรับมือเมื่อเกิดการละเมิดสิทธิ แต่เราเสนอไปถึงเรื่องของกระบวนการตัดสินใจ กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนก่อนที่จะมีการดำเนินธุรกิจที่อาจจะส่งผลต่อกระทบต่อสิทธิมนุษยชนในด้านต่างๆ โดยเฉพาะโครงการที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้อง” ส.รัตนมณี กล่าว

ต่อมาในวันที่ 19 ธ.ค. มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ตัวแทนองค์กรเครือข่าย 35 องค์กร จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อติดตามกระบวนการจัดทำแผนนี้ งานนี้กรมคุ้มครองสิทธิฯ มอบหมายให้ นรีลักษณ์ แพชัยภูมิ ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ร่วมประชุมกับภาคประชาสังคมเพื่อนำเสนอความคืบหน้าของการจัดทำแผน  โดยระบุว่า กรมคุ้มครองสิทธิฯ ได้นำร่างแผนปฏิบัติการดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากส่วนราชการและภาคธุรกิจแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขร่างและคาดว่าจะจัดทำร่างให้แล้วเสร็จภายเดือน ธ.ค. 2561 นี้ ก่อนนำเผยแพร่ต่อสาธารณะทางเว็บไซต์ของกรมฯ เพื่อรับฟังความคิดเห็นอีกประมาณ 1 เดือน ก่อนนำมาปรับปรุงและเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อเสนอ ครม.ต่อไป

ในการประชุมนี้มีการนำเสนอร่างแผนฯ เป็นครั้งแรก ซึ่งพบว่า ข้อเสนอของมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนและองค์กรเครือข่ายบางส่วนได้ถูกนำไปบรรจุอยู่ในร่างแล้ว แต่ยังมีข้อเสนอสำคัญอีกหลายอย่างที่ไม่ถูกบรรจุไว้

ส.รัตนมณี ระบุว่า โจทย์สำคัญที่น่ากังวลคือ 1.ในขั้นตอนสุดท้าย แผนจะออกมาโดยมีเนื้อหาอย่างไรบ้าง 2.ในขั้นตอนการปฏิบัติจะเกิดผลที่เป็นรูปธรรมหรือไม่

เพราะถึงที่สุดแล้วแม้แผนจะมีสภาพผูกผันต่อหน่วยงานภาครัฐต้องทำตาม แต่ก็ไม่ได้มีการกำหนดบทลงโทษหากมีการปล่อยปละละเลย

แม้เรื่องนี้จะดูเป็นความขัดแย้งที่หาทางลงตัวยาก แต่ ส.รัตนมณี เห็นว่า การมีแผนปฏิบัติการว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน จะช่วยทำให้ภาคธุรกิจและภาครัฐลดความเสี่ยงที่จะเผชิญหน้ากับการต่อต้านของประชาชนในโครงการที่ได้ลงทุนไปแล้ว

“หากภาคธุรกิจยอมรับมุมมองการวิเคราะห์ความเสี่ยงแบบนี้ ด้วยการที่ยอมรับให้มีแผนในลักษณะนี้ มันเท่ากับเป็นการสแกนความเสี่ยงให้เขาแล้ว หากเขาทำธุรกิจโดยเคารพสิทธิมนุษยชน มีการเริ่มต้นโครงการด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของประชาชน มีการวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการกับพื้นที่ก่อนที่จะทำการลงทุน สิ่งเหล่านี้จะเป็นเกราะให้ภาคธุรกิจ ทำให้ไม่ต้องลงทุนไปแล้วเจอกับการต่อต้าน และสุดท้ายโครงการถูกยกเลิกไป” ส.รัตนมณี กล่าว

ยกที่สอง วาดภาพกว้าง รับปากทบทวนข้อเสนอภาคประชาชน แต่ไม่มีเป็นรูปธรรม

ล่าสุด วันที่ 15 ก.พ. 2562 เว็บไซต์กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้เปิดให้ประชาชนสามารถดาวน์โหลดร่างแผนฯ เพื่อศึกษาและแสดงความคิดเห็นต่อร่างแผนฯ ดังกล่าวซึ่งครอบคลุมประเด็นหลักอยู่ 5 ประเด็นคือ 1.แรงงาน 2.ชุมชน ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 3.การคุ้มครองนักปกป้องสิทธิ 4.การลงทุนระหว่างประเทศและบรรษัทข้ามชาติ 5.การส่งเสริมการขับเคลื่อนแผนฯ ไปสู่การปฏิบัติ

อ่านร่างแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนได้ที่นี่

แสดงความคิดเห็นต่อร่างฯ ได้ที่นี่  

เมื่อพิจารณาในประเด็นเฉพาะอย่างเรื่องชุมชน ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่า มีการวางแผนเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ปกป้องสิทธิมนุษยชน และมาตรการในการเยียวยาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการทำธุรกิจ อย่างไรก็ตาม ในระยะเวลาสำหรับการจัดทำแผนฯ นับจากเดือน พ.ย. 2559 ซึ่งมีการตั้งคณะกรรมการชุดแรก จนถึงเวลานี้สิ่งที่ปรากฎอยู่ภายในร่างแผนฯ กลับมีเพียงแค่การกำหนดหัวข้อว่าจะมีการทบทวนในประเด็นต่างๆ มีการกำหนดตัวหน่วยงานที่รับผิดชอบ ระยะเวลาในการดำเนินการ และกำหนดตัวชี้วัดที่ไม่ได้ระบุชัดเจนถึงเป้าหมายสำหรับการคุ้มครอง ปกป้อง และเยียวยาอย่างแท้จริง และในแต่ละประเด็นมีการเปิดกรอบระยะเวลาในการทบทวบนานถึง 5 ปี (2562-2566)

ยกตัวอย่าง เช่น ทบทวนกฎหมายที่มีอยู่ที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิชุมชน โดยกระบวนการมีส่วนร่วม มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยกรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้รับผิดชอบ ใช้ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี ตัวชี้วัดคือ จำนวนกฎหมายที่เกี่ยวกับกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนได้รับการทบทวน

การทบทวน พ.ร.บ.โรงงาน โดยกำหนดให้โรงงานตั้งห่างจากชุมชนมากขึ้น มอบหมายกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้รับผิดชอบ ใช้เวลา 5 ปี มีตัวชี้วัดคือ มีการทบทวบเกิดขึ้นเพื่อพิจารณาระยะห่างของโรงงานกับชุมชน แต่ไม่ได้มีการกำหนดกรอบระยะห่างที่ชัดเจน

การระบุว่าจะผลักดันร่างกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิชุมชน ซึ่งประเด็นนี้ก็ไม่ได้ลงรายละเอียดที่ชัดเจนของหลักการและความสำคัญของกฎหมายแต่ละฉบับ

เป็นต้น

ในวันเดียวกันกับที่มีการเผยแพร่ร่างแผนฯ มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ได้ร่วมกับเครือข่ายชุมชนและภาคประชาสังคมจัดเวทีติดตามและผลักดันแผนฯ ซึ่งพวกเขาพบว่า ข้อเสนอของภาคประสังคมยังไม่ได้รับการตอบสนองใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่

ประเด็นแรงงาน ไม่มีการกำหนดเรื่อง การรับรองอนุสัญญา ILO 87 และ 98 ว่าด้วย สิทธิเสรีภาพในการสมาคมและคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวและร่วมเจรจาต่อรอง เสรีภาพและการป้องกันการเลือกปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน และขาดการกำหนดให้มีการผลักดันการนำไปปรับใช้สำหรับอนุสัญญา ILO 131 ที่กำหนดเรื่องค่าแรงที่เป็นธรรมและทั่วถึง ตลอดทั้งไม่มีเรื่องกองทุนเยียวยาสำหรับแรงงานข้ามชาติ เป็นต้น

ประเด็นที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ ไม่มีการกำหนดเรื่อง การยกเลิกคำสั่งคสช.ที่ลิดรอนสิทธิชุมชนและกระทบต่อปัญหาที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ การประกาศกำหนดให้ยกเลิกการใช้ผังเมืองบางกรณี การลิดรอนสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก เป็นต้น และในแผนฯยังไม่มีการกำหนดให้ปรับปรุงกระบวนการจัดทำ  EIA และ EHIA ที่ให้ต้องครอบคลุมผลกระทบทางสังคม และไม่มีการกำหนดบทลงโทษทั้งทางแพ่งและอาญาต่อบริษัทที่จัดทำกรณีให้ข้อมูลเท็จ และไม่มีการกำหนดให้โครงการที่ส่งผลกระทบต้องมีกองทุนฟื้นฟูไว้ก่อนในขณะออกใบอนุญาต เป็นต้น

ประเด็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ขาดการกำหนดให้มีกลไกในการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิกรณีถูกฟ้องร้อง จาก SLAPP (หรือการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทฟ้องร้องเพื่อปิดปากนักเคลื่อนไหว) ไม่มีการกำหนดให้ออกกฎหมาย Anti-SLAPP ไม่มีการเสนอให้ปรับปรุงการใช้กองทุนยุติธรรมให้ความช่วยเหลืออย่างทั่วถึงและเป็นธรรม เป็นต้น

ประเด็นการลงทุนข้ามพรมแดน ในแผนยังไม่มีการกำหนดให้รัฐต้องมีมาตรการและกฎหมายบังคับให้บริษัทและภาคเอกชนในการจัดตั้งกองทุนความเสี่ยง ป้องกัน และเยียวยาต่อประชาชนที่ได้รับหรืออาจจะได้รับผลกระทบจากการลงทุนของภาคเอกชนไทยข้ามพรมแดน หรือก่อตั้งองค์กรเพื่อรับเรื่องร้องเรียนการละเมิดสิทธิข้าพรมแดน เช่น OECD เป็นต้น

ในขณะที่การพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมกำลังพาดทับเข้าไปเกี่ยวข้องกับชุมชนอย่างเร็วรวด โดยขาดกระบวนการมีส่วนร่วม ขาดกระบวนการตัดสินใจร่วมจากชุมชน แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งดูเป็นแผนฯ ที่ถูกคาดหวังไว้ว่าจะเป็นตาข่ายกรองการทำธุรกิจทั้งหลายที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชน กลับไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวัง กระบวนการจัดทำแผนเกือบ 1 ปีครึ่ง กลับไม่ได้สร้างความมั่นใจให้กับภาคประชาชน หรือภาคประชาสังคม ทั้งยังมีลักษณะของการต่อเวลาของการเห็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมออกไปอีก 5 ปี ดูเหมือนเครื่องมือใหม่นี้ยังติดหล่มอยู่ในโจทย์เดิมและต้องการกำลังเสริมในการผลักดันให้ไฉไลกว่านี้ หากเห็นว่ามันยังพอมีประโยชน์ นอกจากนี้ยังมีโจทย์การบังคับใช้และการทำให้เป็นจริง ซึ่งเป็นอีกเรื่องที่สาหัสไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

ขอขอบคุณ คุณณัฐพร อาจหาญ ที่มีส่วนร่วมช่วยเหลือด้านการประสานงานแหล่งข่าว แล้วช่วยเหลือด้านข้อมูลในงานเขียนชิ้นนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท