ดูร่าง พ.ร.บ.ข่าวกรองแห่งชาติ หลังผ่าน สนช. ขอข้อมูลกว้างขวาง ตรวจสอบกันเอง

ดูรายละเอียดและบทวิเคราะห์ผลกระทบของร่าง พ.ร.บ. ข่าวกรองแห่งชาติ ที่เพิ่งผ่าน สนช. ไปเมื่อ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา ให้ตั้งศูนย์ติดตาม สอดแนม เฝ้าระวังตลอดเวลาถาวร ลับ ลวง พราง ขอข้อมูลเพื่อความมั่นคงได้กว้างขวางจากทั้งรัฐ รัฐวิสาหกิจ ประชาชน แต่ตรวจสอบกันเอง

20 ก.พ. 2562 การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2562  ลงมติในวาระที่สาม ให้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ข่าวกรองแห่งชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ. ... มีผลเป็นกฎหมายแล้ว โดยจะให้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

ตามร่างฯ ฉบับเข้า สนช. ในส่วนมาตราที่ 12-13 ให้สำนักข่าวกรองแห่งชาติจัดให้มี ศูนย์ประสานข่าวกรองแห่งชาติ (ศป.ข.) เป็นหน่วยงานภายใน ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการประสานกิจการข่าวกรอง ต่อต้านข่าวกรอง และรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือนร่วมกับหน่วยข่าวกรองอื่นภายในประเทศ

ศป.ข. มีอำนาจและหน้าที่

  • ติดตาม ประเมิน วิเคราะห์สถานการณ์ทั้งในและต่างประเทศตลอด 24 ช่วโมง รายงานข่าวประจำวัน ข่าวเร่งด่วน แจ้งเตือนภัยล่วงหน้าที่เกี่ยวกับความมั่นคงต่อนายกรัฐมนตรี สภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  • เฝ้าระวังภัยคุกคามความมั่นคงปลอดภัย ทั้งในภาวะปกติและช่วงที่มีสถานการณ์ ช่วงเทศกาลที่สำคัญ พระราชพิธี และการประชุมหรืองานพิธีการที่สำคัญของรัฐเพื่อสนับสนุนการป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์ในกรณีที่มีเหตุการณ์ฉุกเฉินรุนแรงเกิดขึ้น และปฏิบัติต่อเนื่องจนสิ้นสุดสถานการณ์นั้น
  • ให้ความรู้และประสานความร่วมมือด้านการข่าวกับภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคเอกชน ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
  • รายงานสถานการณ์และแผลการปฏิบัติงานโดยรวม ปัญหาและอุปสรรคในการทำงานของ ศป.ข. ต่อนายกฯ หรือรัฐมนตรีที่นายกฯ มอบหมาย และผู้อำนวยการสำนักข่าวกรอง รวมถึงปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามนายกฯ รัฐมนตรีที่นายกฯ มอบหมาย สภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองมอบหมาย

ในส่วนคำนิยามมีคำที่สำคัญดังนี้

การข่าวกรอง หมายความว่า การดำเนินการเพื่อให้ทราบถึงความมุ่งหมาย กำลังความสามารถ และการเคลื่อนไหว รวมทั้งวิถีทางของบุคคล กลุ่มบุคคล หรือองค์การใดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ที่อาจกระทำการอันเป็นพฤติการณ์เป็นภัยคุกคาม ทั้งนี้ เพื่อรักษาความมั่นคงหรือประโยชน์แห่งรัฐและให้รัฐบาลนำมาประกอบการพิจารณาในการกำหนดนโยบายแห่งชาติ

การข่าวกรองทางการสื่อสาร หมายความว่า การใช้เทคนิคและการดำเนินกรรมวิธีทางเทคโนโลยีและเครื่องมือสื่อสาร เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวในการข่าวกรองและการต่อต้านข่าวกรอง

การต่อต้านข่าวกรอง หมายความว่า การดำเนินการเพื่อต่อต้านการกระทำของต่างชาติ บุคคล กลุ่มบุคคลหรือองค์การใด ที่มุ่งหมายจะให้ได้ไปซึ่งความลับของชาติ หรือทำลายความมั่นคงแห่งชาติโดยการจารกรรม การบ่อนทำลาย การก่อวินาศกรรม และการก่อการร้ายหรือการอื่นใดอันเป็นภัยคุกคามเพื่อรักษาความมั่นคงหรือประโยชน์แห่งรัฐ

ในมาตราเก้า ให้มีผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ มีหน้าที่ควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งราชการของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ รับผิดชอบขึ้นตรงต่อนายกฯ ให้มีรองผู้อำนวยการ และผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โดยทั้งสามเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ แต่ไม่มีหลักเกณฑ์การได้มาซึ่งบุคลากรดังกล่าวในร่างฯ

มาตราแปด ระบุว่า บรรดาข้อมูลข่าวสารที่สำนักข่าวกรองแห่งชาติได้รับมาจากการปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ. นี้จะเปิดเผยมิได้ เว้นแต่เป็นการเปิดเผยต่อหน่วยข่าวกรอง หน่วยงานความมั่นคง นายกรัฐมนตรี หรือตามคำสั่งศาล ผู้ฝ่าฝืน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 16)

ลับ ลวง พราง ขอข้อมูลได้กว้างขวาง แต่ตรวจสอบกันเอง

(ดูภาพขนาดใหญ่ที่นี่)

ในบันทึกการวิเคราะห์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากร่างฯ ระบุว่า ร่างฯ กำหนดถึงการดำเนินการตาม พ.ร.บ. ให้สำนักข่าวกรองแห่งชาติ;

“เฝ้าระวังโดยการ ติดตามตรวจสอบและจัดเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง สำหรับบุคคลหรือองค์การที่มีพฤติการณ์อันเชื่อได้ว่าสนับสนุนการก่อการร้ายหรือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง หรือประโยชน์แห่งรัฐ รวมถึงการทดสอบหรือตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลข่าวสารในทางจิตวิทยาโดยอุปกรณ์ หรือวิธีการทางวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีการกำหนดถึงการปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ. สำนักข่าวกรองแห่งชาติ อาจขอให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ ตลอดจนบุคคลภายนอก ส่งข้อมูลหรือเอกสารใดที่เป็นประโยชน์แก่การข่าวกรองและการต่อต้านข่าวกรอง หรืออาจขอให้บุคคลใดๆ ชี้แจงหรือให้ถ้อยคำ

ในร่างฯ ฉบับที่ปรากฎในเว็บไซต์ สนช. กล่าวถึงระบบตรวจสอบและคานอำนาจว่า ร่างฯ นี้ไม่มีการปรับปรุงระบบการตรวจสอบภายใน ทั้งนี้ ภารกิจข่าวกรองแห่งชาติเป็นภารกิจงานด้านความมั่นคง ซึ่งมีลักษณะพิเศษและปกปิด ผู้ปฏิบัติการข่าวกรองถือเป็นวิชาชีพเฉพาะซึ่งต้องยึดมั่นในจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ สำนักข่าวกรองแห่งชาติจึงมีระบบตรวจสอบการปฏิบัติงานภายในโดยมาตรการปกติทางวิชาชีพ

การประชุมรับฟังความคิดเห็นสำหรับร่างฯ นี้ มีการจัดทำบนเว็บไซต์สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ตั้งแต่ 20 มิ.ย. 2560 ถึง 6 ก.ค. 2560 รวมเวลาทั้งสิ้น 17 วัน ส่วนการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจัดขึ้นครั้งเดียวเมื่อ 11 ธ.ค. 2561  กลุ่มเป้าหมายคือผู้เข้ารับการศึกษาหลักสูตรการบริหารจัดการความมั่นคงแห่งชาติ ในการจัดรับฟังความคิดเห็นครั้งนั้นมีผู้เข้ารับการศึกษาหลักสูตรการบริหารจัดการความมั่นคงแห่งชาติ รุ่นที่ 11 ซึ่งเป็นผู้แทนจากส่วนราชการ หน่วยงานรัฐและเอกชนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับความมั่นคงด้านต่างๆ รวม 33 หน่วยงาน รวมถึงข้าราชการในสังกัดสำนักข่าวกรองแห่งชาติร่วมประชุมจำนวน 40 คน

หนึ่งในข้อสังเกตที่เวทีรับฟังความเห็นมีใจความว่า การปฏิบัติงานตามหน้าที่และอำนาจอาจกระทบต่อสิทธิประชาชน โดยเฉพาะสิทธิการอยู่โดยไม่ถูกรบกวน ควรมีการกลั่นกรองหรือตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ผู้จัดทำร่างฯ

มีข้อชี้แจงว่า ภารกิจด้านความมั่นคงข่าวกรองรัฐ อาจกระทบสิทธิประชาชนบ้างแต่ไม่เกินความจำเป็น นอกจากนี้ หน่วยงานยังมีกระบวนการกลั่นกรองภายใน เพื่อตรวจสอบการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ไม่ให้เกิดการใช้หน้าที่และอำนาจในทางมิชอบหรือกระทบสิทธิปัจเจกชนเกินสมควร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท