Skip to main content
sharethis

รองนายกรัฐมนตรีเผยไม่รู้ว่า คสช. ตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ในส่วนของคสช. เพื่อสรรหา 400 รายชื่อแล้วหรือยัง และไม่รู้ว่าการสรรหาจะใช้วิธีใด คาดจะรู้ความชัดเจนในอีก 1-2 วัน ไม่ให้ความเห็นเรื่องยุบไทยรักษาชาติ ซัดพรรคการเมืองขายฝัน นโยบายปลูกกัญชาเสรี

21 ก.พ. 62 เวลา 11.10 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาส.ว. ในส่วนของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ว่า ตามกฎหมาย หัวหน้าคสช.จะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาส.ว. จำนวน 9-12 คน เพื่อสรรหาบุคคลไม่เกิน 400 คน และส่งชื่อให้คสช.คัดเหลือ 194 คน ซึ่งต้องทิ้งระยะไว้ก่อนการเลือกตั้ง 15 วัน ดังนั้น ในเมื่อการเลือกตั้งคือวันที่ 24 มีนาคม จึงเข้าใจว่าวันที่ 9 มีนาคมจะเป็นวันสุดท้ายของการส่งรายชื่อนั้น สำหรับขั้นตอนในทางปฏิบัติ อยู่ที่หัวหน้าคสช.จะตั้งคณะกรรมการสรรหา ซึ่งตนยังไม่ทราบว่ามีการตั้งคณะกรรมการฯแล้วหรือยัง และไม่ทราบว่าในคณะกรรมการฯ จะมีผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งโดยตำแหน่งเข้ามาหรือไม่ 

วิษณุ กล่าวด้วยว่า ไม่ทราบว่าคณะกรรมการฯจะสรรหาบุคคลด้วยวิธีใด อยู่ที่การปรึกษาหารือวางวิธีการของเขา ซึ่งการสรรหาอาจใช้วิธีการ 1. รับสมัคร หรือ 2.สรรหาแบบเจาะตัว โดยเอาชื่อและประวัติมา  จะใช้ 2 วิธีนี้ผสมกัน หรือจะทำอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้  และตนเข้าใจว่าภายใน 1-2 วันนี้ จะมีความชัดเจน เพราะใกล้จะหมดเวลาแล้ว อย่างไรก็ตาม ตนเป็นห่วงเรื่องคุณสมบัติ เพราะคุณสมบัติของคนที่จะเป็นส.ว.นั้น มีความหลากหลายและซับซ้อน

เมื่อถามถึงกรณีพรรคไทยรักษาชาติ(ทษช.) ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาคดียุบพรรคต่อศาลรัฐธรรมนูญ วิษณุกล่าวว่า คำชี้แจงจะเท็จหรือจริง จะครบถ้วนบริบูรณ์หรือไม่  ตนไม่ทราบ เห็นแต่ข่าว และคงไปออกความเห็นอะไรให้เขาไม่ได้ ส่วนสิ่งที่เขาอ้างถึง  ในทางกฎหมายจะทำได้หรือไม่ ตนก็ไม่ทราบ แต่เขาอ้างไปแล้ว อยู่ที่ศาลจะฟังขึ้นหรือไม่ขึ้นเท่านั้นเอง  เมื่อถามว่า คำชี้แจงของพรรคทษช.จะสามารถหักล้างข้อกล่าวหาได้หรือไม่  ฃวิษณุกล่าวว่า “ไม่ทราบ ผมไปออกความเห็นอย่างนั้นไม่ได้ เราจะไปหักล้างหรือเสริมเขาทำไม ไม่มีประโยชน์  วันนี้เป็นวันสุดท้ายที่เขาต้องยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ก็ไปว่ากันในศาล” 

เมื่อถามอีกว่า พรรคทษช.ระบุคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) นำพระราชโองการมาขยายความกล่าวหาพรรค เป็นเรื่องที่มิบังควร วิษณุกล่าวว่า ก็เป็นข้อต่อสู้ของเขา เขาต้องต่อสู้ทุกอย่าง แต่จะเป็นอย่างที่เขาว่าหรือไม่ ก็อยู่ที่ศาล อย่าเพิ่งไปวิจารณ์ ตนเป็นคนนอก จะไปวิจารณ์ในข้อต่อสู้ของเขา ก็คงไม่เป็นธรรมกับเขา

วิษณุ ให้สัมภาษณ์ต่อถึงกรณีที่มีบางพรรคการเมืองชูนโยบายปลูกกัญชาเสรีในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ทั้งที่พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 นั้นระบุให้ใช้ทางการแพทย์และงานวิจัยเท่านั้น ว่าโดยกฎหมายนั้นกระทรวงสาธารณสุขจะต้องมีหลักเกณฑ์ออกมาว่ากัญชาชนิดใด ไม่ใช่ว่ากัญชาอะไรก็ได้สารพัดชนิด นายกรัฐมนตรีได้กำชับในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้วว่าให้เร่งรัดออกมาโดยเร็ว ก็เชื่อว่าน่าจะออกมาได้เร็ว

“ส่วนที่มีการนำไปชูเป็นนโยบายในการหาเสียง อันนั้นเกินเลยจากกฎหมายไป ก็ต้องไปแก้กฎหมายมาใหม่ ภายใต้พระราชบัญญัติที่ออกมาล่าสุดนี้ไม่ได้ไปไกลถึงขนาดนั้น เพราะเดิมเป็นเรื่องผิดกฎหมายทั้งหมด แต่คราวนี้อนุญาตให้นำมาแปรรูปเป็นน้ำมัน เป็นยาได้ ภายใต้หลักเกณฑ์วิธีการที่กฎหมายกำหนด ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะต้องออกระเบียบหรือออกประกาศกระทรวงมา ส่วนที่จะไปโฆษณาว่าส่งเสริมปลูกกัญชาเสรีทั่วไปที่ไหนมีที่ว่างปลูกหน้าบ้านหลังบ้าน กฎหมายยังไม่ได้ไปถึงขั้นนั้น และกฎกระทรวงก็จะออกมาให้อย่างนั้นไม่ได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นถ้าจะเอาอย่างนั้นก็ต้องไปออกกฏหมายใหม่อีกฉบับ”

ผู้สื่อข่าวถามว่าการนำไปชูเป็นนโยบายหาเสียงให้ปลูกเสรี ถือว่าขัดหรือไม่ วิษณุกล่าวว่า ไม่ หากคิดที่จะไปไกลถึงขั้นแก้กฎหมายก็แล้วแต่พรรคการเมือง เหมือนกับที่มีการหาเสียงโดยอ้างว่าถ้ามาเป็นรัฐบาลแล้วจะยกเลิกกฎหมายนั้นก็มีสิทธิ์พูด เพียงแต่ทำไม่ได้ทันที แล้วเมื่อถึงเวลาจะทำได้หรือไม่ได้ก็เถียงกันอีกมาก 

“ถ้าไปถึงขั้นว่าจะให้เสรี ผมคิดว่าคงเถียงกันอีกเยอะ แต่ทุกพรรคมีสิทธิ์ที่จะพูดได้ เช่น ถ้าบอกว่าวันนี้กฎหมายห้ามแล้ว ถ้าผมเป็นรัฐบาลผมจะยกเลิก อย่างนี้มีสิทธิ์พูดทั้งนั้น แต่ส่วนควรหรือไม่ควรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถือเป็นวิจารณญาณของผู้ฟัง บางคนบอกว่าจะแก้รัฐธรรมนูญเขาก็ยังพูดได้ ไม่แปลก เป็นธรรมดา เราเองก็อยากให้แต่ละพรรคพูดเพื่อที่จะได้เห็นความแตกต่างในนโยบาย ส่วนประชาชนผู้ฟังก็ต้องใช้วิจารณญาณอย่างมาก เพราะบางเรื่องเป็นการพูดในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ บางเรื่องพูดในสิ่งที่ไม่สมควร บางเรื่องพูดในสิ่งที่ยังไม่รู้ว่าจะปฏิบัติอย่างไร เช่น จะเอาเงินมาจากไหน จะเอาคนมาจากไหน จะเอากฎหมายหรืออำนาจมาจากไหน จะเอาเทคโนโลยีมาจากไหน เพราะฉะนั้นคนฟังต้องฟังให้ดีไม่ใช่เอาเฮๆ แค่นั่งเมล์เห็นป้ายสองข้างทาง แล้วรู้สึกประทับใจก็สามารถให้คะแนนไปได้ แต่ฟังแล้วก็ต้องรู้เท่าทัน ในใจต้องบวกลบคูณหารเอาไว้หน่อยว่าแล้วจริงๆเ ขาทำได้หรือไม่ แต่ละคนอายุปูนนี้ ผ่านการเลือกตั้งกันมาหลายครั้ง แล้วเห็นการหาเสียงลมๆ แล้งๆ หรือการผู้ที่เป็นไปไม่ได้กันมาแล้วหลายเรื่อง และบางครั้งตั้งใจทำจริงแต่เมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาลผสมแล้ว เสียงมาแพ้พรรคใหญ่ก็ไม่สามารถนำเรื่องนั้นมาเป็นนโยบายรัฐบาลได้” วิษณุกล่าว

เมื่อถามว่า ถือเป็นการขายฝันหรือไม่ วิษณุกล่าวว่า ก็อยากให้ขาย เพราะไม่เช่นนั้นเขาจะเอาเรื่องอะไรมาพูด ทุกพรรคพูดเพื่อหาสมาชิก แต่คนฟังก็ต้องเข้าใจ และแยกแยะ พรรคการเมืองก็ต้องรับผิดชอบในเงื่อนไขว่าได้คะแนนเสียงมากได้เป็นรัฐบาล แล้วผลักดันเรื่องนั้นๆ ไปเป็นนโยบายของรัฐบาล ถ้าเป็นถึงขั้นนั้นได้แล้วยังไม่ทำอะไรอีกก็ถือว่าแย่มาก

ที่มาจาก : แนวหน้าออนไลน์ , ผู้จัดการออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net