กกพ. ออกใบอนุญาต ให้มิตรผลสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลท่ามกลางข้อกังขาของคนในพื้นที่

21 ก.พ. 2562 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้ง จาก สิริศักดิ์ สะดวก ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร ว่า เมื่อวันที่ 20 ก.พ. คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้พิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงานให้กับ โรงไฟฟ้าชีวมวลขาด 61 เมกะวัตต์ ของบริษัท มิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์ (อำนาจเจริญ) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยโรงไฟฟ้าชีวมวลดังกล่าวมีที่ตั้งอยู่ใน ต.น้ำปลีก อ.เมืองอำนาจเจริญ จ.อำนาจเจริญ พื้นที่ติดต่อกับ อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร และประชาชนในกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเป็นผู้ที่อยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตร

สำหรับกรณีนี้ เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2561 ประชาชนกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายได้เดินทางไปยังสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เพื่อเข้ายื่นหนังสือถึงคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรียกร้องให้ยกเลิกการพิจารณาออกใบอนุญาตโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยในครั้งนั้น คณะกรรมการฯ มีมติเลื่อนการพิจารณาโรงไฟฟ้าชีวมวลออกโดยไม่มีกำหนดพิจารณาใหม่ พร้อมรับปากว่าจะลงพื้นที่รับฟังข้อมูลเพิ่มเติมจากประชาชนในพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตร

ต่อมาในวันที่ 15 ม.ค. 2562 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ได้เดินทางมาลงพื้นที่เพื่อรับฟังข้อมูลข้อเท็จจริงจากประชน แต่ในการลงพื้นที่ครั้งนั้น กลับไม่ได้รับความยอมรับจากประชาชนกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย เนื่องในกำหนดการลงพื้นที่ได้มีการตกลงร่วมกันระหว่างกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย และคณะกรรมการฯ ว่า จะเดินทางเข้ารับฟังข้อมูลจากกลุ่มประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าชีวมวลก่อน แต่ในทางปฏิบัติจริงแล้ว คณะกรรมการฯ ได้เดินทางไปเข้าไปในพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อพูดคุยกับกลุ่มประชาชนที่สนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลก่อน ซึ่งทำให้ระยะเวลาในการพูดคุยกับประชาชนกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเหลือน้อยมาก โดยคณะกรรมการฯ อ้างสาเหตุที่ได้เดินทางมาพบตามที่ตกลงไว้ว่า เป็นเพราะหลงทาง

กระทั้งวันที่ 31 ม.ค. 2562 กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายจึงได้เดินทางไปยื่นหนังสือกับผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ประจำเขตที่ 5 จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อยื่นหนังสือในประเด็นคือ

1.ให้ผู้อำนวยการฝ่ายสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานประจำเขต 5 ได้ลงพื้นที่ดูจุดสำคัญ  

2.ให้ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเขต 5 ทำหนังสือแจ้งไปยังคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานส่วนกลางให้เป็นลายลักษณ์อักษรว่าให้ระงับการพิจารณาออกไปอนุญาตโรงไฟฟ้าชีวมวลไว้ก่อน จนกว่าจะลงพื้นที่ และรอข้อสรุปจากคณะศึกษาข้อเท็จจริงกรณีโรงไฟฟ้าชีวมวล จังหวัดยโสธร ที่กำลังลงพื้นที่เก็บข้อมูลในประเด็นด้านทรัพยากร ด้านสุขภาพ และด้านการมรส่วนร่วม

3.ให้ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเขต 5 ชี้แจงข้อมูลที่ได้นำเสนอต่อส่วนกลางว่ามีประเด็นอะไรบ้าง

4.ให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานวางตัวเป็นกลาง  

5.ให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานแจ้งวันพิจารณาก่อนล่วงหน้า 7 วัน 

และต่อมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเขต 5 อุบลราชธานี ได้ลงพื้นที่เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2562 โดยได้ดูพื้นที่ดสำคัญกว่า 9 จุด แต่ยังไม่ทันได้ทำเป็นข้อสรุปเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังในส่วนกลาง ก็มีการพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงานไปก่อนแล้ว

สิริศักดิ์ สะดวก ได้ตั้งข้อสังเกตกับกระบวนการและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่า การพิจารณาของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานในครั้งนี้เป็นการพิจารณาที่ไม่ได้รอข้อสรุปการลงพื้นที่ดูจุดสำคัญของผู้อำนวยการสำนักคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเขต 5 อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2562 ที่ผ่านมาซึ่งยังไม่มีข้อสรุป เอาไปใช้ประกอบในการพิจารณาด้วย ทั้งยังไม่มีการแจ้งข่าวสารให้กลุ่มชาวบ้านรับรู้ก่อนที่จะมีการพิจารณา

“เรื่องนี้ทำให้ชาวบ้านไม่พอใจอย่างมาก เพราะเป็นเหมือนการลักไก่ ไม่มีการแจ้งให้ชาวบ้านรู้ก่อน และสถานการณ์ตอนนี้ทุกต่างก็สนใจที่เรื่องการเลือกตั้ง กกพ. ไม่ควรฉวยโอกาสนี้เร่งออกใบอนุญาตให้กับบริษัท” สิริศักดิ์ กล่าว

สิริศักดิ์ กล่าวต่อว่า การพิจารณาออกใบอนุญาตเป็นเรื่องที่ควรทำอย่างรอบคอบ และมีข้อมูลที่รอบด้าน และสิ่งที่คณะกรรมการควรจะให้ความสนใจคือ ประเด็นเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่รัศมีที่อาจได้รับผลกระทบ 5 กิโลเมตร ซึ่งไม่เคยได้เข้าไปมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อประกอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)

“การพิจารณาของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานที่อนุมัติให้โรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 61 ผ่านในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่ารัฐไม่ได้สนใจประชาชนที่เรียกร้องให้ยุติโครงการที่จะก่อให้เกิดผลกระทบกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม แต่กลับแสดงออกถึงการเอื้อให้กับนายทุนมากกว่า ถึงอย่างไรกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายตำบลเชียงเพ็งก็ยังยืนยันเดินหน้าคัดค้านและไม่ยอมรับกระบวนการอีไอเอและกระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน” สิริศักดิ์ กล่าว

มะลิจิตร เอกตาแสง กรรมการอนุรักษ์ลำน้ำเซบายตำบลเชียงเพ็ง กล่าวว่า เรื่องที่เกิดขึ้นนี้ทำให้เห็นว่า การลงพื้นที่ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานนั้น เป็นเพียงการสร้างภาพเท่านั้น ไม่ได้มีความจริงใจต่อประชาชน อีกทั้งการพิจารณาในเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้คนซึ่งอาจได้รับผลกระทบก็ยังไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า โดยเรื่องนี้กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายไม่อาจยอมรับกระบวนการเหล่านี้ได้  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท