ส.ว.แต่งตั้ง: ย้อนดูประวัติ 6 ผู้นำเหล่าทัพที่ได้เป็น ส.ว.แต่งตั้งโดยอัตโนมัติ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

รัฐธรรมนูญปี 2560 ในบทเฉพาะกาล กำหนดให้วุฒิสภา (ส.ว.) มาจากการเสนอชื่อโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จำนวน 250 คน และต้องมี ส.ว. ที่มาจากผู้นำเหล่าทัพทั้ง 6 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการเรือ ผู้บัญชาการอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
 
บทบัญญัติดังกล่าวเป็นไปตาม 'คำขอ' ของ คสช. ที่ต้องการคุมการเปลี่ยนผ่านและพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ดังนั้น จึงจำเป็นจะต้องพึ่งพาคนที่ไว้ใจได้ และคงไม่มีใครเหมาะสมไปกว่า 'ผู้นำเหล่าทัพ' ที่เคยแต่งตั้งทำงานให้กับ คสช. มาในตำแหน่งต่างๆ และเคยมีผลงานสนับสนุน คสช. ทั้งทางบริหารและนิติบัญญัติ

จากตำแหน่ง 'น้องรัก-คนสนิท สู่ 'แนวหน้ากองทัพ'

รายชื่อของผู้นำเหล่าทัพในปัจจุบันเป็นไปตาม 'โผทหาร' หรือ บัญชีรายชื่อโยกย้ายนายทหารประจำปี 2561 ที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประชุมร่วมกับอดีตผู้บัญชาการเหล่าทัพ ซึ่งหากพิจารณาจากประวัติและที่มาของแต่ละคน หลายคนก็เป็น 'ตัวเต็ง' ที่ถูกปลุกปั้นให้โตตามสายงานและมีผลงานเป็นที่กล่าวถึง
 
เริ่มต้นจาก พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. จบจากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล ก่อนเข้าเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 20 และเป็นบุตรของ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ อดีต ผบ.ทหารสูงสุด และประธานคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่เคยยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อปี 2534
 
พล.อ.อภิรัชต์ ถือเป็น 'ตัวเต็ง' สำหรับเก้าอี้ผู้นำเหล่าทัพ จากผู้บังคับหน่วยภายในกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ( ร.11 รอ.) ก่อนขยับขึ้นมาดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 เข้าสู่เส้นทาง 5 เสือกองทัพบก เพื่อทำงาน 'สายตรง' ให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ก่อนจะขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบกในวันที่ 1 ตุลาคม 2561 
 
ถัดมาเป็น พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ ผบ.ทร. เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 18 (ตท.18) รุ่นเดียวกับ พล.อ.อ ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ผบ.ทอ. ในอดีตเคยดำรงตำแหน่งรองเจ้ากรมยุทธการทหารเรือ, ผู้บัญชาการโรงเรียนนายเรือ และเป็นเสนาธิการทหารเรือ และเป็นน้องชายของ พล.อ.กัมปนาท รุดดิษฐ์ อดีต ผช.ผบ.ทบ. ที่ปัจจุบันเป็นองคมนตรี
 
นอกจากนี้ พล.ร.อ.ลือชัย ยังเคยถูกสังคมจับตาในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ (กจด.) จำนวน 3 ลำ โดยวงเงินประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท โดยจัดซื้อแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) กับประเทศจีน ก่อนจะเข้ารับตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพเรือเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2561
 
ถัดมาเป็น พลอากาศเอก ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ผบ.ทอ. เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 18 (ตท.18) เคยดำรงตำแหน่งสำคัญในกองทััพอากาศได้แก่ เจ้ากรมข่าวทหารอากาศ เจ้ากรมยุทธการทหารอากาศ และรองเสนาธิการทหารอากาศ จากนั้นปี 2560 ก็ขยับเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารอากาศ และได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) คนที่ 25 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2561 
 
ถัดมาเป็น พลตำรวจเอก จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. เป็นนักเรียนโรงเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 36 (นรต.36) และเป็นเพื่อนรุ่นเดียวกับนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 20 (ตท.20) เช่น พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. 
 
พล.ต.อ.จักรทิพย์ เริ่มต้นรับราชการจากตำแหน่งนายเวรผู้บังคับการประจำกรมตำรวจ ก่อนจะย้ายเข้าสู่กองปราบปรามในตำแหน่งรองผู้กำกับและเป็นถึงผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 จนหลังรัฐประหารถึงได้รับตำแหน่งรักษาการผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และได้รับแต่งตั้งเป็น ผบ.ตร. เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2558
 
ถัดมาคือ พลเอก ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกลาโหม เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 20 รุ่นเดียวกับ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ เคยดำรงตำแหน่งสำคัญอย่าง ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกกาญจนบุรี หัวหน้าสำนักงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 14 รวมทั้งเป็นนายทหารที่ใกล้ชิด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก่อนจะเข้ารับตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2561
 
สุดท้ายคือ พลเอก พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผบ.สส. จบจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และเข้าเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 18 จากนั้นก็เติบโตจากผู้บัญชาการโรงเรียนเตรียมทหาร สู่หัวหน้านายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บัญชาการทหารสูงสุด และขึ้นเป็นเสนาธิการทหาร จนกระทั่งปี 2561 เป็น ผบ.สส. 

ผู้นำเหล่าทัพเตรียมรับตำแหน่ง 'ส.ว.แต่งตั้ง' หลังรับมาแล้วหลายตำแหน่งในยุคคสช.

ตำแหน่ง ส.ว. ไม่ใช่ตำแหน่งเดียวที่บรรดาผู้นำเหล่าทัพจะได้ไปครอง เพราะหากนับตั้งแต่หลังการรัฐประหาร บรรดาผู้นำเหล่าทัพที่ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา ล้วนแล้วแต่มีตำแหน่งที่ คสช. เป็นผู้แต่งตั้งมากกว่าหนึ่งตำแหน่ง โดยมีรายละเอียดดังนี้
 
หนึ่ง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ หลังรัฐประหารได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2557 จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสซ. ยังออกคำสั่งหัวหน้า คสช. (เฉพาะ) ที่ 1/2558 แต่งตั้ง พล.อ.อภิรัชต์ เป็นประธานกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลด้วย เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2558
 
หลังได้รับการแต่งตั้งเป็น ผบ.ทบ. ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขาธิการ คสช. อีก รวมถึงต้องเข้ารับตำแหน่งแทน พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ในเก้าอี้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ
 
สอง พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ หลังการรัฐประหาร ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิก สนช. เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2559 หลังจากนั้นจึงเข้ามาเป็นหนึ่งในสมาชิก คสช. ในฐานะผู้นำเหล่าทัพของกองทัพเรือ เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2561 นอกจากนี้ ยังต้องดำรงตำแหน่งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติในฐานะ ผบ.ทร. แทน พล.ร.อ.นริส ประทุมสุวรรณ ที่พ้นจากตำแหน่งไป
 
สาม พล.อ.อ ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน หลังการรัฐประหาร ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิก สนช. เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2559 หลังจากนั้นจึงเข้ามาเป็นหนึ่งในสมาชิก คสช. ในฐานะผู้นำเหล่าทัพของกองทัพอากาศ เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2561 นอกจากนี้ ยังต้องดำรงตำแหน่งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติในฐานะ ผบ.ทอ. แทน พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง ที่พ้นจากตำแหน่งไป
 
สี่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ถือว่าเป็นคนที่รับตำแหน่งในยุคคสช. มากที่สุด เมื่อเทียบกับบรรดาผู้นำเหล่าคนอื่นๆ ได้แก่ ตำแหน่งสมาชิก สนช. เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2557 จากนั้น ดำรงตำแหน่ง สมาชิก คสช. เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2558
 
นอกจากนี้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ยังเคยได้รับแต่งตั้งป็นคณะกรรมการชุดต่างๆ ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีและคำสั่งหัวหน้าคสช. เช่น คณะกรรมการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ, คณะกรรมการเพื่อเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ
 
ห้า พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ หลังการรัฐประหาร ดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิก สนช. ชุดที่สอง เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2557 และเป็นผู้อำนวยการศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) ที่ คสช. แต่งตั้ง หลังจากนั้นจึงเข้ามาเป็นสมาชิก คสช. ในฐานะปลัดกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2561 และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ
 
หก พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี หลังรัฐประหารและก่อนก้าวเข้าดำรงตำแหน่ง ผบ.สส. อย่างเป็นทางการ วันที่ 27 กันยายน 2561 ก็ถูกแต่งตั้งเป็นสมาชิก คสช. และยังเป็นกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ แต่ไม่พบบทบาทการทำงานอื่นๆ ของเขาให้กับ คสช.

บทบาทผู้นำเหล่าทัพในสภา เคยออกกฎหมายเอื้อประโยชน์ คสช. และตัวเอง 

ในจำนวนผู้นำเหล่าทัพ 6 คน มีผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็น สนช. 5 คน ซึ่งบทบาทในการทำหน้าที่พิจารณากฎหมายให้กับรัฐบาล คสช. พบว่า บางครั้งมีการพิจารณากฎหมายเพื่อเพิ่มอำนาจหรือเครื่องมือให้รัฐในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน บางครั้งก็เป็นการออกกฎหมายที่เป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจของ คสช. และบรรดาผู้นำเหล่าทัพเองก็ได้รับผลประโยชน์จากการออกกฎหมายต่างๆ ด้วย
 
สำหรับกฎหมายที่ผู้นำเหล่าทัพเข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น กฎหมายขึ้นเงินเดือนข้าราชการ โดยเฉพาะเงินเดือนทหารและตำรวจที่มีการเห็นชอบไปแล้วอย่างน้อย 4 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร, พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ และ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการทหาร จำนวน 2 ฉบับ
 
นอกจากนี้ ผู้นำเหล่าทัพยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับการพิจาณากฎหมายงบประมาณ ได้แก่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี และ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีเพิ่มเติม ที่ยอดวงเงินรวมมากกว่า 14 ล้านล้านบาท โดยเป็นงบประมาณของกองทัพโดยเฉลี่ยแล้วไม่น้อยกว่า 2 แสนล้านบาทในแต่ละปี และถือเป็นรายจ่ายที่มีวงเงินสูงติด 1 ใน 5 เกือบทุกครั้ง
 
ส่วนกฎหมายที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการสืบทอดอำนาจให้ คสช. เช่น พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งกำหนดให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอย่างน้อย 2 ชุด ได้แก่ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อทำหน้าที่เขียนแผนยุทธศาสตร์ให้ คสช. วางอนาคตประเทศอีก 20 ปี และในอนาคตหากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่ทำตามก็จะถูกลงโทษ ทั้งนี้ ในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติจะประกอบไปด้วยผู้นำเหล่าทัพและคนในรัฐบาล คสช.    
 
นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ากระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอีก เช่น พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่ถูกแก้ไขใหม่ แต่รัฐบาลยังคงนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการจำกัดการใช้เสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของประชาชนบนโลกออนไลน์เหมือนเดิม โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล เป็นต้น

สนช. ที่ได้เป็น ส.ว.โดยตำแหน่ง มีโอกาสได้โหวตเลือกนายกฯ

ในการเลือกตั้งครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดให้ ส.ว. ชุดแรกที่มาจากการเสนอชื่อโดย คสช. สามารถร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ดังนั้น หากมีการประชุมสภาเพื่อเลือกนายกฯ ได้ก่อนเดือนกันยายนปี 2562 บรรดาผู้นำเหล่าทัพชุดปัจจุบันที่จะเข้ารับตำแหน่ง ส.ว.แต่งตั้งโดยตำแหน่ง จะมีสิทธิในการเลือกนายกฯ ทุกคน
 
สำหรับผู้นำเหล่าทัพที่มีสิทธิได้เลือกนายกฯ อย่างแน่นอน หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในปี 2562 มีจำนวน 5 คน ได้แก่ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผบ.ทร. พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผบ.สส. และ พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกลาโหม เนื่องจากบุคคลเหล่านี้จะมีอายุราชการถึงปี 2563 
 
ส่วนผู้ที่ยังต้องลุ้นว่าจะมีโอกาสได้เลือกนายกรัฐมนตรีหรือไม่ คือ พล.อ.อ ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ผบ.ทอ. เนื่องจากจะต้องเกษียณในเดือนกันยายน 2562

ผู้นำเหล่าทัพ ประกาศ 'พร้อมสนับสนุน คสช.' ช่วงเข้ารับตำแหน่ง

หลังการเข้าสู้ตำแหน่งผู้นำเหล่าทัพ เรื่องที่สังคมให้ความสำคัญก็คือ 'วิสัยทัศน์' ของผู้นำเหล่าทัพในการทำหน้าที่ ซึ่งแนวหน้าของกองทัพบางคน ก็มีทิศทางที่ใกล้เคียงกันนั้นคือ 'สนับสนุนแนวทางของ คสช.'
 
อย่างเช่น พล.อ.อภิรัชต์ ผบ.ทบ. ที่ประกาศจุดยืนว่า 'กองทัพต้องสวมหมวก 2 ใบ คือ กองทัพและคสช.' เพราะ กองทัพและคสช. ก็คือเนื้อเดียวกัน แต่จะพยายามรักษาความเป็นกลาง และจะเข้ามามีบทบาทในช่วงการเลือกตั้งเพื่อให้ความรู้กับประชาชน
 
ด้าน พล.อ.อ ชัยพฤกษ์ ผบ.ทอ. ก็ประกาศว่า จะสานต่อยุทธศาสตร์กองทัพอากาศ ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในยุทธศาสตร์มิติไซเบอร์และกิจการอวกาศ พร้อมพัฒนาบุคลากรของกองทัพอากาศให้มีความเป็นจิตอาสาและมุ่งมั่นทำความดี รวมทั้งมีระเบียบวินัยทหาร พร้อมสนับสนุนงานรัฐบาลและ คสช.
 
หรืออย่าง  พล.อ.พรพิพัฒน์ ผบ.สส. ที่แถลงถึงนโยบายในการปฏิบัติร่วมกันของกองทัพว่า คือการให้สนับสนุนรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปีแผนการปฏิรูปประเทศแผนแม่บทด้านความมั่นคง 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท