ให้สิทธินักโทษขั้นพื้นฐานในการเลือกตั้ง: เรื่องที่พรรคการเมืองไทยยังไปไม่ถึง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่นักโทษหรือผู้ต้องขังยังไม่ได้รับสิทธิการมีส่วนร่วมทางการเมืองขั้นพื้นฐานผ่านการเลือกตั้ง และนักการเมืองจะไม่มีการพูดถึงคนกลุ่มนี้เลย เพราะเห็นว่าผู้ต้องขังไม่ใช่ฐานคะแนนเสียง หลายคนเห็นด้วยว่าเมื่อคนทำผิดเดินเข้าเรือนจำไปแล้วไม่ควรได้รับสิทธิทางการเมืองอีกต่อไป และนักโทษจำนวนสามแสนกว่าคนในประเทศไทยที่อยู่ในเรือนจำทั่วประเทศเป็นคนที่สังคมไม่พึงประสงค์...ในเมื่อคนเหล่านี้ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมของตัวเองเหมือนคนทั่วไปได้ จะมีเหตุผลใดอีกที่จะให้พวกเขามีสิทธิไปลงคะแนนเลือกใครเข้าสู่สภาเป็นตัวแทนของคนในสังคมได้ คนที่กระทำผิดก็มักต้องเลือกคนแบบผิดๆเข้าสู่สภา เป็นตรรกะตรงไปตรงมามิใช่หรือ? 

ส่วนฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐที่มักให้เหตุผลว่า ยังให้นักโทษเลือกตั้งไม่ได้ เพราะเกรงว่านักโทษจะไม่มีอิสระในการเลือกตั้ง หรือได้รับแรงกดดันได้ง่ายจากผู้คุมหรือผู้มีอิทธิพลภายในราชทัณฑ์ที่อาจจะบังคับให้นักโทษเลือกคนที่ผู้ใหญ่ในเรือนจำต้องการ

เรื่องนี้ดูจะเป็นแนวคิดที่พรรคการเมืองไทยยังไปไม่ถึง เราลองมามองประเทศที่เขาล้ำหน้าเราไปไกลแล้วอย่าง อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นสมาชิกของอาเซียน ทั้งสองประเทศกำหนดให้มีหน่วยเลือกตั้งภายในเรือนจำทั้งเรือนจำหญิงและชาย อนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์นานาชาติอย่างเราเข้าไปดูขั้นตอนการเลือกตั้งได้อย่างอิสระ ไม่มีการใส่กุญแจมือ หรือตีตรวนนักโทษในขณะที่ออกจากห้องมาหย่อนบัตร และไม่คิดว่านักโทษจะจับตัวผู้สังเกตการณ์ไปเป็นตัวประกัน หรือคิดจะแหกคุก เพราะเขามีการเตรียมการ ทำความเข้าใจกับนักโทษไว้อย่างดี สิ่งเดียวที่ฟิลิปปินส์ต่างจากอินโดนีเซีย ก็คือประเทศฟิลิปปินส์ไม่มีนักโทษประหารชีวิต แต่ก็ยอมให้นักโทษคดีอาญาร้ายแรงเหล่านั้นเลือกตั้งได้

ประเทศเนปาลดูจะเป็นประเทศยากจนที่น่าสนใจที่สุดประเทศหนึ่ง รัฐให้ความสำคัญต่อสิทธิในการเลือกตั้งของประชาชนทุกกลุ่ม (ยกเว้นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (IDPs) และผู้ไร้ที่ดิน) ซึ่งต้องชมเชย กกต.เนปาล (ECN) และกระทรวงมหาดไทยที่ให้จัดให้มีหน่วยเลือกตั้งนอกเรือนจำ อนุญาตให้นักโทษมีส่วนร่วมลงคะแนน (Prisoner Right to Vote)ในกระบวนการทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับการปฏิบัติในการเลือกตั้งในอินโดนีเซีย ติมอร์ตะวันออก ฟิลิปปินส์ และอัฟกานิสถาน

พวกเขาถือเป็นพลเมืองของประเทศเนปาลโดยสุจริตเช่นเดียวกับคนอื่นๆที่อยู่นอกคุกและได้รับสิทธิโดยชอบตามรัฐธรรมนูญ สิทธิที่ได้รับทำให้พวกเขาเรียกร้องต่อรองให้มีการปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ การฟื้นฟูและการปล่อยตัวผู้บริสุทธิ์   การอนุญาตให้ผู้ต้องขังใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งยังช่วยเตือนนักการเมืองถึงการมีอยู่ของกลุ่มนี้และคะแนนเสียงของพวกเขาทุกคะแนนจึงมีความสำคัญ

เมื่อเนปาลไม่มีการจัดทำหน่วยเลือกตั้งภายในอาคารเรือนจำเหมือนที่ทำในประเทศต่างๆที่กล่าวมา และจะได้รับการลงคะแนนภายใต้ระบบ ตัวแทนแบบสัดส่วน หรือ Proportional Representation (PR) เท่านั้น จึงทำให้พรรคการเมืองไม่ได้รับอนุญาตให้รณรงค์ภายในเรือนจำ ข้อมูลใด ๆ ที่มีไว้สำหรับผู้ต้องขังสามารถส่งได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการการเลือกตั้งและกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น

จากการสังเกตการณ์กระบวนการเลือกตั้งที่กล่าวมาได้เห็นว่าจุดเลือกตั้งอยู่ที่ด้านนอกประตูเรือนจำ เมื่อนักโทษเดินออกมาหย่อนบัตรทีละคน ผู้คุมอนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์นานาชาตินั่งคุยดื่มกาแฟกับนักโทษเหมือนคนธรรมดาทั่วไป เป็นที่ประทับใจของคนต่างชาติอย่างมาก คือไม่มีอะไรต้องปิดบัง และไม่กลัวคำวิพากษ์วิจารณ์ เพราะถือว่าคำติชมจะนำมาซึ่งการพัฒนาปรับปรุงประเทศให้ดียิ่งขึ้น  นอกจากนั้นยังทราบว่าก่อนวันเลือกตั้งนักโทษสามารถหาข่าวสารได้จากใบปลิวที่พรรคส่งเข้าไป ได้ดูทีวี อ่านหนังสือพิมพ์ และรู้ว่าจะเลือกใคร  ที่ประเทศอินโดนีเซียเขายอมให้ผู้สังเกตการณ์ฯได้คุยกับนักโทษการเมืองคนสำคัญๆของอินโดนีเซียในเรือนจำด้วย

เกือบทุกประเทศให้เลือกผู้สมัครในเขตที่เป็นที่ตั้งของเรือนจำแต่ละแห่ง มากกว่าที่จะให้เลือกผู้สมัครจากจังหวัดที่ตนเกิดหรือมีถิ่นฐานอยู่ ทั้งนี้เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการ และให้นักการเมือง หรือ สส. เห็นความสำคัญของฐานคะแนนเสียงที่มาจากหลังลูกกรงเหล็ก เพื่อให้ สส.คิดอยากจะใส่ใจ ดูแลนักโทษ พัฒนาสภาพเรือนจำ หรือจัดสรรงบประมาณให้ในแต่ละปี

ส่วนประเทศนอกพื้นทวีปเอเชียที่อนุญาตให้ผู้ต้องขังลงคะแนนเสียง รวมถึงประเทศ แคนาดา โครเอเชีย สาธารณรัฐเช็ก เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิสราเอล เคนยา เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ เปรู โปแลนด์ โรมาเนีย เซอร์เบีย สวีเดน, สเปน, สวิตเซอร์แลนด์ ยูเครน และซิมบับเว เป็นต้น  บางประเทศอย่างฟินแลนด์ใช้วิธีให้ผู้ต้องขังเลือกตั้งล่วงหน้าซึ่งก็เป็นทางเลือกที่ดีอย่างหนึ่ง  ประเทศในสหภาพยุโรปยังมีการปฏิบัติในเรื่องนี้แตกต่างกันแต่ให้สิทธิในการเลือกตั้งกับผู้ต้องขังเหมือนกัน

ในแอลเบเนียนักโทษทุกคนสามารถลงคะแนนโดยไม่คำนึงถึงประเภทความผิดหรือระดับของโทษ การปฏิบัติคล้ายกันกับประเทศบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาซึ่งนักโทษสามารถลงคะแนนได้ ยกเว้นผู้กระทำผิดที่เกี่ยวข้องกับสงครามหลังการล่มสลายของยูโกสลาเวีย   นักโทษส่วนใหญ่สามารถลงคะแนนในไซปรัสและโรมาเนียได้ แต่ผู้พิพากษาจะพิจารณาเป็นอย่างอื่นหรือจะไม่ให้สิทธิเลือกตั้งกับนักโทษบางคนได้

ในบัลแกเรียผู้พิพากษามีอำนาจในการตัดสิทธิผู้กระทำความผิดที่ถูกจำคุกมานานกว่า 10 ปี  ส่วนฝรั่งเศสมีกฎที่ซับซ้อนมากที่เกี่ยวข้องกับประเภทของโทษ เนื่องจากการตัดสิทธิจะถือว่าเป็นการลงโทษเพิ่มเติมที่กำหนด ให้เป็นส่วนหนึ่งของโทษด้วย – ดังนั้นการให้สิทธิจึงต้องสอดคล้องกับความผิดและขึ้นอยู่กับการพิจารณาคดีของผู้พิพากษา ที่ประเทศลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ และสโลวาเกีย มีกฎระเบียบที่คล้ายคลึงกัน    ในเยอรมนีผู้ต้องขังจะเสียสิทธิในการลงคะแนน หากพวกเขาถูกตัดสินว่ามีความผิดที่มุ่งเป้าไปที่รัฐหรือทำลายล้างระบอบประชาธิปไตย 
          
สำหรับประเทศไทย ที่มีระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ ฐานคะแนนเสียงจากนักโทษ 370,000 คน น่าจะเป็นคะแนนที่มีความหมาย โดยเฉพาะกับคะแนนของบัญชีรายชื่อ หากผู้สมัครลงเลือกตั้งของไทยครั้งนี้ที่มีถึงหมื่นกว่าคนคำนึงถึงหลักการพื้นฐานตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) ที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีด้วยนั้น เราคงไม่ตีความข้อ 21 ของปฏิญญาฯ ไปเป็นอื่น ซึ่งเขียนเพื่อให้ “ทุกคนมีสิทธิ มีส่วนร่วมในการเลือกรัฐบาลของประเทศตน ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยเลือกผู้แทนที่ผ่านการเลือกตั้งอย่างเสรี เสมอภาค และเป็นความลับ เพื่อให้เจตจำนงพื้นฐานของประชาชนเป็นที่มาของการได้อำนาจรัฐ ผ่านการเลือกตั้ง ตามหลักสากล”   ซึ่งการให้สิทธิทุกคนย่อมหมายถึงการให้สิทธินักโทษด้วย 

การให้สิทธินักโทษไทยในการเลือกตั้งทุกระดับย่อมจะทำให้พวกเขามีกำลังใจได้ส่วนหนึ่งที่จะฟื้นฟูจิตใจเปลี่ยนแปลงตัวเอง ไม่รู้สึกถึงความไม่เท่าเทียม การดูถูก เหยียดหยาม ชิงชัง  มีความหวังว่าจะมีนักการเมืองมาช่วยแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันในเรือนจำ หรือแม้แต่จะนำผู้บริสุทธิ์จำนวนมากออกจากเรือนจำด้วย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท