Skip to main content
sharethis

'นิด้าโพล' สำรวจ 1,253 คน 36.39% ระบุตัดสินใจลงคะแนนเพราะเลือกพรรคการเมือง 32.64% เลือกทั้งผู้สมัครและพรรค 30.97% เลือกผู้สมัคร ด้าน 'สวนดุสิตโพล' เผยประชาชนกังวลนักการเมืองหาเสียงแข่งขันสูงใช้วิธีรุนแรงโกงขอหยุดขายฝัน 'บ้านสมเด็จโพล' สำรวจคนอาศัยใน กทม. 1,152 คน เลือก 'ธนาธร-อนาคตใหม่' มากที่สุด 'ซูเปอร์โพล' ระบุประชาชนมีพรรคสำรองหากพรรคที่ชอบถูกยุบ

24 ก.พ. 2562 ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน จำนวน 1,253 หน่วยตัวอย่าง เรื่อง “คุณสมบัติของ ส.ส. และ พรรคการเมืองที่ประชาชนต้องการ” โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 20-21 ก.พ. 2562 เมื่อถามถึงการเลือกตั้งที่จะถึงนี้จะตัดสินใจลงคะแนนโดยการเลือกบุคคล (ผู้สมัคร ส.ส.) หรือพรรคการเมืองพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 36.39 ระบุว่าพรรคการเมือง รองลงมา ร้อยละ 32.64 ระบุว่า ทั้งบุคคล (ผู้สมัคร ส.ส.) และพรรคการเมืองและร้อยละ 30.97 ระบุว่าบุคคล (ผู้สมัคร ส.ส.)

ขณะที่คุณสมบัติของผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่จะเลือก พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 23.71 ระบุว่า มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ รองลงมา ร้อยละ 22.46 ระบุว่า ส.ส. ที่ลงพื้นที่ใกล้ชิดประชาชน ร้อยละ 20.45 ระบุว่า มีความรู้ความสามารถ ร้อยละ 10.66 ระบุว่า ไม่มีประวัติด่างพร้อย ร้อยละ 9.16 ระบุว่า เป็นคนรุ่นใหม่

อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 41.97 ระบุคุณสมบัติของพรรคการเมือง ที่จะเลือก คือ นโยบายพรรค รองลงมา ร้อยละ 38.50 ระบุว่า ผลงานที่ผ่านมาดีเป็นที่ประจักษ์ ทำได้จริง ร้อยละ 7.63 ระบุว่า จุดยืนของพรรค ร้อยละ 6.47 ระบุว่า หัวหน้าพรรค

'สวนดุสิตโพล' เผยประชาชนกังวลนักการเมืองหาเสียงแข่งขันสูงใช้วิธีรุนแรงโกงขอหยุดขายฝัน

ด้านสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความเห็นของประชาชนทั่วประเทศจำนวนทั้งสิ้น 1,157 คน เรื่อง การหาเสียงของผู้สมัคร ส.ส. ในทัศนะ ณ วันนี้มีเรื่องใดบ้าง โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 19-23 ก.พ. 2562 เพื่อสะท้อนกระแสข่าวการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นเป็นที่จับตามองและวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะการแข่งขันลงพื้นที่หาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ จนเกิดการกระทบกระทั่งกันบ้างทั้งในเรื่องนโยบายและกลุ่มบุคคล ส่งผลให้สถานการณ์ทางการเมืองเข้มข้นและเป็นประเด็นร้อนในสังคมอย่างมาก พบว่า ประชาชน ร้อยละ 39.62 มีความกังวลใจกับการหาเสียงที่มีการแข่งขันสูง ใช้วิธีรุนแรง ไม่สร้างสรรค์ ร้อยละ 32.01 จ่ายเงินซื้อเสียง ทุจริต และร้อยละ 27.32 ทำไม่ได้ตามที่พูด ชูนโยบายเกินจริง

ส่วนที่ประชาชนอยากขอร้องจากนักการเมือง พบว่า ร้อยละ 35.57 ขอนโยบายทำได้จริง พูดจริง ทำจริง ไม่ขายฝัน ร้อยละ 24.66 ทำตามกฎหมายเลือกตั้ง ไม่ทุจริต ไม่ซื้อเสียง ร้อยละ 21.36 ไม่ใส่ร้ายป้ายสีคู่แข่ง สร้างความวุ่นวาย และร้อยละ 12.50 ขอให้ติดป้ายหาเสียงในที่เหมาะสม ไม่กีดขวางทางเท้า

'บ้านสมเด็จโพล' สำรวจคนอาศัยใน กทม. 1,152 คน เลือก 'ธนาธร-อนาคตใหม่' มากที่สุด

ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพล สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับความคาดหวังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเดือน ก.พ. 2562 โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,152 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 20-23 ก.พ. 2562 ซึ่งกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่าประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลกล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้ต้องการสะท้อนความคิดเห็นในเรื่องความคาดหวังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร หลังจากมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 24 มี.ค. 2562 ความตื่นตัวทางการเมืองของพรรคการเมือง นักการเมือง และประชาชนได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ผู้สมัครที่มีคุณสมบัติแบบใด ที่ประชาชนคาดหวัง และการตัดสินใจจะเลือกผู้สมัครแบบใด การสังกัดพรรคการเมืองมีผลต่อการตัดสินใจหรือไม่ และคิดว่าผู้ใดที่มีความเหมาะสมกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไป การสมัครของผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรแบบบัญชีรายชื่อ พร้อมบัญชีผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีที่พรรคการเมืองต้องแจ้งต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และบรรยากาศในการหาเสียงของพรรคการเมืองและผู้สมัคร ก่อนการเลือกตั้ง 1 เดือน ความคิดเห็นของประชาชนต่อความคาดหวังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเดือน ก.พ. 2562 โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่าจะไปเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 24 มี.ค. 2562 ร้อยละ 83.6 รองลงมาคือไม่แน่ใจ ร้อยละ 10.5 และไม่ไป ร้อยละ 5.9

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่อยากได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรที่มีคุณสมบัติที่มีความซื่อสัตย์โปร่งใส มากที่สุด ร้อยละ 45.6 อันดับที่สองคือ มีการแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว ร้อยละ 15.2  อันดับที่สามคือ มีการปฏิบัติงานให้เห็นเป็นรูปธรรม ร้อยละ 13.1 อันดับที่สี่คือ ความเสียสละทำงานเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง ร้อยละ 12.3 อันดับที่ห้าคือ มีความขยันทุ่มเทในการทำงาน ร้อยละ 10.1และหากต้องไปเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรจะตัดสินใจเลือกบุคคลประเภท ผู้ที่มีความซื่อสัตย์สุจริต ร้อยละ 47.3 อันดับที่สองคือ ผู้ที่มีความเสียสละเพื่อสังคม ทำงานเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง ร้อยละ 22.7 อันดับที่สามคือ ผู้ที่อยู่ในพื้นที่และทำงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ร้อยละ 12.5 อันดับที่สี่คือ ผู้ที่มีความรู้ความสามารถ มีประวัติการศึกษาและการทำงานอย่างมากมาย ร้อยละ 10.7 อันดับที่ห้าคือ ผู้ที่เป็นลูกหลาน ตระกูลนักการเมือง ร้อยละ 2.6

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่อยากพรรคการเมืองให้ความสำคัญกับนโยบาย ด้านเศรษฐกิจและการส่งเสริมอาชีพ มากที่สุด ร้อยละ 45.3 อันดับที่สองคือ ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ร้อยละ 27.0 อันดับที่สามคือ ด้านการศึกษาและคุณภาพชีวิต ร้อยละ 10.2 อันดับที่สี่คือ ด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ร้อยละ 5.7 อันดับที่ห้าคือ ด้านศิลปวัฒนธรรมและการพัฒนาสังคม ร้อยละ 4.8 และปัจจัยที่ทำให้ตัดสินใจในการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรในการเลือกตั้งครั้งนี้คือ ตัวผู้สมัคร ร้อยละ 63.8 และพรรคการเมืองที่สังกัด ร้อยละ 36.2

หากมีการเลือกตั้งกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่าจะเลือกพรรคอนาคตใหม่ มากที่สุด ร้อยละ 37.8 อันดับที่สองคือพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 23.9 อันดับที่สามคือพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 15.4 อันดับที่สี่คือพรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 10.6 อันดับที่ห้าคือ พรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 3.2 และคิดว่าบุคคลที่เหมาะสมกับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมากที่สุดคือ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ร้อยละ 36.6 อันดับที่สองคือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ร้อยละ 18.4 อันดับที่สามคือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ร้อยละ 16.8 อันดับที่สี่คือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ร้อยละ 11.0 อันดับที่ห้าคือ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ร้อยละ 5.0

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ทราบว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร มีหน้าที่ทำอะไร ร้อยละ 71.6 รองลงมาคือไม่ทราบ ร้อยละ 20.4 และไม่แน่ใจ ร้อยละ 8.0 โดยในเรื่องบัตรเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนใหญ่ทราบว่ามีบัตรเลือกตั้ง 1 ใบในการเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค. 2562  ร้อยละ 62.2 และทราบว่ามีบัตรเลือกตั้ง 1 ใบเป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ ร้อยละ 62.1

ซูเปอร์โพลระบุประชาชนมีพรรคสำรองหากพรรคที่ชอบถูกยุบ

ด้านสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดเผยผลสำรวจความเห็นประชาชนทุกสาขาอาชีพ จำนวน 1,337 ตัวอย่าง เรื่อง ถ้าพรรคที่ชอบถูกยุบจะเลือกใคร โดยดำเนินโครงการระหว่าง วันที่ 20-23 ก.พ.2562 ที่ผ่านมาพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 59.7 ติดตามข่าวการเมืองบ่อย ในขณะที่ ร้อยละ 35.9 ไม่บ่อย และร้อยละ 4.4ไม่ติดตามเลย

ทั้งนี้เมื่อถามถึงความกังวลต่อความวุ่นวายช่วงเลือกตั้ง พบว่า คนที่กังวลมีสัดส่วนลดลงจาก ร้อยละ 72.5 ในช่วงวันที่ 10 – 16 ก.พ. เหลือร้อยละ 54.8 ในช่วง 20 – 23 ก.พ. และกลุ่มคนที่ไม่กังวลเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 27.5มาอยู่ที่ร้อยละ 45.2 และที่น่าพิจารณา คือ ประชาชนร้อยละ 35.3 ตั้งใจจะไปเลือกตั้งอย่างแน่นอน ในขณะที่ส่วนใหญ่ หรือ ร้อยละ 58.0 ยังไม่แน่ใจ และร้อยละ 6.7 ไม่ไป

นอกจากนี้ ถ้าพรรคการเมืองที่ชอบถูกยุบ จะเลือกพรรคใด พบว่าเกินกว่า 1 ใน 3 หรือร้อยละ 34.1 มีพรรคสำรองในใจแล้ว เช่น พรรคภูมิใจไทย เพื่อไทย อนาคตใหม่ พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ เสรีรวมไทย และไทยรักษาชาติ เป็นต้น ในขณะที่ ร้อยละ 28.1 ยังไม่มีพรรคใด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net