'ชุมชนคลองเตย' แจง 4 ประเด็นหลังการท่าเรือผุดโครงการพัฒนาพื้นที่ เตรียมจัดถกใหญ่ 27 ก.พ.นี้

สภาองค์กรชุมชนเขตคลองเตย แจงข้อเท็จจริง 4 ประเด็น พร้อมเตรียมจัดเวทีเสนอความเห็นภาค ปชช. 27 ก.พ.นี้ หลังการท่าเรือผุดโครงการ Smart Community 

ภาพพิธีเปิดโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย หรือ Smart Community เมื่อวันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา ที่มาภาพ เพจ การท่าเรือแห่งประเทศไทย

25 ก.พ.2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ สภาองค์กรชุมชนเขตคลองเตย ออกใบแถลงข่าวกรณีโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย (Smart Community) ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย โดยระบุว่า สภาองค์กรชุมชนฯ ขอแสดงความเห็นและข้อเสนอ ต่อโครงการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว ที่ทางการท่าเรือแห่งประเทศไทย จัดทำ และเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมาโดยกล่าวว่าเป็นโครงการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวชุมชนให้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง ยั่งยืน สามารถอยู่ร่วมกับการเจริญเติบโตของสังคมได้อย่างมีคุณภาพและมีศักดิ์ศรี  

สภาองค์กรชุมชนเขตคลองเตย ขอชี้แจงข้อเท็จจริง เพื่อให้มีความเข้าใจที่ไม่คลาดเคลื่อนไปจากความจริงดังนี้

1. การท่าเรือแห่งประเทศไทย มีแผนการพัฒนาพื้นที่เพื่อนำที่ดินไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ มีการตั้งคณะกรรมการ 1 คณะและ คณะทำงาน 3 คณะ  ซึ่งแต่ละคณะมีประธานกรรมการชุมชน ผู้แทนองค์กร สหกรณ์ ในพื้นที่ร่วมด้วย แต่มีการประชุมเพียงไม่กี่ครั้ง มีการนำเสนอรูปแบบห้องพัก การสำรวจชุมชน เงื่อนไขการพิจารณาสิทธิ ในที่ประชุมแต่ละคณะ โดยการท่าเรือฯเพื่อหารือที่ประชุมยังไม่ได้มีมติของที่ประชุมในแต่ละคณะ โครงการ Smart Community ซึ่งเปิดตัว ในวันที่  9 ม.ค. 2562  จึงเป็นโครงการที่ขาดการมีส่วนร่วมของชาวชุมชน เนื่องจากไม่ได้มีมติเห็นชอบจากที่ประชุมทั้ง 4 คณะ และไม่ได้ลงพื้นที่ทำความเข้าใจ รับฟังความคิดเห็นจากชาวชุมชน 

2. ทั้งรูปแบบอาคาร,ขนาดห้องพักที่มีเพียงขนาดเดียวของโครงการฯ อาจตอบสนองการอยู่อาศัยของคนบางกลุ่มซึ่งมีจำนวนน้อยแต่ไม่สอดคล้องกับความเป็นอยู่และจำนวนสมาชิกในครอบครัวของชาวชุมชนจำนวนมาก ยังมิต้องพูดถึงการที่ชาวชุมชนต้องปรับตัวครั้งใหญ่ และภาระค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มมากขึ้น

3. หลังจากการเปิดตัว โครงการ Smart Community การท่าเรือฯ ได้จัดประชุมผู้แทนชุมชนเพื่อชี้แจงโครงการ แต่ไม่ได้ลงพื้นที่ในแต่ละชุมชน กระบวนการและรูปแบบของการประชุม ยังไม่สามารถตอบคำถาม ไขข้อข้องใจที่ชาวชุมชนสงสัยและห่วงกังวล ให้กระจ่างชัด

4. ผู้นำชุมชนร่วมกับองค์กรในพื้นที่ กลุ่มหนึ่ง ร่วมกันทำงานในนาม “ กลุ่มคนถางทาง”  อาจารย์และนักศึกษา มหาวิทยาลัยศรีปทุม ได้ร่วมเปิดเวทีให้ข้อมูล รับฟังความเห็นของชาวชุมชน ไปนับสิบชุมชน และทำการสำรวจชุมชน นำไปออกแบบอาคารและห้องพักที่มีความหลากหลาย  ซึ่งมาจากการให้ข้อมูล รับฟัง และสำรวจอย่างละเอียดก่อนการออกแบบ  และทำการสำรวจชุมชนเพื่อรับทราบสถานการณ์อยู่อาศัยของชาวชุมชนเพื่อประกอบการพิจารณาเรื่องสิทธิ  ซึ่งสภาองค์กรชุมชน ขอให้ทบทวน โครงการ Smart Community  และขอเสนอแนวทาง ,กระบวนการทำงานกับชุมชน โดยได้จัดทำข้อมูล กระบวนการทำงาน การออกแบบ รูปแบบอาคาร และห้องพัก เป็นวีดีทัศน์ เอกสาร เพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดกระบวนการ ให้เกิดการมีส่วนร่วม ในการพัฒนาที่อยู่อาศัย ที่สอดคล้องกับ ความเป็นอยู่ วิถีชีวิต อาชีพ รายได้ ของชาวชุมชน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแท้จริง 

เตรียมจัดเวทีเสนอความเห็นภาค ปชช. 27 ก.พ.นี้

รายงานข่าวยังแจ้งด้วยว่า วันนี้ (25 ก.พ.62) ชาวชุมชนคลองเตยกว่า 100 คน ได้ส่งตัวแทนเข้าเจรจากับ ไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม เพื่อขอทราบรายละเอียดและแผนการในการรองรับที่อยู่อาศัยของชาวคลองเตย  นอกจากนี้ในวันที่ 27 ก.พ.นี้ ชาวคลองเตยในนามของสภาองค์กรชุมชนเขตคลองเตยจะจัดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็น  ข้อเสนอของภาคประชาชน  โดยให้การท่าเรือฯ ชี้แจง ตอบข้อซักถาม รายละเอียดที่เกี่ยวข้องโครงการดังกล่าว ระหว่างเวลา 08.30 – 12.30 น. ณ ห้องประชุมอเนกประสงค์ ชั้น 2 วัดสะพาน (พระโขนง) เขตคลองเตย กรุงเทพฯ 

9 ม.ค.ที่ผ่านมา ไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดโครงการนี้ ในพื้นที่ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ว่า ขณะนี้ กทท.มีแผนพัฒนาพื้นที่ตามแผนแม่บทท่าเรือกรุงเทพ  โดย กทท.ได้นำพื้นที่รวมกว่า 58 ไร่ มูลค่ากว่า 8,000 ล้านบาท ซึ่งจากเดิมเป็นพื้นที่ของโรงฟอกหนัง กระทรวงกลาโหมมาพัฒนาพื้นที่ สร้างเป็นคอนโดสูง 25 ชั้น ขนาด 4 อาคาร รวม 6,144 ยูนิต พร้อมสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น โรงเรียน ร้านค้าอาคารพาณิชย์ โดยรอบพื้นที่ เพื่อรองรับ 26 ชุมชน และชุมชนใต้ทางด่วน 5 แห่ง  รวม 31 ชุมชน รวม 13,000 ครัวเรือนที่จะเข้ามาอยู่อาศัย คาดการณ์ว่าจะสามารถสร้างที่พักอาศัยได้ภายในสิ้นปี 62 นี้ โดย กทท.ได้เตรียมงบประมาณกว่า 7,500 ล้านบาทในการก่อสร้างที่อยู่อาศัยทั้ง 4 อาคาร

“สำหรับประชาชนรอบท่าเรือคลองเตย รวมทั้งสิ้น 31 ชุมชน หากไม่ต้องการอาศัยในพื้นที่คลองเตยอีก  ทาง กทท.ได้เปิดช่องทางให้ประชาชนสามารถเลือกสิทธิประโยชน์จาก 3 แนวทาง คือ 1.รับห้องชุดขนาด 33 ตร.ม. 2.ที่ดินเปล่าขนาด 19.5 ตร.ว. ย่านหนองจอก มีนบุรี  รวม 214 ไร่ และ 3.รับเงินสดเพื่อนำไปเริ่มต้นชีวิตใหม่”  รมช.คมนาคมกล่าว

กมลศักดิ์ พรหมประยูร รองผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้  ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ บอร์ด กทท.จะประชุมเพื่อขออนุมัติงบประมาณก่อสร้าง  หลังจากนั้นจะอยู่ในขั้นตอนของการออกแบบก่อสร้าง  ซึ่งจะใช้เวลา 6 เดือน ก่อนที่จะเสนอมายังกระทรวงคมนาคมและสภาพัฒน์ หลังจากนั้นจึงจะเสนอเพื่อขออนุมัติ ครม. ต่อไป  นอกจากนี้จากการสำรวจข้อมูลทั้ง 31 ชุมชน พบว่า ประชาชนที่อยากรับคอนโด  มีสัดส่วน 50%, ต้องการที่ดินเปล่าขนาด 19.5 ตร.ว. จำนวน 30 % และอีก 20%  ขอรับเงินชดเชย

ทั้งนี้ โครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย หรือสมาร์ท คอมมูนิตี้ พื้นที่ 58 ไร่ ถือเป็น 1 ในการดำเนินการตามแผนแม่บทพัฒนาท่าเรือกรุงเทพในพื้นที่ 200 ไร่ มูลค่า 32,000 ล้านบาท จากพื้นที่ทั้งหมด 2,353 ไร่ มูลค่ารวมกว่า 100,000 ล้านบาท

สำหรับชุมชนคลองเตย ข้อมูลระบุว่าอาศัยอยู่ในที่ดินของการท่าเรือฯ มานานไม่ต่ำกว่า 40-50 ปี ซึ่งปัจจุบันมีชุมชนทั้งหมด 26 ชุมชน รวมทั้งชุมชนที่อยู่อาศัยในที่ดินบริเวณใต้ทางด่วนใกล้คลองเตยอีก 5 ชุมชน  รวมทั้งหมด 31 ชุมชน ประชากรรวมกันประมาณ 13,000-14,000 ครอบครัว โดยการท่าเรือจะนำพื้นที่บริเวณโรงฟอกหนังประมาณ 58 ไร่มาเป็นพื้นที่รองรับชาวชุมชนคลองเตยและใต้ทางด่วน ขณะที่ชาวชุมชนยังไม่ทราบรายละเอียดอย่างแน่ชัด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท