ครูบาอวตาร: ศาสนทัศน์ ความเชื่อ สังฆะในโลกสมัยใหม่

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ช่วงนี้กระแสครูบาทางเหนือมาแรงจริงๆ จึงขอใช้โอกาสนี้เขียนเล่าเรื่องครูบาอันเกิดจากการทำวิจัยในช่วงปี 2557-2560 เพื่อจะช่วยสร้างความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้น แต่ด้วยข้อจำกัดจะขอเขียนอย่างย่นย่อที่สุด ดังนี้

ครูบาคือใคร?

แนวคิด “ครูบา” เกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่อง “ต๋นบุญ” ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของผู้วิเศษ/ต๋นวิเศษที่แพร่หลายในเขตวัฒนธรรมล้านนา ต๋นบุญเป็นแนวคิดที่ผสมผสานระหว่างแนวคิดพระโพธิสัตว์และพระศรีอริยเมตไตรยและแสดงออกผ่านการปฏิบัติสมาธิ ขบวนการก่อสร้างและฟื้นฟูพุทธศาสนาและการมีพลังวิเศษ สิ่งนี้ถือเป็นลักษณะเฉพาะของจารีตพุทธศาสนาแบบล้านนา (Cohen, 2000a, 2000b, 2001, 2002, 2017) ครูบาศรีวิชัยถือเป็นตัวอย่างที่โด่งดังของการถูกขนานนามว่าต๋นบุญ (ต๋นบุญแห่งล้านนา) ในอดีต 

นอกจากนี้ยังมีครูบาขาวปีผู้เป็นลูกศิษย์ของท่าน ในช่วงที่มีชีวิต ทั้งสองท่านถูกเรียกขานอีกว่าคือ “พระพุทธเจ้า” “พระเจ้า” “พญาธรรม” หรือ “โพธิสัตว์” ผู้เกิดมาเพื่อเผยแพร่ธรรมะให้กับผู้คนทั่วไปและให้โอกาสในการสร้างบุญและชุมชนศีลธรรมเพื่อรอการมาถึงของพระพุทธเจ้าองค์ที่ห้า ในระบบสังฆะล้านนาในอดีตเชื่อว่า “ครูบา” คือตำแหน่งอย่างเป็นทางการ (แม้จะยังหาหลักฐานที่ระบุอย่างชัดเจนไม่ได้ รวมถึงยังเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่) 

ในปัจจุบันเรายังพบว่าสังฆะเชียงตุงและเมืองยองในเขตรัฐฉานของประเทศเมียนมา รวมถึงสิบสองปันนาของมณฑลยูนนาน ประเทศจีนซึ่งเป็นเขตวัฒนธรรมพุทธศาสนาของชาวไตยังมีตำแหน่งครูบาซึ่งแต่งตั้งโดยสังฆะของเมืองนั้นๆ โดยการแต่งตั้งจะมีการพิจารณาผ่านกฎเกณฑ์ต่างๆ ทั้งด้านอายุ ความรู้ในพุทธศาสนา บารมีของการเป็นผู้นำสังคม ร่วมกับคุณลักษณะอื่นๆ เช่น ในสังฆะของไตขึนเมืองเชียงตุงและไตลื้อเมืองยองจะมีข้อกำหนดของการเป็นครูบาว่าต้องมีอายุ 40 ปีขึ้นไปและบวชมาแล้วกว่า 20 พรรษา พิธีเถราภิเษกหรือแต่งตั้งจะเป็นการร่วมมือกันระหว่างสังฆะและชุมชนภายใต้การดูแลของกรรมการด้านศาสนาและวัฒนธรรม 

ในชุมชนพุทธของชาวไตลื้อที่สิบสองปันนา ตำแหน่งครูบามีความสำคัญเป็นอันดับสองรองลงมาจากสมเด็จพระสังฆราชเลยทีเดียว ในกรณีของประเทศไทย เมื่อสังฆะของล้านนาถูกยกเลิกไปเมื่อครั้งการรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางโดยรัฐบาลที่กรุงเทพฯ ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่คริสต์ศตวรรษที่ 20 (พระราชบัญญัติลักษณะปกครองสงฆ์ รศ. 102) ทำให้เชื่อกันว่าตำแหน่งเหล่านี้ก็ถูกยกเลิกไปด้วย อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบัน คำว่า “ครูบา” ยังถูกใช้โดยชาวพื้นเมืองเพื่อเรียกขานพระสงฆ์ที่เป็นที่เคารพศรัทธา 

แนวคิดต๋นบุญเกี่ยวข้องกับความเชื่อที่ว่าบุญอันยิ่งใหญ่ของต๋นบุญสามารถส่งผ่านหรือมอบให้กับผู้อื่นได้ ดังนั้นการเข้าร่วมกับต๋นบุญในโอกาสต่างๆ เช่น ใส่บาตรหรือช่วยเหลือในกิจกรรมการก่อสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์ศาสนาสถานต่างๆ ถือเป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่ในการสะสมบุญ อย่างไรก็ตามต้องขอเน้นย้ำในที่นี้ว่าแนวคิดต๋นบุญนี้แตกต่างกับแนวคิดอรหันต์ ดังที่ Keyes (1981, 15) อธิบายว่านักบุญหรือต๋นบุญ (ตามแบบครูบาศรีวิชัย) เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางโลกอย่างมาก ในขณะที่แนวคิดอรหันต์ อย่างเช่นที่ปรากฏในงานศึกษาเกี่ยวกับพระอาจารย์มั่นในภาคอีสานกลับเป็นลักษณะของการหลีกหนีจากโลกอย่างสิ้นเชิง (การฝึกฝนสมาธิ ธุดงค์และไม่ยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมหรือการเคลื่อนไหวทางโลกใดๆ) 

ในล้านนาครูบาศรีวิชัยและครูบาขาวปีขับเคลื่อนขบวนการศาสนาที่เกี่ยวข้องกับทางโลกอย่างถึงที่สุดในช่วงการรุกคืบของอำนาจส่วนกลางกรุงเทพฯ ข่าวลือเกี่ยวกับการลงมาเกิดของพญาธรรมถูกผสมผสานกับความเชื่อเรื่องพระโพธิสัตว์และพระศรีอริยเมตไตรยอย่างเข้ากัน ดังที่ปรากฏในงานชีวประวัติของครูบาทั้งสอง ในกรณีของครูบาศรีวิชัยและผู้ติดตามทั้งหลาย ขบวนการก่อสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์ศาสนสถานทั่วล้านนาถูกตีความว่าเป็นความปรารถนาจะสร้างดินแดนพระพุทธเจ้า (Cohen 2001, 2002; Tanabe 2004) ภายหลังจากการมรณภาพของครูบาศรีวิชัย คำสอนและการปฏิบัติของท่านถูกเชื่อว่าได้รับการสืบทอดจากครูบาขาวปีและครูบาวงศ์จนเป็นที่มาของการสร้างแนวคิดสายครูบาศรีวิชัย (monastic lineage) โดยครูบาทั้งสามถูกยกย่องในภายหลังว่าคือครูบาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในแผ่นดินล้านนา และครูบาที่ได้รับการยกย่องให้เป็นผู้สืบทอดสายครูบาศรีวิชัยในปัจจุบันคือครูบาพรรณแห่งวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม อ.ลี้ จ.ลำพูน 

อย่างไรก็ตามยังมีครูบาอีกจำนวนหนึ่งที่อ้างถึงการเป็นผู้สืบทอดสายครูบาศรีวิชัยเช่นกัน เช่น ครูบาเจ้าเทืองแห่งวัดบ้านเด่น อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ครูบาน้อยแห่งวัดศรีดอนมูล อ.สารภี จ.เชียงใหม่ และครูบาอริยชาติแห่งวัดแสงแก้วโพธิญาณ อ.แม่สรวย จ.เชียงราย เป็นต้น

ทำอย่างไรถึงจะได้เป็นครูบา?

ในปัจจุบัน ครูบาในเมืองไทยสามารถแบ่งออกได้เป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากสังฆะท้องถิ่นของชุมชนคนไตในประเทศเมียนมาและจีน ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น 

กลุ่มที่สองคือได้รับการยกย่องอย่างไม่เป็นทางการจากลูกศิษย์และผู้เชื่อถือศรัทธาทั้งพระที่มีอาวุโสและพระหนุ่มเณรน้อยที่เชื่อว่ามีคุณลักษณะแบบต๋นบุญ ในประเทศไทยแน่นอนว่าครูบาแบบที่สองถือเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด ในส่วนของพิธีเถราภิเษกหรือการแต่งตั้งสมณศักดิ์ของพระสงฆ์ รวมถึงตำแหน่งครูบานั้นยังสามารถพบเห็นได้ในเมืองเชียงตุง เมืองยอง ท่าขี้เหล็กและสิบสองปันนา เป็นระยะๆ และที่สำคัญมีการแต่งตั้งตำแหน่งต่างๆ ให้กับพระสงฆ์จากเมืองไทยอีกด้วย (เช่น ตำแหน่งสิทธิ สวาทิ ครูบา และราชครู [เรียงจากต่ำไปสูง] เป็นต้น) เช่นพิธีเถราภิเษกของสังฆะเชียงตุงในปี 2541 ปรากฏว่ามีพระสงฆ์จากเมืองไทยถึง 8 รูปได้รับการแต่งตั้ง (6 รูปในตำแหน่งครูบาและ 2 รูปในตำแหน่งสิทธิ) ในจำนวนนั้นมีพระสงฆ์ที่มีชื่อเสียง เช่น ครูบาบุญชุ่มแห่งวัดพระธาตุดอนเรือง จ.ท่าขี้เหล็ก และครูบามนตรีแห่งวัดสุโทนมงคลคีรี จ.แพร่ 

นอกจากนี้ยังพบว่าในพิธีเถราภิเษกของสังฆะเชียงตุงครั้งนั้นมีพระสงฆ์จากกรุงเทพฯ ได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งครูบาด้วย (จากวัดอมรคีรี) สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าในระบบสังฆะเชียงตุงปัจจุบัน กฎเกณฑ์การแต่งตั้งสมณศักดิ์นั้นมีความยืดหยุ่นขึ้นอย่างมาก (ตำแหน่งที่ให้กับพระสงฆ์ไทยจะไม่ได้มีอำนาจในการปกครองในสังฆะนั้นๆ หากแต่เป็นตำแหน่งเกียรติยศเท่านั้น) พิธีเถราภิเษกยังพบได้ในสิบสองปันนาและเมืองยองเมื่อต้นปี 2559 ในเมืองยองซึ่งผู้เขียนได้มีโอกาสสังเกตการณ์พิธีกรรม (ระหว่าง 21-24 กุมภาพันธ์) พบว่ามีพระสงฆ์จากภาคเหนือของไทย 2 รูปได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งสวาทิด้วย 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าครูบากลุ่มที่หนึ่งจะดูมีความชอบธรรมมากกว่ากลุ่มที่สองเนื่องจากได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ แต่ปรากฏว่าสิ่งนี้ดูจะไม่มีผลอะไรมากนักในสายตาของผู้เชื่อถือศรัทธาในเมืองไทย สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าชื่อเสียงและการได้รับการยกย่องนับถือในฐานะครูบาในปัจจุบันไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเป็นทางการของตำแหน่งเท่านั้น แต่ยังยึดโยงกับคุณลักษณะสำคัญอื่นๆ นอกจากนี้การแต่งตั้งสมณศักดิ์ในสังฆะเมืองต่างๆ ในปัจจุบันยังขึ้นอยู่กับกลุ่มคนอื่นๆ มากขึ้น ที่สำคัญคือคณะเจ้าภาพผู้ให้การสนับสนุนเงินในการจัดพิธี ดังนั้นคณะเจ้าภาพจึงกลายเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการเสนอชื่อพระสงฆ์ผู้จะได้รับการแต่งตั้งด้วย (สัมภาษณ์ครูบาสามนวล วัดท่ากระดาษ, 18 กุมภาพันธ์ 2559 และสมเด็จอาชญาธรรมเมืองยอง, วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559)


พิธีเถราภิเษกในเมืองยอง รัฐฉาน ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 
ภาพโดย พิสิษฏ์ นาสี
 

 
พิธีเถราภิเษกในสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ประเทศจีน เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2559 
ภาพโดย  www.cm77.com

ครูบาสมัยใหม่ไม่เท่ากับครูบาศรีวิชัย

มาถึงตรงนี้ไม่ได้จะอธิบายว่าทั้งหมดคือการหวนกลับไปสู่จารีตดั้งเดิมของพุทธศาสนาแบบล้านนาหรือสายการปฏิบัติแบบครูบาศรีวิชัย ผู้เขียนมองว่าครูบาสมัยใหม่ของไทยอาศัยการปฏิบัติทางศาสนาและกิจกรรมที่หลากหลายมากกว่าการเคร่งครัดในวัตรปฏิบัติและกิจกรรมการก่อสร้างทางศาสนาที่เคยถูกอธิบายว่าเป็นแหล่งบารมีของครูบาในอดีต กล่าวคือครูบาสมัยใหม่มีลักษณะทวิลักษณ์ คือ เป็นตัวแทนความต่อเนื่องของจารีตครูบาและพุทธศาสนาแบบล้านนา โดยเฉพาะการรับรู้ผ่านครูบาศรีวิชัย แต่ในขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นความแตกแยกจากอดีตผ่านการตีความ ประเมินค่าครูบาและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมในรูปแบบใหม่ๆ เพื่อตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงและความต้องการของผู้คนที่หลากหลายในสังคมพุทธร่วมสมัย (โลกาภิวัตน์ การเติบโตของชนชั้นกลาง และการเฟื่องฟูของพุทธศาสนาแบบประชานิยมและศาสนาแห่งความมั่งคั่งร่ำรวย) 

นั่นหมายความว่าครูบาได้เดินทางข้ามรัฐชาติ ข้ามวัฒนธรรม และมีคุณสมบัติที่สามารถตอบสนองความต้องการของคนโดยทั่วไปอย่างปฏิเสธไม่ได้ การผ่านพิธีเถราภิเษกจากสังฆะท้องถิ่นต่างๆ ในกรณีที่ยกมาและกรณีที่เป็นกระแสในสองสามวันที่ผ่านมาจึงควรได้รับการอธิบายใหม่ในฐานะกระบวนการหนึ่งในการสร้างบารมีและการรักษาสมดุลระหว่างการเน้นย้ำแนวคิดพุทธศาสนาแบบล้านนาและการตอบสนองกับโลกและผู้คนในสังคมสมัยใหม่ รวมถึงการสร้างเครือข่ายกับกลุ่มคนต่างๆ ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายที่ไม่อาจอธิบายอย่างละเอียดได้ในที่นี้

อ้างอิง

Cohen, Paul. (2000a). Lue Across Borders: Pilgrimage and the Muang Sing Reliquary in Northern Laos. In G. Evans, C. Hutton and Kuah Khun Eng (Eds). Where China meets Southeast Asia. (pp. 145- 161). Singapore: Institute of Southeast Asian Studies.

________. (2000b). A Buddha Kingdom in the Golden Triangle: Buddhist Revivalism and the Charismatic Monk Khruba Bunchum. The Australian Journal of Anthropology, Vol. 11 (2), 141-154.

________. (2001). Buddhism unshackled: The Yuan “holy man” tradition and the nation-state in the Tai world. Journal of Southeast Asian Studies, Vol. 32 (2), 176–203.

________. (2002). Buddhist Revivalism in the Tai World. In Hayashi Yukio and Thongsa Sayavongkhamdy (Eds). Cultural Diversity and Conservation in the Making of Mainland Southeast Asia and Southwestern China Regional Dynamics in the Past and Present. (pp. 243-321). Kyoto: Center for Southeast Asian Studies, Kyoto University.

________. (2017). Charismatic Monks of Lanna Buddhism. In Paul Cohen (Ed.), Charismatic Monks of Lanna Buddhism. (pp. 1-26). Copenhagen: NIAS Press in association with the Center for Ethnic Studies and Development (CESD), Chiang Mai University.

Keyes, Charles, F.  (1981).  The Death of Two Buddhist Saints. In Michael Williams (Ed.),  Charisma and Sacred Biography. (Pp. 149-180).  Chico, CA: Scholar Press (Journal of the American Academy of Religion, Thematic Series 48/3-4).

Tanabe, Shigeharu. (2004 [1986]). Nung lueang nung dam: tamnan khong phunam chaona heang Lan Na Thai [Wearing Yellow Robes, Wearing Black Garbs: 
A Story of a Peasant Leader in Northern Thailand]. Bangkok: Chulalongkorn University Press.

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: พิสิษฏ์ นาสี เป็นอาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท