การเมืองประชานิยม อุดมการณ์ ที่เป็นมากกว่านโยบาย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ท่ามกลางบรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้ง การปรากฏตัวของข้อเสนอเชิงนโยบายจำนวนมาก ไม่ได้เป็นเพียงสีสันทางการเมืองเท่านั้น แต่นับเป็นเงื่อนไขสำคัญที่พลเมืองควรพิจารณาในฐานะเหตุปัจจัยในการพิจารณาเลือกผู้แทนจากพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง เพราะนโยบายเป็นสิ่งที่จะกำหนดอนาคตของประเทศและความเป็นอยู่ของคนในชาติไปอีกหลายปี

นโยบายประชานิยม เป็นข้อเสนอหนึ่งที่พรรคการเมืองหลายพรรคใช้ในการหาเสียงเพื่อเรียกคะแนนจากประชาชนในครั้งนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่จะพบนโยบายที่มีลักษณะสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ที่มีฐานะยากจนจากหลายพรรคการเมือง กระทั่งมีพรรคการเมืองที่ใช้ชื่อว่า “พรรคประชานิยม” สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่ากระแส “ประชานิยม” ยังคงวนเวียนอยู่ในสังคมไทย ดังนั้น จึงสมควรที่พลเมืองไทยจะต้องทำความเข้าใจว่าแท้จริงแล้ว “ประชานิยม” คืออะไร เกิดขึ้นมาอย่างไร คลี่คลายไปอย่างไร และถูกนำมาใช้อย่างไร ก่อนที่จะ “รัก” หรือ “เกลียด” นโยบายประชานิยมหนึ่งๆ และตัดสินใจเลือกผู้แทนในครั้งนี้

การทำความเข้าใจ “ประชานิยม” นั้นควรเริ่มต้นจากการสลัดตนเองให้หลุดออกจากกรอบ “นโยบายประชานิยม” (populist policy) เสียก่อน เพราะ “นโยบายประชานิยม” เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ “การเมืองแบบประชานิยม” เท่านั้น (populist politics) เพราะ “ประชานิยม” เกิดขึ้นโดยมีอุดมการณ์ทางการเมืองบางประการอยู่เบื้องหลังในการสร้างความเท่าเทียมกันลดความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นผู้ปกครองและชนชั้นผู้ใต้ปกครอง เริ่มมีปรากฎมาตั้งแต่ปลายศควรรษที่ 19 โดยมีพัฒนาการที่ชัดเจน 3 ช่วง[i] เริ่มจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มขบวนการชาวนา ขบวนการแรงงานในประเทศแถบละตินอเมริกาที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับผู้นำที่ผูกขาดผลประโยชน์จากเสรีนิยมการค้าและโลกาภิวัตน์ไว้กับกลุ่มตนพวกตนฝ่ายเดียวอันนำไปสู่ลักษณะอำนาจนิยมและรัฐไม่เป็นตัวแทนที่แท้จริงของประชาชน จึงนำไปสู่การเรียกร้องของคนกลุ่มนี้เพื่อให้นโยบายมีลักษณะตอบสนองต่อปากท้องของประชาชนมากขึ้น

ในยุโรปตะวันตกเองก็เผชิญปัญหาเรื่องความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลในการตอบสนองความต้องการของกลุ่มคนชั้นกลางระดับล่างและชนชั้นแรงงานเช่นกัน อันนำไปสู่การลุกฮือของกลุ่มคนเหล่านี้เพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมและนโยบายที่ให้ความสำคัญกับพวกเขาบ้าง ขณะที่การล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์ในสภาพโซเวียต และความอ่อนแอของพรรคคอมมิวนิสต์ที่เคยครองการนำในการกำหนดนโยบายต่างๆ เพื่อสร้างความเท่าเทียมแบบกดทับศักยภาพมนุษย์ไว้ ก็ทำให้กลุ่มกรรมกรและชาวนาลุกฮือต่อต้านรัฐบาลประเภทนั้นเช่นกัน ส่งผลให้นโยบายในยุคต่อมาต้องพยายามรวม ( include ) รวมคนกลุ่มที่เคยอยู่ชายขอบนโยบายเหล่านี้ไว้ด้วย

เหล่านี้คือพัฒนาการการต่อสู้ทางการเมืองของพลเมืองที่เกิดขึ้นและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายของผู้ปกครองในเวลาต่อมาที่เห็นความสำคัญและรวมกลุ่มคนที่เป็นชนชั้นล่างและชนชั้นแรงงานไว้เป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดนโยบายในเวลาต่อมามากขึ้น นโยบายประชานิยม ที่เป็นมากกว่านโยบายแต่เป็นอุดมการณ์ทางการเมืองที่มีเรื่องของการต่อสู้และการพยายามลดทอนความเหลื่อมล้ำอยู่ด้วย ดังที่ ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ กล่าวว่า การศึกษาเรื่องประชานิยมนั้นควรต้องมองไปไกลกว่าเรื่องของนโยบายแต่ต้องมองในฐานะที่ ประชานิยม เป็นอุดมการณ์ทางการเมืองประเภทหนึ่งหรือ “การเมืองประชานิยม” (populist politics)[ii]

หากมากในแง่นี้จะทำให้ผู้ศึกษาสามารถเข้าใจที่มาที่ไป พัฒนาการ การใช้และการคลี่คลายของประชานิยมได้กว้างขึ้นซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการแสวงหาแนวทางการจัดการหรืออยู่ร่วมกับประชานิยมต่อไปได้อย่างเหมาะสม เพราะหากพิจารณาจากพัฒนาการของ “การเมืองประชานิยม” เราจะเห็นได้ว่ามีลักษณะของการผลักดันการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเชิงนโยบายจากด้านล่างขึ้นสู่ด้านบน (bottom up) ซึ่งมีลักษณะของกระบวนการประชาธิปไตยอยู่ในที ซึ่งสอดคล้องกับลักษณะของการเมืองประชานิยมที่ระบุไว้ในงานเรื่อง Populism in Asia ของ อ.Kosuke Mizuno และ อ.ผาสุก พงษ์ไพจิตร ระบุว่า คุณลักษณะของประชานิยมนั้นมี อยู่ 4 ประการ

ประการแรก การเมืองประชานิยมนั้น เชื่อว่า พลเมืองเป็นผู้มีความรู้ มีความสามารถ มีศักยภาพที่จะสร้างสรรค์ จัดการความต้องการของตนเองได้ เพราะฉะนั้น มันมีมิติของอำนาจอธิปไตยอยู่ที่ประชาชนด้วย คุณลักษณะแรกนี้จะเห็นได้ชัดในการลุกฮือของกลุ่มประชาชนในช่วงแรกของการต่อสู้กับอำนาจรัฐที่สร้างความไม่เท่าเทียมเชิงนโยบาย

ประการที่สอง การเมืองประชานิยมจะมองว่าไม่มีปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต่างๆ พูดง่ายๆ ก็คือ กลุ่มต่างๆ เห็นพ้องกันหมดในการดำเนินนโยบายและผลประโยชน์ เพราะฉะนั้นการทำงานของประชานิยมจึงออกมาในรูปแบบของการที่มีรัฐบาลหรือคนหนึ่งแสดงออกว่ารู้ความต้องการของประชาชนเป็นอย่างดี และคอยบอกว่าเจตนารมณ์ของประชาชนคืออะไรภายใต้คอนเซปเรื่องชาติ ผลประโยชน์แห่งชาติ การกระทำเช่นนี้มักจะมาคู่กับการสร้างคู่ตรงข้ามทางความคิด ง่ายที่สุดเลยก็คือ โลกาภิวัตน์กับระบอบเดิมที่สร้างความไม่เท่าเทียม

ประการที่สาม การเมืองแบบประชานิยมมักมองระบบเก่าและผู้ปกครองชุดเก่าในด้านลบและท้าทายระบอบเก่า เนื่องจากเห็นว่าเป็นผู้ผูกขาดผลประโยชน์ไว้กับกลุ่มของตนและเครือข่ายของตนเท่านั้นสร้างความเหลื่อมล้ำให้เกิดขึ้นแก่สังคม ดังนั้น ประชาชนในฐานะที่มีความรู้เท่าทัน จึงแสดงออกโดยการไม่ยอมรับอำนาจที่ไม่ชอบธรรมและกดขี่นั้น และเลือกที่จะปกป้องศีลธรรมอันดีและสร้างสรรค์นโยบายที่ดีด้วยตนเอง

ประการสุดท้าย สืบเนื่องจากลักษณะทั้งสามประการข้างต้น ทำให้การปกครองตนเองสำคัญที่สุดและสำคัญมากกว่าการเมืองในสภาและผู้แทนเสียอีก

นีก็คือคุณลักษณะของ การเมืองประชานิยม ในมิติที่เป็นอุดมการณ์การเคลื่อนไหวก็ดีและนโยบายประชานิยมต่างๆ ก็ดี จะเห็นได้ว่าคุณลักษณะข้างต้นเป็นสิ่งที่พยายามอธิบายว่าจุดร่วมของประชานิยมคืออะไร ซึ่งประชานิยมนั้นเป็นคอนเซปกลางๆ ไม่มีลักษณะเอียงซ้าย หรือ เอียงขวา และออกจะเป็นคอนเซปเชิงอุดมการณ์อย่างมาก สิ่งที่ทำให้เรารู้จักประชานิยมอย่างเช่นทุกวันนี้เป็นเพราะการปรับใช้ต่างหาก เนื่องด้วยการมีลักษณะเป็นคอนเซปกลางๆ ดังนั้น ไม่ว่าพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย หรือกลุ่มหัวก้าวหน้า และพรรคการเมืองฝ่ายขวาหรือกลุ่มอนุรักษ์จะนำไปใช้ก็ย่อมได้เช่นกัน ไม่เกี่ยวกับว่าจะต้องเป็นพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายนำไปใช้เท่านั้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ การเปรียบเทียบระหว่างนโยบายประชานิยมของคุณทักษิณ และ โดนัล ทรัมป์ ที่หากมองเผินๆ อาจมีความแตกต่างกันในกลุ่มเป้าหมายที่ดำเนินการ กล่าวคือ ขณะที่คุณทักษิณ เน้นการสนับสนุนกลุ่มคนยากคนจน แต่คุณทรัมป์ เน้นสนับสนุนคนชั้นกลางที่เป็นชาวอเมริกัน แต่นโยบายของทั้งคู่ไม่ต่างกันในแง่ของการเป็นนโยบายประชานิยม นั่นคือเน้นเอาใจคนส่วนใหญ่ในชาติเป็นหลัก

ที่กล่าวมาข้างต้นเพียงต้องการชี้ให้เห็นว่า “ประชานิยม” เป็นมากกว่านโยบาย แต่ เป็นอุดมการณ์ทางการเมืองประเภทหนึ่ง เพราฉะนั้นหากนำมาใช้อย่างเหมาะสม จะสามารถลัดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ลดความไม่พอใจของประชาชนส่วนใหญ่ เสริมสร้างอำนาจและเสริมสร้างคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชนได้ 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อการเมืองประชานิยมถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง จึงทำให้อุดมการณ์เบื้องหลังถูกลดทอนเหลือเพียง “เทคนิค” บางอย่างที่ถูกเลือกนำมาใช้เพื่อติดฉลากให้กับข้อเสนอเชิงนโยบายบางเรื่องว่าเป็นประชานิยมซึ่งนั่นทำให้คุณค่าเชิงอุดมการณ์ของประชานิยมและการมีส่วนร่วมของพลเมืองถูกลดทอนลงไปและถูกมองในแง่ร้ายในเวลาต่อมา ดังที่ ยอห์น-เวอร์เนอร์ มุลเลอร์ (Jan-Werner Müller) ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างเฉียบคมว่าประชานิยมที่มีปัญหาในทุกวันนี้เป็นเพราะมีผู้ตั้งตนว่าเป็น “คุณรู้ดี” ที่แสดงตัวว่าตนเองคือผู้เดียวที่รู้ดีที่สุดว่า “ประชาชน” ต้องการอะไรและสามารถพูดแทน “ประชาชนทั้งหมด” ได้ ทั้งที่แท้จริงแล้ว “ประชาชน” ที่กล่าวอ้างเป็นเพียงคนบางกลุ่มในสังคมเท่านั้น[iii] ลักษณะเช่นนี้จึงแฝงไปด้วยการหยิ่งผยองในอำนาจอยู่ในที ซึ่งสุดท้ายก็ทำลายอุดมการณ์ “ประชานิยม” ลงให้เหลือเพียงคำสั่งสูงสุดจากผู้นำที่จะมีต่อประชาชนในฐานะผู้รับนโยบายแต่ไม่มีส่วนร่วมคิดร่วมผลักดันนโนบายตามนัยที่เคยมีในสมัยก่อน ซึ่งนั่นเป็นทั้งจุดตั้งต้นและจุดจบของประชานิยม ตลกร้ายที่สุดคือผู้ที่อ้างว่าเป็นตัวแทนของประชาชนและต้องการต่อต้านรัฐบาลเก่าที่สร้างความเหลื่อมล้ำ ได้ผันตนเองกลายเป็นผู้ที่ดึงรั้งอำนาจและกระทำการไม่ต่างจากรัฐบาลก่อนหน้าที่เขาต่อต้านเลยในแง่นี้ประชานิยมจึงสุ่มเสี่ยงต่อการกลายเป็นเผด็จการอำนาจนิยมหากนำมาใช้อย่างผิดๆ

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เพื่อชี้ชวนท่านผู้อ่านให้เห็นอีกแง่มุมหนึ่งของประชานิยมว่าเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองประการหนึ่งที่เกิดขึ้นมานานแล้วและคู่ขนานไปกับอุดมการณ์ประชาธิปไตย ต่อเมื่อถูกนำมาใช้โดยบิดเบือน จึงทำให้ “คำนี้” ตกเป็นจำเลย เพราะนำไปสู่ความล้มเหลวทางเศรษฐกิจของหลายประเทศ อาทิ ประเทศอาร์เจนตินา และ ประเทศเวเนซูเอลา ด้านประเทศไทยก็ยังตกอยู่ภายใต้วังวนนี้อย่างเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ในโอกาสที่พลเมืองทุกท่านจะได้ออกไปใช้สิทธิเลือกผู้แทนกันอีกครั้งภายใต้ที่หลีกเลี่ยงนโยบายประชานิยมไม่ได้เช่นนี้ จึงควรที่ท่านจะทราบที่มาที่ไปและความบิดเบือนทางความคิดที่นำไปสู่การต่อสู้ทางการเมืองที่เกิดขึ้นเพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกผู้แทนจากนโยบายที่ดีที่สุด อย่างน้อย ต้องเป็นนโยบายที่ครอบคลุมมิติของความเป็นไปได้ของนโยบายอย่างยั่งยืน เป็นนโยบายที่สร้างสรรค์ จริงใจ และนำไปสู่ความปรองดองในท้ายที่สุดเมื่อนโยบายดังกล่าวถูกนำมาปฏิบัติในสังคม

 

อ้างอิง

[i] Kosuke Mizuno and Pasuk Phongpaichit, Eds. Populism in Asia. Singapore : NUS Press in association with Kyoto University Press, 2009.

[ii] พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์. “จากประชานิยมสู่ไทยนิยม ประชารัฐ และวิเศษนิยม. มติชนออนไลน์. (27 พ.ย. 2561) https://www.matichon.co.th/article/news_1245742

 

เกี่ยวกับผู้เขียน:  จารุวรรณ แก้วมะโน เป็นนักวิชาการสำนักส่งเสริมการเมืองภาคพลเมือง สถาบันพระปกเกล้า

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท