Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในสังคมไทยมักคุ้นชินว่าผู้ที่จะก้าวขึ้นมามีอำนาจทางการเมืองคือผู้ที่ประกอบด้วย คุณวุฒิ-มีการศึกษามีความรู้ มีใบปริญญาในสาขาที่เกี่ยวข้อง หรือมีวัยวุฒิมีประสบการณ์ในเรื่องการบริหารองค์กรมีเครือข่ายความสัมพันธ์ที่ใหญ่โตสะสมมา หรืออย่างน้อยให้มีชาติวุฒิสิ่งที่ติดตัวมาจากชาติกำเนิดไม่ว่าจะเป็นชื่อเสียงของพ่อแม่วงศ์ตระกูล ฐานะทางเศรษฐกิจ ของครอบครัว ก็จะเป็นสิ่งที่ทำให้น่าเชื่อถือสำหรับสังคมไทยที่ถูกหล่อหลอมผ่านวัฒนธรรมอำนาจนิยมที่ลักษณะเหล่านี้ขัดกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ เพราะคนส่วนมากของประเทศนี้ไม่มีคุณวุฒิสูงส่งให้เหมาะสมกับการมาข้องเกี่ยวกับการเมืองเพราะคนไทยมากกว่าครึ่งที่เข้าเรียนในการศึกษาภาคบังคับไม่สามารถเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาได้ ขณะเดียวกันประสบการณ์ของคนไทยส่วนมากไม่มีอะไรมากไปกว่าการทำงานหนัก ใช้หนี้ เลี้ยงลูก เลี้ยงพ่อ เลี้ยงแม่ ไม่มีประสบการณ์ที่สามารถตามความฝันที่สูงส่งได้ เช่นเดียวกันกับคนไทยที่เกิดในครอบครัวที่มีฐานะเศรษฐกิจในครึ่งล่างของสังคมจะมีแค่ 1 ใน 7 คนเท่านั้นที่จะมีโอกาสขยับสู่สถานะชนชั้นกลาง ดังนั้นเรื่อง คุณวุฒิ วัยวุฒิ ชาติวุฒิ จึงเป็นเพียงคำโฆษณาเงื่อนไขที่กีดกันคนส่วนใหญ่ออกจากคุณสมบัติที่เหมาะสมทางการเมือง  แต่ดูเหมือนว่า วรรณวิภา ไม้สน จะไม่สนใจกับเงื่อนไขเหล่านี้ พนักงานรายวันโรงงานทอผ้า จากอุตรดิตถ์ ปัจจุบันอายุ 36 ปี ไม่มีใบปริญญาใดๆ มีประสบการณ์คือการถูกกดขี่ในอุตสาหกรรมที่ขูดรีด ชาติกำเนิดคือลูกหลานชาวนา เธอเข้าสู่เมืองหลวงด้วยเหตุผลเดียวกับคนงานส่วนใหญ่ในประเทศนี้คือ หนีความยากจนจากงานในภาคเกษตร หนีหนี้สิน และแสวงหาโอกาส เธอต่อสู้ในชีวิตประจำวันเพื่อค่าจ้างที่ดีขึ้นผ่านการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงาน ย้อนกลับไปเมื่อเดือนมีนาคม 2561 กระแสพรรคการเมืองใหม่ของคนรุ่นใหม่ยังเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับเธอ แต่เมื่อเดือน ธันวาคม 2561 เธอได้สร้างความตื่นเต้นแก่ขบวนการภาคแรงงาน และตกใจแก่ผู้ที่ติดตามการเมือง  เมื่อธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ประกาศรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ แม้มีนักธุรกิจที่มีชื่อเสียง มีนักวิชาการหลายคน หรือบุคคลที่มีประสบการณ์ตามสาขาต่างๆ แต่บัญชีรายชื่อลำดับ 3 ของพรรคอนาคตใหม่ รองจากหัวหน้าพรรค และเลขาธิการพรรค คือวรรณวิภา ไม้สน หรือ มด กรรมกรโรงงานทอผ้า ที่เธอประกาศกร้าวว่า “ขอแรงงานทำเอง” และเดินหน้าสู่ “รัฐสวัสดิการถ้วนหน้าครบวงจร” ข้อเสนอที่ถูกปฏิเสธโดยชนชั้นนำนับครั้งไม่ถ้วน แต่ครั้งนี้จะต่างไปเพราะมีโอกาสสูงมากที่เธอจะเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร และคาดหมายว่ากรรมกรโรงงานทอผ้าจากอุตรดิตถ์ผู้นี้จะก้าวเข้าสู่การเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และสืบสานปณิธานที่คั่งค้างเรื่องรัฐสวัสดิการ ตั้งแต่ยุคสมัยของปรีดี พนมยงค์ บทสัมภาษณ์นี้เป็นเรื่องราวของเธอ เรื่องราวบทแรก ก้าวแรกสู่การเปลี่ยนแปลง เมื่อเธอเล่าถึงชีวิตเส้นทางการต่อสู้ของเธอ

 

จุดเริ่มต้นเกิดจากการทำงานในองค์กรเริ่มสั่นคลอนจากภายในเพราะว่ามีการเลิกจ้างพนักงานครั้งใหญ่ถึง 50% ราว 2,000 คน ในปี 2552 สมาชิกในโรงงานต่างก็ไร้ที่พึ่งเนื่องจากกรรมการสหภาพแรงงานฯ ชุดนั้นโดนเลิกจ้างเกือบทั้งหมด และมีความกังวลต่อความมั่นคงในการทำงานรวมถึงข้อตกลงสภาพการจ้างที่จะมีต่อไปในอนาคต วรรณวิภาจึงตัดสินใจเข้ามาเรียนรู้ดูงานบริหารสหภาพเนื่องจากเป็นสมาชิกอยู่แล้วอีกทั้งโดยปกติก็จะเข้าร่วมประชุมกับกรรมการบริหารสหภาพฯ เพื่อนำข่าวสารมาแจ้งให้กับเพื่อนร่วมงานให้ทราบข่าวสารอยู่เป็นประจำ

ในช่วงแรกที่เข้ามาทำสหภาพแรงงานยังค่อนข้างที่จะสับสน เนื่องจากมีปัญหาและข้อขัดแย้งหลายประการ อีกทั้งพนักงานที่ถูกเลิกจ้างมีการชุมนุมข้างโรงงาน และย้ายไปชุมนุมที่ใต้ถุนกระทรวงแรงงาน เพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา และร้องขอให้บริษัทฯ รับกลับเข้าทำงาน ส่วนพนักงานในโรงงานก็ระส่ำระสายจนไม่เป็นอันทำงานในช่วงนั้น เนื่องจากไม่มีใครคาดคิดว่าจะมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น

บทบาทตอนอยู่ในสหภาพฯ อันดับแรกคือศึกษาเรียนรู้ในเรื่องของกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง กฎหมายคุ้มครองแรงงาน พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ 2518 กฎหมายแพ่งพาณิชย์ สิ่งที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดตั้งศาลแรงงาน รวมถึงนำเอาสภาพการจ้างที่ตกลงไว้กับบริษัทที่ทำงานอยู่มารื้อดูตั้งแต่ปี 2523 ประวัติบริษัท ประวัติสหภาพฯ เพื่อให้รู้ความเป็นมา และได้ เป็นตัวแทนเจรจามา 3 สมัย ปี 2554 2557 และ 2560 โดยเป็นตัวแทนเจรจาหลักมาตลอด เป็นคนทำข้อมูลเกี่ยวกับงบการเงินของบริษัทหรือว่าการเก็บข้อมูลตัวชี้วัดในการทำงาน การที่มีสหภาพแรงงานฯ ในสถานประกอบการถือเป็นขั้นพื้นฐานในการเจรจาต่อรองกับนายจ้าง และเป็นองค์กรที่รักษาผลประโยชน์ให้กับคนงานเพื่อให้ได้รับค่าจ้างและสวัสดิการที่ดีขึ้น ถ้าเปรียบเทียบกับบริษัทที่ไม่มีสหภาพแรงงาน การจ้างงานก็ขึ้นอยู่กับค่าแรงตามที่รัฐบาลกำหนดเสียเป็นส่วนใหญ่ การมั่นคงในการทำงานก็น้อยลงไปด้วย 

จุดที่สำคัญ คือ ประมาณ ปี 2556 บริษัทรับพนักงานชั่วคราวเข้ามาประมาณ 30 คน โดยรับมาทำงานตั้งนานแต่ไม่มีการบรรจุ โบนัสก็ไม่ได้ ได้แต่ค่าแรงรายวัน ความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้น ทั้งๆ ที่งานเหมือนกัน หน้าที่เดียวกัน วรรณวิภาจึงเข้าเจรจากับบริษัทยื่นเรื่องสภาพการจ้างเพื่อขอให้บริษัทบรรจุเข้าเป็นพนักงานประจำ แต่บริษัทก็ไม่รับข้อเสนอ ต่อมาจึงทำหนังสือไปที่ส่วนของภาครัฐ แรงงานจังหวัดเพื่อให้มาตรวจสอบบริษัทฯ ว่าปฏิบัติถูกต้องตามเจตนารมณ์ของกฎหมายหรือไม่ จากนั้นบริษัทจึงคืนโบนัสและค่าครองชีพย้อนหลังให้กับพนักงานชั่วคราวทั้งหมด และหลังจากหมดสัญญาจ้างและเลิกจ้างไปก็ยังไม่มีการรับพนักงานชั่วคราวเข้ามาอีกเลย แต่ยังมีพนักงานบางส่วนที่ได้บรรจุเป็นพนักงานประจำซึ่งก็ต้องทำงาน 2-3 ปีกว่าจะได้บรรจุแต่พวกเขาไม่ได้เงินย้อนหลังเหมือนกับเพื่อน ซึ่งถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติและไม่มีความเป็นธรรม วรรณวิภาจึงแนะนำให้ไปฟ้องศาลแรงงานกลางมีนบุรีและช่วยหาหลักฐานเกี่ยวกับสภาพการจ้างทั้งหมดให้เพื่อประกอบคำฟ้อง ศาลชั้นต้นตัดสินให้ฝ่ายลูกจ้างชนะและให้นายจ้างจ่ายเงินโบนัสและค่าครองชีพให้พนักงานย้อนหลัง 2 ปี พร้อมกับดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินทั้งหมดนับตั้งแต่วันฟ้อง นายจ้างจึงอุทธรณ์และสู้กันจนถึงชั้นฎีกา ระหว่างนั้นพนักงานที่ไปฟ้องโดนขู่ โดนสารพัดเวลาไปไกล่เกลี่ย เช่น ทนายฝ่ายนายจ้างมาพูดว่าสู้ไปก็ไม่ชนะหรอก แถมจะเสี่ยงต่อการตกงานเปล่าๆ แต่พนักงานก็ยังยืนหยัดที่จะอดทน จนท้ายที่สุดศาลชั้นฎีกาตัดสินให้ยืนคำพิพากษาตามศาลชั้นต้น คือให้บริษัทจ่ายเงินโบนัสและค่าครองชีพย้อนหลัง 2 ปีพร้อมดอกเบี้ยอีกร้อยละ 7.5 ตั้งแต่วันที่ฟ้อง ประเด็นนี้สู้กันมาเกือบ 4 ปีกว่าลูกจ้างจะได้รับความเป็นธรรมทั้งๆ ที่เป็นสิทธิที่ควรได้อยู่แล้ว

ส่วนบทบาทในระดับประเทศ วรรณวิภา ได้ร่วมเคลื่อนไหวและรณรงค์กับอีกหลายองค์กร ที่ทำเพื่อผลประโยชน์ต่อลูกจ้างที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ และในทุกวันแรงงาน วันสตรีสากล วันงานที่มีคุณค่า ก็จะร่วมนำเสนอข้อเรียกร้องเพื่อทำเป็นหนังสือและเข้ายื่นต่อรัฐบาลทั้งเรื่องรัฐสวัสดิการ การจ้างงานที่ไม่มั่นคง และมีความความเหลื่อมล้ำในสถานประกอบการหลายๆ ที่ พนักงานชั่วคราวที่เยอะที่สุดน่าจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีการจ้างงานรวมถึงสวัสดิการที่ไม่เหมือนกันคือมีความสองมาตรฐานในที่เดียวกัน ทั้งๆ ที่การปฏิบัติหน้าที่เหมือนกันหมด หลายๆ คนโดนเอาเปรียบจากกลุ่มนายจ้างไม่พอ ยังโดนเอาเปรียบจากกลุ่มคนที่จัดหางานเพื่อเข้าไปทำงานในที่ต่างๆด้วย ซึ่งพอมาศึกษากฎหมายจริงๆ มันมีช่องโหว่ ถ้าเรายังไม่แก้ไขในตัวกฎหมายแรงงานและบังคับใช้อย่างจริงจังได้ก็ยังเป็นโอกาสให้นายจ้างเอาเปรียบลูกจ้างอย่างไม่มีวันจบสิ้น ดังนั้นต่อให้ช่วยเหลือคนได้ 1-2 พันคน หรือ 10-20 บริษัท ก็ยังคงคิดว่าไม่ประสบความสำเร็จแบบเต็มที่สักที เนื่องจากแรงงานทั้งในและนอกระบบมีจำนวนถึง 38 ล้านคน

จุดเปลี่ยนที่เข้ามาทำงานกับพรรคการเมือง เนื่องจากตอนแรกในกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอฯ นั้นมีการจัดตั้งภายในและการจัดกลุ่มศึกษาโดยเฉพาะในเรื่องรัฐสวัสดิการที่พูดคุยกันมาตั้งแต่เริ่มทำงานก็รู้จักคำนี้มาเป็น 10 ปี มีการต่อสู้กันมาตลอด มีการยื่นหนังสือต่อรัฐบาลต่อกระทรวงแรงงานหรือนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลแต่ละสมัยที่มีการเลือกตั้ง แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับใดๆ ยังไม่ได้เอาไปบรรจุเป็นกฎหมาย ไม่มีอะไรพัฒนาขึ้นทั้งเรื่องกฎหมายแรงงาน เรื่องสิทธิการรวมตัว รวมถึงเรื่องรัฐสวัสดิการเพราะจะสามารถทำให้ทุกคนมีความเท่าเทียมกันได้ เพราะเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานและมีมาตรฐานเดียวกัน ไม่ใช่แบ่งกลุ่มคนเป็นกลุ่มๆ ยกตัวอย่างเช่น การรักษาพยาบาลที่มีทั้งบัตรทอง ประกันชีวิต ประกันสังคม ข้าราชการ แค่นี้ทำไมเราต้องแบ่งคนเป็นกลุ่มเป็นก้อน แล้วการปฏิบัติกับคนแต่ละกลุ่มก็ไม่เหมือนกัน คนที่อยากจะมีชีวิตดีขึ้นก็ต้องลงทุนเพิ่มเพื่อไปซื้อชีวิตก็เพิ่มไปอีก ทำไมเราถึงไม่มีการรักษาในระดับที่เท่ากัน วรรณวิภาเรียนรู้เรื่องรัฐสวัสดิการมาตั้งแต่เริ่มเข้างาน มีการจัดกลุ่มศึกษากันภายในมีการเผยแพร่ความคิดกันต่อเนื่องว่ารัฐสวัสดิการเป็นอย่างไรและทำอย่างไรจะเกิดรัฐสวัสดิการขึ้น ตอนจัดกลุ่มศึกษาในสหภาพแรงงานก็จะเชิญนักวิชาการหรือผู้รู้มาแลกเปลี่ยนพูดคุยกันเพื่อให้ได้ข้อมูลเพิ่มเติมและแลกเปลี่ยนจากเวทีเหล่านี้

การเข้าสู่สนามการเมือง เพราะอยากผลักดันเรื่องรัฐสวัสดิการและกฎหมายแรงงาน ที่จริงหลายคนอยากจะเข้ามาทำงานการเมืองนานแล้ว เพียงแต่อย่างที่เราเห็นแต่ละพรรคการเมืองไม่ว่าจะเป็นพรรคเล็กพรรคใหญ่ ถ้าจะให้หัวหน้าหรือผู้นำแรงงานเข้ามาทำการเมืองจริงๆ ไม่มีที่ไหนเลยที่เปิดรับอย่างมากก็ได้เป็นอย่างอื่นไม่ใช่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่ใช่รัฐมนตรี เนื่องจากมีแต่นักการเมืองหน้าเดิมๆ กลุ่มทุน กลุ่มพวกพ้อง ที่ผ่านมา ก็ไม่เคยมีตาสีตาสาชาวไร่ชาวนา หรือแรงงานมาเป็นนักการเมือง พรรคอนาคตใหม่เป็นพรรคแรกที่เปิดโอกาสให้กลุ่มคนที่อยู่ในแรงงานหรือสหภาพแรงงานเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งในช่วงแรก วรรณวิภาก็ยังไม่เชื่อเพราะคิดว่าพรรคการเมืองคงไม่ได้สนใจอะไรแรงงานจริงจังหรอก แต่เพราะมีคนชวนจดจัดตั้งพรรค ข้อบังคับก็คล้ายๆ ของสหภาพ เลยลองดูเพราะอยากรู้ว่าทางพรรคนั้นเอาจริงเอาจังแค่ไหนเพราะเท่าที่เรียนรู้กับเรื่องการเมืองมาก็ไม่ได้มีความน่าเชื่อ และไม่คุ้มค่าที่เราจะเสี่ยงจนละทิ้งความฝันทุกอย่างเพื่อไปลงทุนกับพรรคการเมืองใดๆ ได้ พอลองร่วมกับพรรคอนาคตใหม่ไปเรื่อยๆ ในแต่ละเวที กรรมการบริหาร หัวหน้าพรรคยังคงยืนยันจุดเดิมว่าจะทำรัฐสวัสดิการและกฎหมายแรงงานเพื่อเป็นการยืนหยัดที่จะยืนเคียงข้างกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ วรรณวิภาจึงลงทุนทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างออกมาสู่สนามการเมือง เพราะพิจารณาแล้วว่าถ้าไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างได้ และเปลี่ยนแปลงกฎหมายไม่ได้ ก็คงไม่มีทางที่คนจะเท่ากันได้ และต่อให้มีมวลชน มีแรงงาน 38,000,000 คนก็จริงทั้งในทั้งนอกระบบ แต่ถ้าเรายังไม่มีอำนาจก็คงได้แต่ยื่นหนังสือเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยปรับค่าจ้าง การจ้างงาน และรัฐสวัสดิการต่อไป กลุ่มแรงงานหรือกรรมกรเมื่อก่อนก็เรียกร้องกันมาตั้ง 8 ปี กว่าจะได้กระทรวงแรงงาน สร้างงานสร้างข้าราชการได้มากมาย แต่ก็ยังไม่รู้สึกว่าแรงงานเป็นเจ้าของเลย 

ชีวิตและสังคมในปัจจุบันมันทำให้ผู้คนต้องปากกัดตีนถีบดิ้นรนทำงานหนักเนื่องจากรายรับไม่พอกับรายจ่าย การที่แรงงานต้องจากบ้านเกิดมาและหมดค่าใช้จ่ายไปกับค่าครองชีพในเมืองใหญ่ อีกทั้ง ต้องส่งเงินให้ลูกๆที่กำลังเรียนและพ่อแม่ที่กำลังแก่ลงทุกวัน ที่รอความหวังอยู่ต่างจังหวัด จึงต้องทำงานหนักขึ้นทำโอทีเพิ่มขึ้น บางคนถึงกับเปลี่ยนงานใหม่เพราะไม่มีโอทีก็มี แล้วจะให้เขาเหล่านั้นเอาเวลาที่ไหนไปสนใจคนอื่น จะเอาเวลาที่ไหนไปเรียนรู้เรื่องสหภาพ เอาเวลาที่ไหนไปเรียนรู้เรื่องการเมือง 

บางครั้งก็เหนื่อยนะแต่ครั้งนี้วรรณวิภาลงทุนเดิมพันสูงอยู่เหมือนกัน ก็ต้องดูว่าคุ้มไหม ถ้าสามารถเข้าไปสร้างปรากฏการณ์ใหม่ๆได้ หรือเปลี่ยนแปลงอะไรได้ก็ถือว่าคุ้มเพราะว่าคนอีกไม่รู้กี่ล้านคนที่รออยู่ บางคนคิดว่าทำไม่ได้หรอกตั้งแต่แรกเพราะคิดว่าเต็มที่ก็เป็นแค่ลิ่วล้อของนายทุน ปัญหาหลักๆ ของแรงงานในประเทศไทยก็คือเรื่องของการจ้างที่มีความมั่นคงอย่างที่วรรณวิภาเคยทำงานอยู่ก็มีปัญหา พอเปลี่ยนนายทุนเปลี่ยนผู้ถือหุ้น ระบบมันก็เปลี่ยนไป คนที่ทำงานมา 20 - 30 ปียังได้ค่าจ้างเป็นรายวัน แล้วส่วนใหญ่ก็ทำงานซ้ำๆ เดิมๆ มาเป็นหลายปีแต่ก็ยังไม่ได้ปรับเป็นเงินเดือน ส่วนในกลุ่มยานยนต์หรือกลุ่มอุตสาหกรรมก็มีเหมือนกัน ลูกจ้างสัญญา 11 เดือนก็ยังมี เพราะพวกนายทุนเข้าใจว่าถ้าสัญญา 12 เดือน เขาจะต้องเสียโบนัส สวัสดิการต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด หลายที่ก็เป็นอย่างนั้น บางคนทำงานไม่ครบหนึ่งอาทิตย์ก็โดนหักค่าจ้างโดนเอาเปรียบเยอะ แต่เขาก็บอกว่าถ้าไม่ทำก็ไม่รู้ว่าจะไปทำอะไร บางคนก็ทำงานมาตั้งนานแต่กลับไม่ได้บรรจุสักที ยิ่งบริษัทใหญ่ที่รับกลุ่มคนงานต่างชาติเข้ามาทำก็ยิ่งทำให้คนบ้านเราโดนแย่งงานและจนลงๆ แต่ถ้ามองดีๆ เรียนรู้ดีๆ มันไม่ได้เป็นที่นายทุน แต่เป็นที่ประเทศเราเป็นอย่างนี้ บ้านเรามีแรงงานที่เอารัดเอาเปรียบได้ง่าย ทำให้มีแต่กลุ่มทุนที่พร้อมจะเอาเปรียบและกอบโกยกำไรมาลงทุน วรรณวิภาเชื่อว่าถ้าเรามีมาตรฐานที่ดี มีกรอบที่ชัดเจน เวลาต่างประเทศเข้ามาเป็นนักลงทุนจะต้องมีกำหนดเลยว่าสัญญาร่วมกันเป็นอย่างไร นี่ขนาดกฎหมายที่มีฎีกามายังต้องได้ไปฟ้องเลย 

วรรณวิภาไม่ได้ช่วยแต่บริษัทตัวเอง แต่ช่วยคนในบริษัทอื่นด้วยในด้านการเป็นที่ปรึกษา ในบางครั้งก็พาไปร้องเรียนเพื่อเรียกร้องสิทธิของคนงาน อาจทำได้ยากมากถ้าจะให้ทุกคนอยู่ในระนาบเดียวกันในทันที  แต่ก็สามารถค่อยๆ ปรับได้เพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยปัจจุบัน เพราะโลกมันหมุนไปไหนต่อไหนแล้ว รวมถึงวิวัฒนาการเทคโนโลยีที่พัฒนาไปไกลแล้วแต่กฎหมายบางข้อก็ยังอยู่กับที่ เศรษฐกิจโลกกำลังเปลี่ยน แรงงานนอกระบบก็มีเยอะขึ้น อย่างแรกที่เราต้องถามคือทำไมเขาถึงเป็นแรงงานนอกระบบ เพราะเขามองว่าประกันสังคมไม่ได้ช่วยอะไร ก็ไม่ต่างจากบัตรทอง สู้เขาใช้บัตรทองไม่ดีกว่าหรือ ทำไมเราไม่ยกระดับประกันสังคมให้ดีขึ้นเพื่อทำให้คนเข้าถึงและมีสิทธิประโยชน์เท่าเทียมกัน เพื่อให้คนทำงานสามารถสะสมเงินไปใช้ในช่วงเกษียณอายุจะดีกว่า ส่วนเรื่องรัฐสวัสดิการคือมันมองได้ง่ายมากอย่างเช่นที่มีอยู่ทุกวันนี้ก็ต้องไปเข้าเงื่อนไขว่าต้องเป็นคนจนจริงๆ ซึ่งบางคนก็ไม่ได้รู้ว่าจนจริงไม่จริง อย่างตามข่าวที่ได้ดูกัน ทำไมเราไม่ให้เป็นสิทธิ์เข้าไปเลยเพราะว่าทุกคนก็เสียภาษีเท่าๆ กัน ต่อให้เก็บภาษีคนรวยมาเราก็ต้องคืนให้เขาในรูปแบบเดียวกัน ไม่ต้องไปเลือกว่าต้องจน ต้องเป็นผู้ยากไร้ และต้องเป็นคนอนาถา หรือต้องไปหามุมที่แย่ที่สุดของบ้านเพื่อถ่ายรูปไปขอทุน แล้วยิ่งชีวิตนักศึกษาทั้งค่าเทอม ค่าหอ ค่ากินเยอะมาก จนต้องกู้ กยศ. ชีวิตเรียนจบมาได้ใบปริญญา แต่ต้องเริ่มต้นการทำงานติดลบ ต้องเป็นหนี้เกือบ 200,000 ยังไม่ทันจะทำงานส่งเงินให้พ่อแม่ก็ต้องใช้หนี้ก่อนแล้ว แบบนี้แค่เริ่มก็ไม่เท่ากันแล้ว ชีวิตติดลบตั้งแต่แรก ดังนั้น สวัสดิการจะเป็นการทำให้คนเหมือนกันเท่ากันก่อน ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร คนกลุ่มไหน คนพิการ คนยากจน คนรวย คุณก็ต้องได้รับสิทธิ์เท่ากัน เหมือนกัน ไม่ต้องรอให้คนมาสงสาร มาเห็นใจ มันไม่มีใครอยากเป็นอย่างนั้นหรอก และวรรณวิภาคิดว่า คนที่เขาได้รับ เขาก็ไม่ได้อยากได้หรอกแต่ไม่รู้จะทำอย่างไร  จากที่เคยได้ไปคุยมาเขาก็บอกว่ามันไม่ได้ช่วยอะไรมากมายหรอกแต่ก็ดีกว่าไม่ได้อะไรเลย อย่างน้อยก็ยังซื้อข้าวของมาใช้ในบ้านได้บ้าง เขาไม่ได้มีทางเลือกอะไรมากนัก ลองคิดว่าถ้าหากเขามีทางเลือกที่มันดีกว่านี้เชื่อว่าใครๆ ก็ไม่อยากได้ ใครจะอยากถูกตราหน้าว่าเป็นคนจนอย่างที่เขาต้องเข้าเงื่อนไขนู่นนี่นั่น และสำคัญคือคุณเอาอะไรมาวัดว่าใครรวยใครจน เพราะต่อให้รวยแต่เอาเงินเก็บไว้ในตู้เซฟก็ได้ ไม่ต้องเอาเข้าบัญชีก็กลายเป็นคนจน คุณพิสูจน์อย่างไร ใครจนจริง จนไม่จริง แล้วคนที่นอนตามข้างถนน เขาจะมีอะไรไปพิสูจน์ ไปยื่นเอกสารยังไม่ทันเลย เข้าไม่ถึงด้วยซ้ำไป บางคนแม้แต่ทะเบียนบ้าน เลขบัตรประชาชนยังไม่มีเลย แล้วงบแต่ละกระทรวงที่ให้มาอย่างสวัสดิการแห่งรัฐที่ใช้อยู่แค่ปีละ 280,000,000,000 ถ้าเทียบกับรายจ่ายอื่นๆ ที่ทางรัฐบาลใช้เงินภาษีเรา ทำไมเราจะไม่มีสิทธิ์ท้วงติง

วรรณวิภาซึ่งเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวกล่าวว่า เมื่อก่อนธุรกิจสิ่งทอมันดีกว่านี้และเธอก็ไม่ได้ติดลบตั้งแต่แรก พอทำงานแบบนี้ก็เลยพออยู่ได้ มีเงินเก็บพอที่จะส่งลูกเรียนได้ การเข้ามาทางการเมืองหลายคนมองว่าเสี่ยง แต่คิดดีๆ ชีวิตมันเสี่ยงตั้งแต่เกิดแล้ว คนเราเกิดมาไม่ได้มีทางเลือกอะไรมากมาย ถ้าเกิดยังคิดแต่จะอยู่ในที่เดิมๆ ดิ้นรนไปวันๆ มันก็ไม่มีอะไรเปลี่ยน ก็เสี่ยงว่าพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร พรุ่งนี้จะเอาเงินที่ไหนส่งให้ลูก ก็ปากกัดตีนถีบต่อไปไม่ว่าจะอยู่ที่เดิมหรือทำงานที่นี่ (พรรคอนาคตใหม่) มันก็มีความเสี่ยงเหมือนกันแค่คนละรูปแบบ บางครั้งต่อให้เราเงินเดือนเพิ่มแต่การจับจ่ายใช้สอยเราใช้ได้น้อยลง มันก็ทำให้การวางแผนของเราที่จะไปพักผ่อนต่อปีหรือพาครอบครัวไปไหนก็รัดกุมขึ้น พ่อแม่ก็ไม่อยากจะให้มีปัญหาถึงลูกแล้วก็ครอบครัว ไม่เคยคิดเลยว่าวันหนึ่งจะรวยได้จากการเป็นแรงงาน คิดว่าถ้าเกิดทำงานอยู่ก็อยู่อย่างนี้แหละเพราะแต่ละคนที่อยู่ด้วยกันมาเขาก็ยังอยู่แบบเดิมเพราะพอเข้าช่วงวัย 30 จะ 40 ภาระมันเยอะลูกก็กำลังเรียนหนังสืออยู่ พ่อแม่ก็แก่ตัวลง แล้วลูกกับพ่อแม่จะเอารายได้จากไหน ไหนจะผ่อนบ้านผ่อนรถ แต่ละเดือนชีวิตก็อยู่อย่างนี้ตลอด ก็เลยทำให้ไม่ไปไหนก็ยังย่ำอยู่กับที่ เผลอๆ แย่ลงด้วยซ้ำ เศรษฐกิจมันแย่ บางคนก็ต้องทำงานเพิ่มขึ้น ทำงานประจำไม่พอยังต้องไปรับทำงานพิเศษเพิ่มขึ้นอีก จากที่สังเกต 10 ปีมาคนที่ทำงานหนักๆ ชีวิตก็แย่ลง เมื่อก่อนไม่มีใครทำโอทีก็อยู่ได้สบายๆ เดี๋ยวนี้ต้องทำงานเพิ่มขึ้น ทั้งที่อายุมากขึ้นเพราะว่าไม่พอรายจ่าย มันแย่ลงไม่ใช่ว่าดีขึ้น รอบตัวก็มีคนซื้อหวยเยอะมาก เห็นคนที่เกษียณตอนอายุ 55 ปี หลายคนก็ยังต้องไปรับจ้างหางานข้างนอกมาทำอีกต้องดิ้นรนทำงานอีก มีผลสำรวจมาว่าคนไทยทำงานถึงอายุ 71 ปีแล้วอายุเฉลี่ยของคนไทยก็ 71 ปีสรุปง่ายๆ ก็คือทำงานจนตาย 

ความเชื่อที่ว่าจะทำงานแล้วส่งลูกให้เรียนสูงๆ ให้ได้ทำงานที่ดีๆ เป็นความเชื่อที่ผิดมากๆ เพราะลูกตกงานกันก็เยอะ ไม่มีเส้นไม่มีสายลองไปเดินหางานโดยที่ไม่รู้จักใครคือได้งานยากมากในยุคสมัยนี้ เด็กสมัยใหม่ก็ไม่ค่อยเข้าไปทำงานในอุตสาหกรรมอยู่แล้ว กลายเป็นแรงงานนอกระบบมากขึ้นกฎหมายก็ยังอยู่กับที่ ในขณะที่โลกมันเปลี่ยนไปแต่ก็ไม่มีอะไรมารองรับและสร้างมันขึ้นมาให้เท่าเทียมกับประเทศอื่นๆ ในทุกๆ รัฐบาลที่บอกว่าเศรษฐกิจดีมาก วรรณวิภาก็ยังไม่เคยรู้สึกว่าชีวิตมันดีมากตอนไหนเลย ตั้งแต่ทำงานมาจน 20 ปี ไม่ว่ารัฐบาลไหนความรู้สึกก็เดิมๆ วรรณวิภาเป็นคนอุตรดิตถ์ แต่ละปีได้กลับบ้านสองสามครั้ง เพราะว่าจะหางานทำในอุตรดิตถ์ก็ไม่มีอุตสาหกรรมใหญ่ที่จะสามารถสร้างงานสร้างอาชีพให้คนในจังหวัดได้ วรรณวิภาเปลี่ยนที่ทำงานประมาณ 3-4 ที่ เงินเดือนสุดท้ายที่ได้รับคือ 15,000 บาท ไม่รวมอื่นๆ แต่ก็ไม่ได้ทำงานอื่นเพราะเธอเอาเวลาไปศึกษาเรื่องกฎหมาย เรื่องเศรษฐกิจ หลายคนอาจมองว่าเธอประสบความสำเร็จในด้านการเจรจาต่อรอง ถ้าคนไปฟ้องศาลแต่มันสำเร็จไม่จริงในความรู้สึกของวรรณวิภา มันอาจจะเป็นความรู้สึกดีใจแค่ชั่วครู่ชั่วยามเพราะเป็นแค่ไม่กี่บริษัท เคยคิดว่าแล้วอีกหลายล้านคนที่เหลือที่โดนเอารัดเอาเปรียบล่ะ วรรณวิภาเลยคิดว่าถ้าเปลี่ยนที่ต้นต่อทีเดียวมันไม่ดีกว่าหรือ ไม่ต้องผลักดันแก้ไขทีละบริษัท ดังนั้นเธอจึงกล้าที่จะเสี่ยงเพราะคิดแล้วว่ามันก็คงจะดีกว่าที่จะอยู่แบบนี้ย่ำอยู่กับที่แต่ไม่มีอะไรดีขึ้นก็ไม่เอาดีกว่า การทำการเมืองแม้จะเสี่ยงกับผลลัพธ์ที่ได้มาอาจจะคุ้มค่าหรือไม่ก็ได้ ก็ต้องรอดูกันต่อไป เพราะถึงไม่ได้เป็นนักการเมือง ปกติก็ทำเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว ทำมาโดยตลอด และยิ่งถ้าได้เข้าไปทำในสภาได้จริงๆ วรรณวิภามองว่ายิ่งต้องต้องผลักดันเรื่องที่ทำอยู่และแก้ปัญหาที่ต้นต่อให้ได้ เพราะเป้าหมายปลายทางคือการเปลี่ยนแปลงสังคมเพื่อให้ทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะมีตำแหน่งเป็นแรงงาน เป็นกรรมการสหภาพ เป็นกรรมการสหพันธ์ หรือเป็นนักการเมือง แต่เป้าหมายยังคงเดิม ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะไหนก็ตาม

นี่คือเรื่องราวบทแรกในถนนการเมืองของ มด-วรรณวิภา ไม้สน เธอคืออุดมคติที่ค้างของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ที่คนธรรมดาจะมีสิทธิเสียงทางการเมืองและผลักดันรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า เธอคืออุดมคติของประชาธิปไตยสากลที่ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่รสนิยมของคนท้องอิ่ม เธอคือภาพตัวแทนอุดมคติส่วนหนึ่งของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจเมื่อครั้งเยาว์วัยสมัยเป็นนักกิจกรรมนักศึกษาที่ปรารถนาเห็นคนธรรมดาสามารถก้าวขึ้นมาพูดเรื่องตัวเองได้อย่างมั่นใจ “ทุกผลงานที่ทุกท่านพูดมาทั้งหมด ดิฉันคือคนที่อยู่กับด้านมืดและผลของมัน กฎหมายที่พวกท่านภูมิใจที่ได้ร่วมร่างและออกมา คือการกดขี่ที่ทำให้ดิฉันต้องมาประท้วงหน้ากระทรวงทุกปี” วรรณวิภา กล่าวในงานเสวนาทางนโยบายของพรรคการเมือง น่าจะเป็นภาพสะท้อนความมุ่งมั่นของเธอต่อการเปลี่ยนแปลงประเทศนี้


 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net