วงถก 'ชุดนักเรียน' ความเท่าเทียมหรือเท่าทุน ว่าด้วยสิทธิฯ-เหลื่อมล้ำศึกษาในเสรีนิยมใหม่

รายงานเสวนา 'ชุดนักเรียน…เท่าเทียมหรือเท่าทุน: ว่าด้วยสิทธิและความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเชิงเสรีนิยมใหม่' แนะทางออกร่วมเพิ่มนโยบายรัฐสวัสดิการ หนุนเรียนฟรี ซึ่งไม่ใช่แค่นโยบายเรียนฟรี 15 ปี แต่ควรจะเป็นการเรียนที่ไม่มีค่าใช้จ่ายตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงระดับปริญญาเอก 

จากซ้ายไปขวา: ปฐา ปานบ้านแพ้ว ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี พิสิษฏ์ นาสี สุวัฒน์ บุญเคลือบ และ ณัฏฐ์พล  ภูติศานติสกุล ผู้ดำเนินรายการ

27 ก.พ.2562 เมื่อวันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีการจัดกิจกรรมเสวนา เรื่อง “ชุดนักเรียน…เท่าเทียมหรือเท่าทุน: ว่าด้วยสิทธิและความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเชิงเสรีนิยมใหม่โดยมีวิทยากรนำเสวนา ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี จากวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์ ดร.พิสิษฏ์ นาสี คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สุวัฒน์ บุญเคลือบ ครูโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย และ ปฐา ปานบ้านแพ้ว นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมถึงนักศึกษาชั้นปีต่างๆ ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นวิทยากรร่วมวงเสวนาและแลกเปลี่ยนมุมมอง

สัมพันธ์ระหว่างเครื่องแบบที่เป็นทางการในระบบการศึกษาของรัฐ

ประเด็นสำคัญของการเสวนาประการแรก คือ มุมมองเชิงวิพากษ์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเครื่องแบบที่เป็นทางการในระบบการศึกษาของรัฐอย่างเช่น ชุดนักเรียน นักศึกษา หรือเครื่องแบบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา กับประเด็นเรื่องอำนาจนิยมและการกำกับควบคุมปัจเจกบุคคลให้มีการแสดงออกเป็นไปตามบรรทัดฐานหรือแบบแผนการปฏิบัติที่สังคมนั้นๆ กำหนดขึ้นมา อาจารย์ ดร.พิสิษฏ์ และ สุวัฒน์ บุญเคลือบ ให้มุมมองร่วมกันว่า เครื่องแบบประเภทต่างๆ จะมีหน้าที่บ่งบอกถึงสถานะ ช่วงชั้นทางสังคม และหน้าที่ของผู้ที่สวมใส่เครื่องแบบนั้นๆ กล่าวคือ นักเรียนต้องใส่ชุดนักเรียน ตำรวจต้องใส่ชุดตำรวจ ทหารต้องใส่ชุดทหาร เพื่อบ่งบอกสถานภาพทางสังคมและหน้าที่ที่บุคคลเหล่านั้นต้องปฏิบัติภายใต้กรอบเชิงอำนาจของเครื่องแบบ วิทยากรเน้นว่าในระบบโรงเรียน ถึงแม้ว่าชุดนักเรียนได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้ทุกคนที่มีโอกาสได้รับการศึกษาแผนใหม่ได้มีเครื่องแบบใส่เหมือนกัน

แต่เมื่อพิจารณาในเชิงประวัติศาสตร์การศึกษา โดยเฉพาะประวัติศาสตร์การจัดตั้งโรงเรียนและพันธกิจในการจัดการศึกษาให้แก่คนไทยในยุคการสร้างรัฐสยามให้เข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5) วิทยากรได้ชี้ประเด็นให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ชุดนักเรียนมิได้ถูกออกแบบมาเพื่อสร้างความเท่าเทียมกันตั้งแต่แรกในยุคสมัยการจัดการศึกษาแผนใหม่ แต่กลับถูกออกแบบมาเพื่อให้บุตรหลานของชนชั้นสูง ชนชั้นนำ และชนชั้นปกครองสยามได้สวมใส่เท่านั้น ซึ่งปัจจุบัน ข้อถกเถียงที่ว่าการให้นักเรียนใส่ชุดนักเรียนเป็นวิธีการหนึ่งเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เสมอภาคทางการศึกษา แต่ทว่าในความเป็นจริงก็ยังไม่สามารถลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง วิทยากรยังเน้นว่าชุดนักเรียนหรือนักศึกษาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ หรือกล่าวได้ว่าการศึกษาที่ดีและมีคุณภาพมิได้มีความสัมพันธ์กับเครื่องแบบนักเรียนนักศึกษาแต่อย่างใด ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการศึกษาและการจัดการศึกษาในสังคมไทยควรให้ความสนใจกับปัญหาอื่นๆ ที่ส่งผลต่อคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนนักศึกษาอย่างเช่น นักเรียนนักศึกษาไม่มีสมาธิหรือไม่สามารถฟังบรรยายยาวๆ และจดประเด็นสำคัญจากการเรียนในชั่วโมงเนื่องจากใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ นอกเหนือจากการเรียนมากกว่า

การผลิตซ้ำโครงสร้างสถานะเดิม หนุนอุดมการณ์-วัฒนธรรมอำนาจนิยม

ประเด็นที่สอง วิทยากรทุกคนได้เสนอมุมมองร่วมกันว่า ชุดนักเรียนนักศึกษามีความสัมพันธ์กับกระบวนการผลิตซ้ำโครงสร้างสถานะเดิม ทั้งยังเสริมสร้างอุดมการณ์และวัฒนธรรมอำนาจนิยมในสังคมไทยไว้อย่างแนบเนียน ชุดนักเรียนนักศึกษายังเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความสยบยอมต่ออำนาจที่เหนือกว่าในรูปแบบต่างๆ กล่าวคือ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ต้องยอมใส่ชุดนักศึกษา ป้ายคล้องคอ และอุปกรณ์ตกแต่งร่างกายต่างๆ ตามอำนาจของรุ่นพี่ผ่านปฏิบัติการรับน้องและระบบ SOTUS บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยจบไปสอบบรรจุเป็นข้าราชการของกระทรวงต่างๆ เช่น ครูสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดสังกัดกระทรวงมหาดไทย ทุกคนถูกกำหนดให้ใส่เครื่องแบบข้าราชการและปฏิบัติตามกฏระเบียบข้อบังคับที่รัฐกำหนดขึ้น ในแง่หนึ่งเป็นการสร้างระเบียบวินัย ความสงบเรียบร้อย แต่ถ้าพิจารณาในเรื่องอำนาจและการควบคุมพฤติกรรม เครื่องแบบหรือชุดเหล่านี้เป็นตัวการที่ทำให้ประชาชนเฉื่อยชา สยบยอม ยอมรับในโครงสร้างอำนาจเดิมรวมถึงความไม่เท่าเทียมในทุกกรณี ไม่มีการตื่นตัวในทางการเมืองในสังคมประชาธิปไตย วิทยากรยังเน้นว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความย้อนแย้งในตัวเองสูง ผู้มีอำนาจและผู้กำหนดนโยบายการศึกษาอยากให้นักเรียน นักศึกษามีความคิดสร้างสรรค์ สร้างนวัตกรรม และมีความคิดเชิงวิจารณญาณ และเป็นพลเมืองโลกในยุคศตวรรษที่ 21 แต่กลับสร้างกฎระเบียบ สร้างความรุนแรงทั้งในเชิงความรู้และเชิงวัฒนธรรมภายในสถานศึกษาไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงจากครูสู่นักเรียน หรือความรุนแรงจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง การผลิตซ้ำความรุนแรงจากรุ่นสู่รุ่น ใช้โรงเรียนเป็นสถานกักกัน สถานดัดสันดาน เน้นการทำให้เด็กนักเรียนกลัวเพื่อฝึกระเบียบวินัยมากกว่าการสร้างความรู้และวิธีคิดให้เด็กมีความเป็นตัวของตัวเอง ในระบบโครงสร้างเหล่านี้ครูเป็นผู้มีอำนาจและสามารถกำหนดทิศทางชีวิตของเด็กที่ตนเองสอนได้ค่อนข้างมาก ดังนั้นหากจะพัฒนาสังคมไทยให้มีความก้าวหน้าและเป็นประชาธิปไตยเราจึงควรพัฒนาครู ขจัดวัฒนธรรมความกลัวและอำนาจนิยมออกไป มองว่าครูและนักเรียนสามารถร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเส้นทางแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่สำคัญที่สุดคือ ครูไม่ได้เป็นผู้สอนความรู้แต่เพียงอย่างเดียวแล้วจบกันไป แต่ยังเป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ชีวิตของนักเรียนและสังคมอีกด้วย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ษัษฐรัมย์ เสนอประเด็นสำคัญเพื่อให้นักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ที่จะเติบโตขึ้นไปเป็นครูในสังคมไทยได้ลองทบทวนตนเองว่า หากเรามองลงมาที่คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะเห็นว่ามีศิษย์เก่าจำนวนมากที่เก่งและมีความสามารถสูงมาก แต่ทำไมคณะหรือสาขาวิชาที่มีคุณภาพขนาดนี้ถึงไปไกลกว่านี้หรือไปไกลในระดับสากลไม่ได้ เหตุผลประการสำคัญนั้นมาจากวัฒนธรรมอำนาจนิยมและความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมซึ่งกีดขวางความเจริญก้าวหน้าในวิธีคิดและวิชาการ วัฒนธรรมเหล่านั้นสะท้อนให้เห็นผ่านระบบ SOTUS ระบบการรับน้อง ห้องเชียร์ที่มีความเข้มข้น การบังคับให้นักศึกษาครูผูกเนคไท การบังคับให้คล้องป้าย วิทยากรตั้งคำถามว่าทำไมนักศึกษาต้องทำตามรุ่นพี่โดยไม่ตั้งคำถามและทำไมถึงไม่ปฏิเสธปฏิบัติการเหล่านั้น ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะการยอมทำตามทำให้เกิดความรู้สึกปลอดภัย เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม และรู้สึกไม่แปลกแยกใช่หรือไม่ ทั้งที่กิจกรรมเหล่านี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษาและการเรียนรู้ที่มีคุณภาพเลยแม้แต่น้อย แต่ทำไมกิจกรรมเหล่านี้จึงยังคงอยู่ สาเหตุหลักอาจเป็นเพราะมีผู้มีอำนาจได้ประโยชน์จากการใช้กิจกรรมดังกล่าวเพื่อควบคุมนักศึกษาใช่หรือไม่ การใช้ระบบ SOTUS ในการขูดรีดแรงงานและพลังจากนักศึกษาชั้นปีที่หนึ่งให้ทำงานในรูปแบบต่างๆ อย่างหนัก เพื่อผลประโยชน์ของคณะ มหาวิทยาลัย และระบบเศรษฐกิจการเมืองที่อยู่เหนือกว่าและมีโครงสร้างอำนาจนำอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกับโครงสร้างอำนาจทางการเมืองในสังคมไทยที่ผ่านมาตลอดและยังเป็นอยู่ในปัจจุบันใช่หรือไม่

วิทยากรยกตัวอย่างประเทศนอร์เวย์ว่าเป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับเรื่องคุณภาพทางการศึกษาเมื่อเราเปรียบเทียบระบบการศึกษาของไทยกับนอร์เวย์ จะเห็นได้ว่าที่นอร์เวย์นั้น มีโรงเรียนจำนวนมากพอๆ กับร้าน Seven-Eleven คนนอร์เวย์ทำงานวันละ 5-6 ชั่วโมงต่อวัน แต่กลับมีความมั่งคั่งร่ำรวย มีความสุข ทำงานแล้วก่อให้เกิดผลิตผลที่มีคุณภาพ ทั้งๆ ที่ไม่มีเครื่องแบบชุดนักเรียน และชุดทำงานประจำวัน กระบวนการเรียนการสอนและกิจกรรมในโรงเรียนจะเน้นให้เด็กมีจินตนาการ ใช้เวลาอยู่กับตัวเอง กับครอบครัว ไม่มีการสร้างระเบียบวินัยยุ่งยากภายในโรงเรียน ทำให้เกิดความเป็นสังคมพหุลักษณ์หรือสังคมที่มีความหลากหลายทั้งในเชิงอุดมการณ์ความคิดและการใช้ชีวิตในฐานะพลเมืองที่มีความเสมอภาค ซึ่งตรงกันข้ามกับโรงเรียนในประเทศไทยที่พยายามบีบบังคับและส่งผ่านอุดมการณ์บางอย่างเพื่อให้เด็กทุกคนยอมรับในความเหมือนกันมากกว่าความเป็นปัจเจกบุคคล

ชนชั้น-ระบบการศึกษา ไม่เอื้อความหลากหลาย

ประเด็นสุดท้ายคือ ประเด็นเกี่ยวกับชนชั้นในสังคมไทย ระบบการศึกษาไทยไม่เอื้อต่อความหลากหลายทางชนชั้นซึ่งรวมถึงสถานะทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของนักเรียน โรงเรียนมักจะกักนักเรียนที่มีชนชั้นใกล้เคียงกันเอาไว้ด้วยกัน เนื่องจากครอบครัวที่มีฐานะปานกลางและฐานะระดับล่างเป็นประชาชนกลุ่มใหญ่ในสังคมไทย ประชาชนกลุ่มนี้ไม่มีรายได้มากพอที่จะส่งบุตรหลานของตนเองเข้าเรียนโรงเรียนที่มีคุณภาพสูงได้ ทั้งที่การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญในการยกระดับฐานะทางสังคมหรือเลื่อนชนชั้นทางสังคมให้กับผู้เรียน นอกจากนี้ผู้ที่กู้ยืมเงินกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ยังต้องทำตัวเป็นคนดีมีคุณธรรมผ่านการทำกิจกรรมมากมาย ต้องถ่ายรูปประจานความจนของตนเอง เพียงเพื่อให้มีสิทธิในการกู้ยืมเงินมาใช้จ่ายในการศึกษา ทั้งที่ส่วนมากผู้เรียนเหล่านี้ต้องทำงานพิเศษหาเงินเพิ่มอยู่แล้ว กลายเป็นว่าเหมือนเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ผู้กู้ไปอีก กระบวนการเหล่านี้คือการผลิตซ้ำภาพการสงเคราะห์คนจนและยังกดทับคนจนว่าเป็นเรื่องบุญคุณที่ต้องตอบแทน ระบบการศึกษามีส่วนอย่างมากในการทำให้เรื่องความเหลื่อมล้ำกลายเป็นเรื่องปกติและยอมรับได้ ในทางกลับกันผู้ที่มีฐานะดีอยู่แล้วมีโอกาสเข้ารับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างไม่มีปัญหาและไม่ต้องกังวลเรื่องรายได้และค่าใช้จ่ายในการศึกษา ผู้เรียนที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจสูงจะสามารถลองผิดลองถูกในการทำธุรกิจได้หลายครั้ง คนจนในประเทศไทยมีโอกาสเลือกคณะวิชาน้อยกว่าคนรวย ต้องเรียนคณะหรือสาขาวิชาที่เมื่อจบไปแล้วมีโอกาสแสวงหารายได้และเงินเดือนในระดับที่พอกินพอใช้ แต่ไม่สามารถหลุดพ้นจากวงจรความจนแบบเดิมๆ หลายคนต้องกู้เรียนและไม่มีสวัสดิการสนับสนุน รัฐบาลมีการลดหย่อนภาษีเพื่อเอาใจชนชั้นนายทุน ดูแลแต่นายทุน แต่ไม่ดูแลชนชั้นล่างและผู้ที่มีรายได้น้อย

โดยสรุป วงเสวนาเสนอทางออกร่วมกันว่า หากจะแก้ปัญหาการศึกษาไทย ต้องแก้ด้วยการเพิ่มนโยบายรัฐสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษา เช่น การเปิดให้เรียนฟรี ซึ่งไม่ใช่แค่นโยบายเรียนฟรี 15 ปี แต่ควรจะเป็นการเรียนที่ไม่มีค่าใช้จ่ายตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงระดับปริญญาเอก การสร้างรัฐสวัสดิการให้เกิดขึ้นในสังคมไทยจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างสังคมไทยให้มีความเสมอหน้าอย่างแท้จริง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท