Skip to main content
sharethis

ภาคประชาชนกว่า 300 แต่งดำประท้วงยื่นคำขาดเรียกร้อง สนช. ยุติพิจารณากฎหมาย พร้อมลาออกทันที สุดท้ายประธาน สนช. ยอมออกมารับหนังสือ แต่ขอพิจารณากฎหมายเร่งด่วนต่อถึง 8 มี.ค. ยืนยันไม่ลาออกเพราะต้องรักษาสมดุลอำนาจอธิปไตย และแก้ปัญหาให้ประชาชนในฐานะตัวแทน

27 ก.พ. 2562 เวลา 09.00 น. ที่บริเวณด้านหน้าวัดเบญจมบพิตรฯ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) พร้อมด้วยองค์กรเครือข่ายกว่า 300 คน ได้นัดรวมตัว พร้อมแต่งชุดดำ เพื่อประท้วงเรียกร้องให้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยุติการปฏิบัติหน้าที่ในการพิจารณากฎหมาย พร้อมลาออกจากตำแหน่งทันที โดยทางกลุ่มตั้งใจว่าจะเดินเท้าไปยังรัฐสภาเพื่อยื่นหนังสือให้ประธาน สนช.

ประยงค์ ดอกลำไย ประธาน กป.อพช. ได้อ่านแถลงการณ์ เรื่องยุติการตรากฎหมาย คืนอำนาจให้ประชาชน โดยใจความตอนหนึ่งระบุว่า เมื่อได้มีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป และมีการกำหนดวันเลือกตั้งที่ชัดเจนแล้ว สนช. ควรยุติการพิจารณาและตรากฎหมายใหม่ทุกฉบับ เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นผู้ดำเนินการ ทั้งนี้ในสถานะปกติเมื่อมีการประกาศวันเลือกตั้ง เมื่อมีการยุบสภา หรือสภาผู้แทนราษฎรได้ทำงานจนครบวาระแล้ว ในระหว่างช่วงที่มีการหาเสียงเลือกตั้งจะไม่มีการพิจารณากฎหมายเกิดขึ้น แต่ปรากฎว่า ในช่วงเดือน ธ.ค. 2561 ถึงเดือน ก.พ. 2562 สนช. ได้พิจารณาเห็นชอบกฎหมายไปแล้วมากกว่า 100 ฉบับ และกำลังเร่งรีบพิจารณากฎหมายอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีการรับฟังความคิดเห็นที่รอบด้าน ส่งผลให้กฎหมายหลายฉบับมีเนื้อหาที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติและประชาชนในอนาคต

ในแถลงการณ์ ระบุด้วยว่า คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรภาคประชาชน สหภาพแรงงาน นักศึกษา และประชาชนผู้รักประชาธิปไตยเรียกร้องให้
1.สภานิติบัญญัติแห่งชาติยุติการพิจารณากฎหมายทุกฉบับในทันที

2.นายกรัฐมนตรีต้องชะลอการนำร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาตินับแต่วันที่มีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2562 ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย เพื่อให้รัฐบาลใหม่ที่จะมาจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นผู้ดำเนินการต่อไปตามนัยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 147

3.ด้วยเหตุดังกล่าวมาทั้งหมด สภานิติบัญญัติแห่งชาติจึงไม่มีภารกิจที่จะดำเนินงานต่อไป ประกอบกับค่าตอบแทนสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผู้ช่วย และค่าใช้จ่ายอื่น รวมเดือนละไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท นับจากวันนี้ถึงเดือนพฤษภาคม 2562 ต้องใช้ภาษีของประชาชนจ่ายให้กับสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติอีกไม่ต่ำกว่า 150 ล้านบาท เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อประเทศชาติ บ้านเมือง สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติจึงควรแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกนับตั้งแต่สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เป็นต้นไป

ต่อมาเวลา 11.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำแผงเหล็กมากั้นขวางถนนเพื่อสกัดไม่ให้กลุ่มเดินทางไปยังรัฐสภาได้ โดยอ้างว่าเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างไรก็ตามประธาน สนช. ได้ขอให้ทางเครือข่ายส่งตัวแทนเข้าไปยังรัฐสภาเพื่อพูดคุยเจรจา ทั้งนี้ทางเครือข่ายยืนยันว่า หากไม่ต้องการให้ประชาชนเดินเท้าไปยังรัฐสภา ประธาน สนช. ก็ต้องเดินทางมารับหนังสือจากประชาชนด้วยตัวเอง

ทั้งนี้ พ.ต.อ.สมยศ อุดมรักษาทรัพย์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลดุสิต ได้แจ้งกับเครือข่ายภาคประชาชนว่า ทางกลุ่มได้แจ้งการชุมนุมไว้แล้ว โดยแจ้งเพียงแค่จะมีการชุมนุมที่บริเวณด้านหน้าวัดเบญจมบพิตรฯ และบอกว่าจะไม่มีการเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุม ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้รับแจ้งการชุมนุม พร้อมปฏิบัติหน้าที่ดูแลการชุมนุมตามกฎหมาย แต่การที่ทางกลุ่มบอกว่าจะเดินไปยังรัฐสภา ถือว่าเป็นการเคลื่อนย้ายการชุมนุมโดยที่ไม่ได้แจ้งไว้ล่วงหน้า จึงไม่สามารถทำได้ อีกทั้งได้มีการกำหนดเงื่อนไขในการชุมนุมแล้วว่า รัฐสภาเป็นพื้นที่ห้ามจัดการชุมนุม การกระทำที่เกิดขึ้น หากมีการเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมไปยังรัฐสภา ถือว่าเป็นการทำผิดเงื่อนไขการชุมนุม จึงขอให้แก้ไขการชุมนุมภายใน 30 นาที หากไม่มีการแก้ไข และพยายามฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจออกไป จะเป็นการเข้าไปในเขต 150 เมตร จากพระราชตำหนักจิตรลดารโหฐาน ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่อยากใช้ความรุนแรงกับประชาชน แต่ถ้ามีการฝ่าฝืนเงื่อนไข เจ้าหน้าที่ก็มีความจำเป็นต้องใช้มาตรการตามแผนกรกฎ

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลการเจรจาของตัวแทนกลุ่ม กับ สนช. ได้ข้อสรุปว่า ให้ตัวแทนกลุ่มจำนวน 60 คน เดินทางไปยังรัฐสภาเพื่อยื่นหนังสือให้กับประธาน สนช. ได้

ต่อมาเวลา 13.00 น. พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ได้มารับหนังสือของกลุ่มฯ พร้อมให้สัมภาษณ์ว่า เวลานี้ยังมีกฎหมายที่ค้งอยู่ในการพิจารณาหลายฉบับ และหากปล่อยไว้จะส่งผลกระทบต่อรัฐ และประชาชน และการพิจารณากฎหมายของ สนช. นั้นก็ไม่ได้เร่งรีบ แต่เป็นไปอย่างรอบคอบ และเป็นการพิจารณาเพื่อประโยชน์ของประชาชน โดยตามกำหนดเดิม สนช. จะยุติการพิจารณากฎหมายในวันที่ 8 มี.ค. 2562 แต่ยังไม่สามารถลาออกได้ เนื่องจากมีภารกิจอื่นๆ ที่จำเป็นต้องอยู่ปฎิบัติหน้าที่ต่อไป และเป็นการรักษาสมดุลอำนาจอธิปไตย ซึ่งต้องมีทั้งอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ รวมถึงการแก้ไขปัญหาของประชาชนในฐานะตัวแทนด้วย

พรเพชร กล่าวต่อว่าแม้ สนช. จะยังพิจารณากฎหมายต่อไปถึงวันที่ 8 มี.ค. แต่ก็จะชะลอการพิจารณากฎหมายบางฉบับ และส่งต่อให้สภาผู้แทนหลังจากการมีการเลือกตั้ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net