Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

เป็นความเข้าใจผิดอย่างมหันต์ ถ้าใครไปคิดว่าเพลง “หนักแผ่นดิน” เป็นเพียงหนึ่งในบรรดา “เพลงปลุกใจ” ตามปกติที่รัฐบาลไทยผลิตออกมา

นับตั้งแต่สยามานุสสติถูกให้ทำนอง สืบมาจนถึงเพลงของหลวงวิจิตร และบรรดาเพลงที่ถูกเรียกว่า “ปลุกใจ” ทั้งหลาย เนื้อหาของเพลงเหล่านี้คือส่งเสริมให้คนไทยร่วมใจกันต่อสู้กับศัตรูซึ่งเป็น คนนอก

คนนอก ซึ่งอาจมีแต่เงา คือไม่รู้ว่าเป็นใครกันแน่ในสมัย ร.6 จนมาถึงญี่ปุ่น ซึ่งกำลังแผ่อำนาจลงมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเมื่อถูกกองทัพญี่ปุ่นยึดครองเสียแล้ว ก็คือฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งกลายเป็นศัตรูของไทย จนเป็นคอมมิวนิสต์ในระหว่างสงครามเย็น

แต่เพลงหนักแผ่นดินถูกแต่ง และเผยแพร่อย่างเต็มที่ เพื่อต่อสู้ปราบปรามศัตรูที่เป็น คนใน โดยตรง

อันที่จริง ข้ออ้างให้รักชาติเพื่อต่อสู้ศัตรูภายนอกนั้น ล้วนมีจุดมุ่งหมายเป็นการเมืองภายในทั้งนั้น อย่างอ้อมๆ บ้าง อย่างตรงๆ บ้าง

การเฝ้าระวังและเตรียมพร้อมในการต่อสู้กับศัตรูภายนอก ให้อำนาจพิเศษแก่รัฐบาลในการบังคับควบคุมคนภายใน ทั้งยังทำให้เกิดภาพความผูกพันของไทยอย่างแน่นแฟ้นกับค่ายโลกเสรี อันเป็นทางมาของความช่วยเหลือทั้งที่เป็นวัตถุ, เงิน, ปืน, เฮลิคอปเตอร์ และที่ไม่ใช่วัตถุ เช่น เสียงของไทยในเวทีโลก หรือทุนการศึกษาแก่กองทัพและข้าราชการ เป็นต้น

ในความเป็นจริง รัฐบาลไทยรู้อยู่เต็มอกว่า ที่ถูกจัดให้เป็นศัตรูของรัฐนั้น ไม่ใช่มอสโก, ปักกิ่ง หรือฮานอย แต่เป็นคนไทยด้วยกันนี่แหละ เช่น รัฐบาลมีรายชื่อและข้อมูลเกี่ยวกับคณะกรรมการบริหารของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยอย่างละเอียด แต่รัฐบาลย่อมพอใจจะโฆษณาว่า คนเหล่านี้เป็นหน้าม้าหรือสมุนของมอสโกหรือปักกิ่งมากกว่า เพราะทำให้คนเหล่านี้หมดสิทธิที่จะมีเสียงอะไรเกี่ยวกับการเมืองไทยได้เลย

และการปราบปรามคนเหล่านี้ ทั้งโดยวิธีที่ถูกและผิดกฎหมาย ก็อาจทำได้โดยไม่มีคนในคนใดคัดค้าน

ด้วยเหตุดังนั้น “เพลงปลุกใจ” (ตามตำรับไทย) จึงเป็นเพลงที่สร้างศัตรูเป็นคนนอกเสมอ พูดโดยนัยยะหรือพูดตรงๆ ก็ตาม เพลงเหล่านั้นไม่ได้ปลุกใจให้รักชาติเฉยๆ เพราะความรักชาติอาจแสดงออกไปจนถึงปฏิบัติได้หลากหลายวิธี บางวิธีรัฐบาลอาจไม่ชอบเลยก็ได้ เช่น ต่อต้านรัฐบาลที่ทุจริต หรือช่วยเสริมกำลังของคนไทยตัวเล็กๆ ที่ไม่มีปากเสียง เพื่อให้เขาได้เป็นเจ้าของชาติร่วมกับเราได้เต็มที่ แต่ความรักชาติที่รัฐบาลไทยมอบหมายให้คนไทยมีและทำ คือต่อสู้กับศัตรูข้างนอกเสมอ

แต่เพลงหนักแผ่นดินไม่อาจจัดอยู่ในกลุ่ม “เพลงปลุกใจ” ตามตำรับไทยดังกล่าวได้เลย เพราะคนหนักแผ่นดินเหล่านี้คือคนไทยเหมือนคนแต่ง, คนร้อง และตัวนายซึ่งส่งเสริมให้เผยแพร่เพลงนี้ทางวิทยุกระจายเสียงอย่างสม่ำเสมอ

อันที่จริงรัฐบาลไทยขจัดศัตรูทางการเมืองของตน ซึ่งล้วนเป็นคนในด้วยการสังหารมาตั้งแต่ 2490 แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องแต่งเพลงประเภท “หนักแผ่นดิน” ขึ้นมาปลุกเร้าการยอมรับของประชาชนทั่วไปเลย โดยมากมักซัดทอดให้ผู้ที่รัฐสังหารว่ามีส่วนพัวพันกับคนนอก (เช่น 4 รัฐมนตรีที่ถูกสังหาร ต้องมีอะไรเกี่ยวข้องกับโจรจีนคอมมิวนิสต์ในสหพันธรัฐมลายา ไม่อย่างนั้นพวกนั้นจะขึ้นมาชิงตัวทำไม)

แต่ตกมาถึง 2518 วิธีขจัดศัตรูของรัฐอย่างที่เคยใช้ได้ผลมานั้น กลับไม่ได้ผล หรือได้ผลน้อยลง เช่น ถึงจะฆ่าผู้นำชาวนา ขบวนการชาวนาก็ยังเคลื่อนไหวต่อมา ถึงจะฆ่าเลขาธิการพรรคสังคมนิยม พรรคก็ไม่แตกสลาย ยังพร้อมลงเลือกตั้ง (ซ้ำได้รับเลือกตั้งมากเกินคาดเสียด้วย)

กล่าวโดยสรุปก็คือ คนในที่รัฐมองเป็นศัตรูคือ “มวลชน” คนเล็กคนน้อยจำนวนมากที่รัฐมองไม่เห็นหน้าตาได้ถนัดนัก ซึ่งถึงถูกสังหารไปบ้าง ก็ไม่อาจทำลายขบวนการลงได้ วิธีเดียวคือสร้างความหวาดกลัวอย่างสุดขีดให้ทั้งแก่คนในขบวนการ และคนไทยทั่วไป ด้วยการสังหารหมู่ผู้คนกลางเมือง ทำร้ายศพอย่างโหดร้ายป่าเถื่อน เพื่อให้คนไทยได้เห็นเป็นแบบอย่าง และไม่กล้าหือกับรัฐอย่างเป็นกลุ่มก้อนอีก

แต่การกระทำเช่นนั้นอาจสะท้อนกลับเป็นความเกลียดชังรัฐก็ได้ หลังจากความประหวั่นพรั่นพรึงได้จางลงแล้ว เพราะเป็นการสังหารหมู่คนไทยด้วยกันเองกลางเมือง

ด้วยเหตุดังนั้น เพลงหนักแผ่นดินจึงอาศัยความกำกวมของ “คนใน” และ “คนนอก” ในสังคมไทย เพื่อทำให้ผู้ที่จะถูกสังหารหมู่กลางเมืองกลายเป็นคนนอก หรือเป็นคนในไม่เต็มที่ เสียก่อน “คนใดใช้ชื่อไทยอยู่ กายก็ดูเหมือนไทยด้วยกัน ได้อาศัยโพธิ์ทองแผ่นดินของราชันย์ แต่ใจมันยังเฝ้าคิดทำลาย…”

ฟังปั๊บจะคิดถึงอะไรได้ สำหรับคนไทยที่ถูกปลูกฝังทัศนคติเช่นนี้มาตั้งแต่รุ่นทวดรุ่นปู่ ก็ต้องเป็นเจ๊กหรือแกวเท่านั้น (น่าประหลาดที่ผู้ทำกำไรจากแผ่นดินไทยมากที่สุดคือฝรั่ง แต่ฝรั่งกลับได้รับการยกเว้นจากการเป็นคนนอกที่น่ารังเกียจ) คนเหล่านี้รวมไปถึงลูกหลาน ต่างถูกกันให้เป็น “คนใน” เก๊ ตลอดมา ตกเป็นเหยื่อการรีดไถจากเจ้าหน้าที่รัฐได้ง่ายเท่ากับชาวนา แต่ดีกว่าชาวนาเพราะใช้ชีวิตในเศรษฐกิจตลาด จึงมีเงินสดมากกว่าชาวนา

เพลงหนักแผ่นดินเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมการร่วมปี ก่อนจะถึงวันพิฆาต 6 ตุลาคม 2519 สอดคล้องกับการที่แกนนำขบวนการนักศึกษาถูกเรียกว่า “ตี๋” ในวิทยุทหาร ถึงนักศึกษามหาวิทยาลัยทั่วไปก็มีคำเตือนแก่สังคมไทยเสมอว่า จะเป็นใครไปได้ที่สามารถเรียนจนถึงขั้นมหาวิทยาลัย หากไม่ใช่ลูกหลานเจ๊ก ดังนั้นจากคนในปลอม มวลชนซึ่งลุกขึ้นมาขอร่วมเป็นเจ้าของชาติ จึงค่อยๆ กลายเป็นคนนอกอย่างบริบูรณ์

เมื่อการสังหารเสร็จสิ้นลงแล้ว นายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งกำลังจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทยผ่านการทำรัฐประหาร ให้สัมภาษณ์แก่สื่อว่า ผู้ที่ถูกฆ่ากลางเมืองล้วนเป็นญวน พูดไทยไม่รู้เรื่อง ชีวิตของคนที่พูดไทยไม่ได้ จึงมีค่าเท่ากับยุงตัวหนึ่งเท่านั้น นายสมัครคงหวังว่าเพลงหนักแผ่นดินได้ปูพื้นฐานจิตใจคนไทยให้พร้อมจะมองชีวิตของคนนอกเท่ากับยุงได้สำเร็จแล้ว

เพลงหนักแผ่นดินบอกว่า ชีวิตของคนที่ผู้มีอำนาจในรัฐมองว่า “หนักแผ่นดิน” มีค่าเท่ากับยุง เขาอาจเด็ดทิ้งลงเสียเมื่อไรก็ได้ ด้วยเหตุดังนั้น การอ้างเพลงนี้ของนายทหาร จึงมีความหมายไม่ต่างจากวาจาข่มขู่ถึงเอาชีวิตแก่คนที่ผู้มีอำนาจเห็นว่าเป็นศัตรูของตน เช่น “ระวังตัวให้ดี” เป็นต้น ทั้งเป็นการข่มขู่ที่ได้ยินบ่อยขึ้นในช่วงที่กองทัพมีอำนาจทางการเมืองด้วย

ในปัจจุบัน พลังอำนาจของเพลงหนักแผ่นดินลดลงเหลือเพียงคำพูดแทนคำขู่แก่บุคคล ไม่อาจเป็นการปูพื้นฐานแก่การสังหารหมู่กลางเมืองได้เสียแล้ว เพราะพลังอำนาจของเพลง (ทุกเพลงในโลกนี้) มาจากบริบททางการเมือง, เศรษฐกิจ และสังคมเสมอ ไม่ใช่เพราะทำนองหรือเนื้อร้องเฉยๆ

ทุกอย่างในประเทศไทยได้เปลี่ยนไปหมดแล้ว ความเป็นเจ๊กหรือแกวไม่กีดกันใครออกไปจากคนใน นายกรัฐมนตรีหลายคนประกาศความเป็นเจ๊กของตนอย่างเปิดเผย สถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ (ดังนั้น การลำเลิกถึงเสื่อผืนหมอนใบทางการเมืองจึงไร้ความหมาย เพราะเท่ากับลำเลิกถึงเสื่อคนละผืนเท่านั้น) เศรษฐกิจไทยผูกอยู่กับเศรษฐกิจโลกอย่างแนบแน่นกว่า 2518-19 ชนิดที่การสังหารหมู่กลางเมืองอย่าง 6 ตุลา กระทบผลประโยชน์ของผู้คนอย่างกว้างขวาง แม้แต่ผลประโยชน์ของนายทุนประชารัฐก็หนีไม่พ้น การจัดองค์กรภายในของกลุ่มที่ไม่ใช่รัฐโดยตรง นับตั้งแต่พรรคการเมืองไปจนถึงสมาคมกีฬาเข้มแข็งขึ้นมาก ฯลฯ

รอยยิ้มของฝูงชนที่มุงดูการทารุณกรรมศพในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เกิดจากความไม่ประสีประสา (malinformed & disinformed) และความมืดบอด ซึ่งความรักทำให้เกิดขึ้นได้เท่ากับความชัง แต่ในปัจจุบัน แม้คนไทยไม่ถึงกับรู้ข่าวสารข้อมูลอย่างเพียบพร้อม แต่ก็รู้มากขึ้นกว่าสมัยนั้นอย่างมาก ความรักและความชังบรรเทาลงกว่าครั้งนั้นอย่างเทียบกันไม่ได้

เพลงหนักแผ่นดินจึงไร้ความหมายใดๆ มากไปกว่าคำขู่ ซึ่งใช้กับบุคคลได้ แต่ใช้กับมวลชนไม่ได้

ดังที่ทราบกันอยู่แล้วถึงวาทะของคาร์ล มาร์กซ์ ที่ว่า อุบัติการณ์ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกคือโศกนาฏกรรม แต่อุบัติการณ์ที่พยายามลอกเลียนให้เกิดครั้งที่สองคือหัสนาฏกรรม

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชนออนไลน์ www.matichon.co.th/article/news_1376536

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net