Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ถามนักรัฐศาสตร์ว่า ระหว่างอำนาจรัฐตาม ม.44 กับการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) แบบไหนเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขกันแน่

ถามนักนิติศาสตร์ว่า กฎหมายคืออะไร กฎหมายที่มาจากอำนาจรัฐประหารใช่กฎหมายที่ชอบด้วยหลัก “rule of law” ตามระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ ถ้าไม่ชอบมันเป็นกฎหมายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยฯหรือไม่

ถามนักศาสนาและนักศีลธรรมว่า คนดีจำเป็นต้องเคารพหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนหรือไม่

ในทางปรัชญาการเมือง คำถามข้างต้นตอบง่ายมาก ถ้าตอบจากจุดยืนของ “ระบอบเสรีประชาธิปไตย” (liberal democracy) แต่ถ้าเรา “ไม่รู้” หรือไม่สามารถลงความเห็นร่วมกันได้ว่าประเทศไทยปัจจุบันปกครองด้วยระบอบอะไร คำถามข้างต้นก็ตอบยากมาก เพราะไม่รู้จะเอา “มาตรฐาน” อะไรมาตัดสินว่าคำตอบของเราถูกหรือผิด

ปัจจุบันนี้เราไม่รู้หรือไม่สามารถจะมีความเห็นลงรอยกันได้แม้แต่เรื่องง่ายๆ ว่า สถานะของประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งมี “อำนาจรัฐ” ตาม ม.44 เป็น “เจ้าหน้าที่รัฐ” หรือไม่ ซึ่งหมายความต่อไปด้วยว่า เราไม่สามารถนิยามได้ตรงกันว่าประเทศไทยปัจจุบันปกครองด้วยระบอบอะไรกันแน่

อันที่จริงไม่เพียงประชาชนทั่วไปจะไม่สามารถมีความเห็นร่วมกันได้ว่าประยุทธ์เป็น “เจ้าหน้าที่รัฐ” หรือไม่ แม้แต่ฝ่ายรัฐบาล คสช.เองก็ดูเหมือนจะเห็นไม่ตรงกันเอาเสียเลย เพราะขณะที่วิษณุ เครืองามบอกว่าประยุทธ์ “ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ” แต่เฟสบุ๊คประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับโชว์ว่าเป็น “เจ้าหน้าที่รัฐ” ดังภาพข้างล่าง


ที่มาภาพ: https://www.matichon.co.th/politics/news_1382805

คำถามต่อมาคือ แม้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะระบุว่า “ประเทศไทยปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” แต่การทำรัฐประหารไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบนี้เลยหรือ ระบอบนี้มีนายกรัฐมนตรีที่มาจากรัฐประหารได้ด้วยหรือ และการที่นายกรัฐมนตรีที่ควบตำแหน่งหัวหน้าคณะรัฐประหารหรือ คสช.ซึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จตาม ม.44 รับเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ ก็ไม่ได้ขัดกับระบอบประชาธิปไตยฯ นี้ดอกหรือ 

ทำไมการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค ทษช.เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่การเสนอชื่อหัวหน้าคณะรัฐประหารที่ยังมีอำนาจเผด็จการเป็นแคนดิเดตนายกฯ จึงไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ

เหล่านี้เป็นต้น ก็ล้วนแต่เป็นคำถามที่ไร้คำตอบ เพราะเราไม่สามารถจะลงความเห็นร่วมกันได้ว่า ตกลงปัจจุบันประเทศของเราปกครองด้วยระบอบอะไรแน่ เราจึงไม่สามารถจะมี “บรรทัดฐานเดียวกัน” ในการตอบคำถามต่างๆ ในเรื่องความถูกต้องชอบธรรมทางการเมืองได้เลย

นี่คือ “รากฐานความขัดแย้ง” ที่เกิดจากการที่ประชาชนไม่สามารถมีความเห็นร่วมกันได้ว่าปัจจุบันประเทศเราปกครองด้วยระบอบอะไรแน่ ซึ่งเป็นระบอบอะไรก็ไม่รู้ที่สร้างขึ้นจากรัฐประหาร!

เมื่อเป็นเช่นนี้ การเลือกตั้งใน 24 มีนาคม 2562 นี้ จึงมีปัญหาสำคัญมากว่า “เรากำลังเลือกตั้งในระบอบอะไรกันแน่” เพราะในเมื่อรัฐธรรมนูญก็ไม่เป็นประชาธิปไตย ระบบเลือกตั้งภายใต้อำนาจ ม.44 ของหัวหน้าคณะรัฐประหารที่เป็น “คู่แข่ง” ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ ด้วยก็ไม่สามารถอธิบาบได้ว่าเป็น “การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม” ตามหลักสากล ดังนั้นก็ย่อมไม่สามารถพูดได้เต็มปากเต็มคำว่าเป็นการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย

แต่ทำไมเราจึงควรไปใช้สิทธิเลือกตั้ง?

คำตอบแรกดูเหมือนจะออกมาในทำนองว่า ถ้ายืนยันหลักการประชาธิปไตยอย่างถึงที่สุด ในเมื่อเราบอกไม่ได้ว่าเป็นการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย เราก็ไม่ควรไปเลือกตั้ง เพราะถ้าไปเลือกตั้งก็เท่ากับเรามีส่วนร่วมในการสร้าง “ความชอบธรรม” ให้กับระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย หรือไป “ฟอกขาว” ให้กับการสืบทอดอำนาจของฝ่ายเผด็จการเท่านั้นเอง

คำตอบที่สองออกมาในทำนองว่า แม้เราจะรู้ว่าไม่ใช่การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยจริงๆ แต่เมื่อดูจากสถานการณ์ปัจจุบัน การไปเลือกตั้งเป็นหนทางเดียวที่เป็นไปได้ในการต่อสู้ที่น่าจะสูญเสียน้อยที่สุด แม้จะเป็นหนทางที่เราต่างทราบดีว่า “เสียเปรียบมาก” แต่การเมืองในสนามเลือกตั้งก็ยากที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะกำหนดชัยชนะได้แน่นอน แม้แต่ฝ่ายที่วางระบบและกลไกให้ฝ่ายตนได้เปรียบทุกอย่างก็ไม่แน่ว่าจชนะ

ดังนั้น ฝ่ายที่ให้คำตอบที่สองจึงมองว่ามันจะเป็น “การเลือกตั้งภายใต้ระบอบอะไร(ก็ช่างมันเถอะ)” แต่อย่างน้อยที่สุดเราสามารถกำหนดให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็น “การเลือกตั้งทางยุทธศาสตร์” ได้ว่า เป็นการเลือกตั้งที่ต่อสู้ระหว่าง “ฝ่ายประชาธิปไตย” กับ “ฝ่ายเผด็จการ” หรือฝ่ายสนับสนุนการสืบทอดอำนาจเผด็จการ

ฝ่ายประชาธิปไตย ก็คือฝ่ายที่ต้องการชัยชนะในการเลือกตั้งเพื่อไปแก้ไขเปลี่ยนแปลง “มรดก คสช.” คือรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ยุทธศาสตร์ชาติ กฎหมายอื่นๆ และวางรากฐานประชาธิปไตยขึ้นใหม่ ปฏิรูปกองทัพ พัฒนาเศรษฐกิจ สวัสดิการด้านต่างๆ ให้ก้าวหน้าขึ้น 

อันที่จริงการเลือกตั้งทางยุทธศาสตร์ดังกล่าวนี้ เป็นไปได้ไม่ยากจนเกินไปที่ฝ่ายประชาธิปไตยจะชนะ ถ้าเพียงแต่พรรคการเมือง 2 พรรคใหญ่อย่าง “เพื่อไทย” และ “ประชาธิปัตย์” ประกาศจุดยืนที่ชัดเจนต่อประชาชนทั้งประเทศว่า “จะไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจเผด็จการ” หรือไม่สนับสนุนประยุทธ์เป็นนายกฯ อีกต่อไป โดยที่สองพรรคนี้ไม่จำเป็นต้องร่วมรัฐบาลกัน เพียงแต่แข่งกันเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลไป แต่แข่งขันบนจุดยืนที่ชัดเจนว่าไม่สนับสนุนประยุทธ์เป็นนายกฯ  

ขณะที่พรรคเพื่อไทยประกาศจุดยืนชัดเจนแล้วว่า “ไม่สนับสนุนประยุทธ์เป็นนายกฯ” ปัญหาอยู่ที่ประชาธิปัตย์เท่านั้นที่ไม่ชัดเจนในจุดยืนปฏิเสธการสืบทอดอำนาจของเผด็จการ!

ความไม่ชัดเจนใน “จุดยืนต้านเผด็จการ” ของประชาธิปัตย์ นอกจากทำให้เกิดคำถามมากขึ้นว่า ประชาธิปัตย์ไม่จริงใจในการต่อต้านเผด็จการและการสร้างประชาธิปไตย? และการที่ประชาธิปัตย์พยายาม “ตอกย้ำ” ว่าพรรคการเมืองฝ่ายที่ประกาศต่อต้านการสืบทอดอำนาจเผด็จการเป็นฝ่ายที่ “สร้างเงื่อนไขรัฐประหาร” และ “สร้างเงื่อนไขความขัดแย้ง” ก็ยิ่งทำให้ภาพของประชาธิปัตย์ที่เคยบอยคอยเลือกตั้ง สลายการชุมนุมเกือบ 100 ศพ และภาพหัวหน้าพรรค แกนนำสำคัญๆ ของพรรคเป่านกหวีดในมหกรรมชุมนุมขวางเลือกตั้งปรากฏชัดมากขึ้นๆ พร้อมกับคำถามว่า การกระทำต่างๆ เช่นนั้นไม่ใช่การสร้างเงื่อนไขรัฐประหารและเงื่อนไขความขัดแย้งแม้แต่นิดเดียวเลยหรือ

ทำไมกว่าทศวรรษแล้ว ประชาธิปัตย์ยังไม่เรียนรู้เลยหรือว่า การจะเอาชนะพรรคเพื่อไทยหรือทักษิณได้นั้น ไม่อาจทำได้ด้วยการแสดงบทบาทที่คลุมเครือในจุดยืนต้านเผด็จการและการสร้างประชาธิปไตย หรือไม่อาจชนะได้ด้วยการเป็นพันธมิตรกับเครือข่ายอำนาจนอกระบบที่ทำรัฐประหาร แต่จะชนะได้ด้วย “การชนะใจประชาชนส่วนใหญ่” เท่านั้น ที่ต้องเริ่มด้วยการประกาศจุดยืนที่ชัดเจนในการไม่สนับสนุนเผด็จการ ชัดเจนในแนวทางสร้างประชาธิปไตย และนโยบายอื่นๆ ที่เหนือกว่าพรรคคู่แข่ง

เมื่อประชาธิปัตย์ไม่ชัดเจนใน “จุดยืนต้านเผด็จการ-สร้างประชาธิปไตย” ก็จึงไม่ถูกยอมรับในฐานะ “พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย” ในการเลือกตั้งทางยุทธศาสตร์ครั้งนี้ ดังนั้นอย่างมากที่สุดประชาธิปัตย์อาจรักษาฐานเสียงเดิมเอาไว้ได้ในระดับหนึ่ง แต่ยากที่จะได้คะแนนเสียงจากประชาชนฝ่ายกลางๆ ระหว่างประชาธิปัตย์กับเพื่อไทยที่เบื่อหน่ายเผด็จการตลอด 5 ปี ส่วนที่คิดจะไปแย่งคะแนนเสียงจากประชาชนที่สนับสนุนพรรคการเมืองฝ่ายต้านการสืบทอดอำนาจเผด็จการนั้นก็แทบจะไม่มีทางเป็นไปได้เลย

จึงเป็นเรื่องที่ “พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย” คือเพื่อไทย อนาคตใหม่ และอีกหลายพรรคต้องเน้นย้ำ “การเลือกตั้งทางยุทธศาสตร์” ให้เข้มข้นมากขึ้นๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนทั้งประเทศตระหนักร่วมกันว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการ “หยิบปากกาฆ่าเผด็การ” เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิปไตย

แม้จะไม่ชัดเจนว่าเรากำลังเลือกตั้งในระบอบอะไร และอยู่ภายใต้ระบบอำนาจรัฐและกติกาที่เสียเปรียบทุกประตู แต่พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยและประชาชนที่สนับสนุน ต้องช่วยกันทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นการเลือกตั้งเพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่จุดเริ่มต้นของการชำระสะสางปัญหาที่เผด็จการสร้างไว้ และการวางรากฐานที่มั่นคงให้กับการพัฒนาประชาธิปไตยต่อไป 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net