Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เอ่ยชื่อ “วัฒน์ วรรลยางกูร” คงไม่มีใครไม่รู้จัก รวมทั้งนามที่เขาใช้ในข้อเขียนเคลื่อนไหวทางการเมืองว่า "วัฒน์ ท่าเสา" ด้วย 

นักเขียนดังที่มีผลงานวรรณกรรมชั้นดีเป็นเครื่องการันตีมากมาย ทำงานต่อเนื่องจากอดีตมาถึงปัจจุบันที่แม้ชีวิตจำต้องกระเด็นกระดอนจากบ้านเกิดเมืองนอนด้วยพิษเผด็จการไปอาศัยอยู่แผ่นดินอื่น แต่วัฒน์ก็ยังสื่อสารอย่างไม่ขาดตอน ด้วยวิธีคิดที่ลุ่มลึก ชัดเจน มีสิทธิมนุษยชน "คนเท่ากัน" เป็นดั่งเส้นเลือดที่สูบฉีดเข้าหัวใจของวัฒน์

คนอย่างวัฒน์ที่เขียนหนังสือครบทั้งเรื่องสั้น นวนิยาย บทกวี บทเพลง สารคดี  บทความ ความเรียงหรือสารัตถะคดีอย่างครบครันทุกกระบวนการเขียนหาได้ยากในแผ่นดินนี้ รวมเรื่องสั้นและนวนิยายของเขาส่งพลังมาตั้งแต่ยุคแสวงหา  

ตั้งแต่นกพิราบสีขาว กลั่นจากสายเลือด ข้าวแค้น ตำบลช่อมะกอก ด้วยรักและอุดมการณ์ คือรักและหวัง ปลายนาฟ้าเขียว หลายเรื่องเป็นอุดมคติของคนหนุ่มสาวเพราะส่งผลสะท้านสะเทือนอย่างมาก เช่นบนเส้นลวด หรือมนต์รักทรานซิสเตอร์  หรือในแง่ของสารคดีวัฒน์ก็สร้างผลงานอย่างลือลั่น กลายเป็นตำนานของวงการเพลงลูกทุ่งที่วัฒน์รัก เช่น คีตกวีลูกทุ่ง ไพบูลย์ บุตรขัน, ไขแสง สุกใส ,ทูล ทองใจ เทพบุตรเสียงกังสดาล ฯลฯ 

วัฒน์เข้าไปอยู่ในหัวใจของนักอ่านก็เพราะตัวหนังสือของเขาจริงใจไม่เสแสร้ง แค้นก็แค้น รักก็รัก ซื่อก็ซื่อ ตัวอักษรสัมผัสได้ถึงใจคนอ่านเท่าที่วัฒน์อยากสื่อสาร วัฒน์ วรรยางกูรสร้างผลงานเยอะและต่อเนื่องขนาดนี้ตั้งแต่ 2518 กับอายุของวัฒน์ที่นับถึงปัจจุบัน (2562) ก็อยู่วัยใกล้ฝั่งเต็มที 64 ปีแล้ว คณะกรรมการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ทำไมยังใจร้ายกับวัฒน์ถึงขนาดนี้

ไม่ได้บอกว่าศิลปินแห่งชาติที่ได้รับคัดเลือกที่ผ่านมาจะไม่มีความเหมาะสม ทุกคนมีผลงานและควรได้รับการยกย่องเชิดชู แต่เรื่องช้าหรือเร็วก็ต้องพิจารณาว่าใครควรได้ ใครควรรอ เพราะหากเมื่อดูทำเนียบศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ที่ผ่านมาก็อดรู้สึกถึงความเอียงกะเท่เร่ที่ชวนตั้งคำถามได้ไม่น้อย ยิ่งเมื่อดูการสร้างผลงานวรรณกรรมอย่างต่อเนื่องของวัฒน์และอายุอานามของเขาแล้ว ใช้คำว่า "ใจร้าย" ก็คงไม่เกินเลย 

หากตัดเรื่องอายุออกไป เพราะบางคนได้รับการเชิดชูเป็นศิลปินแห่งชาติตั้งแต่อายุ 54 ปีบ้าง 57 ปีบ้าง  60 ปีบ้าง แล้วเหตุผลอะไรที่วัฒน์ไม่ถูกเลือกให้เป็นศิลปินแห่งชาติได้ 

ย้อนกลับไปดูคุณสมบัติของศิลปินแห่งชาติ ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ที่สำคัญต่อการพิจารณาเชิดชูเกียรติบุคคลด้านศิลปะ 7 ประการ ได้แก่

1.เป็นผู้ที่มีสัญชาติไทยและยังมีชีวิตอยู่ในวันตัดสินเลือก

2.เป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ และมีผลงานดีเด่น เป็นที่ยอมรับของวงการศิลปินแขนงนั้น

3.เป็นผู้สร้างสรรค์และพัฒนาศิลปะแขนงนั้นจนถึงปัจจุบัน เพื่อให้เผยแพร่ศิลปะแขนงนั้นต่อไปในอนาคต

4.เป็นผู้ผดุงและถ่ายทอดศิลปะแขนงนั้น

5.เป็นผู้ปฏิบัติงานศิลปะแขนงนั้นอยู่ในปัจจุบัน อันสัมพันธ์กับหลักเกณฑ์ในประการก่อนหน้า

6.เป็นผู้มีคุณธรรมและมีความรักในวิชาชีพของตน และประวัติชื่อเสียงที่ไม่เหมาะสมที่ไม่คู่ควรจะได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ และบุคคลผู้ที่ได้รับคัดเลือกควรประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีทั้งต่อประชาชนและ 
เยาวชน รวมไปถึงจะไม่กระทำความผิดอันอาจจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ขององค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้มอบรางวัลให้ไว้เพื่อเชิดชูเกียรติ

7.เป็นผู้มีผลงานที่ยังประโยชน์ต่อสังคมและมนุษยชาติ
 
ถามว่า วัฒน์ผิดหลักเกณฑ์ข้อใดไหม? คำตอบคือไม่ อาจจะถูกตั้งคำถามเรื่องวัฒน์หลบหนีออกจากแผ่นดินไทย แต่คำตอบคือมันไม่ผิดหลักเกณฑ์ใด การไม่ยอมรับอำนาจของคณะรัฐประหารเมื่อปี 2557 ถือว่าประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีต่อประชาชนและเยาวชนหรือ? ก็ตอบว่าไม่อีกนั่นแหละ นี่คือศิลปินที่ควรค่าแก่การเคารพเสียซ้ำ มีศักดิ์ศรี และใช้ความรู้ความสามารถของตัวเองต่อสู้กับอำนาจเผด็จการ 

วัฒน์ไม่เคยใช้ข้อเขียนของตัวเองทำลายประชาชนด้วยกันเอง ไม่เคยเขียนบทกวีดูแคลนเพศหญิงอย่างหยาบๆ คายๆ ไม่เคยเขียนบทกวีดูถูกประชาชนที่ตายจากการประท้วงทางการเมืองว่าไม่สมควรได้รับเงินชดเชย ซึ่งสองกรณีเคยได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนาหู แต่ก็ยังได้รับการยกย่องเชิดชูโดยไม่สนใจกระแสสังคม แต่เหตุใด วัฒน์ วรรลยางกูร จึงไม่อาจเป็นศิลปินแห่งชาติบ้าง นอกจากเกียรติยศจากกองทุนศรีบูรพาเมื่อปี 2550 

อย่างที่รู้ๆ กันว่า การได้รับการเชิดชูเป็นศิลปินแห่งชาติ นอกจากเกียรติยศที่ชาติ และประชาชนมอบให้ศิลปินที่ยังประโยชน์แก่สาธารณะแล้ว ผลตอบแทนจากเงินภาษีของประชาชนจะตอบแทนผลงานและดูแลศิลปินแห่งชาติสาขาต่างๆ ในบั้นปลายชีวิต เท่าที่ทราบจะมีเงินเดือนและสวัสดิการจำนวนหนึ่งที่ไม่มากมายนักที่จะทำให้ศิลปินแห่งชาติใช้ชีวิตไม่ลำบากในท้ายที่สุดของชีวิต 

หากคิดในแง่ลบสุดขีดที่ยังเห็นคณะกรรมการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติใจแข็งไม่ยอมยกย่องเชิดชูวัฒน์ วรรลยางกูร หรืออาจรอให้เขาตายเสียก่อนเพื่อจะไม่เข้าหลักเกณฑ์ ไม่ต้องยกย่องให้เจ็บกระดองใจเผด็จการ ฉะนั้นเหตุผลเดียวที่วัฒน์ยังไม่ได้รับการเชิดชูในฐานะศิลปินแห่งชาติ คือเขาเป็นศิลปินของประชาชนฝั่งประชาธิปไตย เป็นคนเสื้อแดง เป็นคนที่มีความตัวตนและความคิดเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลเผด็จการทหาร เขาเป็นนักเขียนเดือนตุลาที่ยังเคลื่อนไหวอย่างซื่อตรงเพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอยู่ในปัจจุบันเมื่อเทียบกับทำเนียบศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ที่เคยเป็นคนเดือนตุลา ต่างถอดหมวก วางเขี้ยวเล็บไปแทบหมดสิ้น

แต่ก็นั่นแหละ ถึงตอนนี้ก็มีเพียงแค่วัฒน์ วรรลยางกูรที่พูดได้ว่า ตนเป็นศิลปินเพื่อประชาชนอย่างแท้จริงได้ไม่ต้องอายขี้ปากใคร ยิ่งเผด็จการยาวนาน นักเขียนอย่างวัฒน์จะยิ่งโดดเด่น ผลงานของเขาจะยังมีคนอ่านและสืบทอดต่อไป 

และวันใดที่ประเทศเป็นประชาธิปไตย ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพสมบูรณ์ ถึงเวลานั้น “วัฒน์ วรรลยางกูร” จะถูกยกย่องเชิดชูอย่างสมศักดิ์ศรี เหมาะสมกับคำว่า “ศิลปินแห่งชาติ” อย่างแท้จริง.

 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net