Conne(x)t Klongtoey การศึกษาไม่ได้มีมาตรวัดเดียว เมื่อเด็กคลองเตยลองเรียนนอกกรอบ

Conne(x)t Klongtoey โครงการนอกหลักสูตรการศึกษาของเด็กคลองเตย เมื่อโครงสร้างการศึกษาไทยไม่ยืดหยุ่นปรับตัวสำหรับเด็กทุกคน คนกลุ่มหนึ่งจึงเริ่มต้นออกแบบการศึกษาที่ใช้การรับฟังอย่างไม่ตัดสิน เปิดโอกาสให้เด็กลองทำอย่างที่อยากลอง เพราะเชื่อว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพ พัฒนาได้ เมื่อมั่นใจและเห็นค่าในตัวเอง

 

 

“วัยเด็กเป็นวัยที่ควรเรียนรู้ชีวิต ได้ทำอย่างที่อยากทำ ไม่ใช่เป็นวัยที่โดนตีกรอบลงโปรแกรมสำเร็จรูปจากคนอื่นที่แก่กว่า เพราะการศึกษาบ้านเราไม่ได้สอนให้คนติแต่สอนให้คนทำตามเท่านั้น ทำโจทย์ตามสูตรนี้แต่ไม่เคยอธิบายความหมายของสูตร ไม่เคยสอนวิธีสร้างสูตร บ้านเราจึงเป็นพวกบริโภคนิยม คิดเองสร้างอะไรเองไม่ค่อยเป็น ได้แต่เอากระดาษแผ่นหนึ่งมาอวดกันตอนจบ”

เป็นคำพูดตอนหนึ่งของ ‘ปอย’ เด็กชั้นม.2 ที่ติด ร. 4 ตัว จากโรงเรียนชุมชนหมู่บ้านพัฒนาชุมชนคลองเตย ซึ่งมีผลงานถ่ายภาพจัดแสดงในนิทรรศการ Conne(x)t Klongtoey นิทรรศการงานศิลปะจากเด็กคลองเตย ที่จัดแสดงที่ O.P. PLACE ส่วนหนึ่งของงาน Bangkok Design Week 2019 ในวันที่ 26 ม.ค. – 2 ก.พ. ที่ผ่านมา

O.P. PLACE คือศูนย์การค้าหรูหราย่านเจริญกรุง ที่เมื่อขึ้นบันไดใหญ่โตไปที่ชั้น 2 เดินผ่านร้านรวงข้าวของราคาแพง เลี้ยวเข้าห้องนิทรรศการ เราจะก้าวเข้าสู่โลกอีกใบ ที่มีสังกะสี ประตูไม้ ป้ายสติ๊กเกอร์เลิกยา คล้ายจำลองภาพชุมชนคลองเตยที่ถูกห้อมล้อมด้วยความเจริญและตึกสูงระฟ้ามาไว้ในงาน

 

ส่วนหนึ่งในนิทรรศการ Conne(x)t Klongtoey

 

Conne(x)t Klongtoey คือโครงการที่ริเริ่มโดยกลุ่มอายดรอปเปอร์ฟิล (Eyedropper Fill) ในชื่อ Eye on Field โดย เบสท์-วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย และ นัท-นันทวัฒน์ จรัสเรืองนิล สองนักออกแบบ ร่วมด้วย โมสต์–สินีนาฏ คะมะคต ครูโครงการ Teach for Thailand รุ่นที่ 4 ที่สอนประจำในวิชาวิทยาศาสตร์ ระดับชั้นมัธยมต้น ในโรงเรียนชุมชนหมู่บ้านพัฒนาชุมชนคลองเตย เป็นโครงการที่ให้เด็กโหวตเลือกวิชาชีพที่อยากเรียน และจัดหาครูตามสายอาชีพนั้นๆ มาสอนในเวลาว่าง ซึ่งได้ออกมาเป็นสาขาถ่ายภาพ ออกแบบเสื้อผ้า แร็ป และลายสัก

เบสท์และนัทเล่าว่าพวกเขาเริ่มต้นโครงการจากการสนใจปัญหาการศึกษาไทยเป็นทุนเดิม เนื่องจากพวกเขาเองก็เคยเป็นเด็กที่ไม่ค่อยสนใจเรียนมาก่อน และพ่อแม่มักเปรียบเทียบพวกเขากับเด็กที่เรียนเก่ง

“พอการศึกษามันมีมาตรวัดแค่แบบเดียว เราเลยรู้สึกด้อยค่าเมื่อเทียบกับคนอื่นๆ เคยมีเพื่อนเราตอนม.ต้นที่เป็นเด็กหลังห้อง ไปตีรันฟันแทงแล้วโดนโรงเรียนไล่ออก พอมาเจอเขาในเฟสบุ๊คอีกครั้ง ตอนนี้เขาเป็นผู้รับเหมา มีลูก มีชีวิตที่ดี ตั้งใจทำงาน เราว่าเด็กคลองเตยทำให้เรานึกถึงเพื่อนคนนี้ เด็กพวกนี้มีดีอยู่ แต่ที่ผ่านมามันมีไม้บรรทัดแบบเดียวที่ไปวัดพวกเขา เขาเลยรู้สึกกดตัวเอง ฉันไม่มีอะไรดี เรียนไม่เก่ง” เบสท์เล่า

“เด็กคลองเตยหลายคนมีความคิดว่า ผมมันเด็กสลัม ผมมันโง่ ผมทำอะไรไม่ได้หรอก ซึ่งเราอยากบอกว่าที่ทำโครงการนี้ ไม่ได้ต้องการให้เด็กเก่ง แต่อยากให้เด็กเข้าใจในศักยภาพตัวเอง ถ้าพอมีทักษะ เด็กก็สามารถมีวิชาชีพ และทำเงินได้” นัทกล่าวเสริม

จึงเป็นที่มาของโครงการที่เกิดจากการระดมทุนส่วนตัวของผู้ริเริ่ม ระยะเวลาของโครงการรวมแล้วตั้งแต่ขั้นติดต่อ ทำความรู้จัก เวิร์คชอป จัดแสดงงาน กินเวลาประมาณ 7 เดือน เด็กได้เลือกเรียนในสาขาที่สนใจ เริ่มจากการเวิร์คชอปปรับพื้นฐานให้เด็กแต่ละคนรู้ว่าจะต้องเจอกับอะไรบ้าง ก็จะเข้าสู่คอร์สจริงจังโดยครูผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ที่คัดกรองจนเหลือเด็กที่จบหลักสูตรเพียงไม่กี่คน

 

ให้เด็กเล่าเรื่องด้วยภาพถ่าย

 

ปิ่น - วิทิต จันทามฤต

 

ปิ่น - วิทิต จันทามฤต นักถ่ายภาพที่มีอาชีพหลากหลาย และเป็นหนึ่งในคนเวิร์คชอปให้กับโครงการ ‘Shoot it rights’ ของกลุ่มช่างภาพเรียลเฟรม คือครูปิ่นที่มาสอนถ่ายภาพให้กับเด็กๆ ในครั้งนี้

ปิ่นเล่าว่าตอนแรกเขาเห็นภาพคลองเตยเป็นพื้นที่สีเทา เป็นพื้นที่ปิด ที่อาจมองว่าเขาเป็นคนนอก วันแรกที่ไปเขาพบว่ามีคนดมกาวนั่งอยู่หน้าโรงเรียน แต่เด็กก็ไม่ได้รู้สึกว่าแปลก เด็กเอากล้องไปถ่ายรูปในระยะประชิดได้เลย และสามารถเล่าเรื่องของคนดมกาวคนนี้ได้

หลังจากนั้นเขาค้นพบว่าเด็กไม่มีกล้องและมือถือ เด็กบางคนยังจำไม่ได้ว่ารูปถ่ายใบล่าสุดคือรูปไหน แต่โชคดีที่กลุ่มอายดรอปเปอร์ฟีลได้ขอสปอนเซอร์เป็นกล้องพลาสติกที่ใช้แล้วทิ้งมาได้ ซึ่งมีฟังก์ชันที่ง่ายต่อการใช้งาน คือแค่กดถ่าย เปิดปิดแฟลช เปิดปิดหน้ากล้อง

“คลาสถ่ายรูปตอนแรกมีประมาณ 30 กว่าคนที่จะลงเรียน เป็นเด็กอายุ 12-14 ซึ่งช่วงพรีเวิร์คชอป ก่อนที่จะให้เด็กถ่ายภาพ เราจะให้เด็กลองเล่าว่ามีทัศนคติต่อภาพถ่ายยังไง หลังพรีเวิร์คชอป ก็เหลือ 15 คน แต่ครูบอกเราว่าอย่าคาดหวังมาก มันจะน้อยกว่านี้อีก แล้วมันก็น้อยลงจริงๆ จนมีคนที่เรียนกับเราจบอยู่ 3 คน ซึ่งได้ออกมาเป็นหนังสือภาพ  'My Echo, My Shadow and Me'” ปิ่นเล่าน้ำเสียงติดตลก

 

 

ปิ่นเล่าว่าลองเอาภาพของช่างภาพชื่อดัง เช่น Henri Cartier-Bresson, Robert Capa, Jeff Wall, Nan Goldin รวมถึงงานของช่างภาพไทยให้เด็กดู แล้วใช้คำถามว่าเห็นอะไรในรูป รู้สึกอะไรบ้าง ซึ่งคล้ายกับการเล่นเกม เด็กจึงสนใจเป็นพิเศษ และมีสมาธินานกว่าการเรียนในห้องเรียนปกติ

“มีรูปหนึ่งของ Nan Goldin เป็นรูปคนที่ใต้ตาช้ำเหมือนโดนทำร้ายมา เด็กคนหนึ่งดูรูปนี้แล้วสะอึกในใจเพราะเขาโดนที่บ้านทำร้าย ซึ่งทำให้เราระมัดระวังมากขึ้น แต่บางอย่างเราก็ดีใจที่ภาพมันสามารถทัชสิ่งที่เขารู้สึกได้”

 

รูปของ Nan Goldin

 

“เราพยายามบอกทุกคนว่า ถ่ายสวยก็ใช่ แต่เราอยากให้มันมีความเชื่อมโยงกับข้างในของเขา เราคิดว่า conceptual ไม่ใช่เรื่องที่เราจะเข้าใจอยู่คนเดียว แต่มันพูดกับคนอื่นเหมือนกัน เพราะมันมีเรื่องราวเบื้องหลังซึ่งอาจจะไปเล่าอยู่ใน statement ของเจ้าของงาน ตีความยังไงก็ขึ้นกับประสบการณ์ของแต่ละคนด้วย เพราะบางครั้งเรื่องที่เราอยากเล่ามันคือเรื่องที่มาจากข้างในเรา ที่มันสามารถแสดงทัศนะเชื่อมโยงออกไปให้คนอื่นเข้าใจได้” ปิ่นกล่าว

ปิ่นเอารูปของนักเรียนทั้ง 3 คนของเขาให้เราดูคือ ปอย กวาง และบอส และเล่าให้ฟังถึงชีวิตของแต่ละคนจากการที่เขาได้พูดคุย ทำความเข้าใจ ผ่านเรื่องเล่าจากรูป และผ่านการเขียนไดอารี่ของเด็กแต่ละคน ซึ่งเป็นวิธีที่ทำให้เขาได้เข้าใจรูปถ่ายแต่ละใบมากขึ้น บางรูปถ้าดูอย่างเดียวคือรูปอะไรไม่รู้ ที่เบลอบ้าง มัวบ้าง มืดบ้าง แต่เมื่อได้อ่านสิ่งที่เด็กเขียน เขาก็เล่าให้เราฟังด้วยดวงตาเป็นประกายในแบบที่เขาสัมผัสได้ว่าแต่ละภาพมีเรื่องราวอะไรซ่อนอยู่บ้าง

 

ปอย

 

ถ่ายโดยปอย

 

“พ่อกับแม่รักลูกแต่พ่อกับแม่ไม่ได้รักกันแล้ว”

ปอยคือเจ้าของวลีดังกล่าว เป็นคำอธิบายในภาพถ่ายใบหนึ่งของเธอ ภาพที่เธอถ่ายเบลอๆ เป็นภาพของพ่อ แม่ และเธอ ติดอยู่ที่ฝาผนังห้อง

ปอยเป็นเด็กแสบ เด็กซนในโรงเรียน อาศัยอยู่กับยาย ชอบหาเรื่องมาให้ยายว่าและตีอยู่เสมอ ชอบไปเที่ยวเล่นกับเพื่อนจนดึกดื่น แต่ในอีกแง่หนึ่งที่เธอปิดไม่ให้ยายและเพื่อนรู้ ปอยคือแม่ค้าขายของออนไลน์แบบดรอปชิป (ขายแบบไม่มีการสต็อกสินค้า) และขายดิบขายดีจนซื้อทองแจกลูกค้าที่ทำยอดถึงเป้าได้

เตียงนอนของปอยเต็มไปด้วยตุ๊กตาหลากหลายชนิด “เวลาเศร้าหนูชอบหลับตาแล้วกอดแน่นๆ แล้วจินตนาการว่าเป็นพ่อกับแม่ ตุ๊กตาช่วยหนูอบอุ่น หนูกอดทุกวันเลย ส่วนมากจะกอดหมีสีน้ำตาล ตัวใหญ่สุดในห้องหนู ลักษณะเหมือนคนเลย” ปอยเล่า

 

ถ่ายโดยปอย

 

ปอยคิดว่าครอบครัวคือสิ่งสำคัญที่สุด เธอเล่าว่าเคยเจอพ่อครั้งเดียว มารู้อีกทีพ่ออยู่ในคุกแล้ว ติดคุก 3 ปี ตอนนี้เธอรอมาปี กว่าแล้ว เหลืออีก 1 ปี 8 เดือน

“1 ปี 8 เดือน โคตรนานเลยสำหรับหนู แต่หนูพูดกับเขาว่าไม่นานหรอกเนอะ เดี๋ยวรอนะ ตอนไปเยี่ยมพอรู้ว่าจะหมดเวลา หนูบอกเขาว่าเอาเหม่งมานี่ แล้วหนูก็จุ๊บกระจกเลย แล้วพอเดินออกมาหนูก็ร้องไห้ แต่เราทำให้เขาเห็นว่าเราเข้มแข็งนะ เราไม่ได้อ่อนแอขนาดนั้น พ่อหนูเป็นห่วงมาก ห่วงสุดๆ ทุกครั้งที่หนูเขียนจดหมายไปหาเขา ก็เขียนทุกครั้งเลยว่าไม่ต้องเป็นห่วงว่าหนูจะผิดหวังในตัวพ่อนะ หนูบอกเขาว่าหนูทำอย่างนู้นอย่างนี้ประสบความสำเร็จนะ เขาอยากให้หนูเป็นคนเก่ง หนูก็ทำให้เขาเห็นว่าหนูเป็นคนเก่ง”

ปอยเขียนไดอารี่ไว้ว่า “เรามีความฝันอยากเที่ยวรอบโลก ถ่ายรูปสวยๆ แล้วเขียนคอลัมน์เกี่ยวกับการเดินทาง แต่สุดท้ายก็คงเรียนหนังสือ ทำงาน มีรายได้มั่นคง เลี้ยงตัวเองได้ ไม่เป็นภาระใคร ส่วนเรื่องความฝันต้องเก็บไว้ก่อน ตอนนี้ความฝันเราก็ยังไม่เป็นจริงหรอก เรายังอยู่ระหว่างทาง และยังไล่ตามมันทุกวัน สุขที่ได้จากความฝันคือความสุขที่ได้ตื่นมาทำอะไรที่เรารัก และรู้สึกว่าพรุ่งนี้เราจะทำอะไรต่อ สุขที่ได้เห็นตัวเองเข้าใกล้ความฝันทีละนิดๆ ได้เรียนรู้จากความผิดพลาดและคนรอบตัวตลอด”

 

กวาง

 

งูของพี่ชายกวาง ถ่ายโดยกวาง

 

“ข้อดีของการถ่ายรูป เหมือนเราไม่สามารถย้อนเวลากลับไปได้ แต่เราถ่ายเก็บไว้ได้ ให้เวลามันหยุดไว้แค่นี้ ว่าเรามีความสุขตอนไหน เวลาไปกับเพื่อนเงี้ย อยากให้ความสุขมันอยู่ไปนานๆ ไม่อยากให้จากไป” กวางเล่าไว้แบบนั้นในวิดีโอที่จัดแสดงในนิทรรศการ

กวาง มีพี่ชายเลี้ยงงูหลากหลายชนิด มีพ่อที่กวางเรียกว่าเพื่อน มีแม่ที่แยกทางกับพ่อ มีลุงที่กวางสนิทและชอบบอกให้กวางตั้งใจเรียน แต่เคยพากวางไปเปิดหูเปิดตาที่อาบอบนวด มีหมาที่กวางรักมากๆ ชื่อชาบู ก่อนไปเรียนทุกวันต้องกอดและหอมแก้มมัน รักมากจนแค่เห็นรูปและพูดถึงก็ร้องไห้

กวางบอกว่าตัวเองเหมือนงูอยู่เหมือนกัน งูไม่ชอบให้คนมาจุกจิก “ทำอะไรก็ต้องทำให้ได้เหมือนงูเลย ฉกก็ต้องฉกทีเดียว ไม่รอถ้าเป็นเรื่องสำคัญ”

 

'ชาบู' ถ่ายโดยกวาง

 

บอส

 

บอส

 

บอสเป็นเด็กตั้งใจเรียนและเป็นเด็กกิจกรรม ทำกิจกรรมทุกอย่างเพราะไม่ค่อยชอบอยู่บ้าน ภายนอกบอสดูร่าเริง เพื่อนๆ ชอบแกล้งบอสอาจเพราะบอสตั้งใจเรียน บอสอยู่กับพี่สาวและพี่เขย แต่บอสมักพูดว่าอยากไปอยู่กับแม่ วันหนึ่งบอสลืมปิดทีวีเลยโดนพี่เขยตี เมื่อเขาถ่ายภาพด้วยฟิล์มม้วนสุดท้ายในห้องเรียนเสร็จไม่นาน บอสก็ตัดสินใจไปอยู่กับแม่ คนคาดกันว่าเป็นที่นครปฐม หลังจากนั้นก็ไม่มีใครเจอบอสอีกเลย บอสไม่ได้เขียนไดอารี่ไว้ แต่ฟิล์มม้วนสุดท้ายของบอสเกือบทั้งหมดเป็นภาพมืดๆ ที่ถ่ายจากในห้อง

ปิ่นเล่าความคิดเห็นของเขาให้ฟังว่า “ด้วยวัยของเรา เราได้แต่จินตนาการว่าเขานั่งอยู่ในห้องแคบๆ ได้แต่มองออกไปข้างนอกแต่ทำอะไรไม่ได้ ภาพที่ถ่ายจากในห้องของบอสจึงไม่เหมือนกับสองคนแรกที่ไม่มีกรอบมากำกับ ภาพของบอสมีอะไรบางอย่างที่ต่างออกไป รูปที่พอมองเห็นอะไรบ้าง ก็อาจเป็นสิ่งที่เขาพยายามออกไปสุดหน้าต่างแล้วถ่ายออกมาก็ได้”

 

ถ่ายโดยบอส

 

สิ่งที่เปลี่ยนอาจไม่ใช่ค่าเกรด แต่คือเห็นค่าในตัวเอง

 

จากซ้ายไปขวา นัท-นันทวัฒน์ จรัสเรืองนิล และ เบสท์-วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย 

 

เบสท์เล่าว่าก่อนหน้านี้เคยมีโครงการที่เป็นเหมือน CSR ของบริษัทใหญ่มาสอนเด็กที่คลองเตยเหมือนกัน แต่พอสอนจบแล้วก็ไป ไม่ได้มีการปฏิสัมพันธ์ที่ลงลึก หรือเด็กเองก็ไม่ได้เห็นฟีดแบ๊ก ซึ่งต่างจาก Conne(x)t Klongtoey ที่มีการปล่อยมิวสิควิดีโอ คลิปวิดีโอสั้นเกี่ยวกับเด็กๆ ในโซเชียลมีเดีย และได้รับการตอบรับที่ดีเกินคาด คนคลองเตยได้ดูกันเกือบทุกคน และเด็กก็รู้สึกดี ซึ่งอาจตอบโจทย์ที่เด็กวัยนี้ต้องการได้รับการยอมรับ

ขณะที่ในนิทรรศการมีครูบางคนมาดูงานแล้วร้องไห้ บอกว่าไม่เคยเห็นเด็กๆในมุมนี้ เพราะห้องเรียนปกติครูคือคนสอนเด็กไปตามหลักสูตรที่วางไว้ และครูเองมีภาระอย่างอื่นที่ต้องดูแล ทำให้ไม่เคยมีเวลาไปนั่งคุยกับเด็กแต่ละคนอย่างละเอียด อย่างปอยซึ่งถือเป็นเด็กหลังห้อง ครูบางคนเกลียดมาก เกือบจะโดนไล่ออกเพราะผิดระเบียบ แต่พอครูมาเห็นความคิดของปอย ก็เหมือนครูจะเข้าใจมากขึ้น

“นอกจากครูได้รู้จักเด็กในมุมที่ละเอียดขึ้น ครูยังได้เห็นวิธีการสอนแบบใหม่ๆ รวมทั้งเรื่องการเข้าหาเด็กแต่ละคนด้วยวิธีการแต่ละแบบ การจะสอนเด็กคนหนึ่งได้ต้องละเอียดอ่อนมาก แต่ระบบการศึกษามันแข็ง ไม่ยืดหยุ่น แล้วมาใช้กับทุกพื้นที่ในประเทศไทย อย่างโรงเรียนเตรียมอุดมกับโรงเรียนคลองเตย มันคนละวัฒนธรรม คนละบริบท มันไม่ยืดหยุ่นพอจะฟังก์ชันกับเด็กทั้งหมดได้” เบสท์กล่าว

ในมุมของเบสท์ นัท และครูรู้สึกว่าเด็กเปลี่ยนชัด ยิ่งพอมีนิทรรศการ เด็กเป็นสตาฟและได้คุยกับคนที่มาดูงาน ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนกัน เป็นการ ‘connect’ แบบจุดมุ่งหมายโครงการ อย่างปอย ตอนแรกไม่ยอมให้ใครอ่านไดอารี่ยกเว้นเบสท์ อาจเพราะเบสท์ฟังอย่างไม่ตัดสินว่าสิ่งที่ปอยทำดีหรือไม่ดี หลังจากนั้นปอยก็กล้าพูดเรื่องของตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ ให้กับคนอื่นฟัง

นัทเสริมว่า การเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนของเด็กอาจจะแล้วแต่มาตรวัดที่ใช้ ถ้าเป็นเรื่องเกรด โครงการนี้ก็อาจจะไม่ช่วย เพราะไม่มีสะพานที่จะเชื่อมกิจกรรมเหล่านี้ไปสู่การศึกษาในระบบ แต่ในความเห็นของนัทคิดว่าทุกคนเปลี่ยน และสามารถบอกได้เป็นรายคนว่าเปลี่ยนไปอย่างไรบ้างในรายละเอียด อย่างเช่นปาล์ม ซึ่งเป็นเด็กที่ไม่ตั้งใจเรียนและซ้ำชั้น หลังจากโครงการนี้ ในห้องเรียนปาล์มมีวุฒิภาวะมากขึ้น นิ่งขึ้น ควบคุมตัวเองได้มากขึ้น

“ถ้าให้มองรวมๆ มันอาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อยคือเรื่องกำลังใจ พอเขารู้ว่าทำแบบนี้แล้วเขาได้รับผลตอบรับที่ดี เขาก็ได้ความมั่นใจ เห็นค่าในตัวเองมากขึ้น มองตัวเองในแบบที่เปลี่ยนไป และอยากจะทำให้ตัวเองพัฒนาขึ้น ซึ่งเรารู้สึกว่าเล็กแค่นี้เราแฮปปี้แล้ว และเราคิดว่าทุกคนที่ใกล้ชิดกับเขารู้สึกได้ แม่บางคนก็เข้ามาขอบคุณในเพจ ตอนแรกเราตั้งเป้าว่าต้องเปลี่ยนระบบ แต่ตอนนี้พอเห็นเด็กเปลี่ยนแบบนี้สำหรับเรามันประสบความสำเร็จแล้ว” นัทกล่าว

แต่ทั้งนี้เบสท์กับนัทก็ต้องเจอกับความรู้สึกที่ย้อนแย้งเหมือนกัน เมื่อเด็กถามว่า แล้วเราเรียนไปทำไม ทั้งที่พวกเขาเองก็ไม่เชื่อการศึกษาในระบบ แต่สุดท้ายก็ได้แต่บอกเด็กๆ ว่าเรียนให้จบม.3 นะ เพราะเป็นวุฒิขั้นต่ำที่จะใช้ในการทำงาน อย่างการเป็นพนักงานเซเว่น

 

นโยบายการศึกษาไม่เอื้อ แต่โครงการจะยังมีต่อเท่าที่ทำได้

 

ส่วนหนึ่งของนิทรรศการ (ภาพจากเพจ Connext Klongtoey)

 

เมื่อเราถามถึงความยั่งยืนต่อจากนี้ อนาคตเราจะได้เห็นเด็กเหล่านี้ได้เป็นช่างภาพหรือไม่ โครงการนี้จะทำต่อไปเรื่อยๆ ได้รึเปล่า ปิ่นให้คำตอบว่า หลักๆ แล้วก็ต้องขึ้นอยู่กับทุนด้วย ถึงมีผลงานออกมาก็ไม่ได้รับประกันว่าจะยั่งยืน พอหมดคอร์สนี้ก็ไม่มีใครจ่ายค่ากล้อง ค่าฟิล์ม แต่การเขียนอาจจะยังอยู่กับเด็กๆ

“โครงการเป็นเหมือนการพรวนดิน รดน้ำ เรายังไม่ได้เป็นช่างภาพเลยทุกวันนี้ เพราะเราไม่ได้หาเงินจากการถ่ายภาพ แต่เราเคยแสดงงาน เคยถ่ายรูปรับปริญญา เรารู้ว่าเราทำอะไรได้ แต่เราสนใจหลายอย่างและทำให้เรามีชีวิตรอดในวันนี้ เราว่ามันเป็นการติดอาวุธ ติดเขี้ยวเล็บ แล้วระหว่างทางถ้าน้องๆจริงจัง ในอีกสิบปีข้างหน้าก็อาจจะไปต่อได้ แต่มันก็ยาก” ปิ่นให้ความเห็น

ต่อเรื่องนี้เบสท์และนัทเล่าให้ฟังว่า ตอนแรกได้ปรึกษากับ ตุ้ม-อินทิรา วิทยสมบูรณ์ จากสมัชชาเครือข่ายปฏิรูปการศึกษา ซึ่งคิดกันถึงขั้นอยากผลักดันเป็นนโยบายที่สามารถใช้กิจกรรมแบบนี้เป็นตัวชี้วัดทางวิชาการได้ ให้ครูสอนกิจกรรมแบบนี้แล้วเอามาเชื่อมกับการวัดผลทางด้านการศึกษา เช่น แร็ปกับภาษาไทย ภาษาอังกฤษ หรือการถ่ายภาพกับวิชาวิทยาศาสตร์ สอนเรื่องเลนส์ เรื่องการล้างฟิล์ม

แต่เมื่อคุยกับผอ.โรงเรียน ผอ.เล่าว่าเคยมีโครงการคล้ายแบบนี้แล้ว แต่จนถึงทุกวันนี้เรื่องก็ยังค้างอยู่ที่เขต เนื่องจากการทำนโยบายแบบท๊อปดาวน์ ไม่ให้อิสรภาพกับเขตหรือโรงเรียนในการกำหนดนโยบาย

“มันเหลื่อมล้ำในทุกๆอย่าง เป็นโรงเรียนปลายแถวที่เป็นครูที่สอบที่ไหนไม่ได้แล้วมาสอน หรือมาอยู่แป๊บเดียวแล้วก็ไป ทนเด็กไม่ได้ หรือเป็นครูในขนบเดิมมากๆ ผอ.เองก็เปลี่ยนเรื่อยๆ นโยบายก็ไม่ต่อเนื่อง มันเป็นทุกอย่างเลยที่มีปัญหา ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา สวัสดิการครู คุณภาพหลักสูตร ครอบครัวของเด็กที่ไม่สามารถดูแลลูกได้ ก็มาเป็นตัวเด็ก จนเราไม่รู้ว่าอันไหนเป็นต้นตอ จิ้มตรงนั้นตรงนี้ก็เจ็บ เราเลยคิดว่าทำให้มันยั่งยืนแค่ในส่วนของพวกเราเฉยๆ” นัทกล่าว

“เราอยากทำให้มันยั่งยืน แต่พอเราลองเอาไปเสนอปุ๊บ เรารู้เลยว่าเราเป็นแค่คนนอกที่ไปปลั๊กอินกับระบบ แล้วพอระบบมันไม่เคลื่อน แล้วเราก็ไม่มีอำนาจที่จะทำให้มันเคลื่อน มันอึ้งเหมือนกัน เราเข้าไปแบบอยากเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง แต่สุดท้ายก็ต้องทำเท่าที่เราไหว” เบสท์กล่าวเสริม

ส่วนเงินที่ได้จากโครงการนี้ทางกลุ่มจะเอาไปส่งต่อให้กับมูลนิธิยุวพัฒน์ ซึ่งรับผิดชอบโครงการ Teach For Thailand อีกส่วนก็จะแบ่งให้กับเด็ก

ต่อจากนี้เบสท์กับนัทยังมีแผนที่อยากทำคือ หนึ่งหาเงินหาทุนให้โครงการทำเป็นรุ่นต่อไป สองจัดนิทรรศการแบบนี้อีกรอบแต่เป็นการจัดในคลองเตย ดึงคนข้างนอกเข้ามาในคลองเตย ซึ่งต้องหาทุนเพิ่ม และสามคือทำสารคดีที่บันทึกเรื่องราวทั้งหมดตลอดโครงการ

 

ติดตามโครงการนี้ได้ทางเพจ Connext Klongtoey

ร่วมสนับสนุนซื้อหนังสือรวมภาพถ่ายของเด็กๆ 'My Echo, My Shadow and Me' ได้ที่สำนักพิมพ์ a book

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท