Skip to main content
sharethis

ลากยาวออกไปไม่จบสำหรับคดี ศ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์นิติศาสตร์ มธ. ไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ตั้งแต่ปี 2557 ศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งส่งความเห็นไปยังศาลแขวงดุสิตให้รับพิจารณา 1 จาก 2 ข้อหาที่ถูกฟ้อง ให้เหตุผลว่ากรรมแรกที่เรียกรายงานตัวไม่อยู่ในเขตอำนาจ ทนายเผยตามกรอบเวลาแล้วต้องรอไปไม่มีกำหนด ขณะที่วรเจตน์ยังคงติดเงื่อนไขประกันตัว ห้ามสร้างความกระด้างกระเดื่อง ห้ามร่วมชุมนุม ออกนอกประเทศต้องขออนุญาต

(ซ้ายไปขวา: ศ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ วิญญัติ ชาติมนตรี)

28 ก.พ. 2562 ที่ศาลทหารกรุงเทพ ศาลได้นัดให้ ศ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และสมาชิกกลุ่มนิติราษฎร์มาฟังคำสั่งศาล ที่ถูกฟ้องด้วยความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 5/2557 และ 57/2557 ไม่ไปรายงานตัวที่ค่ายทหารตามคำสั่งดังกล่าว

วรเจตน์พร้อมกับวิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ (สกสส.) ผู้เป็นทนายความของวรเจตน์เดินทางมายังศาลทหารกรุงเทพเพื่อฟังคำสั่ง

ศาลมีความเห็นว่า ความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ที่ 5/2557 เมื่อ 24 พ.ค. 2557 ไม่อยู่ในขอบเขตอำนาจการพิจารณาคดีโดยศาลทหาร เพราเหตุเกิดก่อนที่จะมีคำสั่ง คสช. ที่ 37/2557 ที่ให้อำนาจศาลทหารพิจารณาคดีความผิดตามประกาศ หรือคำสั่ง คสช. ตั้งแต่ 25 พ.ค. 2557 เป็นต้นไป จึงมีความเห็นให้โอนคดีไปยังศาลแขวงดุสิตแทน ส่วนคดีฝ่าฝืนคำสั่งที่ 57/2557 จะยังคงอยู่ในการพิจารณาของศาลทหาร

ด้านอัยการทหารโจทก์ให้ความเห็นว่า เพื่อความรวดเร็วแล้ว ควรให้พิจารณาคดีในศาลทหารในทั้งสองข้อหาต่อไป

วรเจตน์ลุกขึ้นแถลงต่อศาล ซึ่งนับเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เริ่มมีการพิจารณาคดีเมื่อปี 2557 โดยกล่าวว่า ศาลควรจำหน่ายข้อหาแรก (คำสั่งที่ 5/2557) เนื่องจากเป็นการฟ้องต่อศาลทหารที่ไม่มีเขตอำนาจ เมื่อจำหน่ายแล้ว อัยการจะไปฟ้องที่ศาลแขวงดุสิตตามเขตอำนาจหรือไม่เป็นอีกเรื่องตามดุลพินิจ

ในการพิจารณาวันนี้ ศาลมีคำสั่งให้โจทก์และจำเลยทำความเห็นส่งศาลภายใน 15 วันนับจากวันนี้ จากนั้นศาลจะทำความเห็นส่งให้ศาลแขวงดุสิตพิจารณาว่าข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ที่ 5/2557

วิญญัติให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าวในเรื่องขั้นตอนตามคำสั่งศาลว่า จากนี้ศาลทหารจะทำความเห็นเฉพาะข้อหาแรกส่งไปยังศาลแขวงดุสิต แล้วรอฟังความเห็นจากศาลแขวงดุสิต หากศาลเห็นพ้อง คดีข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งที่ 5/2557 ก็จะถูกโอนไปที่ศาลแขวงดุสิต ถ้าเห็นแย้ง ความเห็นก็จะเข้าคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจระหว่างศาล ว่าตกลงข้อหาดังกล่าวจะอยู่ในเขตอำนาจศาลใด สถานะของคดีทั้งสองข้อหาของจำเลยตอนนี้จึงอยู่ระหว่างรอพิจารณาคดีชั่วคราว จนกว่าจะพิจารณาเรื่องขอบเขตอำนาจศาลเสร็จซึ่งไม่มีกรอบเวลาใดๆ ส่วนสถานะของวรเจตน์ผู้เป็นจำเลยก็ยังอยู่ในสถานะผู้ได้รับการประกันตัว โดยเป็นเช่นนั้นมาตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2557 ที่มีการทำเรื่องฝากขังและได้รับการประกันตัว โดยจำเลยมีเงื่อนไขการประกันตัวจากศาลสามข้อ ได้แก่ ไม่ให้แสดงความเห็นที่อาจก่อให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ห้ามชุมนุมทางการเมือง และห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาลทหารและ คสช.

วิญญัติยังกล่าวว่า การฟ้องการฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. สองคำสั่งในความผิดเดียวกันอาจทำให้คดีนี้กลายเป็นคดีที่แปลกประหลาดในทางกฎหมาย เพราะกลายเป็นว่าในคดีเดียวกันนี้ต้องถูกแยกส่วนไปอยู่สองศาล การฟ้องควรเป็นคำสั่งอันเดียว ถ้าฟ้องแยกก็จะเป็นเรื่องที่ต้องไปสองศาล กลายเป็นคดีเดียวกันแต่ต้องสู้คดีสองศาล ทั้งนี้ ตนและจำเลยเคยขอให้ศาลวินิจฉัยว่า การฟ้องสองคำสั่งนั้นไม่น่าถูก เพราะในชั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนดำเนินการแจ้งข้อหาและสอบสวนข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งที่สอง (57/2557) แต่ไม่มีการแจ้งข้อหาและสอบสวนฝ่าฝืนคำสั่งที่ 5/2557   ฝ่ายจำเลยจึงยื่นให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมาย ขอให้ศาลสั่งจำหน่ายคดี แต่ศาลสั่งว่าให้รอวินิจฉัยในตอนพิพากษาและดำเนินการสืบพยานเรื่อยมาจนกระทั่งมีคำสั่งในวันนี้

ด้านวรเจตน์ระบุว่าพร้อมที่จะสู้คดีต่อไป

คดีดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจาก คสช. ยึดอำนาจ และมีการเรียกตัวบุคคลไปรายงานตัวในค่ายทหาร วรเจตน์เป็นหนึ่งในผู้ถูกเรียกไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ที่ 5/2557 เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2557 แต่ว่าไม่ได้ไป จากนั้นมีคำสั่งที่ 57/2557 เรียกวรเจตน์ไปรายงานตัวในวันที่ 10 มิ.ย. 2557 ซึ่งในวันที่ 11 มิ.ย. ภรรยาของวรเจตน์เข้ารายงานตัวกับ คสช. แทนที่สโมสรทหารบก เทเวศร์ โดยให้เหตุผลว่าวรเจตน์ป่วย ไม่สามารถเข้ารายงานตัวได้ด้วยตัวเอง

กระนั้น ในวันที่ 16 มิ.ย. 2557 เจ้าหน้าที่ทหารได้คุมตัววรเจตน์ไปรายงานตัวตามคำสั่งเรียกรายงานตัวที่สโมสรทหารบก และในวันที่ 18 มิ.ย. 2557 ก็มีการฟ้องร้องดำเนินคดีและฝากขัง ในวันเดียวกันนั้น ศาลทหารมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวด้วยหลักประกันเงินสด 20,000 บาทที่ครอบครัวของวรเจตน์ยื่นขอประกันตัว ภายใต้เงื่อนไขการประกันตัวสามข้อได้แก่ ไม่ให้แสดงความเห็นที่อาจก่อให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ห้ามชุมนุมทางการเมือง และห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาลทหารและ คสช.

ต่อมาในเดือน ส.ค. อัยการทหารพิจารณาสั่งฟ้องวรเจตน์ด้วยความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัวของ คสช. สองครั้ง ตามคำสั่งฉบับที่ 5/2557 และ 57/2557 ปัจจุบันการสืบพยานดำเนินไปจนสืบพยานฝ่ายโจทก์เสร็จแล้ว และเพิ่งสืบพยานฝ่ายจำเลยได้ครึ่งปากจากทั้งหมดสี่ปาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net