Skip to main content
sharethis

31 ชุมชน 13,000 ครัวเรือนในคลองเตยยันไม่ขวางการพัฒนา แต่ขอมีส่วนร่วมจัดทำโครงการ Smart Community ด้านการท่าเรือฯ ชี้ขณะนี้แผนยังต้องปรับปรุง ระบุรายละเอียดทั้งหมดไม่ได้ รับจะสำรวจด้านต่างๆ เพื่อจัดทำแผนที่เหมาะสมแก่คนในชุมชนพร้อมเปิดการมีส่วนร่วมแต่ละขั้นตอน ขณะที่นักวิชาการย้ำต้องให้ชาวชุมชนมีส่วนร่วมทั้งปรับปรุงแผนและการกำหนด TOR

 

1 มี.ค. 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 27 ก.พ. ที่ผ่านมา สภาองค์กรชุมชนเขตคลองเตย ร่วมกับชุมชนในพื้นที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอของภาคประชาชนและการท่าเรือฯ ชี้แจง ตอบข้อซักถาม รายละเอียดที่เกี่ยวข้องโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย (Smart Community) โดยมีตัวแทนจากการท่าเรือฯ คือ เดชา นุชพุ่ม ผู้อำนวยการกองบริหารสินทรัพย์ การท่าเรือแห่งประเทศไทย และสัญชัย การะเกด ผู้ช่วยผู้อำนวยการกองบริหารสินทรัพย์ ส่วนด้านชาวชุมชน มีแกนนำชาวชุมชนคลองเตย 31 ชุมชน นักวิชาการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประมาณ 250 คน ที่ห้องประชุมเอนกประสงค์วัดสะพาน เขตคลองเตย กรุงเทพฯ

 

'ชุมชนคลองเตย' แจง 4 ประเด็นหลังการท่าเรือผุดโครงการพัฒนาพื้นที่ เตรียมจัดถกใหญ่ 27 ก.พ.นี้

 

สืบเนื่องจากกรณีเมื่อวันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา มีการเปิดตัวโครงการ Smart Community ในพื้นที่ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ตามที่รัฐบาลโดยสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มีแนวคิดการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพหรือท่าเรือคลองเตยให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจและเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ โดยมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมจัดทำแผนแม่บท (master plan) การพัฒนาที่ดินท่าเรือกรุงเทพ เนื้อที่ 2,353 ไร่ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการจัดทำแผนงาน ซึ่งหมายความต้องมีการย้ายที่อยู่อาศัยของประชาชนในชุมชนคลองเตย ซึ่งขณะนี้รวมทั้งสิ้นมี 31 ชุมชน 13,000 ครัวเรือน

 

 

ชาวชุมชนขอมีส่วนร่วม ระบุไม่ขวางการพัฒนา

 

ศิริ สวัสดี หรือป้าติ๋ม อายุ 65 ปี ชาวบ้านชุมชนคลองเตย กล่าวในที่ประชุมและร้องไห้ตอนท้าย โดยระบุว่า ตนอยู่ที่ชุมชนมาตั้งแต่เด็ก และรู้ว่าวันหนึ่งการพัฒนาต้องเกิดขึ้น ไม่เคยขัดขวางการพัฒนา แต่ในฐานะชาวบ้านอยากขอมีส่วนร่วมในด้านต่างๆด้วย เราต้องรู้ว่าแต่ละชุมชนมีความกังวลอะไร มีความต้องการอะไร เพื่อที่จะรู้ว่าต้องเตรียมตัวอย่างไรเพื่ออนาคต เราจะได้ไม่เดือดร้อนในอนาคต

ประไพ สานุสันต์ ประธานสภาองค์กรชุมชนเขตคลองเตยกล่าวว่า อยากให้การท่าเรือเปิดโอกาสให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการสำรวจข้อมูล และเสนอความต้องการของชาวบ้าน เพราะที่ผ่านมาการท่าเรือเคยสร้างแฟลตให้ชาวคลองเตยเข้าไปอยู่แล้ว แต่ไม่มีใครเข้าไปอยู่ เพราะห้องมีขนาดกว้างเพียง 28 ตารางเมตร ขณะที่คนคลองเตยมีขนาดครอบครัวใหญ่ อยู่อาศัยกันไม่พอในห้องแคบๆ แฟลตที่สร้างเอาไว้ 4 ตึก ประมาณ 600 ห้อง กลายเป็นแฟลตร้างมานานประมาณ 15 ปี เพราะการท่าเรือไม่เคยถามความคิดเห็นและความต้องการของชาวบ้านก่อน ฉะนั้นโครงการใหม่นี้การท่าเรือควรจะให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการจัดทำโครงการด้วย

 

การท่าเรือฯ ชี้จะสำรวจเพื่อจัดทำแผนที่เหมาะสมแก่คนในชุมชน และจะเปิดการมีส่วนร่วมแต่ละขั้นตอน

 

เดชา นุชพุ่ม ผู้อำนวยการกองบริหารสินทรัพย์ การท่าเรือแห่งประเทศไทยกล่าวสรุปว่า โครงการ Smart Community เป็นส่วนหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่จะสร้างที่อยู่อาศัยให้ประชาชน จะมีทางเลือกให้กับประชาชนรอบท่าเรือคลองเตย 3 ทางหลังจากนี้ คือ 1.รับห้องชุดขนาด 33 ตร.ม. ตรงพื้นที่โรงฟอกหนังรวม 58 ไร่ มูลค่ากว่า 8,000 ล้านบาท และ กทท. เตรียมงบประมาณกว่า 7,500 ล้านบาท สร้างเป็นคอนโดสูง 25 ชั้น ขนาด 4 อาคาร รวม 6,144 ยูนิต พร้อมสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น โรงเรียน ร้านค้าอาคารพาณิชย์

2. รับที่ดินเปล่าพร้อมโฉนดขนาด 19.5 ตร.ว. ย่านหนองจอก มีนบุรี ซึ่งมีพื้นที่รวม 214 ไร่ มีถนนหลัก ถนนย่อย เตรียมพื้นที่ไว้สำหรับเป็นตลาด โรงเรียน สวนสาธารณะแล้ว และมีทางระบายน้ำเรียบร้อยแล้ว และ 3.รับเงินสดเพื่อนำไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ โดยจะเป็นจำนวนเงินที่ประเมินแล้วต้องไม่น้อยไปกว่าสองทางเลือกแรก

เดชากล่าวต่อว่า แต่ขณะนี้ยังไม่อาจบอกรายละเอียดได้ ทั้งเรื่องจะย้ายส่วนไหนก่อน เกณฑ์การรับสิทธิ หรือจำนวนเงิน เนื่องจากขณะนี้การท่าเรือฯ ยังไม่ได้อัพเดตการสำรวจข้อมูลต่างๆ ของประชาชนในชุมชนคลองเตย เช่น สำรวจจำนวนข้อมูลครัวเรือนที่แท้จริง จำนวนผู้สูงอายุ จำนวนผู้ป่วยติดเตียง ฯลฯ เพื่อนำมาประกอบการจัดทำโครงการให้เหมาะสมกับความต้องการของชุมชนคลองเตย โดยล่าสุดที่สำรวจคือเมื่อปี 2536 ซึ่งในปัจจุบันมีบ้านเพิ่มขึ้นมาอีกจำนวนมาก และขณะนี้การสำรวจยังไม่เริ่ม อยู่ระหว่างร่าง TOR และจัดจ้าง แต่กรอบระยะเวลาเสร็จภายใน 5-6 เดือนนับจากวันจ้าง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี 2562 และจะทำเป็นแผนงานให้กระทรวงคมนาคมเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในปี 2563

ต่อเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนในชุมชน เดชากล่าวว่าที่ผ่านมามีการประชาสัมพันธ์แล้วว่าจะมีโครงการนี้ หลังจากนี้ก็ตั้งใจจะให้ประชาชนมีส่วนร่วมในแต่ละขั้นตอนให้มากที่สุด

 

นักวิชาการระบุ ต้องให้ชาวชุมชนมีส่วนร่วมทั้งปรับปรุงแผนและการกำหนด TOR

 

ภารณี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการผังเมืองอิสระ จากที่กรมท่าเรือได้บอกเองว่าแผนแม่บทยังไม่เสร็จ และกำลังมีการปรับปรุงจัดโซนใหม่ จะมีพื้นที่อีกประมาณ 100 กว่าไร่ที่ท่าเรือจะได้จากหลายบริเวณ ซึ่งที่อยู่ที่จะให้แก่พี่น้องในชุมชนอาจจะไม่ใช่ 58 ไร่ สอง ท่าเรือกำลังทำเรื่องขอเปลี่ยนแปลงสีของผังเมืองกรุงเทพมหานคร ที่จะขอเปลี่ยนจากสีน้ำเงินเป็นสีแดงโดยการจัดโซนตามฐานแม่บท บริเวณที่ท่าเรือจะเปลี่ยนเป็นที่อยู่อาศัย และจะเปลี่ยนจากสีน้ำเงินเป็นสีแดง จะมีผลต่อการก่อสร้างอาคาร หากท่าเรือกำหนดเป็นสีแดงพื้นที่ที่จะจัดเป็นสวัสดิการสำหรับการอยู่อาศัยจะน้อยลง

“ทั้งหมดนี้การกำหนดที่ 58 ไร่โดยที่ยังไม่ได้สำรวจก็เป็นการเริ่มต้นที่ไม่สมาร์ท ดังนั้นขอให้เปิดการมีส่วนร่วมในการปรับปรุงแผนที่ยังไม่เสร็จ และขอให้ชุมชนมีส่วนในการกำหนด TOR เรื่องการจ้างการที่ปรึกษาในการกำหนดที่อยู่อาศัย” ภารณีกล่าว

เพ็ญวดี แสงจันทร์ ที่ปรึกษากลุ่มคนถางทางกล่าวว่า การท่าเรือฯ เคยเปิดเวทีไป 3-4 เวที ให้ตัวแทนชุมชนมาอย่างละคนสองคน แต่ไม่มีคำอธิบายเพิ่มเติม เช่น เกณฑ์ในการพิจารณาสิทธิ ไปแล้วค่าตอบแทนจะเป็นอย่างไร ไม่ชัด อย่างวันนี้ก็ยังไม่ชัดอยู่ดี แต่เวลาไปออกข่าวเขาก็อ้างว่าได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนแล้ว และให้คำชี้แจงชาวบ้านเรียบร้อยแล้ว ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมแล้ว ทั้งที่พอถามในรายละเอียดจริงๆ ก็ยังไม่ชัดเจน

 

ทั้งนี้ ไทยโพสต์รายงานว่า โครงการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพเชิงธุรกิจมีแผนดำเนินการมานานไม่ต่ำกว่า 30 ปี นับตั้งแต่สมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ (พ.ศ.2531-2534) แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล โครงการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพก็จะถูกพับไปด้วย เช่นเดียวกับแผนการพัฒนาท่าเรือในขณะนี้ที่ยังอยู่ในระหว่างการปรับปรุง Master Plan

การพัฒนาพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพในเบื้องต้นจะแบ่งพื้นที่การพัฒนาเป็น 3 โซน ประกอบด้วย 1.โซนพื้นที่พัฒนาด้านการค้า พัฒนาธุรกิจหลักการให้บริการของท่าเรือ และพื้นที่พัฒนาเมือง มูลค่าการลงทุน 23,853 ล้านบาท โดยพื้นที่ด้านการค้าจะมีอาคารศูนย์ธุรกิจพาณิชยนาวี เนื้อที่ 17 ไร่ ด้านข้างอาคารที่ทำการปัจจุบัน ภายในอาคารประกอบด้วย สำนักงาน ศูนย์ฝึกอบรม ศูนย์แสดงสินค้า นิทรรศการ ศูนย์การประชุม พื้นที่ค้าปลีกและธนาคารศูนย์โลจิสติกส์และกระจายสินค้า เนื้อที่ 54 ไร่ อาคารสำนักงาน เนื้อที่ 126 ไร่

2.โซนพัฒนาธุรกิจ หลักการให้บริการท่าเรือกรุงเทพฯ จะปรับพื้นที่จากปัจจุบัน 943 ไร่ เหลือ 534 ไร่ พัฒนาสถานีบรรจุสินค้าเพื่อส่งออกและบูรณาการพื้นที่หลังท่าเป็นคลังสินค้าขาเข้าเขตปลอดภาษี พื้นที่ปฏิบัติการสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่าต่าง ๆ เช่น คลังสินค้าห้องเย็น ฮาลาล ลานบริหารจัดการรถบรรทุก และจุดบริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จ และมีโครงการพัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อท่าเรือและทางด่วนสายบางนา-อาจณรงค์ เพื่อระบายรถบรรทุกขาออกที่มุ่งหน้าไปยังบางนา-ตราด และขาเข้ามายังท่าเรือกรุงเทพ

และ 3.โซนพื้นที่พัฒนาเมืองท่าเรือกรุงเทพ (Bangkok Modern City) ซึ่งอยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา จะเน้นการพัฒนาเมืองธุรกิจขนาดใหญ่ที่เป็นแลนด์มาร์กของประเทศ ศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวใหม่เชื่อมโยงการท่องเที่ยวทางน้ำ และเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์สาธารณะ มีโรงแรมและห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่

ทั้งนี้โครงการ Smart Community ถือเป็นโครงการย่อย หรือเป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทดังกล่าว โดยการท่าเรือมีพื้นที่ทั้งหมด 2,353 ไร่ ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ที่ชุมชนอยู่อาศัยประมาณ 200 ไร่ จำนวน 26 ชุมชน ประชากรประมาณ 85,000-100,000 คน (จำนวนครัวเรือนประมาณ 13,000 ครอบครัว) ส่วนใหญ่ไม่ได้เช่าที่ดินจากการท่าเรืออย่างถูกต้อง

ชาวชุมชนคลองเตยรุ่นแรกๆ ปลูกสร้างบ้านเรือนมาพร้อมกับการเปิดกิจการท่าเรือในปี 2490 โดยเข้ามาเป็นกรรมกร ขายแรงงานในท่าเรือ และปลูกสร้างบ้านเรือนในที่รกร้างว่างเปล่าของการท่าเรือ จนกลายเป็นชุมชนหนาแน่นในปัจจุบัน เมื่อการท่าเรือมีโครงการพัฒนาพื้นที่จึงต้องโยกย้ายชุมชนเหล่านี้ขึ้นอาคารสูง หรือย้ายไปปลูกสร้างบ้านในย่านหนองจอก เพื่อเปิดพื้นที่ให้การท่าเรือนำที่ดินมาพัฒนาสร้างธุรกิจ สร้างรายได้ มูลค่ารวมของโครงการคาดว่าไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net