Skip to main content
sharethis

รมว.แรงงาน เผยกระทรวงแรงงานกำหนดนโยบายและมาตรการขับเคลื่อนประเทศไทย มุ่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์รับการเปลี่ยนแปลง พัฒนาทักษะและปรับตัวแรงงานรุ่นใหม่ ก้าวสู่เทคโนโลยีดิจิทัล ระบุ 'รัฐ – เอกชน' ร่วมปรับตัวยกระดับมาตรฐานแรงงาน เสริมงานที่มีคุณค่า สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

1 มี.ค.2562 เมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดและแสดงปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงแรงงานกับการเตรียมการรองรับผลกระทบจากเทคโนโลยี”ในงานสัมมนาทางวิชาการด้านแรงงานเรื่อง“ Disruptive Technology :  ผลกระทบการจ้างงาน...ทางออกอยู่ตรงไหน?” ที่ โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ กรุงเทพมหานคร โดยกล่าวว่า จากรายงานผลการศึกษาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศเรื่อง “อาเซียนในยุคเปลี่ยนผ่าน อนาคตตลาดงานท่ามกลางความเสี่ยงจากจักรกลอัตโนมัติ" พบว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในอาเซียนที่ระบบจักรกลอัตโนมัติจะมาทดแทนแรงงานคน เนื่องจากไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย และต้องการเพิ่มกำลังการผลิต โดยอาจมีแรงงานประมาณ 17 ล้านคน จะถูกเทคโนโลยีและระบบจักรกลเข้ามาแทนที่ และมีโอกาสเกิดกับแรงงานหญิงมากกว่าชายถึง 50 % ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าแรงงานในหลายอาชีพจะหายไปเพราะ AI จะมาทำหน้าที่แทนมนุษย์ และส่งผลกระทบมายังกำลังแรงงานนั้น กระทรวงแรงงานได้กำหนดนโยบายและมาตรการเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวสู่ยุคดิจิทัล โดยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี โดยได้จัดทำนโยบายเน้นหนักของกระทรวงแรงงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นนโยบายต่อเนื่องจากปีงบประมาณ พ.ศ.2561 ที่เรียกว่า นโยบาย 13-4-7 หรือ 3A คือนโยบายเร่งด่วน (Agenda Based) 13 ข้อ นโยบายระดับพื้นที่ (Area Based) 4 ข้อ และนโยบายบริหารการพัฒนา (Administration Based) 4 ข้อ ซึ่งนโยบายดังกล่าวกำหนดขึ้นจากผลการประมวลสถานการณ์และแนวโน้มด้านแรงงานในทุกมิติ

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลและกระทรวงแรงงานตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและการใช้ AI ซึ่งถือว่ามาเร็วและแรง ดังนั้นแรงงานรุ่นใหม่ ต้องมีความสามารถในการเรียนรู้และใช้งานเทคโนโลยีได้เป็นอย่างดี รวมทั้งต้องมีทักษะในการปรับตัว และเติบโตได้ในโลกของการทำงานที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยการเตรียมการรองรับเพื่อพัฒนาคนต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐที่เกี่ยวข้อง สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน หรือแม้แต่หน่วยงานหรือองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อเตรียมคนไทยให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และการเกิดขึ้นของสาขาอาชีพใหม่ ๆ ซึ่งการสัมมนาในวันนี้จะช่วยให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหา อุปสรรค และผลกระทบเตรียมพร้อมรองรับการนำเทคโนโลยีที่จะเข้ามาใช้แทนกำลังคนและมีผลกระทบต่อรูปแบบการจ้างงานใหม่ในอนาคต เพื่อภาครัฐรวมถึงกระทรวงแรงงานจะได้นำไปประกอบการกำหนดนโยบายและแนวทางดำเนินงานเพื่อรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืนต่อไป

รัฐ – เอกชน ร่วมปรับตัวยกระดับมาตรฐานแรงงาน เสริมงานที่มีคุณค่า สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

วันเดียวกัน ในพิธีเปิดการประชุม เรื่อง งานที่มีคุณค่าสำหรับธุรกิจในห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน งานเพื่อการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โครงการการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชีย ที่โรงแรม อิสติน แกรนด์ สาทร กรุงเทพฯ พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวปราศรัยในพิธีฯดังกล่าวด้วยว่า 

ปัจจุบันทั่วโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อโลกของการทำงานทั้งทางตรงและทางอ้อมอยู่หลายประการด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นโลกาภิวัตน์ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศของโลก ซึ่งก่อให้เกิดข้อห่วงใยต่อความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นในตลาดแรงงานทั้งการว่างงาน การขาดแคลนแรงงาน ความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง รูปแบบการจ้างงานใหม่ๆ ตลอดจนกรอบการค้าเสรี (FTA) ที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยการนำข้อประเด็นด้านแรงงานมาเป็นข้อกำหนดสำคัญในการเจรจาการค้าเสรี ทำให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัวยกระดับมาตรฐานแรงงาน ตลอดจนห่วงโซ่อุปทานให้สอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานภายใต้กรอบขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวต่อว่า สิ่งสำคัญและจำเป็นที่สุดคือ ความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรภาคประชาสังคม และหน่วยงานด้านวิชาการทั้งระดับประเทศและระดับภูมิภาคในการร่วมกันขับเคลื่อนการทำงานแบบหุ้นส่วน ซึ่งรัฐบาลไทยและกระทรวงแรงงานให้ความสำคัญมาโดยตลอด ด้วยการดำเนินงานในรูปแบบประชารัฐ โดยเฉพาะภาคเอกชนจะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนางานที่มีคุณค่า เพราะจะเป็นผู้ขับเคลื่อนการเชื่อมต่อห่วงโซ่การผลิตของประเทศและภูมิภาค ที่มีความเป็นธรรมและก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทุกคนในสังคมได้อย่างครอบคลุมและเท่าเทียมกัน

การประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ภาคธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของทวีปเอเชียมีการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน มาตรฐานแรงงาน สิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ตามปฏิญญาไตรภาคี ILO ว่าด้วยหลักการเกี่ยวกับบรรษัทข้ามชาติและนโยบายสังคม ในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ การส่งเสริมการจ้างงาน ประกันสังคม ขจัดการใช้แรงงานบังคับ การใช้แรงงานเด็ก ความเสมอภาคทางโอกาสและการปฏิบัติที่เท่าเทียม การฝึกอบรมพัฒนาทักษะอาชีพ ส่งเสริมโอกาสการทำงานและการเรียนรู้ สภาพการจ้าง สภาพการทำงาน คุณภาพชีวิต ค่าจ้างสิทธิประโยชน์ สุขภาพความปลอดภัยในการทำงาน แรงงานสัมพันธ์ เสรีภาพในการรวมกลุ่มเจรจาต่อรอง เป็นต้น ทั้งนี้ ผลจากความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะส่งผลให้แรงงานมีผลิตภาพสูงขึ้น ภาคธุรกิจสามารถดึงดูดแรงงานที่มีศักยภาพ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ การขยายตลาดใหม่ภาคธุรกิจที่มีมูลค่าและสร้างความมั่นคั่ง รวมทั้งจะส่งผลให้ประเทศไทยเป็นแหล่งการค้า การลงทุนที่น่าสนใจ ตลอดจนตอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอีกด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net