Skip to main content
sharethis

ก.แรงงานจับมือจุฬาฯ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือจัดตั้งศูนย์วิจัยแรงงานแห่งชาติ สนับสนุนทางวิชาการพัฒนาฐานข้อมูลแรงงาน พัฒนากำลังแรงงานศักยภาพ รองรับประเทศไทย 4.0

1 มี.ค. 2562 กระทรวงแรงงานรายงานว่า พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการจัดตั้งศูนย์วิจัยแรงงานแห่งชาติ ระหว่างกระทรวงแรงงานและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ห้อง 111 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รมว.แรงงาน กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือในการจัดตั้งศูนย์วิจัยแรงงานแห่งชาติในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งศูนย์วิจัยแรงงานแห่งชาติ พัฒนาศักยภาพนักวิจัย กำหนดประเด็นการวิจัยที่สำคัญและดำเนินการวิจัยร่วมกัน และเพื่อพัฒนาฐานข้อมูลด้านแรงงานขนาดใหญ่เป็น Big Data พัฒนาแรงงานให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นโยบายไทยแลนด์ 4.0 และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) พัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านแรงงานผ่านการวิจัยกับภาคีด้านแรงงานทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า สาระสำคัญของบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ กระทรวงแรงงานจะอนุญาตให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลของกระทรวงแรงงานและกรมที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนทรัพยากรในการกำหนดแนวทางการวิจัยแรงงานและการเก็บข้อมูลเพื่อการดำเนินนโยบายและปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพ ร่วมวางแผน ดำเนินการและติดตามประเมินผลในการดำเนินการตามแนวทางของศูนย์วิจัยแรงงานแห่งชาติ สนับสนุนทรัพยากรในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในด้านการวิจัย ด้านนโยบายสาธารณะ สนับสนุนทรัพยากรในการสื่อสารประชาสัมพันธ์เผยแพร่การศึกษาวิจัยแรงงานและด้านที่เกี่ยวข้อง ไปยังผู้ที่มีส่วนได้เสีย ด้านจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะสนับสนุนด้านวิชาการในการกำหนดแนวทางการวิจัยแรงงาน การเก็บข้อมูล และการพัฒนาฐานข้อมูล สนับสนุนด้านวิชาการแบ่งปันข้อมูลผลงานวิจัยเพื่อการพัฒนาบุคลากรในการส่งเสริมการวิจัยแรงงานและด้านที่เกี่ยวข้องร่วมวางแผน ดำเนินการและติดตามประเมินผลนโยบายและการดำเนินงานตามแนวทางของศูนย์วิจัยแรงงานแห่งชาติ สนับสนุนด้านวิชาการและให้คำแนะนำการฝึกอบรม การวิจัยด้านแรงงานและนโยบายสาธารณะ สนับสนุนด้านวิชาการการสื่อสารประชาสัมพันธ์เผยแพร่และสร้างผลกระทบด้านการศึกษาวิจัยแรงงานและด้านที่เกี่ยวข้องทั้งระดับนโยบายและภาคปฏิบัติ ไปยังผู้ที่มีส่วนได้เสีย พัฒนาหลักสูตรด้วยการร่วมมือในการผลิตบัณฑิตที่มีศักยภาพ

การลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้จะทำให้มีนักวิจัยแรงงานที่มีคุณภาพ โดยการพัฒนาหลักสูตรด้านการวิจัยแรงงาน พัฒนาความรู้ผ่านสื่อออนไลน์และสื่ออื่น ๆ พัฒนากำลังคนในการใช้งานวิจัย มีนักวิจัยแรงงานที่ตอบโจทย์นโยบายที่สำคัญ อาทิ ด้านการจัดหางาน พัฒนาฝีมือแรงงาน คุ้มครองแรงงานและจัดสวัสดิการแรงงาน สิทธิประโยชน์ประกันสังคม รวมทั้งประเด็นสำคัญเชิงยุทธศาสตร์อื่น ๆ มีนโยบายด้านแรงงานที่ส่งเสริมการทำงานที่มีคุณค่า โดยการส่งเสริมความร่วมมือกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ส่งเสริมความร่วมมือระดับอาเซียน รวมทั้งการจัดเวทีสัมมนาระดับนานาชาติ และการเป็นศูนย์กลางข้อมูลด้านแรงงานของประเทศ โดยการร่วมพัฒนาฐานข้อมูลด้านแรงงานเป็น Big Data ร่วมใช้ข้อมูลการวิจัย เพื่อให้เกิดประโยชน์ทางวิชาการ และประชาชน เชื่อมโยงข้อมูลทุกส่วนราชการในสังกัดกระทรวงแรงงาน และพัฒนาบุคลากรวิเคราะห์ข้อมูล

อย่างไรก็ตาม ภายหลังความร่วมมือดังกล่าวจะเกิดโครงการวิจัยนำร่องจำนวน 3 โครงการ ได้แก่ การปฏิรูประบบประกันสังคมให้สอดคล้องกับสังคมไทย การส่งเสริมการทำงานที่มีคุณค่าให้กับผู้ประกันตนภายหลังเกษียณ และขยายการประกันตนหลังเกษียณ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิต และพัฒนาข้อมูล
อุปสงค์ อุปทานแรงงาน กลไก Job Matching เพื่อส่งเสริม Decent work รองรับ Future of work และ Skills for Green Jobsเป็นต้น

“การลงนามในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือทางวิชาการด้านแรงงาน และจะขยายความร่วมมือไปยังเครือข่ายสถาบันการศึกษา เครือข่ายแรงงานทั้งในและต่างประเทศในอนาคต ซึ่งผลจะนำไปสู่การวางแผนและกำหนดนโยบายให้กำลังแรงงานมีศักยภาพ มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเป็นกำลังสำคัญในขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไปสู่ความสำเร็จ” รมว.แรงงาน กล่าวตอนท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net