Skip to main content
sharethis

ศาลอาญายกฟ้องคดี  21 พันธมิตรฯ คดีชุมนุมปิดล้อมรัฐสภา เมือวันที่ 6-7 ต.ค. 2551 ชี้เป็นการชุมนุมโดยสงบ ตามรัฐธรรมนูญ พิพากษายกฟ้อง

ที่มาภาพ Banrasdr Photo

4 มี.ค.2562 สายวันนี้ ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เจ้าหน้าที่เรือนจำนำตัว สุริยะใส กตะศิลา สมศักดิ์ โกศัยสุข สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ พิภพ ธงชัย อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) มาศาลเพื่อฟังคำตัดสินในคดีร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อความวุ่นวาย ร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยวผู้อื่นหรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพ จากกรณีชุมนุมปิดล้อมรัฐสภา เมือวันที่ 6-7 ต.ค. 2551 โดยคดีนี้ผู้ต้องหาทั้งหมดรวม 21 คน รวมทั้ง สนธิ ลิ้มทองกุล ด้วย

ต่อมาในเวลาประมาณ 10.00 น. ศาลได้อ่านคำพิพากษา โดยศาลพิเคราะห์ตามพยานหลักฐานแล้ว เห็นว่าการชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมตามสิทธิตามรัฐธรรมนูญ และเป็นการชุมนุมโดยสงบ แม้จะมีการกีดขวางกระทบการจราจรบ้าง แต่ก็เป็นปกติของการชุมนุม การชุมนุมตั้งแต่วันที่ 5-7 ต.ค.2551 ไม่ปรากฎว่ามีความรุนแรงหรือมีผู้ฝ่าฝืนทำให้ทรัพย์สินเสียหาย

ความวุ่นวายในช่วงเช้าวันที่ 7 ต.ค.2551 เริ่มจากตำรวจใช้กำลังยิงแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมโดยพลัน ทำให้ผู้ชุมนุมซึ่งไม่ทันตั้งตัวได้รับบาดเจ็บ ไม่สามารถระงับอารมณ์จึงตอบโต้ด้วยการขว้างปาขวดน้ำ สิ่งของ อีกทั้งไม่ปรากฎว่าแกนนำไปอยู่บริเวณที่เกิดเหตุที่จะเกี่ยวข้อง และเป็นผลต่อเนื่องจากการที่ผู้ชุมนุมถูกสลายการชุมนุมในเช้าวันที่ 7 ต.ค.2551 การกระทำของจำเลยทั้ง 21 คน จึงเป็นการชุมนุมโดยสงบ ตามรัฐธรรมนูญ พิพากษายกฟ้อง

ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า หลังศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น บรรดาญาติและแนวร่วม พธม. ที่เดินทางมาให้กำลังใจต่างแสดงความดีใจ เข้าไปจับมือพูดคุยแสดงความยินดีกับพวกจำเลยอย่างอบอุ่น บางรายก็ร้องไห้ด้วยความดีใจ ขณะที่ภายหลัง สุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความกลุ่ม พธม. เปิดเผยว่า การกระทำของกลุ่ม พธม. บนเวทีมีการประกาศอยู่ตลอดเวลาว่าจะชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ และมีการตรวจตราเวที ห้ามนำอาวุธ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปบริเวณภายในที่ชุมนุม เมื่อศาลดูประกาศ ดูแถลงการณ์ของ พธม. ดูเหตุการณ์ที่ พธม. ออกมาเคลื่อนไหว ศาลเห็นว่าการกระทำของ พธม. ทำเพื่อปกป้องรัฐธรรมนูญ ในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ดังนั้นข้อกล่าวหาทั้งหมด ศาลพิพากษายกฟ้องทุกข้อกล่าวหา ในขั้นตอนต่อไปอัยการโจทก์ต้องอุทธรณ์ภายใน 30 วัน หากเขียนคำอุทธรณ์ไม่ทันก็อาจจะขอขยาย พธม. ก็ต้องแก้อุทธรณ์ หากอัยการไม่อุทธรณ์ก็เป็นบุญของเรา มันจะได้เบาไปบ้าง

รายละเอียดเพิ่มเติมของคำพิพากษา ซึ่งผู้จัดการออนไลน์รายงานไว้ มีดังนี้

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์-จำเลย นำสืบหักล้างกันแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าเป็นการฟ้องจำเลยที่ 1-3, 6-7 ซ้ำกับคดียึดทำเนียบรัฐบาลและชุมนุมดาวกระจายหรือไม่ คดีนี้โจทก์ได้บรรยายฟ้องข้อหายุยงปลุกปั่นและข้อหาอื่นเป็นพฤติการณ์ในวันที่ 5-7 ต.ค. 2551 แม้เหตุการณ์จะต่อเนื่องกัน แต่เจตนาในการชุมนุมแตกต่างกัน เป็นกรณีต่างกรรมต่างวาระ ไม่เป็นการฟ้องซ้ำ

ปัญหาวินิจฉัยว่าพวกจำเลยกระทำผิดฐานยุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 และมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไป โดยให้เลิกแล้วไม่เลิกตามมาตรา 215, 216 หรือไม่ เห็นว่าการชุมนุมของ พธม. มีแกนนำ พวกจำเลย และวิทยากรต่างๆ ขึ้นปราศรัยให้ความรู้ประชาชน ให้ตระหนักถึงสิทธิในความเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ตรวจสอบนักการเมือง เมื่อประชาชนรับฟังคำปราศรัยแล้วเห็นด้วยว่าการบริหารประเทศของรัฐบาล สมัคร สุนทรเวช ไม่ยึดหลักธรรมาภิบาล แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อช่วยเหลือพวกพ้องโดยช่วยเหลือ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ จากคดีทุจริต, ช่วยเหลือคดียุบพรรคพลังประชาชนที่ สมัครเป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ และกรณี สมัคร กับ นพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศ ได้เซ็นยินยอมให้ประเทศกัมพูชานำพื้นที่เขาพระวิหารไปขึ้นทะเบียนมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียว ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการจ้างวานจูงใจผู้ชุมนุม ด้วยวิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

ต่อมาเมื่อ สมัครพ้นจากตำแหน่ง สมชายขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ ผู้ชุมนุมเห็นว่าสมชายเป็นตัวแทนหุ่นเชิดของทักษิณ จึงชุมนุมคัดค้านต่อ โจทก์มีพยานเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ติดตามการชุมนุม ทั้งดูแลการชุมนุมและแฝงตัวหาข่าวอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม ต่างเบิกความสอดคล้องกัน ถึงการชุมนุมที่เป็นไปตามปกติ ไม่มีเหตุความรุนแรง มีการ์ดรักษาความปลอดภัยคอยตรวจสอบห้ามนำอาวุธและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าพื้นที่ชุมนุม ในวันเกิดเหตุไม่มีผู้ชุมนุมบุกเข้าไปในสภา สอดคล้องกับพยานผู้ชุมนุมที่ยืนยันว่าได้ชุมนุมโดยสงบ และได้รับบาดเจ็บจากแก๊สน้ำตา ทั้งนี้ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง อดีตแกนนำ พธม. ได้ประกาศอยู่ตลอดว่าห้ามนำอาวุธและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าพื้นที่ชุมนุม จึงรับฟังได้ว่าพวกจำเลยชุมนุมโดยสงบ

การปราศรัยของพวกจำเลยที่กล่าวหาสมชาย ซึ่งเป็นน้องเขยของทักษิณ เป็นตัวแทนทักษิณนั้น ก็ไม่เลื่อนลอยปราศจากเหตุผล เนื่องจากมีคดีที่เกี่ยวข้องกับทักษิณในเรื่องการทุจริต มีการทำผิดกฎหมายเลือกตั้งหลายกรณี และกรณีเขาพระวิหาร ซึ่งศาลมีคำพิพากษาไว้แล้ว เช่น คดีที่ดินรัชดาของทักษิณที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดียุบพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชนในภายหลังที่ศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากคณะกรรมการบริหารพรรคทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง คดีทุจริตที่ดำเนินการโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) และคดีที่ศาลปกครองกลางเพิกถอนการลงนามให้กัมพูชานำเขาพระวิหารขึ้นเป็นมรดกโลกฝ่ายเดียว การหยิบยกมาปราศรัยและชุมนุมเชิงสัญลักษณ์นับว่าสมเหตุสมผล ชุมนุมโดยสงบปราศจากรุนแรง

ผู้ชุมนุมจำเป็นต้องปักหลักชุมนุมรอบรัฐสภา เนื่องจากสภาเป็นที่ประชุมตามระบอบประชาธิปไตย แม้การชุมนุมจะกีดขวางการจราจรบ้างเพราะมีผู้ชุมนุมมากก็เป็นเรื่องปกติ ไม่ปรากฏเหตุวุ่นวายที่มาจากผู้ชุมนุม ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ไม่บุกรุกยั่วยุ เหตุความไม่สงบที่เกิดขึ้นมาจากการสลายการชุมนุม ยิงแก๊สน้ำตาโดยไม่แจ้งเตือนล่วงหน้า ทำให้ผู้ชุมนุมไม่ทันหลบหลีกป้องกันตัว ได้รับบาดเจ็บหลายราย เมื่อผู้ชุมนุมรู้สึกโกรธแค้นจึงเกิดความไม่สงบ ใช้สิ่งของขว้างปา เมื่อเห็นตำรวจละเมิดสิทธิก่อน ย่อมเกิดความวุ่นวาย ยากที่แกนนำจะคาดหมายสถานการณ์ ไม่ปรากฏว่าผู้ชุมนุมทำไปเพราะพวกจำเลยยุยงปลุกปั่น เป็นความวุ่นวายที่เกิดจากคนส่วนน้อย ผู้ชุมนุมทำไปเฉพาะตัว จะถือว่าจำเลยทั้งหมดกับผู้ชุมนุมอื่นชุมนุมไม่สงบด้วยหาได้ไม่ เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ จึงไม่มีความผิดตามมาตรา 116, 215, 216

ประเด็นวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งหมดกระทำผิดฐานข่มขืนใจ และหน่วงเหนี่ยวกักขังหรือไม่ โจทก์มีอดีต ส.ว. ผู้เสียหายปากเดียวเป็นพยานเบิกความว่าต้องการเข้าไปประชุมรัฐสภา แต่ไม่สามารถเข้าไปได้ พบผู้ชุมนุมเดินเข้ามาผลักอก พร้อมถามว่ามาทำไม ทำให้พยานเดินทางกลับ เห็นว่าผู้ชุมนุมโกรธแค้นหลังถูกสลายการชุมนุม จึงระบายอารมณ์ไม่พอใจกับผู้เสียหายด้วย แต่ทางนำสืบไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งหมดอยู่บริเวณดังกล่าว จึงไม่รู้เห็น เป็นเรื่องเฉพาะตัวของผู้ชุมนุมที่ไม่ระงับอารมณ์จากสถานการณ์บีบคั้น

ส่วนที่อดีต ส.ส. ผู้เสียหายรวม 7 คน เบิกความว่าในช่วงบ่ายไม่สามารถเดินทางออกจากสภาได้ เพราะผู้ชุมนุมปิดล้อมทางเข้าออก นำโซ่ล็อกประตู มีรถบรรทุกจอดขวาง มีผู้ชุมนุมตะโกนว่าฆ่ามันนั้น เห็นว่าการสลายการชุมนุมไม่เป็นไปตามหลักสากล ทำให้ผู้ชุมนุมบาดเจ็บหลายร้อยรายเป็นเรื่องร้ายแรง ทำให้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกฯ ขณะนั้นแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก ภายหลังศาลปกครองสูงสุดยังได้พิพากษาให้สำนักนายกรัฐมนตรีและสำนักงานตำรวจแห่งชาติชดใช้ค่าเสียหายต่อผู้ชุมนุมด้วย การสลายการชุมนุมดังกล่าวทำให้ผู้ชุมนุมโกรธแค้น เกิดความวุ่นวายเป็นเรื่องธรรมดา ยากที่แกนนำจะควบคุมได้ทุกคน จากความไม่พอใจในขณะที่ด้านนอกสภาสลายการชุมนุม แต่ ส.ส. และ ส.ว. ประชุมกันตามปกติ ไม่ใยดีความเสียหายของคนไทยด้วยกัน ทำให้ผู้ชุมนุมระบายความรู้สึกด่าทอผู้เสียหายเมื่อประชุมเสร็จ

จากข้อเท็จจริงเป็นไปได้ว่า ผู้ชุมนุมมีความคับแค้นจากสถานการณ์พาไป เกิดขึ้นทันด่วน ยากที่แกนนำจะควบคุม ซึ่งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งหมดมีส่วนยุยงปลุกปั่นตามฟ้อง มีเพียงการกระทำเฉพาะตัวเฉพาะรายของผู้ชุมนุมเอง พยานหลักฐานโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักมั่นคง พิพากษายกฟ้อง

 

สำหรับจำเลยทั้ง 21 คน เรียงตามลำดับ ประกอบด้วย 1.สนธิ ลิ้มทองกุล อายุ 70 ปีเศษ อดีตแกนนำ พธม. 2.พิภพ ธงไชย อายุ 72 ปีเศษ อดีตแกนนำ พธม. 3.สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ อายุ 68 ปีเศษ อดีตแกนนำ พธม. 4.มาลีรัตน์ แก้วก่า อายุ 65 ปีเศษ อดีต ส.ว.สกลนคร และอดีตแกนนำ พธม.รุ่น 2 5.ประพันธ์ คูณมี อายุ 61 ปีเศษ อดีต สนช. 6.สมศักดิ์ โกศัยสุข อายุ 72 ปีเศษ อดีตแกนนำ พธม. 7.สุริยะใส กตะศิลา อายุ 45 ปีเศษ อดีตผู้ประสานงาน พธม. 8.อมร อมรรัตนานนท์ หรือรัชต์ยุตม์ ศิรโยธินภักดี อายุ 58 ปีเศษ อดีตแนวร่วม พธม. 9.สำราญ รอดเพชร อายุ 60 ปีเศษ อดีตแกนนำ พธม. รุ่น 2 10.ศิริชัย ไม้งาม อายุ 57 ปีเศษ อดีตแกนนำ พธม. รุ่น 2 11.สาวิทย์ แก้วหวาน อายุ 56 ปีเศษ อดีตแกนนำ พธม.รุ่น 2 12.พิชิต ไชยมงคล อายุ 37 ปีเศษ อดีตแนวร่วม พธม. 13.อำนาจ พละมี อายุ 52 ปีเศษ อดีตแนวร่วม พธม. 14.กิตติชัย ใสสะอาด อายุ 53 ปีเศษ อดีตแนวร่วม พธม. 15.ประยุทธ วีระกิตติ อายุ 63 ปีเศษ อดีตแนวร่วม พธม. 16.สุชาติ ศรีสังข์ อายุ 58 ปีเศษ อดีตแนวร่วม พธม. 17.สมบูรณ์ ทองบุราณ อายุ 61 ปีเศษ อดีตแนวร่วม พธม. 18.ศุภผล เอี่ยมเมธาวี อายุ 59 ปีเศษ อดีตแนวร่วม พธม. 19.น.ส.อัญชะลี ไพรีรัก อายุ 53 ปีเศษ อดีตแนวร่วม พธม. 20.พิเชฐ พัฒนโชติ อายุ 64 ปีเศษ อดีตรองประธานวุฒิสภา 21. วีระ สมความคิด อายุ 61 ปีเศษ นักสิทธิมนุษยชน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net