Skip to main content
sharethis

กนร.เห็นชอบเว้นค่าธรรมเนียมเข้า-ออก แรงงานเพื่อนบ้านกลับบ้านสงกรานต์ 5-30 เม.ย.

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (กนร.) ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้มีการผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และพม่า ที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานตำแหน่งกรรมกร รับใช้ในบ้าน ผู้ประสานงานด้านภาษา กัมพูชา ลาว พม่า และช่างเครื่องยนต์ในเรือประมงทะเล ซึ่งถือหนังสือเดินทาง เอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง หรือเอกสารรับรองบุคคลที่ได้รับการตรวจลงตราวีซ่า ประเภทคนอยู่ชั่วคราว รวมถึงผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของแรงงานต่างด้าวดังกล่าวที่อายุไม่เกิน 18 ปี ที่ได้รับการตรวจลงตราวีซ่าประเภทผู้ติดตาม ซึ่งระยะเวลาการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรยังมีอายุเหลืออยู่ไม่น้อยกว่าวันที่ 30 เม.ย. 2562 สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางของตนเพื่อร่วมประเพณีสงกรานต์ได้ตั้งแต่วันที่ 5 – 30 เม.ย.นี้ โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมเข้าออก

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า หลังจากนี้จะนำมติดังกล่าวเสนอเข้า ครม.เพื่อพิจารณาต่อไป ขณะที่กระทรวงมหาดไทยก็จะไปออกกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองในกรณีเดินทางออกจากราชอาณาจักรเพื่อไปร่วมงานประเพณีสงกรานต์ ประจำปี 2562 และเดินทางกลับเข้ามาในราชอาณาจักรภายในระยะเวลาที่กำหนด รวมทั้งออกประกาศกระทรวงมหาดไทยเพื่อรองรับการยกเว้น ไม่ต้องยื่นคำขออนุญาตเพื่อกลับเข้ามาในราชอาณาจักรอีก

"เรายกเว้นค่าธรรมเนียมให้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ที่เดินทางไปฉลองสงกรานต์ที่ประเทศตัวเองตั้งแต่วันที่ 5 - 30 เม.ย.เท่านั้น หากเดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทยหลังจากนี้ ตั้งแต่วันที่ 1-31 พ.ค.2562 จะต้องเสียค่าธรรมเนียมตรวจลงตราวีซ่า 2,000 บาท แต่ถ้าหลังจากวันที่ 31 พ.ค.ไป จะไม่อนุญาตให้เข้ามาในประเทศไทย หากต้องการกลับเข้ามาต้องทำเรื่องขออนุญาตใหม่ตั้งแต่กระบวนการแรก" พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวและว่า เทศกาลสงกรานต์ 2562 คาดว่าตัวเลขแรงงานต่างด้าวกลับประเทศน่าจะใกล้เคียงกับปี 2561 ซึ่งเดินทางกลับประมาณ 2.4 แสนคน

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าของการจัดทำหนังสือคนประจำเรือ ตามมาตรา 83 ที่ศูนย์ OSS ซึ่งเปิดให้ดำเนินการถึง 31 มี.ค.2562 ขณะนี้มีนายจ้าง 2,175 ราย มาแจ้งความต้องการแรงงานต่างด้าว ทั้งสิ้น 27,381 คน แรงงานต่างด้าวมาจดทะเบียนคนประจำเรือตั้งแต่วันที่ 3 ธ.ค.2561 - 1 มี.ค. 2562 ทั้งสิ้น 4,549 คน เป็นพม่า 2,668 คน คิดเป็นร้อยละ 58.65 ลาว 130 คน คิดเป็นร้อยละ 2.86 และกัมพูชา 1,751 คน คิดเป็นร้อยละ 38.49 ส่วนการดำเนินคดีเกี่ยวกับการทำงานในประเทศไทยโดยไม่มีใบอนุญาตนั้นล่าสุดมีการดำเนินคดีกับนายจ้างที่จ้างแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตแล้วกว่า 900 ราย ดำเนินคดีกับแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตกว่า 5 พันราย

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 4/3/2562

ประกันสังคม เตือนหมดเขตเปลี่ยนโรงพยาบาลสิ้นเดือนมีนาคม 2562

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ย้ำถึงผู้ประกันตนที่ประสงค์จะเปลี่ยนสถานพยาบาลที่ตนเองเลือกไว้ หรือมีความไม่สะดวกในการใช้บริการ หรือมีเหตุจำเป็นอื่นๆ เช่น ย้ายที่พัก ย้ายสถานที่ประจำทำงานใหม่ ทำให้ไม่สามารถใช้บริการที่สถานพยาบาลเดิมที่เลือกไว้ได้

หากผู้ประกันตนประสงค์จะเปลี่ยนสถานพยาบาลจะต้องมาดำเนินการแจ้งเปลี่ยนสถานพยาบาลกับสำนักงานประกันสังคม ระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคมของทุกปี ซึ่งจะมีระยะเวลาแจ้งเปลี่ยนสถานพยาบาลถึงภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้เท่านั้น

สำนักงานประกันสังคมจึงขอให้ผู้ประกันตนที่จะเปลี่ยนสถานพยาบาลดังกล่าวให้รีบยื่นแบบ สปส. 9-02 ได้ที่สำนักงานประกันสังคม กรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขาทุกแห่งทั่วประเทศ หรือทำรายการผ่านเว็บไซด์ www.sso.go.th สำหรับท่านที่ใช้มือถือสามารถดาวน์โหลด Application SSO Connect เพื่อทำรายการเปลี่ยนสถานพยาบาลได้เช่นกัน ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2562 ผู้ประกันตนติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมพื้นที่/จังหวัด/สาขาทุกแห่งหรือที่สายด่วน 1506 ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง

ที่มา: Sanook! Money, 3/3/2562

เร่งฝึกทักษะ ป้อนแรงงานลงพื้นที่อีอีซีอีก 13,000 คน

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเปิดเผยว่า สำหรับการพัฒนาฝีมือแรงงานในปีนี้จะเน้นการเพิ่มทักษะฝีมือแรงงานให้กับทางลูกจ้างโดยเฉพาะในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ที่ต้องใช้ทักษะฝีมือและเทคโนโลยีขั้นสูง มุ่งเน้น 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายหลัก อาทิอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

ด้านนายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเผยว่ากรมฯ อยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนาฝีมือแรงงานและการเพิ่มทักษะขั้นสูงระยะที่ 2 รองรับอุตสาหกรรมในอีอีซีจำนวน 13,000 อัตรา เน้นพัฒนาทักษะให้กับนักศึกษาจบใหม่ทั้งสายสามัญและสายอาชีพ หลังมีการบรรจุแรงงานในสถานประกอบการพื้นที่อีอีซีแล้ว จำนวน 14,000 อัตรา

ที่มา: Nation TV, 3/3/2562

ชมรมนักวิชาการสาธารณสุขจี้ สธ.เร่งเคลียร์ปมสั่งชะลอจ่ายค่าตอบแทน

นายริซกี สาร๊ะ เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุข (ประเทศไทย) กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงสาธารณสุขมีหนังสือด่วนที่สุดเมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2562 แจ้งนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปทุกแห่งขอให้ชะลอการเบิกจ่ายค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุข ตามประกาศฉบับที่ 11 และ 12 ในปีงบประมาณ 2562 งวดที่ 2 เนื่องจากพบความผิดปกติของข้อมูลที่ใช้ในการจัดสรร โดยนายริซกี กล่าวว่า ยังรู้สึกงงๆ เพราะระดับกระทรวงไม่น่าจะมีอะไรผิดพลาด ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบถามว่าเรื่องนี้มีที่มาอย่างไร ที่ว่ามีความผิดปกติในการจัดสรรก็ยังไม่ทราบสาเหตุว่าเป็นเพราะอะไร

อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวทำให้ผู้ปฏิบัติงานเกิดความกังวลว่าจะมีปัญหาหรือไม่ เป็นการระงับเพื่อจัดสรรใหม่หรือจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรหรือไม่ ดังนั้นท่าทีของกระทรวงสาธารณสุขไม่ควรชักช้าและรีบแก้ไขเรื่องที่เกิดขึ้นโดยเร็ว

นายริซกี กล่างอีกว่า การจัดสรรค่าตอบแทนตาม ฉบับ 11-12 ที่ผ่านมามีปัญหาค่อนข้างมาก ดังนั้นสิ่งที่ชมรมวิชาชีพทุกชมรมกำลังหารือกันในขณะนี้คืออยากให้รื้อค่าตอบแทนมาร่างใหม่

"น่าจะจัดสรรกันใหม่เพื่อลดปัญหาเดิมๆ ไม่อย่างนั้นเดี๋ยว สตง.มาตรวจก็มีปัญหา มันต้องแก้ที่ต้นทางคือเอาระเบียบมาร่างใหม่ จะได้บังคับใช้อย่างไม่มีปัญหา ดังนั้นอยากให้ตั้งคณะทำงานมาร่างใหม่ ไม่ใช่แค่ ฉบับ 11-12 แต่ทุกฉบับที่เกี่ยวกับค่าตอบแทน เพราะรวมๆตอนนี้เรามีปัญหาว่าพอรวม ฉบับ 2 5 10 11 และ 12 แล้ว บางวิชาชีพได้เฉียดแสนบาท/เดือน แต่วิชาชีพที่อยู่ในพื้นที่กันดารได้น้อยมาก จึงน่าจะมีการร่างกันใหม่" นายริซกี กล่าว

ที่มา: Hfocus, 2/3/2562

กระทรวงแรงงาน เซ็นเอ็มโอยู จุฬาฯ ตั้งศูนย์วิจัยแรงงานแห่งชาติ พัฒนาแรงงานศักยภาพรับ 4.0

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการจัดตั้งศูนย์วิจัยแรงงานแห่งชาติ ระหว่างกระทรวงแรงงานและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าการลงนามความร่วมมือในการจัดตั้งศูนย์วิจัยแรงงานแห่งชาติในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งศูนย์วิจัยแรงงานแห่งชาติ พัฒนาศักยภาพนักวิจัย กำหนดประเด็นการวิจัยที่สำคัญและดำเนินการวิจัยร่วมกัน และเพื่อพัฒนาฐานข้อมูลด้านแรงงานขนาดใหญ่เป็น Big Data พัฒนาแรงงานให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นโยบายไทยแลนด์ 4.0 และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) พัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านแรงงานผ่านการวิจัยกับภาคีด้านแรงงานทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

สาระสำคัญของบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ กระทรวงแรงงานจะอนุญาตให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลของกระทรวงแรงงานและกรมที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนทรัพยากรในการกำหนดแนวทางการวิจัยแรงงานและการเก็บข้อมูลเพื่อการดำเนินนโยบายและปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพ ร่วมวางแผน ดำเนินการและติดตามประเมินผลในการดำเนินการตามแนวทางของศูนย์วิจัยแรงงานแห่งชาติ สนับสนุนทรัพยากรในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในด้านการวิจัย ด้านนโยบายสาธารณะ สนับสนุนทรัพยากรในการสื่อสารประชาสัมพันธ์เผยแพร่การศึกษาวิจัยแรงงานและด้านที่เกี่ยวข้อง ไปยังผู้ที่มีส่วนได้เสีย

ขณะที่ ด้านจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะสนับสนุนด้านวิชาการในการกำหนดแนวทางการวิจัยแรงงาน การเก็บข้อมูล และการพัฒนาฐานข้อมูล สนับสนุนด้านวิชาการแบ่งปันข้อมูลผลงานวิจัยเพื่อการพัฒนาบุคลากรในการส่งเสริมการวิจัยแรงงานและด้านที่เกี่ยวข้องร่วมวางแผน ดำเนินการและติดตามประเมินผลนโยบายและการดำเนินงานตามแนวทางของศูนย์วิจัยแรงงานแห่งชาติ สนับสนุนด้านวิชาการและให้คำแนะนำการฝึกอบรม การวิจัยด้านแรงงานและนโยบายสาธารณะ สนับสนุนด้านวิชาการการสื่อสารประชาสัมพันธ์เผยแพร่และสร้างผลกระทบด้านการศึกษาวิจัยแรงงานและด้านที่เกี่ยวข้องทั้งระดับนโยบายและภาคปฏิบัติ ไปยังผู้ที่มีส่วนได้เสีย พัฒนาหลักสูตรด้วยการร่วมมือในการผลิตบัณฑิตที่มีศักยภาพ

การลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้จะทำให้มีนักวิจัยแรงงานที่มีคุณภาพ โดยการพัฒนาหลักสูตรด้านการวิจัยแรงงาน พัฒนาความรู้ผ่านสื่อออนไลน์และสื่ออื่น ๆ พัฒนากำลังคนในการใช้งานวิจัย มีนักวิจัยแรงงานที่ตอบโจทย์นโยบายที่สำคัญ อาทิ ด้านการจัดหางาน พัฒนาฝีมือแรงงาน คุ้มครองแรงงานและจัดสวัสดิการแรงงาน สิทธิประโยชน์ประกันสังคม รวมทั้งประเด็นสำคัญเชิงยุทธศาสตร์อื่น ๆ มีนโยบายด้านแรงงานที่ส่งเสริมการทำงานที่มีคุณค่า โดยการส่งเสริมความร่วมมือกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ส่งเสริมความร่วมมือระดับอาเซียน รวมทั้งการจัดเวทีสัมมนาระดับนานาชาติ และการเป็นศูนย์กลางข้อมูลด้านแรงงานของประเทศ โดยการร่วมพัฒนาฐานข้อมูลด้านแรงงานเป็น Big Data ร่วมใช้ข้อมูลการวิจัย เพื่อให้เกิดประโยชน์ทางวิชาการ และประชาชน เชื่อมโยงข้อมูลทุกส่วนราชการในสังกัดกระทรวงแรงงาน และพัฒนาบุคลากรวิเคราะห์ข้อมูล

อย่างไรก็ตาม ภายหลังความร่วมมือดังกล่าวจะเกิดโครงการวิจัยนำร่องจำนวน 3 โครงการ ได้แก่ การปฏิรูประบบประกันสังคมให้สอดคล้องกับสังคมไทย การส่งเสริมการทำงานที่มีคุณค่าให้กับผู้ประกันตนภายหลังเกษียณ และขยายการประกันตนหลังเกษียณ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิต และพัฒนาข้อมูลอุปสงค์ อุปทานแรงงาน กลไก Job Matching เพื่อส่งเสริม Decent work รองรับ Future of work และ Skills for Green Jobs เป็นต้น

“การลงนามในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือทางวิชาการด้านแรงงาน และจะขยายความร่วมมือไปยังเครือข่ายสถาบันการศึกษา เครือข่ายแรงงานทั้งในและต่างประเทศในอนาคต ซึ่งผลจะนำไปสู่การวางแผนและกำหนดนโยบายให้กำลังแรงงานมีศักยภาพ มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเป็นกำลังสำคัญในขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไปสู่ความสำเร็จ”

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 1/3/2562

โครงการความร่วมมือไทย-อิสราเอล เพื่อการจัดหางาน (TIC) เปิดรับสมัครชายไทยไปทำงานอิสราเอล ระหว่างวันที่ 11-15 มีนาคม 2562

โครงการความร่วมมือไทย-อิสราเอล เพื่อการจัดหางาน (TIC) จะ เปิดรับสมัคร ชายไทยสุขภาพดีอายุ 23 ถึง 39 ปี มีประสบการณ์งานเกษตร ไปทำงานเกษตรที่ประเทศอิสราเอลใน ระหว่างวันที่ 11-15 มีนาคม 2562 (ต้องมาสมัครด้วยตัวเองเท่านั้น) สถานที่รับสมัครงาน กระทรวงแรงงานเขต ดินแดง กรุงเทพ (ตึกประกันสังคม), สำนักงานจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ 1 ถึง 10 และสำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ

คุณสมบัติของผู้สมัคร

1. สัญชาติไทย

2. เพศชายและพ้นภาระทางทหาร

3. เกิดระหว่างวันที่ 16 มีนาคม 2522 ถึง 11 มีนาคม 2539

4. ไม่มีประวัติอาชญากรรม

5. ไม่มีคู่สมรส บุตร บิดา มารดา อยู่ในประเทศอิสราเอล

6. ไม่เคยทำงานในประเทศอิสราเอล

7. มีสุขภาพแข็งแรงทั้งกายและใจ

8. ไม่เสพสารเสพติด

9. มีประสบการณ์ในการทำงานเกษตร(ปลูกพืช-เลี้ยงสัตว์)

สถานที่รับสมัครงาน

กระทรวงแรงงานเขต ดินแดง กรุงเทพ (ตึกประกันสังคม)

สำนักงานจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ 1 ถึง 10

สำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ

เอกสารที่ใช้ในการสมัคร

1. ใบสมัครที่กรอกข้อมูลแล้ว (ต้องมีลายเซ็นต์)

2. รูปถ่ายสี 2 นิ้ว 2 รูป

3. สำเนาหนังสือเดินทาง (ถ้ามี) 2 ฉบับ

4. บัตรประชาชนตัวจริง (ไม่หมดอายุ) พร้อมสำเนา 2 ฉบับ

5. สำเนาทะเบียนบ้าน(ปัจจุบัน) 2 ฉบับ

6. สำเนาสูติบัตร(ฉบับเกิด)หรือ ทะเบียนบ้าน ณ ปีที่เกิด หรือ ป.๐๕ (ต้องมีคำนำหน้าว่า ดช.) 2 ฉบับ

7. สำเนาหลักฐานพ้นภาระทางทหาร สด. 8 (กรณีที่เป็นทหาร) หรือ สด. 43(กรณีที่ไม่ได้เป็นทหาร)

8. สำเนาใบทะเบียนสมรส (ในกรณีที่แต่งงาน) สำเนาใบหย่า (ในกรณีที่หย่า)ถ่ายเอกสารทั้งหน้าและหลัง 2 ฉบับ

9. สำเนาบัตรประชาชนของภรรยา (ทั้งจดทะเบียนและไม่จดทะเบียน) 2 ฉบับ

10. สำเนาใบขับขี่รถยนต์ 2 ฉบับ

11. สำเนาบัตรประชาชนผู้ติดต่อฉุกเฉิน (พร้อมเบอร์โทรศัพท์) 2 ฉบับ

ที่มา: โครงการความร่วมมือไทย-อิสราเอล เพื่อการจัดหางาน (TIC), 27/2/2562

กอช. จับมือกรุงเทพฯ หนุนเป็นมหานครแห่งการออม ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. เปิดเผยว่า กอช.ร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร ขับเคลื่อนการออมเต็มรูปแบบให้เป็นมหานครแห่งการออม โดยให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครที่มีสิทธิ์เป็นสมาชิก กอช.จำนวนกว่า 240,000 คนได้เข้าถึงสิทธิ์สวัสดิการบำนาญจากรัฐบาล เพื่อสร้างหลักประกันชีวิตในการออมเงิน โดยได้รับความร่วมมือในการร่วมส่งเสริมการออมจากสำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร 50 เขต เพื่อชีวิตที่สุขสบายหลังอายุ 60 ปี ได้มีเงินบำนาญรายเดือนไว้ใช้ และเป็นต้นแบบมหานครแห่งการออมตัวอย่างที่ดีให้กับสังคมไทย

นอกจากนี้ ผู้ที่สนใจสมัครสมาชิก กอช.ต้องมีอายุระหว่าง 15 – 60 ปี เป็นแรงงานนอกระบบ แรงงานอิสระ ต้องไม่เป็นผู้ประกันตน ไม่เป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการและไม่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่จะได้เพิ่มเติมเงินออมหลังเกษียณเป็นรายเดือนเพื่อตอบโจทย์ความมั่นคงทางการเงิน อาทิ นักเรียน นิสิต นักศึกษา พ่อค้าแม่ค้า เป็นต้น ในการดูแลประชาชนผู้ที่ไม่มีสิทธิสวัสดิการจากรัฐบาลให้ได้มีหลักประกันเงินบำนาญรายเดือนไว้ใช้หลังเกษียณอายุ 60 ปี เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมแก่ผู้สูงวัยที่มีอยู่กว่า 21 ล้านคน ทั่วประเทศ

ที่มา: ไอเอ็นเอ็น, 27/2/2562

ผู้ประกอบการไม่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 2-10 บาทต่อวัน

นายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด เตรียมสรุปตัวเลขการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยที่ 2-10 บาทต่อวัน โดยระบุว่า ขณะนี้ได้หารือกับผู้ส่งออก พบว่า กว่า 40 จังหวัด ไม่เห็นด้วยที่จะปรับขึ้นค่าจ้างในเวลานี้ และเสนอให้คงค่าจ้างขั้นต่ำไว้

เนื่องจากอาจเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการ ที่ปัจจุบันได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท จนทำให้หลายรายขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน

นอกจากนี้ ยังเห็นว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ผู้ที่ได้รับประโยชน์มากที่สุด คือแรงงานต่างด้าว 6-7 ล้านคน ขณะที่คนไทยได้รับประโยชน์น้อย ประกอบกับแรงงานไทยจำนวนมาก พัฒนาศักยภาพไปเป็นแรงงานที่มีทักษะที่ได้รับค่าจ้างในอีกระดับหนึ่งแล้ว

ขณะนี้หอการค้าฯ อยู่ระหว่างการจัดทำข้อมูล และได้หารือกับผู้ประกอบการกลุ่มต่าง ๆ ถึงผลกระทบในการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อเสนอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้นำไปพิจารณาต่อไป

สำหรับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ อยากให้หารือกับภาคเอกชนให้มากขึ้น และควรให้เอกชนเตรียมตัวก่อน 1 ปี เพื่อจะมีเวลาในการวางแผนต้นทุนและการเสนอราคาขายในต่างประเทศ

ที่มา: MThai News, 27/2/2562

กยศ. เริ่มหักเงินเดือนลูกจ้างเอกชน 1.5 แสนราย สิ้นเดือน ก.พ. 2562 นี้

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า ในสิ้นเดือนก.พ.นี้ กยศ. จะเริ่มหักบัญชีเงินเดือนของลูกหนี้ กยศ. ที่สังกัดหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ 20 ราย ธนาคารพาณิชย์ และเจ้าหน้าที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แบบอัตโนมัติเป็นเดือนแรก รวมกว่า 1.5 แสนราย ซึ่งจะมีหนี้ชำระ กยศ. เข้ามาได้ถึงเดือนละ 200 ล้านบาท และทำให้ตลอดทั้งปี 2562 มียอดชำระหนี้ได้ทั้งหมดได้เกินกว่า 30,000 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนที่ได้ 26,000 ล้านบาท เกือบถึง 20%

สำหรับวิธีการหักเงินเดือนเพื่อใช้หนี้ กยศ. จะมีการนำหนี้ที่ต้องชำระต่อปี มาหารเฉลี่ยหักเท่ากันเป็นประจำทุกเดือน เช่น นำวงเงินที่ชำระหนี้มาหาร 12 และนำไปตัดเงินเดือนเป็นรายเดือน ซึ่งไม่ใช่จำนวนเงินที่มากเกินไป เช่น ปีแรกที่จะต้องผ่อนจ่าย 1,500 บาท เมื่อหาร 12 ก็จะเฉลี่ยถูกหักเดือนร้อยกว่าบาทเท่านั้น ยกเว้นปีแรกในงวดปีการศึกษา 2562 ที่เหลือรอบบัญชีเพียง 5 เดือน ก็จะหาร 5 จากยอดหนี้ในปีที่ต้องชำระไปก่อน

“กยศ. ได้ส่งหนังสือแจ้งไปยังลูกหนี้เอกชน รัฐวิสาหกิจ อบต.เทศบาล ที่อยู่ในกลุ่มที่จะถูกหักเงินเดือนแล้วว่า จะมีการเริ่มหักเงินเดือนเพื่อนำไปชำระหนี้ กยศ. ในเดือนก.พ.นี้ และให้รับรู้เข้าใจถึงวิธีการหักชำระหนี้ อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้ถ้าลูกหนี้คนใด ไม่พร้อม หรือว่าการถูกหักเงินเดือนจะกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ก็สามารถมาเจรจากับ กยศ. เพื่อหาทางผ่อนปรน บรรเทาความเดือดร้อนจากการรับชำระหนี้ได้”

นอกจากนี้ กยศ. ยังได้ร่วมกับประธานสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเสวนา นายจ้างมีหน้าที่นำส่งเงินตาม พ.ร.บ. กยศ. กับนายจ้างทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในการหักเงินเดือนพนักงานที่เป็นผู้กู้ยืม กยศ. แก่ผู้ประกอบการนายจ้าง องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนลูกหนี้ให้รับทราบด้วย และหลังจากนี้ กยศ.มีแผนที่จะขยายการหักบัญชีเงินเดือนไปยังบริษัทเอกชนเพิ่มเติมอีกด้วย ตาม พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560

นายชัยณรงค์กล่าวว่า ปัจจุบัน กยศ.สามารถหักบัญชีเงินเดือนลูกหนี้ เพื่อใช้ชำระหนี้ กยศ.ได้แล้วกว่า 3 แสนราย คิดเป็นจำนวนเงินที่ส่งชำระเข้ากองทุนฯได้ปีละ 7,000 ล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้ในเดือน ธ.ค. 2561 ได้ นำร่องหักหนี้ กยศ. จากกลุ่มข้าราชการ ที่ได้รับเงินเดือนผ่านระบบจ่ายตรงเงินเดือนของกรมบัญชีกลางไปแล้ว 1.55 แสนราย และล่าสุดในเดือนนี้ จะเริ่มหักบัญชีเพิ่มเติม 1.5 แสนราย แบ่งเป็นภาคเอกชน 8 หมื่นราย รัฐวิสาหกิจ 1 หมื่นราย ที่เหลือเป็น อปท. เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล

สำหรับผลการดำเนินหักเงินเดือนข้าราชการที่ได้รับเงินเดือนผ่านระบบจ่ายตรงเงินเดือนของกรมบัญชีกลางในเดือนธ.ค. 2561 ซึ่งถือเป็นเดือนแรกที่เริ่มมีการหักนั้นเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยมียอดการรับชำระหนี้ จำนวนทั้งหมด 155,704 รายการ รวมยอดเงินสูงถึง 225 ล้านบาท และคาดว่าเมื่อครบ 1 ปี จะมีรายรับจากการรับชำระหนี้จากลูกหนี้กลุ่มข้าราชการมากกว่า 2,500 ล้านบาท

ส่วนแผนการจัดเตรียมวงเงินให้นักเรียน นักศึกษากู้ยืมเงินไปใช้ในปีการศึกษา 2562 กยศ.ได้จัดวางกรอบงบประมาณไว้ 30,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเข้าถึงกลุ่มนักเรียน นักศึกษาทั้งรายเก่า และรายใหม่ได้ใช้กู้ยืมได้ ไม่ต่ำกว่า 6.2 แสนราย โดยวงเงินที่ กยศ. ให้กู้ยืมครั้งนี้เป็นเงินที่ กยศ. ได้รับจากการชำระคืนจากลูกหนี้ และมีการบริหารจัดการเอง โดยไม่ต้องของบประมาณเพิ่มเติมจากรัฐบาลแต่อย่างใด

ที่มา: ข่าวสด, 26/2/2562

ไฟเขียวต่างชาติ 17 ราย ลงทุนไทยเดือน ก.พ. 2562 จ้างแรงงาน 526 คน

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เปิดเผยว่า ในเดือนก.พ.2562 คณะกรรมการฯ ได้อนุญาตให้คนต่างด้าว 17 ราย ประกอบธุรกิจในประเทศไทย มีจำนวนเท่ากับเดือนม.ค.2562 โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวจากประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ และจีน มีการนำเงินเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจกว่า 205 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% และส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานคนไทย 526 คน รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนด้วย

โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นวิทยาการ ซึ่งเป็นองค์ความรู้ในแขนงที่คนไทยยังไม่มีความชำนาญหรือมีความเชี่ยวชาญในระดับที่ไม่สูงมากนัก เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมที่ใช้กับเครื่องขึ้นรูปพลาสติก องค์ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบผลิตภัณฑ์และการใช้งานโปรแกรม CAD NX สำหรับการขึ้นรูปชิ้นงาน องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตเครื่องประดับชนิดต่างๆ องค์ความรู้เกี่ยวกับ++ การผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์นิรภัยของยานยนต์ องค์ความรู้เกี่ยวกับลักษณะเฉพาะของเครื่องบดดิน หินและส่วนต่อสำหรับเคลื่อนย้ายเครื่องบดดิน หิน เป็นต้น

สำหรับธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาต ได้แก่ 1.ธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือ ในกลุ่ม จำนวน 7 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 55 ล้านบาท คือ บริการทางบัญชี กิจการนายหน้าในการจำหน่ายผ้าทอด้วยเส้นใยสังเคราะห์ สำหรับผลิตเสื้อผ้าป้องกันความร้อนและเสื้อนิรภัยป้องกันเปลวไฟ บริการรับจ้างผลิตเครื่องประดับ เสื้อผ้าสำเร็จรูป กระเป๋าใส่ของ และอุปกรณ์สำหรับอาบน้ำ บริการสนับสนุนบุคลากรเพื่อไปปฏิบัติงานเกี่ยวกับการจัดการด้านโลจิสติกส์ ด้านการบริหารจัดการคลังสินค้า และด้านการดำเนินพิธีการศุลกากร บริการให้คำปรึกษาแนะนำและบริหารจัดการในด้านต่างๆ โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวจากประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน และสิงคโปร์

2.ธุรกิจบริการให้แก่ลูกค้า จำนวน 8 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 103 ล้านบาท ได้แก่ บริการทางวิศวกรรมด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ บริการทดสอบชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบนิรภัยในยานยนต์ บริการให้เช่าแบบลีสซิ่งเครื่องมือและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการในศูนย์บริการของผู้จำหน่ายรถยนต์ บริการให้ใช้ช่วงสิทธิโปรแกรมซอฟต์แวร์ บริการสนับสนุนบุคลากรเพื่อไปปฏิบัติงานเกี่ยวกับการทำการตลาดและส่งเสริมการขายยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ การค้าส่งอุปกรณ์ของโทรศัพท์เคลื่อนที่ คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ โน้ตบุ๊ค และแท็บแล็ต บริการให้เช่าที่ดินบางส่วน พร้อมสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวก โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวจากประเทศญี่ปุ่น เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์

3.ธุรกิจค้าส่ง จำนวน 1 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 13 ล้านบาท ได้แก่ การค้าส่งเครื่องจักรสำหรับใช้ในกระบวนการขึ้นรูปพลาสติก โดยเป็นคนต่างด้าวจากประเทศจีน

4.ธุรกิจบริการเป็นคู่สัญญาเอกชน จำนวน 1 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 34 ล้านบาท ได้แก่ บริการงานวิศวกรรม การจัดหา ติดตั้ง และทดสอบการใช้งานของระบบเครื่องบดดินหรือหินกึ่งเคลื่อนที่โครงการแม่เมาะ โดยเป็นคนต่างด้าวจากประเทศเกาะแมน

ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.พ.2562 คนต่างด้าวได้รับใบอนุญาต จำนวน 34 ราย ลดลง 10 ราย หรือลดลง 23% มีเงินลงทุนทั้งสิ้น 395 ล้านบาท ลดลง 787 ล้านบาท หรือลดลง 67% เนื่องจากในช่วงเดียวกันของปี 2561 มีต่างชาติลงทุนประกอบธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง เช่น บริการออกแบบทางวิศวกรรมและติดตั้งเหล็กโครงสร้างรูปพรรณและผลิตภัณฑ์คอนกรีต บริการออกแบบ จัดหา ก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์ เป็นต้น

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 26/2/2562

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net