Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

อ่านยทความตอนแรกได้ที่:
วิทยาศาสตร์กับสถาบันกษัตริย์ไทย: เมื่อหลอดทดลองกลายเป็นศาตราวุธของสมมติเทพ


ในช่วงสงครามเย็นกลุ่มผู้ปกครองของไทยสร้างความชอบธรรมเพื่อเข้าไปบริหารจัดการพื้นที่สูงด้วยชุดความรู้ในเรื่องความมั่นคงเริ่มต้นในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริก่อตั้งสถานีเกษตรหลวงอ่างขางซึ่งเป็นสถานีหลักในการศึกษาวิจัยไม้ผลเขตหนาวของโครงการท่านทรงมอบหมายให้หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ชักชวนกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ด้านการเกษตรที่เป็นพระญาติและคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยร่วมงาน กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่มีบทบาทสำคัญของโครงการหลวง เช่น ศ.ปวิณ ปุณศรี และ ดร.สันทัด โรจนสุนทร ทั้งสองท่านเป็นผู้บุกเบิกงานเพาะปลูกไม้ผลเมืองหนาวและร่วมงานกับนักวิทยาศาสตร์จากประเทศโลกเสรีอย่างเช่น สหรัฐอเมริกาและไต้หวัน ทั้งสองประเทศให้ความช่วยเหลือในด้านความรู้ เงินทุน และอุปกรณ์ทางด้านวิทยาศาสตร์ (1)

สถานีเกษตรหลวงอ่างขางตั้งอยู่บริเวณ อ.ฝาง จังหวัดเชียงใหม่ สถานีดังกล่าวมีสถานะที่สำคัญ 2 ด้าน คือ 1.สถานีวิจัย สถานีเกษตรหลวงอ่างขางเป็นหนึ่งในสถานีวิจัยของมูลนิธิโครงการหลวงที่มีทั้งหมด 4 แห่ง ในแต่ละแห่งตั้งอยู่ในระดับความสูงจาก ระดับ น้ำทะเลที่แตกต่างกันเพื่อเป็นตัวอย่างพื้นที่ศึกษางานวิจัยสภาพพื้นที่สูง และ 2.ศูนย์พัฒนา ลักษณะศูนย์ดังกล่าวมีหน้าที่ส่งเสริมอาชีพให้กับกลุ่มชาติพันธุ์โดยเจ้าหน้าที่สถานีเกษตรอ่างขางได้รับความช่วยเหลือจากเครือข่ายทางสังคม 2 ทาง คือ หน่วยงานภายในประเทศโดยเฉพาะหน่วยราชการในการดำเนินโครงการ เช่น กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร กรมชลประทาน กรมป่าไม้ กองทัพ ฯลฯ จัดสร้างปัจจัยพื้นฐานให้กับสถานีวิจัยเกษตรตั้งแต่เริ่มต้นก่อสร้างและพัฒนาพื้นที่ปฏิบัติงาน ในส่วนขององค์กรภายนอกประเทศ โครงการฯ ได้รับความช่วยเหลือทั้งในด้านความรู้ พันธุ์พืชและสัตว์ งบประมาณการวิจัยและบุคลากรจากกลุ่มประเทศโลกเสรีทั้งจากสหรัฐอเมริกา ไต้หวัน รวมถึงคณะทูตานุทูตจากประเทศต่างๆ ที่ประจำอยู่ ณ ประเทศไทย

นักวิจัยประจำสถานีประกอบด้วยคน 2 กลุ่ม คือ นักวิทยาศาสตร์ระดับคณาจารย์และนักวิชาการประจำสถานีนักวิทยาศาสตร์ระดับคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยของรัฐต่างผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนขึ้นมายังสถานีเกษตรฯในช่วงวันเสาร์และอาทิตย์ด้วยเฮลิคอปเตอร์จากทหารอากาศ พวกเขาพำนักอยู่ในสถานีเกษตรฯ ณ ช่วงเวลาหนึ่งเพื่อศึกษา ถ่ายทอดเทคนิคในการเพาะปลูกและรับข้อมูลจากนักวิชาการประจำสถานีไปพัฒนาสายพันธุ์และวิธีการเพาะปลูกต่อไป ในส่วนของนักวิชาการประจำสถานีวิจัยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.นักวิจัยประจำสถานีมีหน้าที่ทำวิจัย ทดลองพันธุ์พืชภายในสถานีเกษตรฯ และช่วยเหลืองานวิจัยของคณาจารย์ 2.งานฝ่ายส่งเสริมแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มงานส่งเสริมพันธุ์พืชให้กับกลุ่มชาติพันธุ์เพาะปลูกและกลุ่มงานส่งเสริมด้านสังคมมีหน้าที่อบรมและหล่อหลอมอุดมการณ์ของโครงการ

กลุ่มนักวิจัยประจำสถานีเกิดขึ้นในช่วงประมาณ พ.ศ.2516 ส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ได้รับความนิยมในกลุ่มนักศึกษาและปัญญาชน จนกระทั่งเป็นที่มาของวาทกรรมกษัตริย์ประชาธิปไตยเพื่อขับไล่เผด็จการทหาร (2) กลุ่มนักศึกษาจบใหม่บางส่วนปรารถนารับใช้สถาบันกษัตริย์ เช่น อาจารย์สืบศักดิ์ นวจินดา บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หลังจากเรียนจบเมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2510 ท่านเริ่มต้นชีวิตการทำงานที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขางทันทีในด้านการวิจัยพืชผักเมืองหนาวและได้รับเงินพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 จำนวน 280,000 บาท กับรถยนต์อีก 1 คัน เพื่อนำงานวิจัยพันธุ์พืชไปขยายผลระดับพื้นที่ (3) 

เรื่องเล่าผ่านสื่อกระแสหลักเกี่ยวกับโครงการหลวงมีลักษณะร่วมกัน คือ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงแนะนำให้คณาจารย์และนักวิทยาศาสตร์นำพันธุ์พืชเมืองหนาวไปส่งเสริมให้กับชาวเขาเพื่อสร้างรายได้ทดแทนการปลูกฝิ่น ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงให้เหตุผลว่าสภาพอากาศภาคเหนือมีความหนาวเย็นเหมาะสมกับการเพาะปลูกพืชเมืองหนาว ที่สำคัญรายได้จากพืชเมืองหนาวสูงกว่าพืชจากพื้นราบทั่วไป (4) ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์ระดับคณาจารย์จึงรับพันธุ์พืชและสัตว์จากประเทศโลกเสรีเข้ามาทดลองในสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง 

เริ่มต้นนักวิทยาศาสตร์คัดเลือกสายพันธุ์ทั้งจากภายในและนำเข้ามาจากต่างประเทศมาจัดแบ่งประเภทประชากร ผสมพันธุ์ ควบคุมผ่านระบบแปลงทดลองที่แบ่งออกเป็นตารางกลุ่มพืชสอดส่อง ควบคุมความผิดปกติและปรับปรุงสายพันธุ์จนได้พันธุ์ดีเพื่อประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจของมนุษย์ แต่ในอีกด้านหนึ่งพืชถูกนำใช้ประโยชน์เพื่ออุดมการณ์ทางสังคม เช่นในงาน Friedman (1982)(5) พิจารณาสายพันธุ์พืชในฐานะที่เป็นอาวุธทางการเมือง (geo-political weapon) ในช่วงสงครามเย็นเริ่มต้นจากประเทศโลกเสรีต้องการโน้มน้าวให้กลุ่มประเทศโลกที่สามเห็นถึงรายได้ที่ดีจากพืชชนิดใหม่ซึ่งนำเข้ามาจากอเมริกา อเมริกาช่วยเหลือกลุ่มประเทศที่สุ่มเสี่ยงต่อภัยคอมมิวนิสต์ผ่านการพัฒนาพันธุ์พืชเพื่อประโยชน์ในเรื่องการผลิตอาหารตัวอย่างพันธุ์พืชที่โครงการหลวงนำเข้าจากประเทศโลกเสรีเช่น คณาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นำพันธุ์สตรอว์เบอร์รีจากอเมริกาและญี่ปุ่นเข้ามาทดลอง วิจัยและส่งเสริมให้กลุ่มชาติพันธุ์เพาะปลูกทดแทนรายได้จากฝิ่น

วิทยาศาสตร์กับการประกอบสร้างชุมชนใหม่

อ.ปวิณ ปุณศรี ในฐานะหัวหน้านักวิจัยตระหนักถึงข้อจำกัดเกี่ยวกับพืชเมืองหนาวในประเทศไทย แม้ว่าภาคเหนือประเทศไทยมีอากาศหนาวเย็นเกือบตลอดทั้งปีแต่ธรรมชาติของไม้ผลเมืองหนาวต้องการสภาพหนาวเย็น (chilling requirement) ที่อุณหภูมิต่ำกว่า 7 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลาประมาณ 300 ชั่วโมงขึ้นไปด้วยเหตุผลดังกล่าวคณาจารย์ที่ช่วยเหลือโครงการพยายามคัดสรรพันธุ์ที่มีความต้องการความหนาวเย็นใกล้เคียงกับประเทศไทย เช่น พันธุ์จากไต้หวัน จีนตอนใต้ ออสเตรเลียและรัฐฟลอลิดา สหรัฐอเมริกา เป็นต้น แต่พันธุ์พืชจากต่างประเทศเกิดจากการปรับปรุงให้เหมาะสมกับพื้นที่ของประเทศนั้นๆ จึงทำให้ได้ผลผลิตที่ได้ไม่สมบูรณ์ (6) ส่งผลกระทบกับการยอมรับของชนบนพื้นที่สูงเพราะรายได้จากพืชเมืองหนาวมีราคาต่ำกว่าฝิ่น

ในช่วงเวลาเดียวกันคณาจารย์และนักวิชาการของสถานีเกษตรหลวงอ่างขางได้รับเงินสนับสนุนจากคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (สวทช.)และกระทรวงเกษตรประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 6 ปี เพื่อสำรวจพื้นที่อ่างขางโดยแบ่งหัวข้อของการสำรวจออกเป็น 4 ด้าน คือ การสำรวจประชากร ธรณีวิทยา วนศาสตร์ อุตุนิยมวิทยา ตัวอย่างงานวิจัยดังกล่าว เช่น ด้านธรณีวิทยาเริ่มต้นคณาจารย์จากมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์และข้าราชการจากกรมพัฒนาที่ดินสำรวจพื้นที่เพื่อจำแนกและกำหนดศักยภาพของดินนักวิจัยกลุ่มดังกล่าวทำงานทั้งในภาคสนามและห้องปฏิบัติ การทำงานในภาคสนามพวกเขาต้องใช้เครื่องมือประกอบด้วยแผนที่ภูมิศาสตร์ประเทศ (topographic map) และภาพถ่ายทางอากาศ (aerial photograph) เพื่อประมวลและบันทึกเป็นตัวเลข หลังจากนั้นนักวิจัยนำข้อมูลจากภาคสนามกลับไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อกำหนดรายละเอียดยุคสมัย สัญฐาน ชนิดของดิน ประเมินศักยภาพของพื้นที่ 

นักวิจัยสร้างภาพของโครงร่างพื้นที่อ่างขางเกิดจากการ สลายตัวของวัตถุต้นกำเนิดของหินดินดานร่วมกับหินปูน เขตหินปูนและหลุมยุบเกิดอยู่ใกล้เคียงกัน และทั่วไปตามบริเวณตอนกลางของอ่างขางและทางทิศตะวันตกของพื้นที่สำรวจลักษณะภูมิประเทศ แบบนี้เรียกว่า tropical karst topography จากการศึกษาทางด้านจุลสัณฐานพบว่าดินกลุ่มนี้เกิด จากการสลายตัวของหินดินดานร่วมกับหินทราบแป้ง และไม่พบคุณสมบัติของหินปูนในหน้าตัดของ ดิน อาจเนื่องมาจาก tropical katst topography ประกอบกับบริเวณนี้มีปริมาณน้ำฝนสูง อุณหภูมิ ค่อนข้างสูง การซะล้างรุนแรง ดังนั้นคาร์บอเนตอาจถูกชะล้างไปจากดินมากจนไม่พบคุณสมบัติของคาร์บอเนตดินกลุ่มนี้จัดเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ปานกลางถึงค่อนข้างต่ำ

 
ภาพที่ 1 ลักษณะภูมิประเทศแบบคาสต์ ( Karst Topography )

โครงการหลวงยังได้รับความร่วมมือจากกรมอุตุนิยมวิทยาจัดสร้างเรือนเทอร์โมกราฟ (thermograph) เป็นเครื่องวัดอุณหภูมิแบบต่อเนื่องโดยบันทึกค่าลงในกระดาษกราฟเป็นค่าอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ เครื่องวัดน้ำฝน (rain gauge) เครื่องมือตรวจวัดปริมาณฝนและบาโรมิเตอร์ (barometer) เครื่องมือตรวจวัดค่าความกดอากาศเพื่อคาดการณ์ความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในช่วงเวลาอันสั้น นักวิจัยและเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ร่วมกันบันทึก ตีความ ส่งต่อข้อมูลภายในเครือข่ายจนทำให้ทราบว่าพื้นที่อ่างขางอยู่ในระดับความสูง 1,000-1,600 เมตร สภาพอากาศพื้นที่ดอยอ่างขางมีอากาศหนาวเย็นเฉลี่ย 3-15 องศาเซลเซียส มีระยะเวลาความหนาวเย็นประมาณ 300 ชั่วโมง/ปี ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยมากที่สุดในช่วงเดือนมิถุนายนคิดเป็น 40% ของปริมาณน้ำฝนทั้งหมด ผลของการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานดังกล่าวทำให้นักวิทยาศาสตร์โครงการหลวงเห็นตรงกันว่าพันธุ์ไม้เมืองหนาวบางส่วนยังไม่เหมาะสมกับพื้นที่ของประเทศไทยเพราะระยะความหนาวเย็นภาคเหนือของไทยสั้นกว่าต่างประเทศ นักวิจัยต้องพัฒนางานปรับปรุงสายพันธุ์ (fruit breeding) มาใช้กับพื้นที่เพิ่มขึ้น (7) 

เมื่อสภาพแวดล้อมพื้นที่ของโครงการหลวงยังไม่เหมาะสมกับการเพาะปลูกพืชเมืองหนาว กลุ่มนักวิจัยระดับคณาจารย์ต้องสร้างสภาพแวดล้อมบริเวณพื้นที่ดอยอ่างขางขึ้นใหม่ให้เหมาะสมกับการเพาะปลูกพืชเมืองหนาวด้วยการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาใช้ปรับปรุงสภาพพื้นที่ เช่น ด้านวนศาสตร์ แต่เดิมพื้นที่ส่วนใหญ่ของอ่างขางเป็นป่าโปร่งจึงทำให้นักวิจัยทดลองปลูกไม้โตเร็วและสร้างป่าปลูกเพื่อประโยชน์ในด้านความชื้นและอุณหภูมิที่เหมาะสมกับการปลูกพืชเมืองหนาว กลุ่มงานดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมป่าไม้ ช่วยเหลือในด้านบุคลากรและองค์การทหารผ่านศึกประเทศไต้หวันช่วยเหลือในด้านเมล็ดพันธุ์ไม้โตเร็วและงบประมาณ โครงการดังกล่าวเริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ.2526 เป็นต้นมา นักวิชาการของสถานีเกษตรสร้างแปลงทดลองปลูกป่าในพื้นที่อ่างขางประกอบด้วย จันทองเทศ กระบูน เมเปลหอมพอโรเมีย กระถิ่นดอย ไผ่หวาน 

กลุ่มชาติพันธุ์ในเขตพื้นที่อ่างขางในอดีตมีวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับฝิ่น กล่าวคือ ในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2512 ฝิ่นมีสถานะเป็นสิ่งแลกเปลี่ยนแทนเงินตรา เครื่องมือแสดงสถานภาพทางสังคมและยารักษาโรค ดังนั้นกลุ่มคณาจารย์และผู้ที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่จำกัดเครื่องมือแลกเปลี่ยนของกลุ่มชาติพันธุ์เหลือเพียงเงินและสร้างช่องทางของรายได้จากพืชเมืองหนาวแทน เริ่มต้นนักวิจัยนำระบบการเกษตรแผนใหม่มาทดแทนการปลูกฝิ่น คือ Intercrop หมายถึง การทำเกษตรที่ให้ผลผลิตตลอดทั้งปี คือ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมให้ปลูกพืชที่ให้ผลผลิตราย 1 ปี 6 เดือน 4 เดือน 2 เดือนเพื่อจูงใจให้กลุ่มชาติพันธุ์หันมาปลูกพืชของโครงการหลวง ในระหว่างเจ้าหน้าที่ฝ่ายส่งเสริมเผยแพร่ความรู้ไม้ผลเมืองหนาว พวกเขาต้องเก็บข้อมูลเป็นรูปถ่ายและค่าตัวเลขเกี่ยวกับสภาพพื้นที่และขนาดผลผลิตในแปลงของเกษตรกรเพื่อจัดทำเป็นรายงานประจำเดือนให้กับมูลนิธิโครงการหลวงส่วนกลางสำหรับปรับค่าประมาณการผลผลิต วางแผนการตลาดและจัดโควตาการผลิตในฤดูกาลหน้าโดยในช่วงเวลาดังกล่าวเจ้าหน้าที่สถานีเกษตรฯ ได้รับความช่วยเหลือจากทหารจับกุมผู้ผลิตหรือมีฝิ่นไว้ในครอบครอง

ในช่วงเวลาประมาณปี พ.ศ.2530 เป็นต้นมา ภายหลังภัยคอมมิวนิสต์สิ้นสุดลงสถาบันกษัตริย์นำโครงการวิทยาศาสตร์มาสร้างให้เกิดการยอมรับในกลุ่มชนชั้นกลางและคนในชนบท เริ่มต้นกลุ่มนักวิทยาศาสตร์สายเกษตรที่เข้าร่วมโครงการหลวงอธิบายปัญหาความยากจนของเกษตรกรไทยในถิ่นทุรกันดานเกิดจากชุมชนนั้นๆตั้งอยู่ใน “เขตวิกฤต” หมายถึง กลุ่มชาติพันธุ์ตั้งถิ่นฐานและทำกินอยู่ในพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการเพาะปลูกซึ่งเกิดจากสภาพของภูมิประเทศ แหล่งน้ำและภูมิอากาศนักวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนโครงการจึงดำริจัดตั้ง “สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบเกษตรในเขตวิกฤต” ในสังกัดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพื่อสนับสนุนและแก้ปัญหาให้กับชุมชนที่เข้าร่วมโครงการเช่น นักวิทยาศาสตร์ปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่เพื่อนำไปส่งเสริมอาชีพให้กับเกษตรกร เป็นต้น กระทั่งประมาณปี พ.ศ.2535 นักวิทยาศาสตร์ของโครงการหลวงนำข้อมูลด้านธรณีวิทยา อุตุนิยมวิทยา อุทกศาสตร์ ชาติพันธุ์วรรณา ที่ได้จากสถานีวิจัยและพื้นที่ขยายผลโครงการมาศึกษาและส่งต่อข้อมูลดังกล่าวไปยังเครือข่ายของโครงการ คือ มหาวิทยาลัย หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องร่วมถึงเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่พันธุ์พืชเมืองหนาวเพื่อแบ่งพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้าร่วมโครงการหลวงออกเป็น 3 กลุ่ม

 
ภาพที่ 2 การแบ่งพื้นที่ชุมชนที่เข้าร่วมโครงการตามระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล

นักวิจัยกำหนดพื้นที่ของโครงการหลวงเพื่อทดลองเพาะปลูกพันธุ์พืชและสัตว์แต่ละชนิดซึ่งความสูงจากระดับน้ำทะเลสัมพันธ์กับระยะเวลาของการได้รับความหนาวเย็นของพันธุ์พืชและสัตว์ กระทั่งนักวิจัยมั่นใจว่าพันธุ์พืชหรือสัตว์ดังกล่าวเหมาะสมกับระดับความสูงหนึ่งๆแล้วจึงส่งเสริมให้ชุมชนที่อยู่ในระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลที่เหมาะสม สถานีเกษตรหลวงอ่างขางจัดอยู่ในพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,000 เมตรขึ้นไปมีระยะเวลาความหนาวเย็นประมาณ 300 ชั่วโมงพื้นที่ดังกล่าวเหมาะสมกับการเพาะปลูกพืชที่ต้องการความหนาวเย็นสูง เช่น พลับ สตรอว์เบอร์รี สาลี่ เป็นต้น

 
ภาพที่ 3 กลุ่มชาติพันธุ์ของโครงการในแต่ละพื้นที่รับผิดชอบเพาะปลูกพันธุ์ไม้เมืองหนาวต่างชนิด 

ดังนั้นยุคเริ่มต้นนักวิจัยของโครงการหลวงมีพันธกิจหลัก คือ การสำรวจพื้นที่อ่างขางเพื่อจัดเก็บข้อมูลโดยใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์และส่งต่อข้อมูลดังกล่าวให้นักวิจัยระดับคณาจารย์วางแผนปรับปรุงสายพันธุ์พืชในห้องปฏิบัติการณ์และสร้างระเบียบการใช้พื้นที่ต่อไปในเวลาต่อมานักวิจัยนำพันธุ์พืช ความรู้และเทคนิคการเพาะปลูกจากประเทศโลกเสรีเข้ามาทดลองเพื่อค้นหาเทคนิคการเพาะปลูกและตัวอย่างพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับพื้นที่ดอยอ่างขางนอกจากนี้นักวิชาการสถานียังมีหน้าที่ปลูกฝังอุดมการณ์กษัตริย์นิยมให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ 

เมื่อห้องทดลอง คือ อารามของ “พ่อ”

สำหรับมวลชนในเมืองรับทราบเกี่ยวกับสถานีเกษตรผ่านสื่อที่ได้รับการคัดสรร ตีความ จากกรมข่าวซึ่งถูกตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2515 ตามประกาศของคณะปฎิวัติฉบับที่ 297 และกองโครงการสัมพันธ์ สำนักพระราชเลขาธิการมีหน้าที่ประสานแผนงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริโครงการวิทยาศาสตร์ดังกล่าวถูกนำเสนอผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2510 เป็นต้น (สุวรรณา ปิยะบพิต,2549,น.4) เช่น ข่าวพระราชสำนักของสถานีวิทยุโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 จากบทความของนายมงคล วัชโรบล ที่เขียนไว้ในหนังสือที่ระลึกงานศพของ นายเรวัติ เศวตไอยาราม กล่าวไว้ว่า ข่าวแรกที่ฝ่ายข่าวผลิตขึ้น คือ ข่าวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 งานเมื่อปี พ.ศ. 2511 เป็นต้น สำนักราชเลขาธิการเห็นถึงความสำคัญการเผยแพร่พระราชกรณียกิจจึงมีการประสานงานระหว่างหน่วยงานภายนอก โดยจัดงาน “ประชุมหารือการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างสำนักราชเลขาธิการกับส่วนราชการและสื่อมวลชน” ในปี พ.ศ.2548 (8)

นอกจากโครงการพระราชดำริที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนแล้ว ในอีกด้านหนึ่งพื้นที่โครงการดังกล่าวยังถูกเปิดให้บุคคลทั่วไปเยี่ยมชมทุกวัน สถานีเกษตรหลวงอ่างขางเปิดให้บุคคลทั่วไปเยี่ยมชมอย่างเป็นทางการประมาณปี พ.ศ.2520 เป็นต้นมา กลุ่มบุคคลส่วนใหญ่ที่เข้าเยี่ยมชม คือ หน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา บุคคลทั่วไปซึ่งมีรถยนต์ส่วนตัวหรือเหมารถตู้ขึ้นมาท่องเที่ยว เพราะพื้นที่อ่างขางไม่มีรถประจำทางขึ้นมาจนถึงสถานี กิจกรรมสำคัญของสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง คือ เดินเท้าตามรอยพระยุคลบาทไปยังสถานที่ต่างๆ ภายในสถานีเกษตรอ่างขางและชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ ในส่วนชุมชุนที่เข้าร่วมโครงการหลวงได้รับการปลูกฝังให้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ผ่านเจ้าหน้าที่โครงการหลวงที่เข้าไปส่งเสริมอาชีพและการศึกษาที่โครงการเข้าไปตั้งสร้างโรงเรียนในชุมชน สถาบันกษัตริย์สร้างความเป็นกันเองกับหัวหน้ากลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้าร่วมโครงการโดยเรียกพวกเขาว่าเป็น “พระสหาย”หรือ “พ่อ” เริ่มต้นจากในหลวงรัชกาลที่ 9 รับสั่งให้คนกลุ่มดังกล่าวเข้าเฝ้าเสมอเมื่อทรงเสด็จไปยังพื้นที่ดังกล่าวจึงทำให้พวกเขามีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่อุดมการณ์ภายในกลุ่มชนของตนเอง ในอีกด้านหนึ่งอุดมการณ์ดังกล่าวยังได้รับการผลิตซ้ำผ่านพิธีกรรมในวันสำคัญที่เกี่ยวข้องกับในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระบรมวงศานุวงศ์ เช่น วันพ่อและวันแม่แห่งชาติ เป็นต้น เจ้าหน้าที่โครงการขอความร่วมมือจากผู้นำชุมชนที่เข้าร่วมโครงการนำกลุ่มชาติพันธุ์มาร่วมพิธีกรรม พิธีกรรมดังกล่าวกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของกลุ่มชนที่เข้าร่วมโครงการ

ดังนั้นสถานีเกษตรของโครงการหลวง นอกจากเป็นพื้นที่วิจัยด้านวิทยาศาสตร์เพื่อสร้างชุมชนขึ้นใหม่แล้วแล้ว ในอีกด้านหนึ่งกลับกลายเป็นเหมือน “อาราม” สำหรับประกอบพิธีกรรมเพื่อสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้กับสถาบันกษัตริย์ไทย 

 

อ้างอิง

(1) มูลนิธิบัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย. (2543). วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 
ไทย: จากอดีตสู่อนาคต.กรุงเทพฯ: ฝ่ายนิเทศสัมพันธ์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และ 
เทคโนโลยีแห่งชาติ.น.169) 

(2) ประจักษ์ ก้องกีรติ. (2545). การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชน. จุลสารไทยคดีศึกษา, 19(2), 52-56.

(3) ลำดวน ป้อมเผือก. (2530). สัมภาษณ์หัวหน้าสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง. วารสารพืชสวน, 21(2): 
25-26.

(4) คณิตา เลขะกุล. (2539). ประพาสต้นบนดอย. กรุงเทพฯ: คณะกรรมการอำนวยการจัดงาน 
ฉลองสิริราชสมบัติ ครบ 50 ปี. น.28-29

(5) Friedmann, H. (1982). The political economy of food: the rise and fall of the postwar 
international food order. American Journal of Sociology. 25(4), 84-72.  

(6) มูลนิธิโครงการหลวง. (2541). รายงานผลการประชุมวิชาการเผยแพร่ผลงานวิจัยครั้งที่ 1, วันที่ 1-2 ธันวาคม 2541 ณ ศูนย์ฝึกอบรมเกษตรหลวงอ่างขาง ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่. เชียงใหม่ : มูลนิธิโครงการหลวง.

(7) โครงการสำรวจลุ่มน้ำทางภาคเหนือของประเทศไทย ด้วยภาพถ่ายทางอากาศ. (2525). รายงานการ 
สำรวจและวางแผนการใช้ที่ดินโครงการหลวงอ่างขาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่. กรุงเทพฯ: โครงการสำรวจลุ่มนำ้ทางภาคเหนือของประเทศไทยด้วยภาพถ่ายทางอากาศ  รายงานการสำรวจและวางแผนการใช้ที่ดิน สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ. น.30-32

(8) สุวรรณา ปิยะบพิตร. (2549). บทบาทของสำนักราชเลขาธิการในกระบวนการข่าวในพระราชสำนัก. 
(วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต). มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์. บัณฑิตวิทยาลัย,นิเทศศาสตร์ สารสนเทศ ,น.96)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net