Skip to main content
sharethis

สแกนนโยบายพรรคการเมืองในประเด็นความหลากหลายทางเพศตั้งแต่การศึกษา สาธารณสุข ความเท่าเทียมในการทำงาน การเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ สิทธิสมรส จนถึงสิทธิการตั้งครอบครัว พร้อมพิจารณาว่าพรรคใดบ้างส่งผู้สมัคร ส.ส. LGBTQ

ในบรรยากาศของการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในอีก 18 วัน พรรคการเมืองต่างๆ มีการนำเสนอนโยบายเพื่อเป็นจุดขายในการหาเสียง ทั้งนี้ยังมีพรรคการเมืองหลายพรรคให้ความสนใจในเรื่องสิทธิของบุคคลหลากหลายทางเพศ มีการนำเสนอทั้งบนเวทีดีเบต และช่องทางอื่นๆ ของพรรค

ไม่เพียงเท่านั้น ในงาน Chiang Mai Pride ที่เพิ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาก็ยังมีตัวแทนของพรรคการเมืองเข้าร่วมหลายพรรค ซึ่งประเด็นเรื่องสิทธิของบุคคลหลากหลายทางเพศหรือกลุ่ม LGBTQ นี้กำลังเป็นกระแสอยู่ทั้งในประเทศไทยและในเวทีโลก โดยเฉพาะเมื่อประเทศไทยกำลังมีการผลักดันให้มีกฎหมายรองรับสิทธิในการตั้งครอบครัวของบุคคลหลากหลายทางเพศ ไม่ว่าจะด้วยการจัดทำ พ.ร.บ. คู่ชีวิต เพื่อให้คู่รัก LGBTQ สามารถจดทะเบียนเป็นคู่ชีวิตและได้รับการรับรองทางกฎหมาย หรือด้วยการแก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 เพื่อเปลี่ยนนิยามของคู่สมรสจากชายและหญิงเป็นบุคคลและบุคคลก็ตาม

และในการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคอนาคตใหม่ ก็ได้เสนอนโยบายผลักดันการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 โดยจะให้ยกเลิกการใช้คำว่า “ชาย” และ “หญิง” และให้ใช้คำว่า “บุคคล” เพื่อนำไปสู่สิทธิในการสมรสที่เท่าเทียมโดยแท้จริง ซึ่งธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ผู้สมัคร ส.ส. ได้กล่าวบนเวทีดีเบตไทยรัฐว่า ฐานคิด พ.ร.บ. คู่ชีวิตยังมีปัญหาอยู่ ซึ่งควรจะมีการแก้ไข และจริงๆแล้วเพื่อความเท่าเทียมที่แท้จริง ทุกคนควรจะใช้กฎหมายฉบับเดียวกัน นอกจากนี้ยังเสนอนโยบายปรับเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาที่ผลิตซ้ำอคติต่อกลุ่มหลากหลายทางเพศ เพื่อให้เยาวชนรุ่นใหม่มีความเข้าใจเรื่องเพศและความหลากหลายทางเพศที่ถูกต้อง นอกจากนี้ยังเสนอว่าจะมีการให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำงานเกี่ยวกับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศและสร้างความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศกับสังคมส่วนรวมอีกด้วย ซึ่งธัญวัจน์มองว่าการสร้างความเข้าใจกับสังคมเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากกลุ่ม LGBTQ มักพบปัญหาว่าด้วยการเปิดเผยตัวตนในสังคม ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่นำไปสู่การทำร้ายตัวเอง

ส่วนพรรคมหาชน นำเสนอนโยบาย “Diversity is Thailand Pride” ชูแนวคิดว่าความหลากหลายทางเพศ ชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมืองคือความภาคภูมิใจของประเทศไทย มุ่งเน้นให้เกิดการรับรองและคุ้มครองทั้งมิติกฎหมายและนโยบาย โดยมุ่งเน้นการจัดการงบประมาณตามรัฐธรรมนูญที่คำนึงถึงอัตลักษณ์บุคคล เช่น gender responsive budgeting เพื่อสร้างหลักประกันการผลักดันนโยบายสู่การปฏิบัติที่เป็นจริง โดยในส่วนของสิทธิกลุ่มหลากหลายทางเพศนั้น พรรคมหาชนสนับสนุนด้านเสรีภาพในการตั้งครอบครัว โดยเสนอว่าจะต้องมีกฎหมายสมรสเพื่อความเท่าเทียม ที่ให้สิทธิครอบคลุมถึงการรับบุตรบุญธรรม และการใช้เทคโนโลยีช่วยตั้งครรภ์ นอกจากนี้ยังจะผลักดันให้มีกฎหมายรองรับเรื่องคำนำหน้านามและให้การระบุเพศเป็นสิทธิที่สามารถกำหนดได้ตามเจตจำนงของบุคคล ซึ่งในขณะนี้กลุ่มบุคคลข้ามเพศมักประสบปัญหาจากการที่คำนำหน้านามไม่ตรงกับเพศสภาพอยู่เสมอ การมีกฎหมายรับรองเพศที่ให้สิทธิบุคคลในการระบุเพศจึงถือเป็นวาระสำคัญ นอกจากนี้พรรคมหาชนยังเสนอนโยบายการท่องเที่ยว “Travel with Pride” ชูแนวคิดกระตุ้นเศรษฐกิจโดยส่งเสริมตลาดท่องเที่ยวที่หลากหลาย ยกระดับให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวที่ส่งเสริมความภาคภูมิใจ เชื้อชาติ และความหลากหลายทางเพศ โดยใช้กีฬา สันทนาการ และการจัดประชุมสัมมนาเป็นจุดเด่น

พรรคสามัญชน เสนอว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายสมรสเพื่อให้กลุ่ม LGBTQ สามารถจดทะเบียนได้และได้รับสิทธิในการตั้งครอบครัวอย่างเท่าเทียม และจะจัดสวัสดิการสังคมและการรักษาพยาบาลเพื่อการมีชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีของบุคคลข้ามเพศ นอกจากนี้ยังจะสนับสนุนการลาเพื่อการรักษาร่างกาย จิตใจ และการข้ามเพศ เพิ่มเพดานวันลาเพื่อการตั้งครรภ์และลาคลอด 365 วัน ครอบคลุมทั้งชาย หญิง และทุกเพศสภาพ โดยได้รับค่าจ้างปกติ เพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนี้ ชุมาพร แต่งเกลี้ยง หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสามัญชน ยังได้พูดถึงการทำงานทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนคำนำหน้านาม ให้สิทธิกับบุคคลในการระบุเพศไว้ด้วย

พรรคพลังท้องถิ่นไท เสนอว่าจะส่งเสริมให้มีศูนย์การเรียนรู้เพื่อพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีลูกอยู่ในกลุ่ม LGBTQ เพื่อสร้างความเข้าใจ และจะปรับให้มีหลักสูตรการศึกษาที่สร้างความเข้าใจว่าความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องปกติ

ส่งเสริมให้กลุ่ม LGBTQ เข้าถึงสิทธิของตัวเอง เช่น การรักษาโรค การทำประกัน การเข้าถึงการสมัครงานแบบไร้ข้อจำกัด นอกจากนี้ยังจะให้มีการพัฒนากฎหมายให้คู่รัก LGBTQ มีสิทธิเท่าเทียมกันกับคู่รักต่างเพศในฐานะคู่สมรส

พรรคเพื่อชาติ เสนอจะผลักดันให้คู่รัก LGBTQ สามารถทำการสมรสได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และให้สิทธิรับมรดก การเซ็นตกลงยามคู่ชีวิตต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล รวมถึงจะจัดศูนย์เพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างกลุ่ม LGBTQ และผู้ที่ไม่ใช่ LGBTQ รวมถึงตั้งบ้านพักฉุกเฉินสำหรับกลุ่ม LGBTQ ที่ถูกละเมิดสิทธิหรือพบเจอความรุนแรง

พรรคเสรีรวมไทย เสนอว่ากลุ่ม LGBTQ ควรได้รับความเสมอภาพในทางสังคมและทางกฎหมาย แต่นโยบายของทางพรรคเสนอเพียงแค่ว่าให้มี พ.ร.บ.คู่ชีวิตและใช้ไปก่อน เมื่อถึงเวลาจึงจะแก้กฎหมายให้ได้สิทธิครอบคลุมทั้งหมด

ในส่วนของ พรรคเพื่อไทย เสนอแก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ส่วน พรรคไทยรักษาชาติ เสนอให้ผลักดันพ.ร.บ. คู่ชีวิตไปก่อน แต่ต้องดูรายละเอียดเนื้อหาของตัว พ.ร.บ.ด้วย ในขณะที่ พรรคประชาธิปัตย์ นั้น พริษฏ์ วัชรสินธุ หนึ่งในนักการเมืองรุ่นใหม่ของพรรค เคยให้สัมภาษณ์กับรายการเรื่องเล่าเช้านี้ไว้ว่าจะเดินหน้าผลักดันให้มีการแก้กฎหมายเพื่อสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ เนื่องจากพริษฎ์มองว่าคู่รัก LGBTQ ยังไม่มีโอกาสเข้าถึงสิทธิร่วมกัน เช่น สิทธิค่ารักษาพยาบาล สิทธิในการเลี้ยงดูบุตรบุญธรรม หรือสิทธิในการกู้ร่วม เป็นต้น ซึ่งปัญหานี้สามารถแก้ได้ด้วยการแก้ไขที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เปลี่ยนให้การสมรส เป็นเรื่องของคนสองคนแทนโดยไม่ต้องจำกัดเพศ และไม่จำเป็นต้องร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต

 

ดวงดาวที่หลายพรรคยังไปไม่ถึง

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะมีหลายพรรคการเมืองให้ความสนใจในประเด็นสิทธิของกลุ่ม LGBTQ ก็ยังมีอีกหลายพรรคการเมืองที่ไม่ได้มองเห็นว่าประเด็นสิทธิของ LGBTQ เป็นวาระสำคัญ และไม่ได้นำเสนอนโยบายในด้านนี้ แต่กลับนำกลุ่ม LGBTQ ไปรวมกับกลุ่มชายขอบอื่นๆ และนำเสนอนโยบายแบบกว้างๆ เช่น พรรคพลเมืองไทย ที่ตัวแทนพรรคพูดบนเวทีดีเบตไทยรัฐว่าจะสนับสนุนสังคมสวัสดิการของบุคคลหลากหลายทางเพศ ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ แต่ให้คงความเป็นไทย โดยไม่ได้เจาะจงประเด็นสิทธิที่กำลังเรียกร้องกันอยู่ในกลุ่ม LGBTQ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการที่ตัวแทนพรรคการเมืองนำเสนอนโยบายในลักษณะนี้ก็ยังถือว่ามีการรับรู้กระแสเรื่องการเรียกร้องสิทธิของกลุ่ม LGBTQ ที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้ และไม่ได้มีท่าทีต่อต้านหรือรังเกียจความหลากหลายทางเพศ ต่างจากบางพรรค เช่น พรรคไทยศรีวิไลย์ ที่ณัชพล สุพัฒนะ รองหัวหน้าพรรคได้มีการพูดบทเวทีดีเบตไทยรัฐว่าไม่คิดว่าประเด็นสิทธิของ LGBTQ เป็นปัญหา เพราะบุคคลหลากหลายทางเพศก็ประสบความสำเร็จในไทย และคิดว่าประเทศไทยค่อนข้างมีเสรี จึงไม่ควรยกเรื่องนี้มาเป็นปัญหาระดับชาติ นอกจากนี้ณัชพลยังพูดอีกว่าจะไม่ยกระดับให้ปัญหาสิทธิ LGBTQ เพราะเกรงว่าจะกลายเป็นเหมือนปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งณัชพลใช้คำว่า “โจรใต้” ซึ่งทัศนคติอย่างที่ณัชพลแสดงออกมานั้นแสดงให้เห็นถึงความไม่รับรู้ในประเด็นโลก และขาดความเข้าใจสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทย นอกจากนี้การแปะป้ายผู้ก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ว่าเป็น “โจรใต้” ยังถือเป็นการลดระดับความสำคัญของปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ และเป็นการกระทำความรุนแรงต่อกลุ่ม LGBTQ สร้างภาพให้กลุ่ม LGBTQ ดูเป็นกลุ่มหัวรุนแรง ดังนั้นจึงถือว่าเป็นทัศนคติที่อันตราย

ในขณะนี้มีความเป็นไปได้ว่า ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตที่ผลักดันกันจนผ่านคณะรัฐมนตรีไปได้นั้นอาจไม่ผ่าน สนช. ภายในรัฐบาลนี้ และกลุ่มที่ต้องการผลักดันให้มีการร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตก็คงต้องรอผลักดันร่าง พ.ร.บ. กันใหม่ในรัฐบาลหน้า

แต่อย่างไรก็ตาม การที่มีพรรคการเมืองให้ความสนใจและจัดตั้งนโยบายเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศก็ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี นอกจากนี้ยังมีพรรคการเมืองอีกหลายพรรคที่มีผู้สมัคร ส.ส. ที่เป็นบุคคลหลากหลายทางเพศ เช่น พรรคอนาคตใหม่ ที่มีธัญญ์วาริณ สุขะพิสิษฐ์ และธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ลงสมัคร ส.ส.ระบบปาร์ตี้ลิสต์ พรรคมหาชน ที่มีพาลินี งามพริ้ง หรือพอลลีน เป็นผู้สมัคร ส.ส. ระบบปาร์ตี้ลิสต์และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอันดับสอง ซึ่งการมีตัวแทนกลุ่ม LGBTQ เข้าไปนั่งในสภาเพื่อพิทักษ์สิทธิของกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศนั้นก็เป็นสิ่งสำคัญ จากนี้ก็คงได้แต่หวังว่าเมื่อตัวแทนพรรคการเมืองเหล่านี้ได้เข้าไปนั่งในสภาจะทำตามที่ได้พูดไว้ในช่วงหาเสียง และจะเป็นแนวร่วมในการผลักดันนโยบายให้กลุ่ม LGBTQ ได้รับสิทธิที่เท่าเทียมตามสัญญา 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net