Skip to main content
sharethis

คนไข้ไม่ประสงค์ออกนามจากลอนดอนกลายเป็นบุคคลรายที่สองที่ได้รับการรักษาให้ปลอดจากเชื้อไวรัสเอชไอวีด้วยวิธีปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ไขกระดูกที่มียีนผ่าเหล่าแบบต้านเชื้อไวรัสเอชไอวีได้ แม้วิธีนี้จะยังยุ่งยากและเสี่ยงแต่นักวิทยาศาสตร์ก็มองว่าความสำเร็จนี้จะนำไปสู่การรักษาโรคเอดส์ที่ง่ายขึ้นในอนาคต

ภาพไวรัสเอชไอวีกำลังแตกหน่อจากเม็ดเลือดขาว (ที่มา:Wikipedia)

6 มี.ค. 2562 เมื่อสิบกว่าปีก่อนหน้านี้เคยมีคนไข้ชื่อ ทิโมธี บราวน์ หรือที่เรียกกันก่อนที่ชื่อเขาจะเป็นที่ปรากฏในสาธารณะว่า ‘คนไข้เบอร์ลิน’ ได้รับการรักษาจากวิธีการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ไขกระดูก จนกลายเป็นคนไข้รายแรกที่ได้รับการรักษาให้หายจากเชื้อเอชไอวี ไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคเอดส์ในมนุษย์ ในคราวนี้เป็นคนไข้อีกรายหนึ่งจากกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ที่ไม่ประสงค์เปิดเผยนามได้รับการรักษาได้หายได้ด้วยวิธีเดียวกัน

คนไข้ทั้งสองรายต่างได้รับสเต็มเซลล์จากผู้บริจาคที่มีการผ่าเหล่าของยีน CCR5 ที่ทำให้ต้านทานเชื้อเอชไอวีได้ ในกรณีของคนไข้ลอนดอนนั้นเขาหยุดการใช้ยาต้านไวรัสเป็นเวลา 18 เดือน โดยที่ไม่มีสัญญาณว่าจะกลับมามีเชื้อเอชไอวีอีกเลย

ถึงเรื่องนี้จะฟังดูเป็นความหวังของการรักษาโรคเอดส์ แต่กระบวนการแบบนี้ยังไม่สามารถถือว่าเป็นขั้นตอนการรักษาได้เพราะกระบวนการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์นั้นมีความเสี่ยง อย่างไรก็ดี คนที่มีเชื้อเอชไอวีจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยอายุขัยปกติถ้าหากทานยาสม่ำเสมอทุกวัน

อันตอน พอซเนียก ประธานสมาคมโรคเอดส์นานาชาติก็บอกว่าการรักษาที่เกิดขึ้นนี้ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญของการค้นหาวิธีรักษา เพราะแม้ว่าจะเป็นวิธีการที่ใช้การไม่ได้อย่างแพร่หลายเป็นวงกว้าง แต่มันก็ทำให้เชื่อมั่นได้ว่าเอชไอวีสามารถรักษาให้หายได้ และด้วยความหวังเช่นนี้เองที่จะนำไปสู่วิธีการรักษาที่ปลอดภัย ง่าย และประหยัด จากผลลัพธ์ที่ใช้เทคโนโลยีพันธุกรรมกับเทคนิคสารภูมิต้านทาน (แอนติบอดี)

รวินดรา กุปตา จากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน หัวหน้าคณะผู้เขียนเอกสารเกี่ยวกับความสำเร็จในการรักษาคนไข้ลอนดอน เขาพูดถึงวิธีการพัฒนาการรักษาจากจุดเดิมที่เป็นไปได้คือใช้วิธีการตัดต่อยีน CCR5 โดยตรงแทนการใช้สเต็มเซลล์ แบบที่นักวิทยาศาสตร์จีนเคยทำการตัดต่อพันธุกรรมเด็กทารกในครรภ์ทำให้เกิดภูมิต้านทานเอชไอวี ถึงแม้ว่าการกระทำของนักวิทยาศาสตร์จีนจะถูกประณามจากทั่วโลกว่าไม่มีเหตุจำเป็นและมีความเสี่ยง แต่กุปตาก็บอกว่าการตัดต่อยีนสำหรับคนไข้ที่ได้รับเชื้อนั้นเป็นเป้าหมายที่ชอบธรรม เพราะกุปตาเชื่อว่าการใช้ยาประคองอาการไม่ใช้ทางแก้ไขปัญหาการระบาดของเอดส์ในระยะยาว อีกทั้งยังมีเหตุผลเรื่องภาระการขนส่งยาที่จะทำให้ผู้คนในประเทศกำลังพัฒนาได้รับยาอย่างต่อเนื่องด้วย

เรียบเรียงจาก

Tests on London patient offer hope of HIV ‘cure’, The Guardian, Mar. 5, 2019 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net